สิทธิและหน้าที่ของพลเมือง


ประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย                          

โครงสร้าง

1.             ความหมายของประชาธิปไตย

2.             หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย

3.             ตัวอย่างรูปแบบของประชาธิปไตย

3.1.       ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy)

3.2.       ประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Representative Democracy)

3.3.       ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy)

3.4.       ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy)

 

ความหมายของประชาธิปไตย (เรืองวิทย์, 2549, 137 - 138)

 

                คำว่า ประชาธิปไตย หรือ “Democracy” มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ มาจากภาษากรีกว่า Demos ซึ่งหมายถึง ประชาชน (People) กับคำว่า Kratos (บางตำราบอกว่ามาจากคำว่า Kratia) ซึ่งหมายถึง อำนาจหรือการปกครอง (power หรือ rule) ดังนั้นประชาธิปไตยจึงหมายถึงการปกครองโดยประชาชน ซึ่งในสมัยกรีกโบราณ ประชาชนหมายถึง คนจน (the poor) หรือคนจำนวนมาก (many) ส่วนในภาษาไทยนั้น กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้บัญญัติคำว่า ประชาธิปไตย โดยเอาคำว่า ประชาชน สนธิกับคำว่า อธิปไตย ดังนั้นประชาธิปไตยจึงมีความหมายว่า การปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันคำว่า ประชาธิปไตยถูกนำไปใช้อธิบายและทำให้เกิดความหมายที่แตกต่างกันออกไปหลายความหมาย ดังนี้

1.             ระบอบการปกครองโดยคนยากจนและผู้เสียเปรียบในสังคม

2.             รูปแบบของรัฐบาลซึ่งประชาชนปกครองตนเองโดยตรงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยนักการเมืองอาชีพและข้าราชการ

3.             สังคมที่คนมีความเท่าเทียมกันในโอกาสและคนมีคุณธรรมมากกว่าสังคมที่มีลำดับชั้นและอภิสิทธิ์

4.             ระบบสวัสดิการและการกระจายทรัพยากรเพื่อลดความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม

5.             ระบบการตัดสินใจที่อาศัยหลักเสียงข้างมาก

6.             ระบบการปกครองที่รับประกันสิทธิและผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยโดยเน้นการตรวจสอบอำนาจของเสียงข้างมาก

7.             เป็นวิธีการแต่งตั้งคนเข้ามาทำงานสาธารณะ โดยการแข่งขันกันให้ประชาชนเลือก

8.             ระบบการปกครองที่สนองตอบต่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยไม่สนใจการเมืองเรื่องอื่น

 

หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย

1.             หลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Popular Sovereignty) หมายถึง อำนาจสูงสุดในการตัดสินใจทางการเมืองเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งหรือเฉพาะกลุ่ม (บูฆอรี, 2550, 110)

2.             หลักความเสมอภาคทางการเมือง (Political Equality) หมายถึง พลเมืองทุกคน มีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองหรือการตัดสินใจทางการเมือง (บูฆอรี, 2550, 111)

3.             หลักการฟังความคิดเห็นของประชาชน (Popular Consultation) หมายถึง กิจกรรมต่างๆ ในทางการเมือง เช่น การกำหนดนโยบาย การตัดสินใจของรัฐบาลมาจากการรับฟังความต้องการ หรือเสียงสะท้อนของประชาชนว่าต้องการอะไร ไม่ต้องการสิ่งใด ซึ่งหมายถึงการคำนึงถึงเสียงของประชาชนคนทั้งหลาย ไม่ใช่การตัดสินใจจากความต้องการของคนใดคนหนึ่งหรือคนเฉพาะกลุ่ม (บูฆอรี, 2550, 111)

4.             หลักเสียงข้างมาก (Majority Rule) หมายถึง การตัดสินใจทางการเมืองของรัฐบาล หากกรณีใดก็ตามความต้องการของประชาชนมีความแตกต่างหลากหลาย ไม่เป็นเอกฉันท์ รัฐบาลต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของความต้องการของคนส่วนใหญ่หรือเสียงข้างมาก มากกว่าคนส่วนน้อยหรือเสียงข้างน้อย (บูฆอรี, 2550, 111)

5.             หลักการการมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) หมายถึง การกระทำหรือการไม่กระทำของปัจเจกที่มีบทบาทในกระบวนการทางการเมืองทุกระดับ ซึ่งการมีส่วนร่วมทางการเมืองนับได้ว่าเป็นความพยายามในการสื่อสารกันระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ว่าประชาชนมีความพอใจต่อรัฐบาลหรือไม่ นอกจากนั้นยังทำให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้บทบาทของตนเองในฐานะพลเมือง อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการให้การศึกษาโดยการเรียนรู้เรื่องคุณธรรมและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมร่วมกันของรัฐบาล ระหว่างรัฐบาลกับพลเมือง และภายในกลุ่มของพลเมืองด้วยกันเอง ซึ่งการแบ่งประเภทของการมีส่วนร่วมนั้นสามารถแบ่งได้ในรูปแบบ เช่น (1) การเลือกตั้ง (2) การหาเสียง     (3) การติดต่อที่ประชาชนเป็นผู้ริเริ่มเอง หรือ การที่ประชาชนในฐานะปัจเจกเป็นผู้ริเริ่มที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยตนเอง และ (4) ความร่วมมือกัน ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของปัจเจกผ่านกลุ่ม โดยที่กลุ่มจะมีการสร้างกิจกรรมร่วมกันเพื่อหาหนทางที่จะจัดการกับปัญหาสังคมและ/หรือการเมือง

 

ตัวอย่างรูปแบบของประชาธิปไตย

 

ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy)

ประชาธิปไตยทางตรงเป็นระบอบที่ให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้ใช้อำนาจด้วยตนเอง หรือร่วมใช้อำนาจอธิปไตย โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ คือ (1) ประชาชนเป็นผู้ริเริ่ม โดยการริเริ่มนั้น ต้องมีสภาพบังคับให้มีการเริ่มต้นกระบวนการ และ (2) ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ซึ่งการขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งย่อมทำให้รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นๆ ไม่อาจจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ ซึ่งการตัดสินใจขั้นสุดท้ายโดยประชาชนถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยทางตรงจึงเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ที่สุดของการเมืองของพลเมือง เพราะพลเมืองเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการเมืองด้วยการลงมติตัดสินชะตาของตนเอง ด้วยตนเองและเพื่อตนเอง[1] ทุกเรื่อง โดยไม่ต้องมีผู้แทนราษฎร(บวรศักดิ์และถวิลวดี, 2549, 12) ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ประชาธิปไตยทางตรงใน 4 รูปแบบคือ

1.             การออกเสียงประชามติ (Referendum) คือ การเปิดให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้โดยตรง ผ่านการลงคะแนนเสียงโดยตรงของผู้มีสิทธิลงคะแนนทุกคน เพื่อที่จะรับหรือไม่รับข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่งที่มีการเสนอขึ้นมา เช่น ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ ร่างกฎหมาย หรือนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น การลงประชามติจึงเป็นการให้สิทธิแก่พลเมืองทุกคนในการตัดสินใจในเรื่องสาธารณะที่สำคัญโดยตรง โดยไม่ใช้ตัวแทน ซึ่งการทำประชามติสามารถริเริ่มได้โดยภาคการเมือง เช่น รัฐบาลและภาคประชาชนที่สามารถเข้าชื่อกันเป็นจำนวนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศนั้นๆ ซึ่งผลของประชามติที่ได้นั้น ถือว่ามีความชอบธรรมที่จะนำไปบังคับใช้ หรือนำไปเป็นผลประกอบในการพิจารณาออกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบาย โดยที่ผลของการลงประชามติที่มีความชอบธรรมนี้นั้น ต้องเป็นผลที่เกิดจากการลงคะแนนเสียงของพลเมืองที่มีจำนวนมากเพียงพอที่จะกล่าวว่าเป็นเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิลงคะแนน (แพทย์ พิจิตร, 2550, 30)

2.             การให้สิทธิประชาชนมีสิทธิ์เสนอร่างกฎหมาย (Initiative) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจในการริเริ่มหรือเสนอแนะกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติโดยตรง ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วสิทธิในการเสนอร่างกฎหมายและการออกเสียงประชามติมาจากพื้นฐานอันเดียวกัน แต่เนื่องไขในการนำมาปฏิบัติแตกต่างกัน ดังที่มีผู้กล่าวว่า ในขณะที่การออกเสียงประชามติเป็นการป้องกันการกระทำที่ไม่ควรของฝ่ายนิติบัญญัติ สิทธิในการเสนอร่างกฎหมายเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ประชาชนเพื่อแก้ไขในสิ่งที่ฝ่ายนิติบัญญัติละเว้นที่จะทำ (สนธิ, 2548, 117) ดังนั้นสิทธิในการเสนอร่างกฎหมายจึงเหนือว่าสิทธิการออกเสียงประชามติ กล่าวคือ ประชาชนอาจใช้สิทธิที่จะเสนอร่างกฎหมาย ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเหมาะสม หรือละเว้นที่จะกระทำ ในขณะที่การออกเสียงประชามตินั้น ประชาชนมีสิทธิเพียงพิจารณาตัดสินร่างกฎหมายที่ผ่านสภานิติบัญญัติแล้วเท่านั้น (สนธิ, 2548, 117)

3.             การให้ประชาชนลงมติเพื่อตัดสินปัญหาของชาติ  (Plebiscite) การให้ประชาชนมาลงมติเพื่อตัดสินปัญหาของชาตินั้นแตกต่างจากการลงประชามติ เพราะการให้ประชาชนมาลงมติเพื่อตัดสินปัญหาของชาติมักไม่ใช่เรื่องกฎหมาย หรือเรื่องของประชาธิปไตยทุกครั้งไป แต่เป็นการให้ประชาชรลงคะแนนเสียงในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคล หรือหลักการบางอย่างที่บุคคลผู้นั้นเสนอ เช่น การรวมประเทศหรือการแยกประเทศ  (สนธิ, 2548, 117)

4.             การถอดถอนผู้แทนรายบุคคลหรือทั้งสภา (Recall) ในบางประเทศนั้นได้กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถทำการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ  (สนธิ, 2548, 118)

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ประชาธิปไตยทางตรงจะมีลักษณะที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบในการให้สิทธิกับพลเมืองในการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรง แต่ประชาธิปไตยทางตรงนั้นมักจะประสบปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะรัฐสมัยใหม่นั้นมีขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก และมีโครงสร้างทางสังคมที่สลับซับซ้อนเกินกว่าที่จะให้ประชาชนทุกคนปกครองประเทศด้วยตนเองดังในสมัยนครรัฐกรีก[2] นอกจากนั้นการที่จะให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้อำนาจอธิปไตยทั้งทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการด้วยตนเองโดยตรงนั้นก็เป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องที่ประชุม และเวลาในการประชุม (บวรศักดิ์และถวิลวดี, 2549, 13)

 

ประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Representative Democracy)          

ประชาธิปไตยแบบผู้แทนเป็นระบบที่ให้ประชาชนเลือกผู้แทนไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนเอง ซึ่งประชาธิปไตยแบบนี้เกิดขึ้นภายใต้บริบทของสังคมการเมืองที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยที่หากเป็นระบบรัฐสภา ประชาชนจะเลือกตั้งเฉพาะสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และสมาชิกรัฐสภาจะไปเลือกตั้งฝ่ายบริหารเอง แต่ถ้าเป็นระบบประธานาธิบดี ประชาชนจะเลือกตั้งทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารด้วยตนเอง จึงอาจจะกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยแบบผู้แทนนี้เป็นประชาธิปไตยทางอ้อม (Indirect Democracy) แบบหนึ่ง (บวรศักดิ์และถวิลวดี, 2549, 13) ดังนั้น การใช้อำนาจทางการเมืองของประชาชนในประชาธิปไตยแบบนี้จึงมีอยู่อย่างจำกัด โดยประชาชนจะใช้อำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริงได้เฉพาะเมื่อประชาชนต้องทำการเลือกตั้งผู้แทนเท่านั้น (Axford et al, 2002, 164) โดยสรุป ประชาธิปไตยแบบผู้แทนมีคุณลักษณะ (Roskin et al., 2006, 74 – 79) ดังนี้

1.             รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนส่วนใหญ่

2.             มีการแข่งขันทางการเมือง

3.             มีการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจ

4.             มีความเป็นตัวแทนของมหาชน

5.             มีการตัดสินใจโดยเสียงข้างมาก

6.             พลเมืองมีสิทธิในการแสดงออกถึงความขัดแย้งต่อรัฐบาลและไม่เชื่อฟังรัฐ

7.             พลเมืองมีความเสมอภาคทางการเมือง

8.             รัฐบาลมีการปรึกษาหารือกับประชาชน

9.             มีสื่อมวลชนที่อิสระ

อย่างไรก็ดี ประชาธิปไตยแบบผู้แทนนั้นประสบปัญหาที่ว่า ผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปนั้นจะทำหน้าที่สมกับการเป็นผู้แทนของปวงชนหรือไม่ เพราะมักพบว่าเมื่อผู้แทนได้รับอำนาจ ก็จะมีบางคนที่ใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เหมาะสมและเป็นธรรม และบางครั้งก็เป็นไปเพื่อตนเองหรือกลุ่มของตน และบ่อยครั้งที่การตัดสินใจบางอย่างประชาชนไม่ได้รับทราบ (บวรศักดิ์และถวิลวดี, 2549, 14)

 

ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy)

                แนวคิดของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมกำเนิดขึ้นตั้งแต่กรีกโบราณ และศตวรรษที่ 18-20 ซึ่งประชาธิปไตยแบบนี้ได้รับการเผยแพร่ในโลกตะวันตกอีกครั้งใน ค.ศ. 1960 โดย Garol Patman (เอนก, 2542, 131 อ้างใน บวรศักดิ์และถวิลวดี, 2549, 14) ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเป็นการเรียกระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง และในการตัดสินใจระดับต่างๆ มากขึ้น โดยไม่ได้จำกัดประชาชนให้ทำได้เพียงการเลือกตั้งอย่างเดียวเท่านั้น

                ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมนั้นจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเรื่องต่างๆ เช่น การเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และความคืบหน้าของการบริหารจัดการประเทศโดยผู้ที่ทำหน้าที่แทนประชาชน หรือการเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลแก่ผู้ที่ทำหน้าที่แทนประชาชนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ รวมทั้งการที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และถอดถอนผู้ที่ทำหน้าที่แทนประชาชนซึ่งขาดประสิทธิภาพ บกพร่องต่อหน้าที่ หรือไม่สุจริต

                ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจะเกี่ยวข้องกับวิธีการกระจายอำนาจและทรัพยากรต่างๆ ที่ไม่เท่าเทียมกันอันมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและวิธีการที่ประชาชนเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่อตน ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม จึงหมายถึง การที่อำนาจในการตัดสินใจไม่ควรเป็นของกลุ่มคนจำนวนน้อย แต่อำนาจควรได้รับการจัดสรรในหมู่ประชาชน เพื่อทุกคนจะได้มีโอกาสที่จะมีอิทธิพลต่อกิจกรรมส่วนร่วม ซึ่งหลักการหรือองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (บวรศักดิ์และถวิลวดี, 2549, 25) คือ

1.             การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองและการบริหาร

2.             มีการกระจายอำนาจในการตัดสินใจและการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ในหมู่ประชาชนให้เท่าเทียมกัน

3.             มีการเพิ่มการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

4.             มีความยืดหยุ่น นั่นคือ มีโครงสร้างการทำงานที่สามารถตรวจสอบได้

5.             มีความโปร่งใสและคำนึงถึงความต้องการทรัพยากรของประชาชน

 

หมายเลขบันทึก: 225950เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2008 05:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท