สาเหตุ


หลังจากกลางวันทุกครั้ง จะมีกลางคืนตามมา กลางวันเป็นสาเหตุของกลางคืนใช่หรือไม่? คำตอบก็คือไม่ใช่ กลางวันและกลางคืนมีสาเหตุร่วมกันคือดวงอาทิตย์และการที่โลกหมุนรอบตัวเอง แต่กลางวันไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดกลางคืน

     ชายคนหนึ่งกำลังเดินผิวปากอย่างสบายอารมณ์อยู่ริมถนน ในทันใดนั้นเองมีโจรโผล่ออกมาจากมุมตึก โจรตีศีรษะชายผู้นั้นด้วยไม้อย่างรุนแรงจนเขาหัวแตก จากนั้นโจรก็ฉกกระเป๋าหนีไป
     ถ้าถามผมว่า การที่โจรตีศีรษะชายผู้นั้นด้วยไม้ เป็นสาเหตุทำให้ชายผู้นั้นหัวแตกใช่หรือไม่ ท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะตอบตรงกันว่า "ใช่" บางท่านอาจจะคิดต่อว่าของกล้วยๆ ไม่น่ามาถามกันเลย
     ลองดูอีกตัวอย่างหนึ่ง
     มีผู้หญิงคนหนึ่ง พาลูกมาหาหมอเธอบอกว่า "คุณหมอคะลูกดิฉันเป็นไข้มา 3 วันแล้วตอนนี้ออกผื่นเต็มตัวเลย สงสัยว่าจะเป็นเพราะเมื่อสองเดือนก่อนแกตกต้นไม้ เลยทำให้มีอาการไข้ในครั้งนี้"
     ปัญหานี้ผมอยากจะถามก็คือว่าหญิงผู้นี้เข้าใจถูกหรือไม่ การที่ลูกของเธอตกต้นไม้เมื่อสองเดือนก่อนจะเป็นสาเหตุให้เกิดไข้ออกผื่นในปัจจุบันได้หรือไม่
     คราวนี้ท่านผู้อ่านทั้งหลายคงมีความคิดไม่ตรงกัน บางท่านอาจจะบอกว่าได้ บางท่านอาจจะบอกว่าเป็นไปไม่ได้ บางท่านอาจจะบอกว่าไม่รู้
     การที่จะบอกว่าเรื่องหนึ่งเป็นสาเหตุของอีกเรื่องหนึ่งหรือไม่ บางครั้งก็ดูง่ายดาย แต่บางครั้งก็ดูยากจนไม่สามารถบอกได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เข้าใจหลักเกณฑ์เรื่องสาเหตุดีพอ
     ท่านเคยถามตัวเองบ้างไหมว่า เมื่อท่านบอกว่าเรื่องหนึ่งเป็นสาเหตุของอีกเรื่องหนึ่ง ท่านใช้หลักเกณฑ์อะไรอธิบาย    หลักเกณฑ์ที่พวกเราทุกคนใช้อธิบายว่าอะไรเป็นสาเหตุของอะไร มีอยู่ 3 อย่าง มีจุดอ่อนของตัวเอง ดังนั้นหากใครใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้อย่างไม่รอบคอบ ก็อาจจะทำให้เข้าใจเรื่องสาเหตุผิดพลาดได้ (บอกว่าเรื่องหนึ่งเป็นสาเหตุของอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หรือในทางกลับกันว่าเรื่องหนึ่งไม่ใช่สาเหตุของอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งๆ ที่ใช่)
     หลักเกณฑ์ทั้ง 3 อย่าง มีดังต่อไปนี้ คือ
     1. ก.เป็นสาเหตุของ ข. เพราะ ก. เป็นตัวแปรเพียงตัวเดียวที่ทำให้เหตุการณ์ที่ไม่ใช่ ข. กลายเป็น ข. สมมติวันหนึ่งคุณพาลูกคุณไปดูหนัง วันต่อมาลูกคุณเป็นไข้ คุณอาจจะบอกว่าลูกคุณเป็นไข้เพราะไปดูหนัง เนื่องจากอากาศในโรงหนังถ่ายเทไม่ดีพอ จึงมีเชื้อโรคอยู่มาก ถ้าคุณคิดเช่นนี้ก็แสดงว่าคุณกำลังใช้เหตุผลข้อนี้อยู่ เพราะคุณคิดว่าสิ่งเดียวที่ผิดแปลกไประหว่างสถาวะที่ลูกคุณไม่เป็นไข้กับเป็นไข้ ก็คือการไปดูหนังและถ้าการไปดูหนังเป็นเหตุการณ์เดียวที่ผิดแปลกไปจริง คุณก็เป็นฝ่ายถูก ลูกคุณติดเชื้อมาจากโรงหนังแน่นอน
     แต่อย่างไรก็ตาม คุณจะต้องแน่ใจว่าการไปดูหนังเป็นเหตุการณ์ที่ผิดแปลกไปจริง วันก่อนหน้านั้นลูกคุณอาจจะเล่นกลางแดดนานเกินไป เพื่อนที่โรงเรียนอาจจะเป็นไข้หวัดอยู่ ก็ได้ ดังนั้นถ้าคุณจะใช้เหตุผลข้อนี้คุณต้องแน่ใจว่าเรื่องที่คุณกำลังอธิบายว่าเป็นสาเหตุของเหตุการณ์ที่คุณต้องการอธิบายนั้น เป็นตัวแปรตัวเดียวที่ทำให้แตกต่างระหว่างสภาวะที่เกิดเหตุการณ์นั้น กับสภาวะที่ไม่เกิด
     เรื่องนี้เป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญข้อหนึ่งสำหรับการวิจัยหาสาเหตุต่างๆ ถ้าคุณต้องการรู้ว่าตัวแปร ก. เป็นสาเหตุของตัวแปร ข. หรือไม่ คุณจะต้องควบคุมตัวแปรอื่นๆ ทุกตัวให้คงที่ยอมให้เป็นตัวแปร ก. ตัวเดียว เปลี่ยนแปลงได้เมื่อทำเช่นนี้แล้ว ถ้าคุณพบว่าเมื่อตัวแปร ก. เปลี่ยนแปลง ตัวแปร ข. เปลี่ยนแปลงตาม คุณจึงจะบอกได้อย่างมั่นใจว่าตัวแปร ก. เป็นสาเหตุของตัวแปร ข. แต่ถึงแม้ในการทดลองที่เตรียมการเป็นอย่างดีก็ยังยากที่จะควบคุมตัวแปรอื่นให้คงที่ได้ ดังนั้น ถ้าคุณใช้เหตุผลนี้เพื่ออธิบายสาเหตุคุณจึงมีโอกาสผิดมากทีเดียว


     2. ก. เป็นสาเหตุให้เกิด ข. เพราะ ก. เป็นตัวแปรตัวเดียวที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ ข. ทุกครั้งสมมติว่าเมื่อวานนี้ คุณไปรับประทานอาหารเย็นกับแฟนที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง วันต่อมาทั้งคุณและแฟนคุณมีอาการท้องเสีย เนื่องจากวันทั้งวันคุณไม่ได้รับประทานอาหารมื้ออื่นร่วมกับแฟนติดเชื้อมากจากร้านอาหารนั้น การให้เหตุผลเช่นนี้ดูจะมีโอกาสถูกมากกว่าแบบแรก เพราะการหาตัวแปรร่วมเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากนัก
     อย่างไรก็ตาม คุณต้องระวังไว้เรื่องหนึ่งนั้นคือ คุณต้องแน่ใจว่าคุณและแฟนคุณไม่ได้ต่างคนต่างติดเชื้อมากจากคนละที่ (เช่นคุณติดเชื้อมาจากร้านอาหารมื้อเช้า และแฟนคุณติดเชื้อมาจากมื้ออาหารกลางวัน)


     3. ก. เป็นสาเหตุให้เกิด ข. เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ ก. จะเกิดเหตุการณ์ ข. ตามมา ยกตัวอย่างจากข้อ 2 อีกครั้ง ในครั้งแรกคุณอาจจะยังไม่แน่ใจว่าคุณและแฟนติดเชื้อมาจากร้านอาหารที่รับประทาน ตอนเย็น แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำๆ กันหลายครั้ง (ทุกครั้งที่คุณและแฟนทานอาหารที่ร้านนั้นคุณและแฟนจะท้องเสียในวันต่อมา) คุณก็แน่ใจได้มากขึ้น จนถึงระดับมั่นใจว่าคุณและแฟนติดเชื้อมาจากร้านนั้น คุณและแฟนจะท้องเสียในวันต่อมา) คุณก็แน่ใจได้มากขึ้นจนถึงระดับมั่นใจว่าคุณและแฟนติดเชื้อมาจากร้านนั้น
     การที่เรากล้าบอกว่าเหตุการณ์ใดเป็นสาเหตุของเหตุการณ์ใดด้วยความมั่นใจ มักจะเกิดจากที่เราใช้เหตุผลข้อนี้ (ทุกครั้งที่คนเราถูกตีด้วยของแข็งที่ศีรษะอย่างแรง ศีรษะจะแตก ดังนั้นเมื่อเราพบว่ามีคนถูกไม้ตีที่ศีรษะแล้วหัวแตก เราจึงสามารถบอกได้อย่างมั่นใจว่าการถูกตีด้วยไม้ที่ศีรษะนั่นเองที่เป็นสาเหตุของ หัวแตก)
     ปัญหาสำคัญก็คือว่า ถ้าหลังจากเกิดเหตุการณ์ ก. แล้วเหตุการณ์ ข. ตามมาทุกครั้ง เราสามารถบอกอย่างมั่นใจร้อยเปอร์เซนต์ได้หรือไม่ว่า ก. คือสาเหตุของ ข. มีทางเป็นไปได้ไหมว่า แม้จะเกิดเหตุการณ์จะเป็นเช่นนี้แต่ ก. ไม่ใช่สาเหตุของ ข.
     คำตอบก็คือเป็นไปได้


     หลังจากกลางวันทุกครั้ง จะมีกลางคืนตามมา กลางวันเป็นสาเหตุของกลางคืนใช่หรือไม่? คำตอบก็คือไม่ใช่ กลางวันและกลางคืนมีสาเหตุร่วมกันคือดวงอาทิตย์และการที่โลกหมุนรอบตัวเอง แต่กลางวันไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดกลางคืน ดังนั้นถึงแม้หลังจากเหตุการณ์ ก. จะมีเหตุการณ์ ข. ทุกครั้ง คุณก็ไม่สามารถบอกได้ร้อยเปอร์เซนต์ว่าเหตุการณ์ ก. เป็นสาเหตุของเหตุการณ์ ข. จนกว่าคุณจะแน่ใจว่า เหตุการณ์ทั้งสองอย่างไม่ได้เกิดจากสาเหตุร่วมกัน
     ข้อยกเว้นในเรื่องนี้ อีกอย่างหนึ่งคือ ความบังเอิญ
     สมมติทุกครั้งที่คุณไปเที่ยวศูนย์การค้า แล้วจะมีฝนตก คุณคงจะไม่บอกว่าการที่คุณไปเที่ยวศูนย์การค้า เป็นเหตุให้ฝนตก เพราะไม่มีทฤษฎีหรือตรรกชนิดใดจะเชื่อมโยงเหตุการณ์ทั้งสองนี้ได้ ดังนั้นคุณจึงบอกว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องบังเอิญมากกว่าเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน


    การจะยอมรับว่าเหตุการณ์ ก. เป็นสาเหตุของเหตุการณ์ ข. ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยงทางทฤษฎีหรือตรรกระหว่างเหตุการณ์ทั้งสองด้วย เป็นข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ พวกนักไสยศาสตร์สามารถยอมรับว่าเหตุการณ์ ก. เป็นสาเหตุของเหตุการณ์ ข. ได้โดยไม่ต้องมีเหตุผลอันได้มาจากการเชื่อมโยงทางตรรกระหว่างสองเหตุการณ์ ดังนั้น ถ้าพวกนักไสยาศาสตร์รู้ว่าทุกครั้งเมื่อคุณไปศูนย์การค้าแล้วจะเกิดฝนตก เขาจะยอมรับว่าการที่คุณไปเที่ยวศูนย์การค้าคือสาเหตุที่ทำให้ฝนตก และถ้าเกิดฝนแล้ง พวกเขาจะทำพิธีแห่คุณ (แห่นางแมว) ไปศูนย์การค้า
     ผมสังเกตว่าพวกเราส่วนใหญ่ให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องอะไรเป็นสาเหตุของอะไร อย่างหละหลวมทำให้เกิดอคติและความเข้าใจผิดกันได้บ่อยๆ (เช่นในตัวอย่างข้างต้น คุณอาจจะไปด่าเจ้าของร้านอาหารว่าทำอาหารสกปรก ทำให้คุณและแฟนท้องเสียทั้งๆ ที่ความจริงคุณและแฟนอาจจะไม่ได้ติดเชื้อมาจากร้านของเขาก็ได้) ดังนั้น ก่อนจะปักใจเชื่อว่าอะไรเป็นสาเหตุของอะไร ควรจะพิจารณาให้รอบคอบว่ามีความเป็นไปได้อย่างอื่นหรือไม่
     อย่าด่วนตัดสินใจอย่างผลีผลาม จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง...

     ...เป็นอย่างไรบ้างครับ อ่านมาถึงตรงนี้ ผมอยากจะเรียนท่านผู้อ่านว่า ข้อความข้างบนตั้งแต่ต้นมานั้น เป็นข้อเขียนบทความของ น.พ.รังสิต  หร่มระฤก ซึ่งผมตัดมาจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 21 เม.ย. 2534 ครับ...กว่าสิบหกปีมาแล้วครับ...เหตุที่ต้องไปค้นออกมาพิมพ์ในบล็อกของวันนี้ก็คงจะเป็นเพราะข่าวเหตุการณ์บ้านเมืองของเราทุกวันนี้นั่นเอง...ซึ่งผมก็คิดว่าผู้คนพลเมืองของไทยที่มีความคิดวิจารณญาณ จะวิเคราะห์วิจารณ์หาเหตุหาผลของเรื่องราวความเป็นไปในบ้านเมืองควรจะได้มีหลักคิดกันบ้างน่าจะดีกว่ามั่วกันไปมั่วกันมาไม่รู้ใครเป็นใคร อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล...ก็เท่านั้นเองครับ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 226471เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2008 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะลุงตุ้ม หลักตรรกะ ที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นความจริงมากมายนัก เพราะคนมักจะสรุปผล (ด้วยการคิดของตนเอง) แล้วตัดสินคน ตัดสินใจ ลงความเห็น หรือแม้แต่ลงโทษบุคคลอื่น ๆ ไปเลยจาก เหตุผลของตนเอง โดยขาดวิจารณญาณหรือข้อมูลที่เป็นจริงเสมอ

ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ดังนั้น คุณภาพของคน อยู่ที่ผลของงาน ขอให้ท่านศิลป์ชัย เทศนา เป็นคนมีคุณภาพเพื่อ

การศึกษาของ สพท.อุทัยธานี เขต 1 ตลอดไป

ขอบพระคุณ อ.สมศักดิ์ มากๆ ครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท