หลักสูตรใหม่ ตอนที่ ๗


การจัดทำหน่วยการเรียนรู้

การจัดทำหน่วยการเรียนรู้

                หน่วยการเรียนรู้ถือว่าเป็นบทบาทที่สำคัญของครูผู้สอนทุกคนที่ต้องนำคำอธิบายรายวิชาที่ปรากฏ ในหลักสูตรสถานศึกษามาออกแบบการจัดการเรียนรู้ และการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่

สำคัญที่สุดในการนำหลักสูตรสถานศึกษาไปสู่การปฏิบัติ หน่วยการเรียนรู้ถือว่าเป็นหัวใจของหลักสูตรสถานศึกษา หน่วยการเรียนรู้ควรมีลักษณะเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่อิงมาตรฐานการเรียนรู้(Standard-based unit) คือ มีมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด เป็นเป้าหมายของหน่วย และมีองค์ประกอบที่สำคัญของหน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ มาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด สาระการเรียนรู้ ชิ้นงาน ภาระงาน ที่กำหนดให้ผู้เรียนปฏิบัติในหน่วยการเรียนรู้นั้น เกณฑ์การประเมินผลชิ้นงาน ภาระงาน และกิจกรรมการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด ที่เป็นเป้าหมายของหน่วย

ขั้นตอนการจัดทำหน่วยการเรียนรู้

๑. การวิเคราะห์ตัวชี้วัดชั้นปี/ช่วงชั้นที่นำมาจัดทำคำอธิบายรายวิชา การวิเคราะห์ ความสอดคล้องสัมพันธ์กันของตัวชี้วัดชั้นปี/ช่วงชั้นที่ มาออกแบบการเรียนรู้ในหน่วยการเรียนรู้นั้น  สามารถวิเคราะห์ได้  ทั้งภายในกลุ่มสาระและต่างกลุ่มสาระได้  โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดที่ผู้เรียนสามารถสร้างชิ้นงาน ภาระงาน   ที่สะท้อนถึงการบรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ที่เป็นเป้าหมายในเวลาเดียวกันได้ ถ้าเป็นไปได้ครูผู้สอนควรมีการวิเคราะห์ร่วมกัน ซึ่งอาจจะช่วยลด ชิ้นงาน/ภาระงานที่ซ้ำซ้อนกันได้  

๒. สังเคราะห์/จัดกลุ่มตัวชี้วัดชั้นปี/ช่วงชั้น ที่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันหรือในเวลาเดียวกันได้ 

๓. กำหนดสาระการเรียนรู้หลัก เป็นการกำหนดขอบข่ายของเนื้อหาสาระที่จะจัดให้เรียนรู้

ในหน่วย อาจประกอบด้วย สาระการเรียนรู้แกนกลางและสาระการเรียนรู้ระดับท้องถิ่น

๔. กำหนดชิ้นงาน/ภาระงาน (Task) ที่ผู้เรียนปฏิบัติได้ชิ้นงานหรือภาระงาน อาจเป็นสิ่งที่ครูกำหนดให้ หรือครูและผู้เรียนร่วมกันกำหนดขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติในแต่ละหน่วย ชิ้นงานหรือภาระงานต้องแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในการเรียนรู้ของผู้เรียน และเป็นร่องรอยหลักฐานแสดงว่าผู้เรียนมีความรู้และมีทักษะกระบวนการตามมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในหน่วยการเรียนรู้นั้น ตัวอย่าง ชิ้นงานหรือภาระงาน

                                ๔.๑  งานเขียนอาจจะรูปแบบของ เรียงความ  จดหมาย บันทึก  คำประพันธ์  การบรรยาย การเขียนตอบ เรื่องสั้น บทความ ผังความคิด ฯลฯ

                                ๔.๒  ภาพ/แผนภูมิอาจจะรูปแบบของ แผนผัง  แผนภูมิ  ภาพวาด  กราฟ  ตาราง  กราฟิก  ต่าง ๆ ฯลฯ

                                ๔.๓  การพูด/รายงานปากเปล่าอาจจะรูปแบบของ  การอ่าน  กล่าวรายงาน  โต้วาที ร้องเพลง สัมภาษณ์ เล่าเรื่อง อธิบาย ให้เหตุผล ฯลฯ

                                ๔.๔  สิ่งประดิษฐ์อาจจะรูปแบบของ  งานประดิษฐ์  งานแสดงนิทรรศการ  หุ่นจำลอง  ฯลฯ

                                ๔.๕ งานที่มีลักษณะผสมผสานกันอาจจะรูปแบบของ การทดลอง  การสาธิต  ละคร  การแสดง บทบาทสมมติ วีดีทัศน์  ฯลฯ

๕. กำหนดเกณฑ์การประเมินชิ้นงาน/ภาระงาน  บ่อยครั้งในการตรวจชิ้นงาน ภาระงานของผู้เรียน ครูผู้สอนจะอิงความรู้และทักษะของครูผู้ตรวจในการให้คะแนน  ทำอย่างไรวิธีการตรวจชิ้นงาน ภาระงานของผู้เรียนจึงจะมีความชัดเจน สม่ำเสมอ และเป็นเหตุเป็นผล ในการสนับสนุนคะแนนที่ครูให้ นั่นคือ ทางออกที่สำคัญก็คือการกำหนดเกณฑ์การประเมินหรือการให้คะแนนชิ้นงาน /ภาระงาน วิธีการกำหนดเกณฑ์การประเมินนั้น ครูอาจพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้

๕.๑ ประเมินชิ้นงาน ภาระงานในภาพรวม(Holistic) หรือแบบแยกส่วน (Analytic)

๕.๒ คุณลักษณะใดบ้างที่สะท้อนภาพรวมของมาตรฐานการเรียนรู้ในหน่วยการเรียนรู้และตัวชี้วัด นั้น อาจต้องมีการอธิบายโดยการนิยามคุณภาพทักษะที่ต้องการประเมิน พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

๕.๓  กำหนดมาตรฐานระดับคุณภาพของชิ้นงาน ภาระงาน กี่ระดับ(ระดับงานยอดเยี่ยม

งานดี งานพอใช้ งานต้องปรับปรุง)การให้น้ำหนักชิ้นงาน

๕.๔ เลือกมาตรวัดลักษณะใด(เชิงปริมาณ/เชิงคุณภาพ)

๕.๕ กำหนดบทบาทใครทำการประเมิน

๖. กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเข้าใจ(Develop understanding) การเรียนรู้จะต้องเหนือกว่าหรือมากกว่าการจำเนื้อหาได้ ลักษณะของกิจกรรมจะต้องมีการสืบค้น (Inquiries) ได้รับประสบการณ์ตรง มีการประยุกต์หรือนำไปใช้ ได้มีการนำเสนอสิ่งที่ซ่อนเร้นที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดการเรียนรู้ ล การกำหนดกิจกรรมควรประกอบด้วย

๖.๑ เป็นกิจกรรมที่พัฒนาผู้เรียนไปสู่มาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัดชั้นปีที่กำหนดไว้ใน

หน่วยการเรียนรู้

                                ๖.๒ เป็นกิจกรรมที่นำไปสู่การสร้างชิ้นงานหรือภาระงานที่แสดงถึงการบรรลุมาตรฐาน การเรียนรู้และตัวชี้วัดชั้นปีของผู้เรียน

                                ๖.๓ ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบและจัดกิจกรรม

๖.๔ เป็นกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

๖.๕ กิจกรรมมีความหลากหลายและเหมาะสมกับผู้เรียนและสาระเนื้อหา

                                ๖.๖ กิจกรรมต้องสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์

                                ๖.๗ กิจกรรมช่วยให้ผู้เรียนเข้าสู่แหล่งการเรียนรู้และเครือข่ายการเรียนรู้ที่หลากหลาย

                                ๖.๘ กิจกรรมควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง

                องค์ประกอบของกิจกรรมการเรียนการสอน ประกอบด้วย

๑. กิจกรรมนำเข้าสู่การเรียน (Introduction Activities) เป็นกิจกรรมที่ใช้ในการกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนในตอนต้นก่อนการจัดกิจกรรมพัฒนา กิจกรรมนำสู่การเรียนเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ กระตือรือร้นอยากเรียน นำไปสู่การเชื่อมโยงกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาผู้เรียนและกิจกรรมรวบยอด จะต้องมีการเชื่อมโยงถึงประสบการณ์เดิมที่ผู้เรียนมีอยู่ ช่วยให้ผู้เรียนได้แสดงถึงความต้องการในการเรียนรู้ของตนเอง

๒. กิจกรรมที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ (Enabling Activities) เป็นกิจกรรมที่ใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ ตามสาระเนื้อหาและทักษะที่เพียงพอต่อการทำกิจกรรมรวบยอด การกำหนดกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาผู้เรียน ควรมีลักษณะ สัมพันธ์เชื่อมโยงกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดชั้นที่เป็นเป้าหมายของหน่วยการเรียนรู้ สามารถสร้างองค์ความรู้และทักษะกระบวนการเพื่อพัฒนาผู้เรียนไปสู่มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดชั้นปีที่กำหนด จะต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ มีการส่งเสริมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

๓. กิจกรรมรวบยอด (Culminating Activities) เป็นกิจกรรมที่แสดงว่าผู้เรียนได้เรียนรู้และพัฒนาถึงมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดชั้นปีที่กำหนดในหน่วยการเรียนรู้นั้น การกำหนดกิจกรรมรวบยอดควรมีลักษณะ  เป็นกิจกรรมที่แสดงให้ผู้อื่นเห็นถึงการพัฒนาของผู้เรียน ผู้เรียนได้แสดงออกถึงการประยุกต์ความรู้ที่เรียนมาตลอดหน่วยการเรียนรู้นั้น ครอบคลุมมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดชั้นปีที่เป็นเป้าหมายของหน่วยการเรียนรู้ ช่วยให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้และทักษะกระบวนการตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดอย่างเต็มศักยภาพ ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มีความน่าสนใจ ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง

๗. กำหนดชื่อหน่วยการเรียนรู้

ครูผู้สอนสามารถนำเรื่องที่ผู้เรียนสนใจมากำหนดเป็นชื่อหน่วยการเรียนรู้ แต่ต้องคำนึงว่าเรื่องนั้น

มีคุณค่าต่อชีวิตของผู้เรียนและสังคม ที่จะทำผู้เรียนสนใจได้เป็นสัปดาห์ ๆ/เป็นหน่วยๆ โดยไม่เบื่อ แต่ชื่อหน่วยการเรียนรู้ต้องสื่อความหมาย สาระเนื้อหาที่กำหนดในแต่ละหน่วย

๘. กำหนดเวลาเรียน

                การกำหนดเวลาเรียนต้องคำนึงถึงความสอดคล้องของตัวชี้วัด สาระเนื้อหาที่นำมาใช้กำหนดหน่วยการเรียนรู้



ความเห็น (5)

   สวัสดีปีใหม่สดใสหรู  

หน่วยเรียนรู้มีคุณค่ามหาศาล

ท่านเป็นครูของครูที่สู้งาน        

ได้สร้างสรรค์ครูของไทยให้รุ่งเรือง

               ขออำนาจคุณพระศรีรัตนา

จงปกปักษ์รักษาทุกเนาว์เนื่อง

คิดมุ่งหวังสิ่งใดได้ประเทือง     

อีกลือเลื่องเลิศปัญญานิรันดร์เทอญ

กราบขอบคุณ ครูภา

ขอให้พร ที่มอบให้ ได้ตอบสนองครูภาและครอบครัว เป็นร้อยเท่า พันเท่านะครับ

 อ่านสนุกทุกรายการ

          ภาษาสารนำเสนอ

          สร้างปัญญามาปรนเปรอ

          นำเสนอขายให้ครู

 

         สินค้าของท่านหัวหน้าน่าสนใจทุกรายการเลยค่ะ

                      สวัสดีค่ะ

     โอกาสหน้าจะมาเยี่ยมชมใหม่นะคะ

เป็นวันแรกที่เข้ามาอ่านค่ะ อ่านเรื่องหลักสูตรใหม่ค่ะ คงต้องย้อนไปตอนที่ 1 แล้วปริ้นเก็บไว้ ขอบคุณค่ะที่นำความรู้มาให้มากมายค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท