ย้อนเวลา เยี่ยมเพื่อนที่ รพร.ธาตุพนม


สิ่งที่ประทับใจ

เป็นเวลานานมากแล้วที่ได้ไป “เยี่ยมเพื่อน” ที่ รพร.ธาตุพนม แต่ยังไม่ได้เอาบันทึก (จริงๆ จดบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ทุกวัน) มาลงบล็อกเสียที สัปดาห์นี้พอมีเวลามาสะสางเรื่องต่างๆ ที่ค้างไว้ จึงขอเล่าเรื่องที่ได้ไปเยือนธาตุพนมพร้อมกับอาจารย์สมเกียรติ มหาอุดมพร และคุณธัญญลักษณ์ เกียรติชื่น Business Manager ของฝ่ายเวชภัณฑ์และครุภัณฑ์ บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
เภสัชกรเอนก ทนงหาญ ได้เล่าเรื่องและนำภาพลงบล็อกให้เห็นบรรยากาศไปบ้างแล้ว (คลิกที่นี่และที่นี่) ดิฉันจึงขอสรุปสิ่งที่ประทับใจเป็นวันๆ ไป


วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๙
เมื่อลงจากเครื่องบินตอนเช้า เราได้เจอ นพ.ประเมศฐ กิ่งโก้ รอง สสจ.สกลนคร ผู้ที่ผ่านตลาดนัดความรู้ครั้งที่ ๑ ของเรา มีเวลาทักทายกันเล็กน้อย เพราะท่านไปรับผู้หลักผู้ใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข ต่อจากนั้นคุณเอนก คุณมณีวัชราภรณ์ (คุณเล็ก) พาไปรับประทานอาหารเช้า ทีมเราบอกว่าไม่หิวเพราะรับประทานมาบ้างแล้วบนเครื่องบิน แต่พอไปเจออาหารญวนเข้าก็ไม่มีใครปฏิเสธ แถมบ่นกันอีกว่าไม่น่าทานแซนวิชบนเครื่องบินเลย

เรานั่งรถมุ่งหน้าไปที่ รพร.ธาตุพนมเลย ไม่แวะเข้าโรงแรม ระหว่างทางได้แวะที่ สอ.พระกลางทุ่ง เยี่ยมเจ้าหน้าที่ (น้องไก่) และผู้ป่วยเบาหวานที่มาใช้บริการ น้องๆ บอกว่าเหลือผู้ป่วยน้อยคนแล้ว (ประมาณ ๑๐ คน) เพราะเขาจะมาใช้บริการแต่เช้า เราได้เข้ากลุ่มพูดคุยกันเรื่องการดูแลรักษา ผู้ป่วยพอใจที่มาเจาะเลือด รับยาที่ สอ. “เจาะเลือดได้ไม่ต้องคอย ถ้าไป รพ. ต้องไปเอาบัตรคิวตั้งแต่ตีห้า พอถึงแปดโมงก็สั่น” ได้คุยกันเรื่องกิจกรรมชมรม ดิฉันเล่าว่าชมรมในจังหวัดอื่นเขาทำอะไรกันบ้าง ยกตัวอย่างที่ทีมของคุณหมอนิพัธ กิตติมานนท์ ที่ รพ.พุทธชินราช ช่วยกันตั้งชื่อว่าน่าจะเป็น “ชมรมอ่อนหวาน” ไปไหนเจอกันก็ให้ถามว่า “เป็นอย่างไร น้ำตาล” ดิฉันรู้สึกว่าบรรยากาศเป็นกันเองมากๆ เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยน่าจะทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี เพราะน้องไก่ก็มีความกระตือรือร้น สนใจเรียนรู้ เราลองให้น้องไก่ประเมินเท้าผู้ป่วยให้ดู พบว่ายังควรปรับปรุงเทคนิคอีกหน่อย เมื่อผู้ป่วยกลับหมดแล้ว อาจารย์สมเกียรติช่วยสอนและสาธิตวิธีการให้ใหม่

เมื่อไปถึงโรงพยาบาลได้รับการต้อนรับจาก นพ.มนู ชัยวงศ์โรจน์ ผู้บริหารและทีมงาน เมื่อคุณหมอมนูกล่าวต้อนรับด้วยคำขวัญของจังหวัด ดิฉันจำไม่ได้หมด แต่ติดใจเรื่อง “มันแกวหวาน” จึงบอกคุณเอนกว่าต้องขอชิมให้ได้ คุณเอนกบอกกำหนดการของทั้ง ๒ วัน คร่าวๆ นพ.ประกาศิต จิรัปปภา มาเล่าให้ฟังถึงงานด้าน diabetic foot บอกว่ายังประทับใจที่ตอนไป PA ที่ รพ.เทพธารินทร์ ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ มาต้อนรับด้วย กลับจาก PA แล้วได้นำความรู้มาประยุกต์สามารถ save limb ได้มากขึ้น มีการออกแบบผลิตเครื่อง Podoscope ไว้ใช้วัดแรงกดของเท้า (ด้วยราคาประมาณ ๒,๐๐๐ บาท ต้นแบบมีราคาหลายหมื่น) ใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยสอนให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความเสี่ยงในการเกิดแผลที่เท้า ไปจนถึงช่วยกันคิดออกแบบรองเท้า หาแหล่งตัดรองเท้าสำหรับผู้ป่วย เรื่องรองเท้าต้องคิดเยอะ หลังแผลหาย จำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้านได้ แต่งานยังไม่สิ้นสุด ต้องตามไปดูเรื่องรองเท้าให้เข้ากับวิถีชีวิต “ช่วยกันคิดแบบ ออกมาใช้ได้แต่วิ่งแล้วหลุด” “ทำรองเท้าเสร็จ ผู้ป่วยถามว่าทำนาได้ไหม” สิ่งเหล่านี้นำไปสู่เรื่องของ primary prevention ที่เพิ่งจะเริ่มเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ที่มีการประเมินเท้าผู้ป่วยทุกราย ตั้งเป้าให้ได้ครบ ๑๐๐% ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือบุคลากรมองเท้าผู้ป่วยเบาหวานมากขึ้น ทำงานเชิงรุกมากขึ้น น่าดีใจแทนผู้ป่วยเบาหวานที่ธาตุพนมจริงๆ

ดิฉันมีโอกาสได้เห็นหน้าค่าตาและรู้จัก นพ.ปกรวิทย์ จิรัปปภา อายุรแพทย์ (น้องชายคุณหมอประกาศิต ) ที่เดิมจะไปร่วมตลาดนัดความรู้กับเรา แต่เผอิญมีเหตุที่ไปไม่ได้ คุณหมอประกาศิตจึงได้ไปแทน

ช่วงบ่ายเราไปดูแลผู้ป่วยที่คลินิกสุขภาพเท้า อาจารย์สมเกียรติตรวจและให้การรักษาตามปัญหาของผู้ป่วยเกือบ ๑๐ ราย พร้อมกับสอนน้องๆ ที่มาจาก สอ.ต่างๆ ไปด้วย ทั้งในเรื่องการ dressing แผล การ trim callus เรื่องเล็บ มีน้องผึ้งเป็นผู้ช่วยที่แข็งขัน สำหรับเรื่องรองเท้า อาจารย์สมเกียรติให้ความเห็นรองเท้าที่ตัดมานั้น “เย็บดี เพราะไม่ใช้ max ความนิ่มของพื้นด้านในใช้ได้ แต่ด้านนอกควรแข็ง” พร้อมบอกเคล็ดลับในการ motivate ให้ผู้ป่วยใส่รองเท้า ผู้ป่วยบางรายเสียดายรองเท้าไม่อยากใส่ บางทีได้ไปแล้วก็ไม่รู้ว่าจะใส่หรือไม่ใส่ “เท้าแพงกว่ารองเท้า ให้ ๕๐,๐๐๐ แล้วตัดขาเอาไหม รองเท้า ๕๐๐ ตัดใหม่ได้นะ”

ตกเย็น ๑๖ น.กว่าแล้ว น้องๆ ยังไม่ถอย มีกิจกรรมเรียนรู้ต่อกันอีกในห้องประชุม อาจารย์สมเกียรติเติมความรู้เกี่ยวกับการจัดกลุ่มเท้าตามระดับความเสี่ยง เป้าหมายการดูแลในแต่ละกลุ่ม เทคนิคการดูแลเล้กๆ น้อยๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้ มีคำถามจากน้องๆ หลายคำถาม บางคำถามก็ช่วยกันตอบเอง บางคนก็ขอ share ประสบการณ์

คุณหมอมนู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบอกว่าครั้งนี้ท่านได้ภาพชัดแล้วว่าจะวัดผลสัมฤทธิ์อย่างไร จะสร้างโมเดล และขายโมเดลนี้ต่ออำเภอ ต่อจังหวัด

ดิฉันก็ได้ idea มองเห็นความเป็นไปได้ในการจัดตลาดนัดความรู้ที่ รพร.ธาตุพนม ประทับใจน้องๆ ทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมแบบไม่ห่วงเรื่องเวลา มีความกระตือรือร้นสนใจใคร่รู้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและหัวหน้าพยาบาลก็อยู่กับเราจนเย็นมาก

ก่อนส่งเข้าที่พักคุณเอนก คุณเล็กและน้องๆ พาไปไหว้พระธาตุพนม รับประทานอาหารเย็นที่ร้านริมแม่น้ำโขง อร่อยอีกเช่นเคย เราแยกย้ายกันไปพักผ่อน ขณะที่คุณเอนกต้องกลับไปเฝ้าลูกสาวที่ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลต่อ

วัลลา ตันตโยทัย


หมายเลขบันทึก: 22626เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2006 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นภาพแล้วอมยิ้มครับ   ขอบคุณอาจารย์ครับ ที่สอบถามอาการลูกสาวตลอดเวามี่เจอกันระหว่างทำกิจกรรม

รอฟังขุมความรู้จากน้องหงา นักกายภาพของธาตุพนมครับ  เพราะเห็นน้องจดใส่สมุด  บอกจะนำมาลงบล็อกให้ทันในเสาร์อาทิตย์นี้ครับ

เจอพี่เอนกทวงขุมความรู้มาหลายวันแล้ว  วันนี้ลงให้แน่นอนค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท