“ดอนมูล...สันดอนมหานทีแห่งการพัฒนา”


การดำเนินการโครงการธนาคารขยะ ทำให้เยาวชนมีความรับผิดชอบ รู้จักคุณค่าของขยะ คุณค่าของเงิน เด็กๆ ไปที่ไหน เห็นขยะก็จะหยิบกลับมาอย่างไม่อายใคร เพราะนี่คือ “ทองคำ” สำหรับเขา

คำว่า ดอน หมายถึง ที่ราบลุ่มน้ำ ที่น้ำได้พัดพาเอาตะกอนต่างๆ มาทับถมกันไว้ ส่วนคำว่า มูล หมายถึงพื้นที่ดินทรายที่มาทับถมกัน เกิดเป็นพื้นที่สันดอนขึ้นมาริมลุ่มน้ำ ซึ่งมักเป็นพื้นที่ที่เกิดจากการลดลงของน้ำในฤดูแล้ง ดอนมูล จึงเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชผักยิ่งนัก ด้วยชัยภูมิที่ตั้งของหมู่บ้านที่เป็นลักษณะของพื้นที่ดอนมูล ที่หน้าน้ำก็จะมีน้ำท่วม หน้าแล้งก็จะเป็นพื้นที่ดินตะกอนทับถมกัน ชาวบ้านที่อพยพกันมาตั้งถิ่นฐานกันที่นี่จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านดอนมูล และด้วยความที่เป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมาใหม่แยกมาจากหมู่บ้านเดิมจึงเรียกกันใหม่ว่า บ้านดอนมูลพัฒนา ตั้งอยู่ในตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน

ที่นี่เป็นพื้นที่ราบลุ่มลำน้ำสมุนที่ไหลมาสบ(บรรจบ)กับแม่น้ำน่าน กลายเป็นมหาสันดอนนทีที่กว้างใหญ่ เป็นที่ราบลุ่มที่เหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างยิ่ง ที่นี่จึงเป็นแหล่งปลูกผักที่ใหญ่พื้นที่หนึ่งของจังหวัดน่าน

 

จากวิถีพออยู่พอกินสู่เกษตรเชิงเดี่ยว

บ้านดอนมูลพัฒนา เป็นหมู่บ้านชนบทชานเมืองน่าน ที่มีอาชีพหลักคือการปลูกข้าวและปลูกผัก แต่ดั้งเดิมนั้นชาวบ้านอยู่กันแบบพออยู่พอกิน ปลูกข้าว ปลูกผักพอกินพอใช้ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและพอเพียง แต่ในยุคของการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้มีนายทุนโรงบ่มใบยาได้เข้าส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านได้ปลูกยาสูบเพื่อขายให้กับโรงบ่มใบยา วิถีการผลิตของชุมชนเริ่มเปลี่ยนไป จากที่พออยู่พอกิน กินสิ่งที่ปลูก ปลูกในสิ่งที่กิน มาเป็นปลูกเพื่อขาย ปลูกในสิ่งที่ไม่ได้กิน การปลูกไม่ได้เพียงเพื่อยังชีพ หากแต่หวังได้ผลิตที่ดี ได้กำไร ได้เงินทอง ดังนั้นเทคโนโลยีการเกษตรจึงถูกส่งเสริมให้ใช้ขึ้นจากนายทุน รวมไปถึงสารเคมีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฮอร์โมน ฯลฯ นับแต่นั้นวิถีการเพาะปลูกเริ่มเปลี่ยนไปทีละน้อยๆ สิ่งที่เคยทำเอง ใช้เอง กลายไปเป็นการพึ่งคนอื่น พึ่งนายทุน พึ่งคนภายนอก แม้ต่อมาชาวบ้านจะเลิกปลูกยาสูบ แต่การใช้สารเคมีต่างๆ กลายเป็นเรื่องปกติและความเคยชินของชาวบ้านไปแล้ว หลังพบปัญหาวิกฤตการปลูกยาสูบไม่ได้ผลผลิตและกำไรที่ดี เกษตรตำบลจึงได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านหันไปปลูกพืชผักและข้าวแทน เช่น มะเขือยาว, แตงร้าน, กระหล่ำดอก, ข้าวโพด, กระหล่ำปลี, ผักกาด ฯลฯ ซึ่งได้ผลผลิตและกำไรที่ดีกว่าการปลูกยาสูบ และในปี 2532 ได้รวมกันเป็น กลุ่มเกษตรกรทำสวนขึ้น แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือ การใช้สารเคมีต่างๆ ทุกรูปแบบ และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าเข้ามาในหมู่บ้านก็จะได้กลิ่นสารเคมีต่างๆ ที่ชาวบ้านใช้ในการเพาะปลูก นอกจากนี้ผลผลิตที่ปลูกได้ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากตลาดเนื่องจากมีสารเคมีตกค้างมาก โดยเฉพาะในสมัยที่ ดร.พิจิตร รัตตกุล เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้มีการตรวจสารเคมีที่เข้ามาจำหน่ายในตลาดไท ทำให้เกษตรกรที่ปลูกผักได้รับผลกระทบสืบเนื่อง เพราะนำไปขายไม่ได้ ราคาตกต่ำ และสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านเริ่มพบคือว่าสุขภาพเริ่มแย่ลง หลายคนป่วยและตายโดยไม่รู้สาเหตุ เป็นมะเร็งกันมากขึ้น เริ่มมีการพูดคุยกันถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้น แต่ยังไม่มีพลังเพียงพอ

 

จุดเริ่มต้นวิถีสร้างสุข

จนกระทั่งเมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๔๑ ทีมสุขภาพ ซึ่งได้ผ่านการอบรมกระบวนการแก้ไขปัญหาสุขภาพโดยทีมสุขภาพ (Health Team Problem Solving - HTPS) จากทีมสุขภาพสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน ที่มุ่งเน้นให้รู้จักการวางแผนแก้ไขปัญหาสุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จึงได้ริเริ่มดำเนินการพื้นที่นำร่องในบ้านดอนมูลพัฒนา จากการให้ชุมชนวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนเอง พบว่า ปัญหาการใช้สารเคมีในการเกษตร เป็นปัญหาสำคัญอันดับหนึ่งของชุมชนที่ต้องการแก้ไข สถานีอนามัยบ้านดอนมูลจึงได้รณรงค์การลดการใช้สารเคมีในการเกษตร และเจาะเลือดหาสารเคมีที่ตกค้างในเลือดพบว่า เกษตรกรมีสารเคมีตกค้างในเลือดถึงร้อยละ ๗๖ จึงเห็นพ้องกันว่าต้องหาวิธีการลดการใช้สารเคมีในการเกษตร จึงได้พากันไปศึกษาดูงานการทำเกษตรปลอดสารเคมีและการทำน้ำปุ๋ยหมักจากหอยเชอรี่ที่อำเภอท่าวังผา แล้วกลับมารวมกลุ่มทำน้ำปุ๋ยหมักจากหอยเชอรี่ในชุมชน การทำปุ๋ยหมัก การใช้สมุนไพรขับไล่แมลง เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ลองผิด ลองถูกกันเองในกลุ่มเกษตรกร ปรากฏว่าได้ผลดี ทำให้มีการใช้สารเคมีลดลง โดยมีเกษตรประจำตำบลและสถานีอนามัยเป็นพี่เลี้ยง

 

สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้

ในปี ๒๕๔๓ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลได้เข้ามาสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง โรงเรียนเกษตรกร ขึ้น เริ่มแรกมีสมาชิกจำนวน ๒๙ คน เพื่อให้มีแปลงสาธิตการเกษตร เป็นพื้นที่ทดลองของเกษตรกร และที่สำคัญทำให้เกษตรกรได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคนิคต่างๆ ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ใครมีปัญหาอะไรในการเพาะปลูกก็นำมาคุยแลกเปลี่ยนกัน ใครมีเทคนิควิธีการดีดีที่ทำแล้วได้ผลก็นำมาบอกกล่าวกัน ส่วนเกษตรตำบลก็สามารถนำวิชาการใหม่ๆ มาแนะนำเกษตรกรได้ ต่อมาได้มีการนำเทคนิคการปรับปรุงดินมาฟื้นฟูคุณภาพของดินที่เสื่อมเนื่องจากการใช้สารเคมี

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเกษตรกรผ่านแปลงสาธิตและโรงเรียนเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจและเข้าใจถึงเทคนิควิธีการในการลดการใช้สารเคมีเป็นอันมาก จึงทำให้สมาชิกเพิ่มขึ้น

 

ปัญญานำการพัฒนา

          ปี ๒๕๔๖ ทีมสุขภาพและแกนนำชุมชนได้ริเริ่มพัฒนาโครงการวิจัยท้องถิ่นเพื่อของบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อให้ชุมชนได้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้จะใช้เวลาในการพัฒนาโครงการเป็นเวลานานนับปี แต่แกนนำชุมชนและทีมสุขภาพก็ไม่ย่อท้อ จนได้รับงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินการเพื่อพัฒนารูปแบบการปลูกผักปลอดภัยของชุมชน ทำให้ชุมชนได้จัดกิจกรรมการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาตนเองในการที่จะให้การปลูกผักปลอดภัยมีความครอบคลุมและยั่งยืนมากขึ้น มีการไปศึกษาดูงานกลุ่มเกษตรกรบ้านแม่ทา กิ่งอำเภอแม่ออน เชียงใหม่ และไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษกลุ่มต่างๆ ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิควิธีการใหม่ๆ มาปรับใช้ในพื้นที่มากขึ้น และสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนมากยิ่งขึ้น

          จนทำให้ชุมชนได้รับการยอมรับและเป็นต้นแบบของชุมชนในการปลูกผักปลอดภัย และการดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัด ได้รับรางวัลหลายรางวัล

 

ครอบครัวเข้มแข็ง...ครอบครัวพอเพียง

          ปี ๒๕๔๗ มูลนิธิฮักเมืองน่าน ได้ดำเนินการ โครงการครอบครัวเข้มแข็ง โดยการสนับสนุนของสถาบันครอบครัวรักลูก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สสส.) ได้คัดเลือกบ้านดอนมูลพัฒนา เป็น ๑ ในพื้นที่ ๑๒ ชุมชน ที่นำร่องดำเนินการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง ทำให้แกนนำชุมชนได้รับการอบรมพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้สร้างครอบครัวเข้มแข็ง และกลับมาจัดกิจกรรมการเรียนรู้สร้างสายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและคนในชุมชน โดยเฉพาะกิจกรรมของเยาวชน เช่น กิจกรรมทุกข์-สุขครอบครัว, ขอบคุณ-ขอโทษ, ลดละเลิกเหล้า, พุทธศาสนาวันอาทิตย์,  จินตคณิต, ดนตรีพื้นบ้าน, กีฬาพื้นบ้าน, อาหารพื้นบ้าน, ลดบริโภคนิยม, ธนาคารขยะ ฯลฯ ผลแห่งการเรียนรู้ร่วมกันทำให้ครอบครัวมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ชุมชนมีความรักความสามัคคี เกิดกลุ่มและกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ที่เชื่อมโยงกับวิถีการเกษตรแบบพอเพียงของชุมชน

 

ธนาคารขยะ...ธนาคารแห่งการแบ่งปัน

          จากเวทีการเรียนรู้ครอบครัวเข้มแข็งของพ่อ-แม่-ลูก ในการที่จะช่วยกันลดภาวะโลกร้อน ทำให้กลุ่มเยาวชนสนใจที่จะจัดตั้ง ธนาคารขยะ ขึ้น ซึ่งเป็นกิจกรรมริเริ่มของกลุ่มเยาวชนเองว่า เป็นผลที่ต่อเนื่องจากการจัดกิจกรรมครอบครัวเข้มแข็ง เนื่องจากชุมชนมีปัญหาเรื่องของการจัดการขยะที่นับวันจะเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง และเกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน จากการที่ได้มีโอกาสเห็นตัวอย่างของการจัดการขยะในรูปของธนาคารขยะจากที่อื่น จึงอยากที่จะนำความคิดนี้มาทำที่ชุมชนของตนเองดูบ้าง ประกอบกับขณะนั้นทางชุมชนได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้นำแนวคิดที่จะทำธนาคารขยะเสนอต่อแกนนำผู้ใหญ่ในชุมชน โดยคาดหวังว่าการทำกิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นการทำให้ช่วยลดขยะ และเยาวชนยังสามารถหารายได้ช่วยพ่อแม่ไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนหนังสืออีกด้วยอีกทางหนึ่ง

ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๐ เริ่มต้นที่กลุ่มเยาวชนของดอนมูลพัฒนา ประมาณ ๒๐ คน ได้มีการนั่งพูดคุยถึงการจัดตั้งธนาคารขยะ โดยการหนุนเสริมของผู้ใหญ่ใจดีในชุมชน คอยเป็นกำลังใจให้คำปรึกษา เอื้อเฟื้อหอประชุมหมู่บ้านให้เป็นสถานที่ในการพบปะพูดคุย และภายหลังได้จัดตั้งให้เป็นที่ทำการธนาคารขยะ ในช่วงแรกธนาคารแห่งนี้ยังไม่ได้มีเงินทุนที่รับซื้อขยะ จึงได้ใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายในหมู่บ้าน และบอกกล่าวกันในที่ประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านเพื่อขอรับบริจาคขยะเป็นการสะสมทุนก่อนที่จะทำการเปิดรับซื้อขยะอย่างเป็นทางการ

 

ธนาคารขยะดอนมูลพัฒนาเปิดทำการทุกวันเสาร์แรกของทุกเดือน โดยเริ่มที่เสาร์แรกของเดือนตุลาคม ๒๕๕๐ กลุ่มเยาวชนจะมีการแบ่งทีมออกเป็นหลายสายเพื่อเดินเก็บขยะที่แต่ละบ้านจะนำมาใส่ถุงแขวนไว้รอที่หน้าบ้านของตน หลังจากนั้นได้นำขยะที่ได้มารวมกันไว้ที่หอประชุมหมู่บ้าน และจะช่วยกันแยกขยะ และจะนำขยะที่ได้ขายให้กับพ่อค้าเลย จะไม่เก็บขยะไว้นานเนื่องจากสถานที่เก็บคับแคบ ราคาขยะนั้นไม่แน่นอนมีการเปลี่ยนแปลงแล้วแต่พ่อค้าที่รับซื้อ ส่วนขยะที่แยกแล้วแต่ละชนิดจะได้ราคาต่างกัน ผลของความตั้งใจจริงของกลุ่มเยาวชน ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลดู่ใต้ได้จัดงบประมาณมาสนับสนุนเป็นเงินทุนในการดำเนินงานจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท

ป้าหร่อย (อ.สมพร  ศรีทุมมา) พี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชนบอกว่า การดำเนินการโครงการธนาคารขยะ ทำให้เยาวชนมีความรับผิดชอบ รู้จักคุณค่าของขยะ คุณค่าของเงิน เด็กๆ ไปที่ไหน เห็นขยะก็จะหยิบกลับมาอย่างไม่อายใคร เพราะนี่คือ ทองคำ สำหรับเขา นี่เป็นความภาคภูมิใจของผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลาย

 

ดอนมูลพัฒนา...พัฒนาไม่มีสิ้นสุด

          แม้ว่าวันนี้ชุมชนและสถานีอนามัยบ้านดอนมูลจะได้รับการเชิดชูเกียรติชมรมและรางวัลเกียรติยศหลายรางวัล แต่การพัฒนาย่อมไม่มีวันสิ้นสุด มีประเด็นและเรื่องราวให้ชุมชนได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเด็นเดิมๆ ก็ต้องทำให้สืบเนื่อง ยั่งยืน ดียิ่งขึ้น มีการขยายงานใหม่ๆ ออกไปอีกหลายหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารปลอดภัย จักรยาน และการสร้างสุขในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ชุมชนได้มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง สมดังชื่อว่า บ้านดอนมูลพัฒนา

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

          การสร้างครอบครัวและชุมชนให้เข้มแข็งของบ้านดอนมูลพัฒนาไม่ได้สร้างมาเพียงวันเดียว หรือด้วยคนใด คนหนึ่ง หากแต่มีหลายปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง ได้แก่

          ๑. ผู้นำ การที่ชุมชนมีแกนนำที่เข้มแข็ง มีวิสัยทัศน์ที่ดี เป็นทั้งผู้นำและผู้ปฏิบัติ ทำให้สามารถเชื่อมประสานงานต่างๆ ทั้งในชุมชนและภายนอกชุมชนได้เป็นอย่างดี ผู้นำนี้มีทั้งผู้นำเป็นทางการและผู้นำไม่เป็นทางการ ที่ประสานเป็นทีมเดียวกัน และมีการถ่ายทอดจากความคิดสู่เยาวชนรุ่นใหม่ ทำให้เกิดการพัฒนาแกนนำรุ่นเยาว์ที่มาสานต่อคนรุ่นเก่า

          ๒. ประเด็นการเรียนรู้ ที่เริ่มจากประเด็นที่เกี่ยวโยงกับวิถีแห่งอาชีพในการปลูกผัก ที่มิเพียงต้องการลดผลกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น หากแต่ต้องการลดต้นทุนการผลิตลง ทำให้พืชผักปลอดภัยเป็นที่ยอมรับของตลาด ทำให้เป็นที่สนใจของคนในชุมชน เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องในวิถีการทำมาหากินของตนเอง

          ๓. กระบวนการเรียนรู้ ที่หลากหลาย มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการแก้ไขปัญหาสุขภาพ, โครงการวิจัย, โรงเรียนเกษตรกร, โครงการครอบครัวเข้มแข็ง, โครงการธนาคารขยะ ฯลฯ นับเป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับแกนนำและคนในชุมชน ที่ไม่เพียงเปิดการเรียนรู้ในพื้นที่ชุมชน หากแต่ต้องไปปฏิสัมพันธ์กับองค์กร หน่วยงาน และชุมชนภายนอกที่หลากหลาย ทำให้เกิดการเรียนรู้และนำมาพัฒนาต่อยอดสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้ว และขยายงานออกไปจากเดิมมากขึ้น

๔. การหนุนเสริมจากภายใน ได้แก่ ทีมสุขภาพ สถานีอนามัยบ้านดอนมูล, เกษตรตำบล, อบต.ดู่ใต้ นับว่าเป็นแกนหลักสำคัญอีกกลุ่มแกนหนึ่งที่แทบจะแยกไม่ออกจากทีมแกนนำของชุมชน ทำให้กระบวนการขับเคลื่อนของชุมชนเดินไปได้อย่างต่อเนื่องและมีพลัง

          ๕. การหนุนเสริมจากภายนอก ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน, สำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน, มูลนิธิฮักเมืองน่าน, สสส., สกว., และองค์กรหน่วยงานอื่นๆ อีกหลากหลายที่เข้ามาหนุนเสริมทั้งด้านงบประมาณ, การจัดการ, วิชาการ, และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานของชุมชนเป็นไปต่อเนื่อง

  

        กระบวนการพัฒนาของบ้านดอนมูลพัฒนาแม้ว่าจะผ่านจากจุดวิกฤติของปัญหามาสู่ความยั่งยืนของการพัฒนา หากแต่ยังมีประเด็นที่ต้องช่วยกันคิด สร้าง และหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้ดำรงต่อไปอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญยังต้องทานกระแสของบริโภคนิยมที่ถาถมเข้ามาอย่างไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นห้างต่างชาติ โรงแรม และร้านรวงต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาใกล้ๆ ชุมชน ความเป็นเมืองที่คืบคลานเข้ามาทีละน้อยๆ นับเป็นความท้าทายของชุมชนที่จะยืนหยัดวิถีแห่งเกษตรปลอดภัยและชุมชนที่อยู่เกื้อกูลกันเองอย่างนี้ต่อไปได้อย่างไร ท่ามกลางสภาวะเช่นนี้

...............................................................

 

ขอขอบคุณ

กำนันบุญแต่ง  พิมพงาน กำนันตำบลดู่ใต้ (ผู้นำบ้านดอนมูลพัฒนา)

คุณนิตย์ ธิศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนเกษตรกร

อ.สมพร  ศรีทุมมา พี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชนโครงการธนาคารขยะ

คุณพัฒนพงศ์  คนสูง  หัวหน้าสถานีอนามัยบ้านดอนมูล

คุณธนธรณ์ ใจทา  นักวิชาการสาธารณสุข สถานีอนามัยบ้านดอนมูล

อีกทั้งแกนนำและสมาชิกชุมชนบ้านดอนมูลพัฒนาทุกคน

ที่ให้ข้อมูลและบอกเล่าเรื่องราวดีดี

 

ถนัด  ใบยา

เล่าเรื่องจากกิจกรรม ปั่นจักรยานสร้างสุข ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

 

 

หมายเลขบันทึก: 225097เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2008 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

แวะเข้ามาทักทายยามเที่ยงค่ะ

..หิวแล้วมองเห็นมะเขือยาวในรถกระบะ..

..เอามาเผาแล้วโขลกกับพริก เกลือ หอม กระเทียม

ปรุงด้วยน้ำปลา ปลาร้า กะปิ..กินกับข้าวเหนียว OK!แล้วมือนี้..

พอเพียง..คำนี้สนับสนุนและส่งเสริมค่ะ

เคยมีโอกาศสัมผัสเมืองน่านในฐานะอาสาสมัครคนหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว แต่ยังคงระลึกถึงในความทรงจำของทุกๆคน

เพิ่งมีโอกาศแวะมาอ่านงานเขียนของพี่ถนัด เป็นกำลังใจให้ในการทำงานในทางที่เลือกเดินอย่างมีความสุขนะคะ

ขอบคุณครับ ที่ยังระลึกถึงกัน มีโอกาสแวะเวียนมาเยี่ยมกันด้วยนะครับ

ขอชื่นชมและให้กำลังใจกับชุมชนนี้ให้ต่อสู้กับปัจจัยภายนอกที่กำลังคืบคลานเข้ามา และยืนหยัดการเป็นต้นแบบที่ดีให้กับสังคมอื่นได้เรียนรู้ว่า สิ่งนี้สามารถทำได้จริงในเมืองไทย

ต้นแบบดีดี น่าเอาอย่างคับ

อยากได้รายละเอียดเตาเผาแกลบของพ่อกำนันแต่ง ขอบคุณครับ

เป็นคนบ้านดอนมูลแต่กำเนิดคะ.......ตอนนี้เรียนอยู่จุฬาฯ ภูมิใจมากที่เกิดที่นั่น....คิดถึงมากๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท