สันติศึกษา


ความรุนแรงและสันติวิธี

ความรุนแรง

และสันติวิธี                                                                       

 

ความรุนแรง

1.      ความรุนแรง (ตามแนวคิดของ Johan Galtung) หมายถึง อุปสรรคที่ขัดขวางความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ไม่ให้บรรลุผลซึ่งความต้องการพื้นฐานนี้มี 4 ประการ โดยที่หากความต้องการเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบสนองหรือได้รับไม่เพียงพอก็จะเกิดความรุนแรงขึ้น

(1)     ความต้องการมีชีวิตอยู่ (survival)

(2)     ความต้องการมีความเป็นอยู่ที่ดี (welfare)

(3)     ความต้องการมีเสรีภาพ (freedom)

(4)     ความต้องการมีอัตลักษณ์หรือความรู้สึกว่ามีความหมายในชีวิต (identity)

 

สำหรับประเภทของความรุนแรงนั้นสามารถแบ่งได้ดังนี้

1.1.   ความรุนแรงทางตรง (direct violence) เป็นความรุนแรงที่มีผลในเชิงการทำร้ายร่างกายและมีผู้กระทำอย่างชัดเจน ซึ่งมีลักษณะดังนี้

1.1.1.1.มีผู้ที่ก่อความรุนแรง

1.1.1.2.มีเครื่องมือที่ใช้ในการก่อความรุนแรง เช่น ร่างกาย มีด

1.1.1.3.มีผลที่เกิดขึ้นต่อร่างกาย ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ผลในเชิงการทำลายร่างกาย เช่น การแทง การเผา และผลในเชิงการขัดขวางการทำงานของร่างกาย เช่น การไม่ให้อาหาร การไม่ให้มีอากาศ

1.1.1.4.ผลในเชิงจิตวิทยา เช่น ความกดดัน ความกลัว

1.2.   ความรุนแรงทางโครงสร้าง (structural violence) หมายถึง อะไรก็ตามที่มาทำให้เกิดช่องว่างระหว่างศักยภาพของมนุษย์ (potentiality) กับสิ่งที่มนุษย์เป็นอยู่จริง (actuality) โดย อะไรก็ตาม นั้นไม่ใช่ตัวบุคคลแต่เป็นระบบหรือโครงสร้าง ซึ่งลักษณะเด่นของความรุนแรงนี้คือ ไม่ใช่สิ่งที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนและสามารถหายไปได้อย่างรวดเร็ว หากแต่เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานและต่อเนื่องในรูปของกระบวนการมากกว่าที่จะเป็นเหตุการณ์เฉพาะ ซึ่งความรุนแรงทางโครงสร้าง 2 ประการที่ดำรงอยู่อย่างโดดเด่นในบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจคือ การกดขี่ (repression) และการขูดรีด (exploitation)

1.3.   ความรุนแรงทางวัฒนธรรม (cultural violence) เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบริบทของวัฒนธรรมที่รองรับและให้ความชอบธรรมแก่การใช้ความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงทางโครงสร้าง ซึ่งความรุนแรงทางวัฒนธรรมนี้จะปรากฏอยู่ในรูปของสัญลักษณ์ ศาสนา อุดมการณ์ ภาษา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น

1.4.   ตัวอย่างของการอธิบายแนวคิดความรุนแรงทั้ง 3 ประการ

      เหตุการณ์: พ่อใช้ไม้บรรทัดตีเด็กชายหนึ่ง

     ความรุนแรงทางตรง:  พ่อ คือ ผู้กระทำ

                                  อาวุธที่ใช้ คือ ไม้บรรทัดและอาจจะมีคำพูดดุว่า

                                  ผลแห่งการกระทำ คือ อาการบาดเจ็บของเด็กชายหนึ่งที่เกิด

                                                            จากการตี และบาดแผลทางจิตใจ

ความรุนแรงทางโครงสร้าง: ควรจะเริ่มจากการตั้งคำถามว่า อะไรที่ทำให้พ่อสามารถตีลูกได้ หรือ อะไร ที่ทำให้ตัวผู้กระทำสามารถกระทำการรุนแรงได้ และ อะไร ที่ว่านั้นต้องเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกระทำ (เป้าของความรุนแรงหรือเหยื่อของความรุนแรง) สูญเสียศักยภาพบางอย่าง ซึ่งการตั้งคำถามแบบนี้แตกต่างจากการถามว่าทำไมพ่อถึงตีลูก เนื่องจากการถามว่าทำไมพ่อถึงตีลูกเป็นการหาสาเหตุของการกระทำ เช่น พ่อตีลูกเพราะลูกขโมยของ เป็นต้น ในขณะที่การถามว่าอะไรที่ทำให้พ่อสามารถตีลูกได้เป็นการถามถึงโครงสร้างหรือเหตุผลที่อยู่เหนือจากการกระทำที่เกิดขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ อะไร ที่ว่านั้นอาจจะเป็นโครงสร้างทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันที่กดขี่อีกฝ่าย หมายความว่า โครงสร้างทางสังคมเอื้อให้พ่อมีอำนาจที่มากกว่าลูกในการตัดสินใจได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ซึ่งโครงสร้างทางอำนาจดังกล่าวทำให้ลูกสูญเสียศักยภาพในการอธิบายถึงสาเหตุของการกระทำซึ่งอาจจะคิดต่อไปได้อีกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการปิดกั้นศักยภาพของลูกในการใช้เหตุผลได้อย่างมีตรรกะและอิสระ เป็นต้น

ความรุนแรงทางวัฒนธรรม:  ควรเริ่มจากการตั้งคำถามว่า อะไรที่ทำให้การกระทำของพ่อเป็นเรื่องที่ถูกต้อง หรืออีกนัยหนึ่งคือ มีวัฒนธรรมแบบใดในสังคมบ้างหรือไม่ที่ทำให้การกระทำของพ่อเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม ในกรณีนี้ พ่ออาจจะเชื่อว่าหรือได้รับข้อมูลมาว่าลูกขโมยของของผู้อื่น ซึ่งความเชื่อที่ว่า การขโมยเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม ก็เป็นเหตุหนึ่งในการให้สิทธิแก่พ่อในการตีลูกของตนเอง หรือสุภาษิตที่ว่า รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ก็อาจจะนำมาใช้อธิบายการกระทำของพ่อได้ว่า การที่พ่อตีนั้นเป็นเพราะพ่อรักลูกไม่อยากให้ลูกเป็นคนไม่ดี เป็นต้น อนึ่ง ในประเด็นเรื่องความรุนแรงทางวัฒนธรรมนี้ นอกจากจะถามว่าอะไรที่ทำให้การกระทำเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว อาจจะถามในทางกลับกันได้ว่าอะไรที่ทำให้การกระทำบางประการไม่ถูกต้อง

 

                                                                  **********************

สันติวิธี

            นิยามของ สันติวิธี

แม้ว่านักวิชาการจำนวนมากจะยังคงมีความขัดแย้งกันในการให้คำนิยามสันติวิธี แต่อย่างน้อยที่สุดแนวคิดต่างๆ ก็ยังเห็นพ้องว่า สันติวิธี คือ การละทิ้งหรือการไม่เลือกที่จะใช้ความรุนแรงเมื่อเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง เช่น ทัศนะของไพศาล  วงศ์วรวิสิทธ์ ที่ให้ความหมายสันติวิธี คือ วิธีการแก้ไขความขัดแย้งหรือตอบโต้ในสถานการณ์หนึ่งๆโดยไม่ใช้ความรุนแรงต่อคู่กรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นการประทุษร้ายต่อร่างกายและชีวิต หรือทัศนะที่ว่า สันติวิธี คือ มุมมองในการจัดการกับความขัดแย้งที่ยึดมั่นในวิถีแห่งสันติโดยปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบซึ่งรวมถึงการไม่ตอบโต้อีกฝ่ายโดยใช้ความรุนแรงแม้ว่าจะถูกกระทำด้วยความรุนแรงก็ตาม

นอกจากนั้นสันติวิธียังเป็นการกระทำ (Active) หมายความว่า สันติวิธีไม่ใช่ความเฉื่อยชา หรือการอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไร แต่เป็นการกระทำที่ไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อรับมือกับความขัดแย้งที่เผชิญอยู่ เช่น การชุมนุมประท้วงอย่างสงบปราศจากอาวุธ การอดอาหารประท้วง เป็นต้น ในที่นี้ สันติวิธีจึงไม่ใช่การยอมจำนนต่อความขัดแย้งแต่เป็นการพยายามหาหนทางที่จะรับมือกับความขัดแย้ง นั่นเอง

ดังนั้นจึงอาจจะสรุปได้ว่า สันติวิธี คือ การกระทำที่ละเว้นจากการใช้ความรุนแรง เมื่อเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง

อย่างไรก็ดี สันติวิธีมีความหมายมากกว่าการละเว้นจากการใช้ความรุนแรงโดยทั่วไป นั่นคือ ไม่ใช่ทุกพฤติกรรมของการไม่ใช้ความรุนแรงที่จะเรียกว่าสันติวิธี ซึ่งในทัศนะของ Robert L. Holmes นั้น สามารถแบ่งพฤติกรรมการละเว้นจากความรุนแรงได้เป็นสองส่วนคือ เชิงลบและเชิงบวก เชิงลบหมายถึงการละเว้นจากการทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่วนเชิงบวกคือการละเว้นจากการใช้ความรุนแรงโดยการทำอะไรบางอย่างเมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง นั่นเอง ตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ระหว่าง ก กับ ข การละเว้นจากความรุนแรงเชิงลบคือ ก ไม่ใช้กำลังเข้าทำร้ายร่างกาย ข ซึ่งการไม่ทำร้ายนี้รวมไปถึงการไม่ทำร้ายจิตใจด้วย ส่วนการละเว้นจากความรุนแรงทางบวกคือ การที่ ก หรือ ข เริ่มที่จะกระทำการบางอย่างเพื่อจัดการกับความขัดแย้งโดยที่การกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ละเว้นจากการใช้ความรุนแรง เช่น การใช้ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง

สำหรับการละเว้นความรุนแรงที่ Holmes ไม่คิดว่าเป็นสันติวิธีนั้น คือ การไม่ใช้ความรุนแรงที่เกิดจากความขี้ขลาด นั่นคือ ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ก ไม่กล้าสู้กับ ข เพราะความกลัวว่า ข จะทำร้าย

2.         หลักการของสันติวิธี

ในการรับมือกับความขัดแย้งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทาง    คือ การใช้ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธี ซึ่งการไม่ใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธีนั้นนับว่าเป็นแนวคิดที่ท้าทายการดำรงอยู่ของการใช้ความรุนแรงในการรับมือกับความขัดแย้ง เนื่องจากผลของการใช้ความรุนแรงนั้นคือ การทำลายชีวิตปกติผู้คน นั่นคือ แทนที่บุคคลคนหนึ่งจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติตามศักยภาพของเขา เช่น มีชีวิตอย่างปลอดภัย มีครอบครัว มีบุตรแต่การใช้ความรุนแรงในการรับมือกับความขัดแย้งได้ขัดขวางชีวิตแบบนั้น

การเลือกที่จะใช้สันติวิธีนั้นไม่ใช่เป็นการใช้โดยคิดขึ้นมาชั่วคราวหรือใช้โดยบังเอิญแต่ แท้ที่จริงแล้วสันติวิธีเป็นแบบแผนหรือระบบของการกระทำที่สอดคล้องกันในตัวเกิดขึ้นจากแนวคิดหรือทัศนะการมองโลกและชีวิตแบบหนึ่งๆเป็นพื้นฐาน แนวคิดดังกล่าวเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สมมติฐานของสันติวิธี    โดยได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะสำคัญของสันติวิธี อันมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

(ก)     ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา การใช้สันติวิธีจะเป็นไปเพื่อการทำให้ความขัดแย้งที่แฝงเร้นหรือพยายามปกปิดปรากฏออกมาโดยไม่ทำให้ขยายลุกลามเนื่องจากการใช้ความรุนแรงมีแต่จะทำให้ความขัดแย้งลุกลามเพราะวัฏจักรแห่งการตอบโต้จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

(ข)     สันติวิธีเป็นการหาหนทางที่จะเอาชนะความอยุติธรรมไม่ใช่เอาชนะคน เพราะแนวทางสันติวิธีนั้นตระหนักว่าคนที่ก่อให้เกิดความชั่วร้ายต่างๆนั้นก็เป็นเหยื่อด้วยเหมือนกัน ดังนั้น สันติวิธีจึงเป็นวิธีการต่อสู้เพื่อให้สัจจะปรากฏต่อทุกฝ่าย เนื่องจากแต่ละฝ่ายของความขัดแย้งย่อมมีส่วนถูก ไม่มีฝ่ายใดถูกหรือผิดโดยสมบูรณ์ ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจที่จะอ้างความชอบธรรมในการกำจัดอีกฝ่ายได้

(ค)     ความขัดแย้งนั้นจะระงับไปได้ต่อเมื่อทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไข ดังนั้น สันติวิธีจึงเป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดสถานการณ์อย่างใหม่ซึ่งเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย

(ง)      ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน สันติวิธีสามารถปลุกความเป็นมนุษย์ในส่วนที่ดีหรือมโนธรรมออกมาจากการถูกบดบังด้วยอุดมการณ์ทฤษฎีที่คับแคบแข็งกร้าว ความหลงใหลในอำนาจความยิ่งใหญ่และความปรารถนาที่ไม่รู้จักพอ

(จ)      วิธีการต้องสอดคล้องกับเป้าหมาย  ในประเด็นนี้ Robert L. Holmes อธิบายโดยการเปรียบเทียบกับการทำขนมปัง เขากล่าวว่า แป้งคือวิธีการหรือส่วนผสมหนึ่งของขนมปัง ถ้าใช้แป้งโฮลวีท ขนมปังที่ได้ก็จะมีสีน้ำตาล แต่ถ้าใช้แป้งสีขาวก็จะได้ขนมปังสีขาว ในแง่มุมเชิงจริยธรรมนั้นคุณลักษณะของผลลัพธ์ที่ได้ก็จะมาจากหรือถูกตัดสินโดยวิธีการที่ใช้ 

(ฉ)     อำนาจไม่ได้เกิดจากอาวุธ หากขึ้นอยู่กับการยอมรับหรือการยินยอมเชื่อฟัง ดังนั้นจึงสามารถที่จะจำกัดอำนาจลงไปได้ด้วยการเพิกถอนการให้ความร่วมมือหรือการยินยอมเชื่อฟัง

3.         ประเภทของสันติวิธี

โดยทั่วไปสามารถแบ่งสันติวิธีได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

(ก)   สันติวิธีในฐานะหลักการ (Principled Nonviolence)

สันติวิธีในลักษณะนี้มีศาสนาและศีลธรรมเป็นรากฐาน เช่น อหิงสาของคานธี เป็นต้น  ผู้ใช้สันติวิธีในแง่นี้มักจะใช้แนวทางสันติวิธีในฐานะวิถีชีวิตของตนเอง  นั่นคือเป็นความปรารถนาที่จะใช้สันติวิธีโดยมีความประพฤติที่ถูกต้องตามศีลธรรมเป็นหลัก ดังนั้น การใช้สันติวิธีจึงถือเป็นความดีงามแบบหนึ่ง  ส่วนประสิทธิภาพของปฏิบัติการเป็นเรื่องรองลงมา

ผู้ใช้สันติวิธีในแง่มุมนี้มักจะเน้นการพยายามหาข้อตกลงร่วมกันในสถานการณ์ความขัดแย้ง รวมทั้งพยายามเปลี่ยนทัศนะของฝ่ายตรงข้าม (conversion) นอกจากนั้น สันติวิธีแนวนี้ยังเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์และศีลธรรมของฝ่ายตรงข้าม นอกจากนั้นยังเชื่อมั่นว่า ความไว้วางใจ รวมทั้งการเปิดเผยอย่างจริงใจและความรักเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

(ข)   สันติวิธีในฐานะยุทธศาสตร์หรือการปฏิบัติ (Strategic or Practical or Pragmatic Nonviolence)

ผู้ใช้สันติวิธีในลักษณะนี้มักจะใช้สันติวิธีในฐานะเป็นวิธีการหนึ่ง หรือเป็นกลยุทธ์ ยุทธวิธีหรือยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีการอื่นๆ ในการรับมือกับความขัดแย้ง นั่นคือมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ความรุนแรง  การใช้สันติวิธีแนวนี้ไม่จำเป็นต้องยึดถือการปฏิบัติแนวทางสันติวิธีในฐานะวิถีชีวิตหรือศีลธรรม และจะใช้สันติวิธีด้วยความปรารถนาที่จะเห็นถึงความสำเร็จของมัน เช่น แนวคิดของยีน ชาร์ป ในเรื่องปฏิบัติการไร้ความรุนแรง หรือ แนวคิดของ Peter Ackerman และ Christopher Kruegler ในเรื่อง Strategic nonviolent conflict ซึ่งมองว่าควรจะมีการศึกษาสันติวิธีในฐานะที่เป็นพฤติกรรมทางยุทธศาสตร์ที่มีจุดมุ่งหมายและมีศักยภาพแทนที่จะเข้าใจว่าเป็นการแสดงออกของความดีหรืออะไรที่ยากต่อการอธิบายและการพัฒนา

4.         สันติวิธีกับการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง

ดังที่ได้กล่าวในข้างต้นแล้วว่า แนวคิดสันติวิธีนั้นเกิดขึ้นเพื่อท้าทายกระบวนทัศน์เดิมที่ใช้ความรุนแรงในการรับมือกับความขัดแย้ง ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะสร้างเกณฑ์การประเมินว่าสันติวิธีสามารถใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งได้ในระดับใดบ้าง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

(ก)     การบรรลุเป้าหมายที่กลุ่มตั้งเอาไว้ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท  คือ เป้าหมายสูงสุด เป้าหมายระหว่างดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดและเป้าหมายเฉพาะหน้า เช่น เป้าหมายสูงสุดของกลุ่มอาจจะเป็นการที่อีกฝ่ายยอมมอบเอกราชให้ ซึ่งภายใต้เป้าหมายสูงสุดนั้นจะมีเป้าหมายอีก 2 ประการแยกย่อยออกมาคือ เป้าหมายระหว่างดำเนินการ อันหมายถึง ในการที่จะบรรลุเป้าหมายสูงสุดนั้น จะต้องทำอะไรบ้าง เช่น จะต้องสามารถระดมความสนับสนุนของประชาชน ส่วนเป้าหมายเฉพาะหน้าอันเป็นเป้าหมายย่อยอีกประการนั้น หมายความว่า ในเหตุการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้น เช่น มีการจับกุมเกิดขึ้น เป้าหมายเฉพาะก็อาจจะเป็นการชุมนุมอย่างสงบเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม McCarthy ให้ความเห็นว่า เป้าหมายเหล่านี้ไม่จำเป็นที่ต้องชัดเจนเสมอไปและอาจจะมีความแตกต่างกันไปในผู้เข้าร่วมแต่ละคน ซึ่งในประการหลังนั้น หมายความว่า บางคนอาจจะมีเป้าหมายสูงสุดแค่การปล่อยตัวคนที่ถูกจับกุม ในขณะที่คนอื่นๆต้องการเอกราชก็เป็นได้

(ข)     การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอำนาจสมบูรณ์และอำนาจโดยสัมพัทธ์ของคู่ขัดแย้ง นั่นคือ คู่ขัดแย้งที่มีอำนาจแบบอสมมาตรในตอนแรกของการใช้ปฏิบัติการสันติวิธีนั้นเริ่มที่จะมีอำนาจที่ไม่แตกต่างกันมากนักหรืออาจจะมีอำนาจโดยเท่าเทียมกัน นั่นคือ มีการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคู่ขัดแย้งเกิดขึ้นหรือไม่ ภายหลังจากการใช้แนวทางสันติวิธีในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง

(ค)     ความเปลี่ยนแปลงของแต่ละกลุ่มในเรื่องพื้นที่อิทธิพลและระดับความเห็นอกเห็นใจจากภายนอกที่มีต่อเป้าหมายของกลุ่ม หมายความว่า คู่ขัดแย้งแต่ละฝ่ายสามารถที่จะรุกล้ำเข้าไปในอาณาเขตอิทธิพลทางความคิดและทรัพยากรต่างๆของฝ่ายตรงข้ามได้หรือไม่ นอกจากนั้นแต่ละฝ่ายยังสามารถที่จะขยายอิทธิพลของตนไปในส่วนสาธารณะได้มากน้อยเพียงใด และสามารถทำให้บุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรงให้ความเห็นอกเห็นใจได้มากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ดี พึงพิจารณาว่า การประเมินดังข้างต้น ไม่ได้หมายความว่า หากการใช้  สันติวิธีไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาหรือไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งให้หมดสิ้นไปได้ แล้วจะเลิกใช้แนวทางดังกล่าว เพราะการประเมินนั้นต้องพิจารณาสิ่งที่เป็นหนทางที่แตกต่างของสันติวิธี คือ การใช้ความรุนแรงด้วย นั่นคือ แทนที่จะพิจารณาเพียงแค่ประสิทธิภาพของสันติวิธี ต้องมีการพิจารณาการใช้ความรุนแรงควบคู่กันไปด้วยเพื่อเปรียบเทียบว่าสิ่งใดที่ดีกว่ากัน หรือลดความสูญเสียได้มากกว่า เช่น ในกรณีที่ประเมินว่าการใช้สันติวิธีในการเคลื่อนไหวหนึ่งๆไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้ หากคู่ขัดแย้งยังประสงค์ที่จะบรรลุเป้าหมายอยู่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลือกใช้วิธีการที่รุนแรงในการเคลื่อนไหว เพราะวิธีการที่รุนแรงมักจะนำความสูญเสียมาให้ทั้งในชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าการใช้สันติวิธี เช่น การทำสงครามจะต้องมีการสูญเสียอันเนื่องมาจากการตอบโต้มากกว่าการชุมนุมเรียกร้องอย่างสงบซึ่งแม้จะมีการสูญเสียแต่ก็เป็นจำนวนที่น้อยกว่าเพราะสันติวิธีจะเน้นการตอบโต้โดยไม่ใช้ความรุนแรงและเป็นไปเพื่อป้องกันตัวเองเท่านั้นไม่ใช้การตอบโต้โดยการมุ่งร้ายเอาชีวิตของฝ่ายตรงข้ามดังเช่นการใช้ความรุนแรงมุ่งหมาย ดังนั้นเมื่อผลการประเมินแสดงถึงความล้มเหลวของสันติวิธี สิ่งที่ควรกระทำคือการทบทวนการใช้สันติวิธีมากกว่า โ

หมายเลขบันทึก: 225951เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2008 05:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท