ปลูกข้าว...ปลูกชีวิต


โรงเรียนชาวนาทุ่งฆ้องมิได้เพียงแค่สอนการปลูกข้าว หากแต่สอนการปลูกชีวิตด้วย กระบวนการสอนจึงเป็นการเรียนเพื่อที่ให้รู้ รู้และปฏิบัติได้จริง

ชาวนาสอนปลูกข้าวและชีวิต : บันทึกเรื่องเล่าจากโรงเรียนชาวนาทุ่งฆ้อง

“ข้าวคือชีวิต" ช่วงนี้เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว เป็นช่วงแห่งความสุขของชาวนาชาวไร่ เพราะเป็นห้วงเวลาที่จะได้กินข้าวใหม่ ปลามัน “โครงการสิ่งแวดล้อมศึกษา" มูลนิธิฮักเมืองน่าน จึงได้จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษาสัญจร ระหว่างเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ ๗ แห่ง (อรัญญาวาส, วังฆ้อง, ไชยสถาน, เรือง, โจ้โก้, ดอนมูล, ทุ่งฆ้อง) โดยประเดิมด้วยการเรียนรู้เรื่อง “ข้าว" ของโรงเรียนชาวนาบ้านทุ่งฆ้อง ในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ณ โรงเรียนบ้านทุ่งฆ้อง ต.ยม อ.ท่าวังผา จ.น่าน

กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เริ่มจากพ่อเกียรติ คำแสน แกนนำโรงเรียนชาวนาทุ่งฆ้อง ได้แนะนำประวัติความเป็นมาของศูนย์ และกระบวนการเรียนรู้ “หลักสูตรการทำนา" ตั้งแต่การเตรียมเมล็ดพันธุ์ เตรียมดิน เพาะกล้า หว่านไถ ปลูก ระบบนิเวศน์แปลงนา การผสมพันธุ์ข้าว การเก็บเกี่ยว และการแปรรูปผลผลิตจากข้าว เรียกว่าครบวงจรเลยทีเดียว สำทับด้วยเทคนิคการถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนนักเรียนโรงเรียนชาวนาของ แม่ผิน คำแสน ที่เรียกเสียงฮาแบบน้ำหูน้ำตาไหล ด้วยลีลาการพูดทีเล่นทีจริง แต่แฝงไปด้วยคำสอนและปรัชญาชีวิตชนิดหาตัวจับยาก

ช่วงบ่ายได้พากันไปลงแปลงนาสาธิตของโรงเรียนชาวนา ไปดูของจริงในพื้นที่ ไปดูรวงข้าวจริงๆ แล้วมานั่งล้อมวงแลกเปลี่ยนกันที่เพิงพักกลางนาที่ใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชาวนา หลังจากนั้นแต่ละศูนย์ฯ ได้กลับมาถกคิดกันว่ากระบวนการถ่ายทอดความรู้ของโรงเรียนชาวนาทุ่งฆ้องในวันนี้เป็นอย่างไร และจะไปปรับใช้กับกระบวนการถ่ายทอดความรู้ที่ศูนย์ของตนเองอย่างไร

นับว่าเป็นบรรยายแห่งการเรียนรู้ที่สนุก สนาน ได้สาระ และได้ปรัชญาชีวิตที่งดงามและกินได้ด้วย

ต่อจากนี้เป็นบันทึกจากเรื่องเล่าของครูโรงเรียนชาวนาทุ่งฆ้อง

ประวัติศาสตร์หมู่บ้านทุ่งฆ้อง

เป็นชุมชนชาวไทลื้อที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน มาตั้งรกรากแถบลำน้ำย่าง ต.ศิลาเพชร อ.ปัว จ.น่าน อันเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของเมืองน่าน ที่ประวัติดั้งเดิมตั้งรกรากกันที่นี่ก่อนที่จะอพยพโยกย้ายไปอยู่ที่ภูเพียงแช่แห้ง

บ้านทุ่งฆ้อง ตั้งอยู่ในเขต ต.ยม อ.ท่าวังผา จ.น่าน เป็นเขตติดต่อกับ ต.ศิลาเพชร อ.ปัว มีลำน้ำย่างไหลผ่าน (ลำน้ำย่างเป็นลำน้ำที่มาจากน้ำตกศิลาเพชร สถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของ จ.น่าน) ไทลื้อเป็นกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่คงอนุรักษ์วัฒนธรรมของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะภาษาและการแต่งกาย ตามแบบฉบับของไทลื้อ ที่สำคัญชุมชนไทลื้อจะสืบทอดการทำนาและการเพาะปลูกจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นวิถีวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตที่เกื้อหนุนกันและกัน

อนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

พ่อเกียรติ คำแสน เล่าว่า ชาวบ้านที่นี่ทำนามาช้านานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด สืบสายกันมารุ่นต่อรุ่น แต่เดิมก็จะมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ชาวบ้านคัดพันธุ์และเก็บปลูกมาเรื่อยๆ แต่ระยะหลังทางการและนายทุนได้มาส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ต่างๆ ทำให้ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ชาวบ้านเคยปลูกเริ่มหายไป ประกอบกับข้าวพันธุ์ที่ทางการและนายทุนแนะนำก็ต้องซื้อต้องหา ราคาพันธุ์ข้าวนับวันก็ยิ่งสูงมากขึ้น ทำให้พ่อเกียรติ เริ่มหันมาอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองไม่ให้สูญหาย และมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น มีการจัดทำแปลงสาธิตและทดลองศึกษาคุณภาพและผลผลิตที่ได้จากการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองกับข้าวพันธุ์ที่กรมส่งเสริมข้าวให้การสนับสนุน เช่น กข.๖, ๘, ๑๐ เป็นต้น และมีการปรับปรุงสายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีข้าวทั้งหมด ๑๐๓ สายพันธุ์ และได้มีการจัดตั้งโรงเรียนชาวนาขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวการปลูกข้าวให้กับเยาวชนในหมู่บ้านและนักเรียนโรงเรียนศรัทธาศิลาเพชรรังสรรค์ เข้ามาศึกษาเรียนรู้ พร้อมนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนมาศึกษาของจริงในแปลงนา และการผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาชาวบ้าน เกิดเป็นความรู้เชิงประสบการณ์ที่เป็นต้นธารแห่งความรู้จริงจากการปฏิบัติร่วมกันของชาวนา ลูกหลานชาวนา และครูในโรงเรียน นับเป็นการจัดการความรู้ที่สำคัญยิ่งของชาวนา

โรงเรียนชาวนาสอน “ปลูกข้าว"

เริ่มตั้งแต่หลักสูตรการจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ ที่ผ่านการคัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นถิ่น การจัดเตรียมดินที่เดิมใช้แรงงานควาย ปัจจุบันเริ่มหันมาใช้แรงงานควายเหล็กแทน การจัดเตรียมดินนับว่าสำคัญไม่น้อยกว่าเตรียมเมล็ดพันธุ์ เพราะต่อให้เมล็ดพันธุ์ดีเพียงใด หากผืนดินไม่อุดมสมบูรณ์เมล็ดพันธุ์ก็ไม่อาจหยั่งรากลึกไปเป็นต้นกล้าที่แข็งแกร่งได้ การไม่ข่มขืนผืนดินโดยการให้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงทั้งหลายจึงเป็นหลักเบื้องต้นของการเตรียมดิน นาข้าวที่นี่จึงเป็นนาข้าวอินทรีย์ ที่ใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และจุลินทรีย์ธรรมชาติ ให้ธรรมชาติเกื้อกูลกันเอง นั่นเป็นหลักพื้นฐานของการเกื้อกูลของมวลสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต

การเตรียมเพาะกล้า เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่จะช่วยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีออกมาเป็นต้นกล้าที่แข็งแกร่ง แม่ผินบอกว่าจะให้นักเรียนชาวนา ซึ่งมีทั้งหมด ๓๖ คน ได้เพาะกล้าคนละ ๑ สายพันธุ์ ส่วนที่เหลือนั้นครูชาวนาอย่างแม่ผิน พ่อเกียรติ แม่เหมย และคนอื่นๆ จะช่วยกันเพาะกล้าเอง นักเรียนแต่ละคนจะได้เรียนรู้ตั้งแต่เตรียมเมล็ดพันธุ์ของตนเอง เตรียมดิน ลงมือเพาะกล้า และนำไปปลูก วิธีการปลูกจะปลูกด้วยข้าวเส้นเดียว ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ศึกษาทดลองมาแล้วว่าทำให้ต้นข้าวแตกกอได้ ๗-๑๕ ต้น เช่นเดียวกับวิธีแบบเดิมที่ชาวบ้านทั่วไปใช้คือปลูกเป็นกำ ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองพันธุ์ข้าวโดยใช่เหตุ และที่สำคัญตอนคัดพันธุ์ข้าวก็จะง่ายเพราะไม่ปนกัน หลังจากปลูกข้าวเสร็จแล้ว ทุกวันเสาร์นักเรียนชาวนาจะต้องมาพบกันครึ่งวันเช้า เพื่อเข้าไปดูแลแปลงนาของตนเอง ไปศึกษาดูระบบนิเวศน์แปลงนา ไปดูการเจริญเติบโตของต้นข้าว พบเห็นอะไร หรือมีปัญหาอะไรก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน หาทางออกของปัญหาร่วมกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้กันและกัน ได้ความรู้ใหม่ๆ ได้เห็นของจริง ชีวิตจริงของข้าวและระบบนิเวศน์ในแปลงนา

นักเรียนชาวนาต้องหมั่นคอยสังเกต จดบันทึกการเจริญเติบโตของต้นข้าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งขนาดของต้นข้าว ความสูงของต้น ความยาว ความกว้างของใบ จำนวนหน่อที่แตกออกมาจากกอ ลักษณะของใบว่าตั้งตรงหรือนอน แมลงและศัตรูของข้าว วัชพืชต่างๆ ในนาข้าว ทำให้นักเรียนได้รู้จักพืช แมลง และสัตว์ต่างๆ ในระบบนิเวศน์นาข้าว ทั้งชื่อพื้นบ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ และประโยชน์และผลเสียต่อนาข้าว นอกจากนี้โรงเรียนชาวนายังสอนหลักสูตรการทำน้ำปู๋(น้ำปู) และทำน้ำหมักชีวภาพจากหอยเชอรี่ อันเป็นศัตรูของข้าว มาใช้ให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งหลักสูตรการทำขนมข้าวต้มจากข้าวอีกด้วย

เมื่อข้าวออกรวงก็จะเรียนรู้หลักสูตรการผสมพันธุ์ข้าว โดยมีการตั้งวัตถุประสงค์ของตนเองไว้ว่าอยากได้ข้าวแบบไหนก็จะนำพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะใกล้เคียงดังกล่าวมาผสมพันธุ์กัน และเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ข้าวสุกงอมเต็มที่ ก็จะมีการคัดเลือกพันธุ์ไว้สำหรับปลูกปีต่อไป โดยคัดเลือกรวงข้าวที่ลำต้นสมบูรณ์ ไม่มีข้าวอื่นปน โดยเก็บเป็นรวง แล้วนับมาวัดความยาว นับจำนวนเม็ดต่อรวง เพื่อเอารวงที่สมบูรณ์สุดเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์ แล้วนับมาแกะเม็ดดูว่ามีรูปร่างอย่างไร ขนาดเรียวหรือไม่ มีสีอะไร มีลายหรือไม่ เพื่อให้ได้เม็ดข้าวที่สมบูรณ์ที่สุดที่จะเอาไปเป็นเมล็ดพันธ์

เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวใส่ยุ้งฉางเสร็จก็จะเป็นห้วงของกิจกรรมบุญข้าวใหม่ เพื่อทำบุญทำทาน และขอบคุณข้าว เจ้าแม่โพสพ ฝนฟ้า และควายที่ให้ชาวนาได้ผลผลิตข้าวอุดมสมบูรณ์ เป็นอันครบถ้วนกระบวนการปลูกข้าวตามหลักสูตรของโรงเรียนชาวนา และจะมีการสรุปการเรียนรู้ประจำปี และมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนที่ได้รับการประเมินผ่านหลักสูตรโรงเรียนชาวนา

แม่ผิน สอน “ปลูกชีวิต"

ในกระบวนการเล่าเรื่องของโรงเรียนชาวนา แม่ผินได้เล่าเรื่องจริงของกระบวนการถ่ายทอดสู่นักเรียนชาวนาและประสบการณ์การไปต่างแดนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมวลมนุษยชาติเรื่องข้าวและการลดภาวะโลกร้อน แม่ผินเล่าว่า ด้วยเหตุที่นักเรียนชาวนาเป็นกลุ่มเยาวชนวัยรุ่น ครูอย่างแม่ผินจึงต้องสลิดเป็นสาวหน้อย(ภาษาพื้นเมืองแปลว่าทำตัวเองให้เป็นสาววัยรุ่น) นักเรียนพูดคุยเรื่องอะไร ก็คุยได้ทุกเรื่อง นินทาครูก็นินทาด้วย แซวบ่าวแซวสาวก็แซวด้วย เรียกว่าทำตัวกลมกลืนกับนักเรียนได้อย่างเนียนสนิท การสอนเด็กๆ ก็จะใช้ทีเล่นทีจริง แม่ผินบอกว่ากลายเป็นเพื่อนสนิทต่างวัยชนิดที่เรียกว่า “กอดคอยอเหนียงได้หมด" (เป็นภาษาพื้นบ้านหมายถึง กอดคอเล่นกันไป) และที่สำคัญต้อง “ตวยวอกของละอ่อนหื้อตัน" (เป็นภาษาพื้นถิ่นแปลว่าตามเด็กให้ทัน) ถ้าเอาแต่เรื่องจริง เด็กๆ ไม่สนใจ ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก จึงต้องพูดทีเล่นทีจริงตลกโปกฮาไปด้วย ต้องมีเวลาให้เด็กตลอดเวลา เรียกว่าเด็กๆ เรียกหาได้ตลอดเวลา บางทีอยู่กลางทุ่งนาเด็กๆ ก็ไปหิ้วตัวมาถาม มาปรึกษา ก็ต้องมา บางคราก็ถึงกับขอยืมเงิน ขอเงินใช้ ก็ให้บ้าง แต่ก็ไม่ให้ติดนิสัย ก็จะสอนไปด้วยว่าเงินหายาก พ่อแม่กว่าจะหาเงินได้แต่ละบาทยากเย็นแค่ไหน ชีวิตชาวนาก็อย่างที่เห็นที่ได้สัมผัสนี่แหละ ก็จะสอนเด็กตลอดว่าอย่าให้พ่อแม่เสียใจ เป็นการทำบุญไปในตัว เป็นการเลี้ยงเพื่อนต่างวัย เพราะในสมัยเด็กๆ ตนเองยากจนต้องเลี้ยงควาย ไม่ได้เรียนหนังสือ จึงคิดว่าการมาสอนเด็กๆ ให้รู้จักการปลูกข้าว ปลูกชีวิต เป็นการไถ่บาปของตนเอง จริงๆ แล้วเด็กๆ ปลูกข้าวเป็น ทำอะไรเป็นหมด เพียงแต่ขี้เกียจ จึงต้องใช้อุบายให้เด็กๆ ไปทำ เช่น หลอกว่าในนามีกบตัวใหญ่ๆ มีปลาตัวใหญ่ๆ เด็กที่ไม่กล้าลุยโคลนก็จะลงไปงมดู หรือแม้แต่การเอาจุลินทรีย์แห้งไปใส่ในนาข้าวเด็กๆ ก็ไม่อยากไปลุยในโคลน ก็นำมาทำเป็นจุลินทรีย์ลูกบอลให้เด็กเอาไปขว้างสนุกมือกัน ทำให้เด็กเพลิดเพลิน และชอบ

แม่ผินยังบอกว่าชาวบ้านบางคนเอาพันธุ์ข้าวดีที่ตนคัดไว้ไปปลูกแล้วกลับมาบ่นว่าข้าวไม่แตกกอ ตนเองก็ไปดูที่นา ก็พบว่า “ข้าวไม่มีหน่อ เพราะไม่มีอาหารในดิน" นั่นแสดงให้เห็นพันธุ์ที่ดียังไม่พอ ดินต้องดีด้วย ดินดีไม่พอต้องใจดีด้วย คือหมั่นไป “ใจนา" (ภาษาพื้นถิ่นแปลว่าไปดูนาข้าว เพื่อดูการเติบโต ดูแมลง วัชพืช ปุ๋ย ดิน ฯลฯ) การเป็นชาวนาที่ดีต้องหมั่นไปใจนา และที่สำคัญชาวนาต้องรู้จักพึ่งตนเอง ไม่ต้องไปพึ่งใคร นี่เป็นพื้นฐานของความเป็นชาวนาที่ต้องมี

ยืนหยัดทวนกระแส

แม่ผินบอกว่าการปลูกข้าวอินทรีย์ตามวิถีทางของโรงเรียนชาวนานี้เป็นการทำที่ไม่ตามคนอื่น บางคนอาจว่าเราบ้า ช้า ไม่ทันคนอื่นเขา แต่กลุ่มเกษตรกรโรงเรียนชาวนากลับเห็นว่านี่คือการก้าวหน้ากว่าคนอื่น เขาโฆษณาขายอันนั้นอันนี้ให้เรา โดยเฉพาะสารเคมีทั้งหลายนั้น ด้วยความไม่รู้หนังสือของแม่ผิน จึงเกรงกลัวว่าคนถูกหลอกเลยไม่หลงไปซื้อตามโฆษณาของใคร คิดเอาเองว่า ถ้ามันดีจริงเขาจะมาบอกเราหรือ ลองคิดดูพอหน้าหนาวก็มาขายผ้าห่ม เห็นเราปลูกพริกก็มาขายสารเคมี ดังนั้นจึงไม่หลงไปตามโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ

แต่ที่เกษตรกรเป็นห่วงคือตลาดที่กำหนดวิถีการปลูกของชาวนา เพราะพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ชาวนาปลูกจะขายได้ราคาไม่ดี เนื่องจากผู้บริโภคไม่รู้จักพันธุ์ข้าว เหมือนข้าวพันธุ์ที่กรมส่งเสริมสนับสนุนให้ปลูก ทั้งที่มีคุณภาพ คุณค่า และปลอดสาร ทำให้ชาวนาจึงไม่สนใจที่จะมาปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองกัน ซึ่งหากเป็นเช่นต่อไป ข้าวพันธุ์พื้นเมืองต่างๆ ก็จะสูญหายไปได้

อย่างไรก็ตามแม้ว่ามีแนวคิดที่จะนำเอาข้าวพันธุ์หอมมะลิมาปลูก เพื่อให้ขายได้ในตลาด แต่กลุ่มเกษตรกรโรงเรียนชาวนายังยืนยันที่จะใช้วิถีการปลูกข้าวอินทรีย์ตามที่ทำอยู่ แม่ผินบอกว่า “มันมาอยู่กับเราก็ต้องกินกับเรา เราเอาอะไรให้ก็ต้องกิน ไม่ต้องไปซื้อสารเคมีให้มันกิน" วิถีทางแบบนี้เป็นการตามกระแสแบบทวนกระแส เป็นการปรับตัวของชาวนาเพื่อการอยู่รอด

ต่อต้านตนเอง

เมื่อครั้งที่แม่ผินได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องภาวะโลกร้อนที่ประเทศเยอรมัน สิ่งที่แม่ผินบอกถึงสภาวะโลกร้อนในความคิดของแม่ผินเองคือ แต่เดิมตอนเป็นเด็กๆ ออกไปช้อนหาลูกอ๊อดเพียงสองสามชั่วโมงก็ได้เป็นครึ่งถัง แต่ปัจจุบันออกไปหาเป็นวันยังไม่พอกินเลย นั่นแสดงว่าโลกเปลี่ยนไปมาก และที่เจ็บใจที่สุดคือบ้านเราน้ำท่าอุดมสมบูรณ์แต่ต้องมาซื้อน้ำกิน เพราะน้ำมีแต่สารพิษ สมัยเด็กๆ ไม่ต้องซื้อหา ไปตักกินได้อย่างสบายใจ เดี๋ยวนี้ซื้อตู้เย็นมาใส่น้ำเย็นเสียค่าไฟไม่พอ ต้องมาซื้อน้ำมาใส่อีก ทำงานเท่าไหร่ก็เอาไปให้เขาหมด เราฆ่าตัวเราเอง แม่ผินไปบอกกล่าวเล่าสู่คนอื่นฟัง ให้ช่วยกันต่อต้านโลกร้อน ลดการใช้สารเคมี แต่ก็ไม่มีใครเห็นด้วย ต่อต้านเขาไม่ได้ ก็จึงมาต่อต้านตนเอง นั่นคือ ต้องไม่ทำตนเองไปตามกระแสที่คนอื่นทำ คนอื่นไม่ทำ ตนเองก็จะทำคนเดียว ทำปัจจุบันให้ดี ทำในสิ่งที่ตนเองเป็นและอยู่คือการปลูกข้าว ปลูกผัก เอาเรื่องอยู่กินให้ได้ ไม่ไปทำร้ายธรรมชาติ ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม และไม่ทำร้ายตัวเอง อยู่แบบพออยู่พอกิน แล้วเราจะเป็นสุข

แม่ผินฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “บ่ดีหัดหง่าวอย่างเดียว หัดล๊วกตวย" หมายถึงอย่าฝึกแต่ความโง่งมแต่ฝึกความฉลาดด้วย

บทเรียนจากโรงเรียนชาวนาทุ่งฆ้อง

จากการเรียนรู้กับครูและนักเรียนชาวนาบ้านทุ่งฆ้อง ทำให้นึกถึงอริยะบุคคลที่เป็นผู้ถากถางทางโลกไว้ บุคคลแรกคือพระพุทธเจ้าที่สอนให้เรารู้จัก ใช้สติและปัญญานำพาพ้นความทุกข์ยาก ให้เราอยู่กับปัจจุบันขณะอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตที่ไม่เบียดเบียนกันและกัน สิ่งที่โรงเรียนชาวนากระทำจึงเป็นการเดินตามทางที่พระพุทธองค์ได้ถางทางไว้ อีกคนคือ มหาตมะ คานธี ผู้ใช้วิธีการต่อสู้แบบอสิงหาเพื่อสันติภาพ ที่ไม่ยอมจำนนต่อกระแสของคนที่หลั่งไหลไปกับระบบทุนนิยม คานธีมิได้ต่อต้านคนอื่นแต่ฝึกต่อต้านตนเอง ดังคำกล่าวที่เป็นอมตะว่า “เปลี่ยนตนเอง ก่อนเปลี่ยนโลก" และอีกคนที่เป็นชั้นครูด้านเกษตรอินทรีย์เจ้าของงานเขียนที่ชื่อว่า “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว" คือ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ที่หันไปใช้วิถีการเกษตรแบบเกื้อกูลธรรมชาติ ปฏิเสธระบบเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่และการใช้สารเคมี ที่สำคัญเขากล่าวว่า “เป้าหมายสูงสุดของเกษตรกรรมมิใช่การปลูกพืช แต่คือการบ่มเพาะความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์" จนทำให้คนทั้งญี่ปุ่นและชาวโลกต้องกลับมาทบทวนระบบเกษตรกรรมที่เป็นอยู่

โรงเรียนชาวนาทุ่งฆ้องมิได้เพียงแค่สอนการปลูกข้าว หากแต่สอนการปลูกชีวิตด้วย กระบวนการสอนจึงเป็นการเรียนเพื่อที่ให้รู้ รู้และปฏิบัติได้จริง ครบวงจรตั้งแต่การเตรียมเมล็ดพันธุ์ เตรียมดิน ปลูกข้าว ไปจนเก็บเกี่ยวข้าว เมื่อจบหลักสูตรนี้สามารถไปเป็นชาวนาได้เลย มิใช่ชาวนาธรรมดาหากแต่เป็นชาวนาผู้ถอยหลังไปข้างหน้า ก้าวข้ามพ้นกระแสของทุนนิยมและบริโภคนิยม ที่สำคัญกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนนั้นสอดคล้องกับหลักการศึกษาสมัยใหม่อย่างยิ่งยวด นั่นคือ “เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง" หรือที่เรียกกัน ว่า “Child Center" ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่สนุกได้สาระและสอดคล้องกับวิถีชุมชนท้องถิ่น

ขอบคุณชาวนาที่ปลูกข้าวให้เราได้กิน ขอบคุณครูและนักเรียนโรงเรียนชาวนาที่เล่าเรื่องราวดีดี สนุก ได้สาระ แม้ว่าบันทึกนี้จะไม่สามารถถ่ายทอดความสนุกและสาระได้อย่างมีพลังดังเช่นที่ครูชาวนาได้เล่าขาน แต่หวังว่าบันทึกนี้จะเป็นแสงหิ่งห้อยช่วยส่องทางให้ชาวนาและคนกินข้าวได้เห็นทางที่ครูหลายท่านได้ถากถางทางไว้แล้ว แล้วเดินตามหรือช่วยแผ้วถางทางใหม่ให้เดินได้สะดวกยิ่งขึ้น

...............................................................

ขอขอบคุณ

พ่อเกียรติ คำแสน

แม่ผิน คำแสน

แม่เหมย คำแสน

ครูและนักเรียนโรงเรียนชาวนาบ้านทุ่งฆ้อง

อีกทั้งแกนนำและเยาวชนศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาทุกคน

อาสาสมัครฮักเมืองน่านและศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้

ที่ให้ข้อมูลและบอกเล่าเรื่องราวดีดี

ถนัด ใบยา

เล่าเรื่องจากกิจกรรม “เวทีสัญจรศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา"

ในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ณ บ้านทุ่งฆ้อง ต.ยม อ.ท่าวังผา จ.น่าน

หมายเลขบันทึก: 225548เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2008 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2015 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ปลูกข้าว ปลูกชีวิต  ค่ะ พ่อ น้องซอม พอ  ไปสอนก่อน ค่ะ

มาชม มุมคิดดีมีสาระ ได้ประโยชน์จากเรื่องเล่านี้

คิดถึงชาวนาทุกคน...

อยากพาน้องฟ้าใส น้องการ์ฟีลด์ และเด็กๆทุกคนในวัยที่กำลังเติบโตด้านร่างกาย ให้ได้มีโอกาสมาเก็บเกี่ยวแนวคิด รับรู้เรื่องราว และเกิดการเจริญเติบโตทางด้านจิตปัญญาไปพร้อมๆกันด้วยจริงๆค่ะ...ขอบคุณนะคะกับเรื่องราวดีๆที่มีมาแบ่งปัน

ด้วยที่เป็นคนท่าวังผา, เมืองน่านเคยหนีวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านไปนานพอสมควร วันหนึ่งได้รู้ถึงสัจธรรมเมื่อต้องไปเรียนรู้วิถีชีวิตพื้นบ้าน ศิลปะวัฒนธรรมจากคนอื่น ทั้ง ๆ ที่ตอนเป็นเด็กตาเป็นสล่า สร้างวัด สร้างวิหาร แกะสลักหัวเรือ แต่เราปฏิเสธเพียงเพราะไม่ใช่วิถีแบบวิทยาศาสตร์ ปฎิเสธการวาดแบบโบราณ ๆ ที่เป็นลายเส้นสองมิติ ดูถูกว่าไม่ใช่ศิลปะ

แต่วันหนึ่งคนที่ใกล้ตัวได้ล้มหายตายจากไปแล้ว รู้สึกว่าเราเป็นทัพพีทีไม่รู้ว่าน้ำแกงอร่อยมากน้อยเพียงใด และสายไปกว่าครึ่งชีวิต วันนี้ได้เรียนรู้ และอยากกลับคืนสู่วิถีธรรมชาติกลับเป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็มีความสุขกับการไปอยู่แบบชาวบ้าน ๆ จริง ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท