การอ่านอย่างมีมิติ


ท่ามกลางความซับซ้อนซ่อนนัยของสังคมความคิดผิดถูก การอ่านเป็นดวงตาที่สามที่สำคัญยิ่ง มิตินัยของการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ครูและผู้เรียนจะใช้วิธีอ่านแบบวัดความเร็วโดยไม่วัดความลึกมิได้เลย...

.

การอ่านอย่างมีมิติ

ศิวกานท์  ปทุมสูติ

 

            ภาษามิได้มีเพียงความหมายของถ้อยคำเท่านั้น  เมื่อภาษาถูกส่งออกจากผู้ส่งสาร  มันจึงมิได้มีเพียงเรื่องราวที่เป็นความหมายของถ้อยคำ  แต่ในเรื่องราวและความหมายที่ส่งออกมานั้นจะประกอบไปด้วยความคิด  ความรู้สึก  อารมณ์  ทัศนคติ  เจตนา  ท่าทีของความคิดความรู้สึกหรือน้ำเสียง  ความหมายตรง  ความหมายแฝง  วัฒนธรรม  พื้นภูมิประสบการณ์  ภูมิปัญญา  ปรัชญา  อุดมการณ์  มโนคติ  อุดมคติ  ท่วงทำนอง  วิถี  ลีลา  รูปแบบ  บุคลิกภาพ  อัตลักษณ์  เบื้องหน้าเบื้องหลัง  บริบทชีวิต  สังคม  การศึกษา  ความจริงใจ  เล่ห์เหลี่ยม  ชั้นเชิง  ความดี  ความงาม  ความชั่วร้าย  ความกล้า  ความเชื่อมั่น  ความหวั่นไหว  ความหวาดระแวง  ความคาดหวัง  ฯลฯ  ไม่ว่าภาษาที่ส่งออกมานั้นจะเป็นภาษาพูด  ภาษาเขียน  ภาษาท่าทาง  หรือภาษาสัญลักษณ์ต่างๆ ก็ตาม   ก็อาจมี อะไรที่นอกเหนือจากความหมายตามถ้อยคำและเรื่องราวตามตัวหนังสือหรือสื่อแสดงภาษานั้นๆ  ยิ่งมีอะไรที่แฝงมาในสารนั้นมากเท่าไร   ผู้รับสารก็จำเป็นที่จะต้อง อ่านอะไรๆ เหล่านั้นให้ครบถ้วน   จึงจะถือว่าเป็นผู้รับสารที่มีคุณภาพ   ยังประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจ  การนำไปใช้  หรือกระทำการใดๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ได้รับรู้นั้นอย่างมีคุณค่า  

            เราเรียกการอ่านที่สามารถ เข้าถึงสารอย่างถ่องแท้ทุกแง่ทุกมุมหรือทุกนัยแห่งสารนั้นว่า การอ่านอย่างมีมิติ  การอ่านเช่นนี้  จะส่งเสริมสติปัญญา  ความคิด  อารมณ์ความรู้สึก  และวุฒิภาวะในการอ่านโลก  อ่านชีวิต  และอ่านสิ่งต่างๆ ให้งอกงามพัฒนา   ส่งผลให้บุคคลผู้มีวิถีการอ่านเช่นที่ว่านี้เป็นผู้แตกฉานต่อชีวิต  มีศักยภาพทางความคิด  สติปัญญา  ความสามารถสร้างสรรค์  การทำงาน  และการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพยิ่ง  และบุคคลผู้สมควรที่จะต้องเป็น นักอ่าน  ซึ่งมีวิถีการอ่านอย่างมีมิติที่สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลาก็คือ ครูนั่นเอง

            การอ่านไม่ใช่แค่เรื่องของวิชาภาษาไทย  หรือวิชาภาษาใดๆ  แต่มันเป็นเครื่องมือแห่งชีวิต  ที่ครูทุกคนจะต้องเป็นนักอ่าน   การอ่านมากและอ่านอย่างลุ่มลึกแหลมคม  อย่างทะลุทะลวงมิติต่างๆ ของสาร  เข้าถึงสารอย่างสมบูรณ์ถ่องแท้อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ  จะทำให้ครูได้พบกับสิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ  วิถีทางใหม่ๆ  ความสนุกในรสแห่งการอ่าน  ความบันเทิงทางจิตวิญญาณและปัญญา  ทำให้สามารถคิดอะไรใหม่ๆ ในการสอนและการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการของตน  ข้อสำคัญมันจะทำให้ครูทุกคนได้พบความภาคภูมิใจในตนเอง  เชื่อมั่นในตนเอง  มีความกล้าหาญทางจริยธรรม  และจะได้อะไรดีๆ ในชีวิตของการเป็นครูอีกมาก   ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะเป็นดอกผลแสนงามที่ตกทอดแก่เด็กๆ และเยาวชนของชาติอย่างมิต้องสงสัย

            งานเขียนที่มักมีมิติซับซ้อน  มีอรรถรสชวนอ่าน  มีแก่นสารทางปัญญาและมโนคติ  โดยทั่วไปจะพบได้ในกลุ่มงานเขียนประเภทบันเทิงคดีสร้างสรรค์   ได้แก่  กวีนิพนธ์  เรื่องสั้น  นวนิยาย  หรือที่มักเรียกรวมๆ ว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์และปรัชญานิพนธ์ต่างๆ  การอ่านงานประเภทเหล่านี้จะช่วยให้มีความสนุกบันเทิงในการอ่าน   ซึ่งอาจเป็นการสนุกคิด  สนุกติดตาม  สนุกกับความตื่นเต้น  หรือสนุกกับท่วงทำนองต่างๆ ในมิติของงานเขียนที่สร้างสรรค์   แต่การที่ครูจำนวนไม่น้อยยังมิใคร่จะให้ความสำคัญกับการอ่านงานเขียนประเภทนี้  ก็เพราะมักจะคิดว่าไม่มีความสำคัญ  ไม่ได้ให้คำตอบกับโจทย์ชีวิตหรือหน้าที่การงานที่ต้องการโดยตรง   หารู้ไม่ว่าการคิดเช่นนั้น  แท้แล้วเป็นการคิดที่ผิวเผินนัก!  

            การมุ่งอ่านเพื่อรู้เรื่องราวที่อยากรู้โดยตรงเช่นการอ่านตำราจะได้อย่างมากก็แค่รู้เรื่องนั้นๆ เท่านั้น   สมองจะสั่งสมแต่ตัวรู้’…ที่รู้ตาม ตามที่คนอื่นบอกความรู้’” ให้   แต่การอ่านงานเขียนที่มิได้บอกความรู้โดยตรง  จะเป็นการกระตุ้นความงอกงามทางปัญญา  กระบวนการคิด  มโนคติ  และวุฒิภาวะทางอารมณ์  ฯลฯ  ทำให้บุคคลพัฒนาสมองแบบเชื่อมโยง  ด้วยตัวของตัวเอง   และก็จะสนับสนุนตัวรู้  ที่รับรู้เรื่องราวต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างเป็นองค์รวม  

            อยากให้ลองพิจารณาทบทวนว่า  การเรียนการสอนที่ครูโดยทั่วไปปฏิบัติกันอยู่นั้นได้ก้าวพ้นวิธีการแบบบอกความรู้แล้วหรือยัง   ถ้ายัง ก็แสดงว่าครูยังมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มาตรา ๒๔  ยังมิได้ก้าวไปสู่ทิศทางการปฏิรูปการศึกษา   ยังพายเรืออยู่ในอ่างที่ไม่สามารถหาทางออก  เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะครูเอง (ส่วนใหญ่) ล้วนผ่านการสั่งสมการเรียนรู้แบบรับความรู้จากครูผู้บอกความรู้เช่นเดียวกันมาเป็นเวลานานแสนนาน  ทั้งระบบ  ทั้งสังคมการศึกษาของเรา   วันนี้เราสามารถพัฒนาความรู้ไปได้ไกลชนิดไม่น้อยหน้าใครในโลกแล้ว  แต่การพัฒนาความคิด  กระบวนการคิด  ความคิดสร้างสรรค์  การคิดอย่างเท่าทัน  และการคิดอย่างมีมิติของเรากลับถดถอย  ขาดหาย  และพัฒนาไปได้น้อยอย่างน่าตกใจ  จนกระทั่งต้องบัญญัติกฎหมายบังคับ (มาตรา ๒๔)  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะเราสั่งสมเหตุแห่งการจัดการศึกษาแบบให้น้ำหนักแก่ ตัวรู้มากกว่า ตัวคิดนั่นเอง   ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องใช้กระบวนการอ่านอย่างขบคิดแทรกซึมเข้าไปในทุกสาขาวิชา  ทุกตัวครูและผู้บริหาร  ซึ่งเครื่องมือสำคัญของการอ่านที่ว่านี้ก็คือ การอ่านอย่างมีมิติ  นั่นเอง

            เพราะชีวิตมนุษย์มีมิติที่ซับซ้อน ทั้งรูปธรรมและนามธรรม  การมีอิริยาบถเคลื่อนไหว  บริโภค  คิด  พูด  ทำ  เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  เป็นเพียงส่วนที่มองเห็นเหมือนภาพแบนๆ เท่านั้น   ยังมีสิ่งที่ซ่อนเร้น  ไม่รู้  ไม่เห็น  ไม่เข้าใจ  และเข้าไม่ถึงอีกมากมาย   เช่นนี้แล้วเราจะยังมัวอ่านชีวิตและใช้ชีวิตเพียงภาพแบนๆ กันอีกหรือ  

            การสอนให้รู้จักคิด  มิใช่การบอกทฤษฎีความคิด  หรือมิใช่แนะให้คิดอย่างนี้อย่างนั้น   เปล่าเลย  การรู้จักคิดนั้นบอกกันไม่ได้   แต่กระตุ้นเร้าได้  และปฏิบัติการแบบสั่งสมทักษะได้  ถ้าครูมีทักษะประสบการณ์การอ่านอย่างมีมิติที่เพียงพอ

            การเรียนการสอนทุกวิชาจะต้องให้บูรณาการกับ ความรักการอ่าน  สุกกับการขบคิด  คิดอย่างเอาชีวิตเป็นศูนย์กลาง  หรือเอาชีวิตคนเป็นหลัก  มิใช่เอาวิชาเป็นหลัก หรือวิชาใครวิชามันอย่างที่ทำๆ กันอยู่  เราจะต้องเอาทักษะการจำเป็นเครื่องสนับสนุนการคิด  มิใช่เอาการจำนำหน้าการคิดอย่างเช่นทุกวันนี้   ข้อสอบที่วัดความจำก็จะต้องพลิกแพลงให้เป็นข้อสอบวัดศักยภาพการคิด   ข้อสอบที่วัดความรู้ก็จะต้องเปลี่ยนเป็นข้อสอบที่วัดศักยภาพการใช้ความรู้  ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นไปได้และทำได้แท้จริงก็ต่อเมื่อการอ่านหนังสือแตกฉาน  มีมิติ  การเรียนการสอนมีชีวิตชีวา  มีชีวิตที่เป็นจริงอยู่ในภาวะมิติแห่งความเป็นมนุษย์

            ที่สุดของที่สุดก็คือ  ครูจะต้องรักการอ่าน  ถ้าครูไม่รักการอ่านทุกสิ่งทุกอย่างก็จบ  กบแห่งการศึกษาที่เราคาดหวัง  คงมิสามารถกระโดดจากบ่อน้ำเก่าๆ ในถ้ำมืดออกไปสู่โลกกว้างแห่งจินตนาการอันเปี่ยมด้วยพลังทางปัญญาที่เจิดจ้าประภัสสรได้! 

.

.

            ท่ามกลางความซับซ้อนซ่อนนัยของสังคมความคิดผิดถูก  การอ่านเป็นดวงตาที่สามที่สำคัญยิ่ง  มิตินัยของการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ครูและผู้เรียนจะใช้วิธีอ่านแบบวัดความเร็วโดยไม่วัดความลึกมิได้เลย...           

            แต่อย่างไรก็ตาม  ก็มิได้คิดว่าครูที่มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูอันงดงามจะเป็นเช่นนั้น  บทความนี้จึงเขียนขึ้นด้วยความรู้สึกที่มีความหวังขอให้เรามาร่วมกันสร้างมิติแห่งคุณค่าให้เกิดขึ้นในความหวังนั้นเถิด

 

หมายเลขบันทึก: 224768เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2008 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • กราบคารวะอาจารย์ด้วยความเคารพและความศรัทธาค่ะ
  • ขออนุญาตพิมพ์ออกไปเผยแพร่ให้คุณครูที่โรงเรียนได้อ่านค่ะ
  • ขอให้อาจารย์มีความสุขนะคะ

คุณครูคิม รวดเร็วจังเลย

ขอบคุณครับ, ได้เลย

แต่กรุณาใช้ต้นฉบับหลังจากที่ผมตอบโพสนี้นะครับ

เพราะมีแก้ไขในวินาทีต่อมาเล็กน้อย

อายุบวร

  • ขอขอบพระคุณอย่างสูงค่ะอาจารย์
  • อยากจะรบกวนบทกลอนเกี่ยวกับคุณธรรมพื้นฐาน 9 ประการค่ะ
  • จะได้นำไปสร้างความตระหนักให้เด็ก ๆ ค่ะ

 

  • ธุ อาจารย์ค่ะ..

ทุกๆ ครั้งที่ได้อ่านหนังสือมากมาย  ต้อมก็นึกเอาเองในใจว่า "มันมีมิติ"....หากแต่ก็ยังบอกตัวเองไม่ถูกว่าที่ว่ามันมีมิตินั้นคืออะไร   นอกจากความคิด  อารมณ์  ความรู้สึก

อ่านบันทึกของอาจารย์ในวันนี้..แจ่มเลยค่ะ ^^  ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

 

เรียนครูคิมพิมพลักษณ์ผู้ฝักใฝ่

คุณธรรมมิใช่เป็นชิ้นเสี้ยว

ต้องชีวิตลึกซึ้งเป็นหนึ่งเดียว

กลมเกลียวกับสันติสุขแหละถูกทาง

.

กระทรวงศึกษา...มักหลงทิศ

ทำให้ครูเต้นผิดจังหวะบ้าง

คุณครูอาจนอกกรอบอันลวงพราง

เด็กดีสร้างจากต้นแบบผู้ใหญ่ดี

.

ครอบครัว สังคม และโรงเรียน

ต้องอ่านเขียนชีวิตร่วมทิศวิถี

ไปพร้อมกับหลอมปั้นถูกวิธี

คุณธรรมมิอาจหนีพ้นมือครู

.

ครูกานท์

.

  • ธุ อาจารย์อีกครั้งค่ะ..

ดีใจจังเลย ^^  ต้อมนึกยังไงไม่รู้ที่เข้าไปอ่านหน้าประวัติของอาจารย์   และต้อมมีหนังสือของอาจารย์ด้วยสองเล่ม(ที่จำได้)   นั่นคือ..สร้อยสันติภาพ กับข้าวเม่ารางไฟ   พี่สาวคนสวยให้มาค่ะเนื่องในโอกาสที่ได้เจอตัวเป็นๆ ของกันและกัน  

 

อายุบวร คุณเนปาลี

ก็เหมือนในโพสประวัติย่อของคุณเนปาลีนั่นแหละครับ

นี่ไง...แอบไปก็อปมาแล้ว

.

..."ก้อนเมฆสีขาว เม็ดฝนไหวไหว สายลมพลิ้ว

ละอองดาวระยิบ แสงจันทร์ฉาย

ล้วนแต่มีความหมายอย่างที่เรานึกไม่ถึง"

.

.

  • "นัยแห่งการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ครูและผู้เรียน จะใช้วิธีอ่านแบบวัดความเร็ว โดยมิวัดความลึกมิได้เลย..."
  • ขอบคุณค่ะ ลำดวนขออนุญาต นำบทความนี้ไปฝากครูเช่นเดียวกันค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • กราบขอบพระคุณอย่างสูงกับข้อคิดนอกกรอบค่ะ
  • ครูต้องเป็นแบบอย่าง..สังคม ครอบครัว และโรงเรียน และวิธีการคิดนอก เปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้เป็นการทำนอกกรอบ
  • การอ่านต้องวัดความลุ่มลึก..คือการมีวิจารณญาณ..ใช่ไหมคะ ประการทั้งสองเด็กอ่อนด้อยมากค่ะ..เพราะผู้ใหญ่อ่านหนังสือน้อย สังคมยังกราบไหว้สิ่งแปลกประหลาด  ขอพระขอดวง เชื่อเคราะห์แต่ไม่เชื่อกรรม...
  • ได้บทความการอ่านไปฝากคุณครูที่โรงเรียนแล้วค่ะ  ต้องการให้เขาอ่านและช่วยกันวิเคราะห์  ตอนเลิกเรียนค่ะ

ขอบคุณครูลำดวนผู้เดินทาง

ร่วมแบ่งปันสรรค์สร้างและต่อสู้

สู้กับสิ่งลวงใจความไม่รู้

ที่ซ่อนอยู่ในเด็กเยาวชน

.

ขอบคุณครูคิมที่เข้าใจ

และเห็นนัยไสยะอกุศล

เด็กอ่อนด้อยอ่อนแอแพ้หุ่นยนต์

เพราะไม่มีตัวตนด้นดุ่มเดา

.

นี่แหละภาระครูผู้แบกหนัก

ยิ่งหลงนักทฤษฎีเดินตามเขา

ยิ่งเสียเหงื่อผิดงานไม่บันเบา

แบกภาระหนูตะเภาตามเจ้านาย

.

ที่เด็กเขียนไม่ได้อ่านไม่ออก

เป็นหนามยอกจิตครูมิรู้หน่าย

เพราะไร้รากลืมเหง้าอันเพราพราย

ทิ้งปู่ตาย่ายายไม่นำพา

.

ที่เด็กไม่รักอ่าน-คิดไม่เป็น

เพราะไม่เห็นผู้ใหญ่เดินนำหน้า

สังคมนี้จึงถนัดแต่นินทา

นับเป็นเวทนา...ที่ท้าเรา

.

ครูกานท์

ทุ่งสักอาศรม

กราบสวัสดีค่ะ

        หนูได้มีโอกาสอ่านผลงานของอาจารย์แล้วชอบมาก เคยได้พบตัวจริงของอาจารย์แล้วแต่ว่าแค่แอบมองอยู่ห่างๆค่ะ ^_^

       วันนี้ดีใจจังค่ะที่ได้พบอาจารย์ใน G2K ดีใจๆๆๆๆ

ที่สุดของที่สุดก็คือ  ครูจะต้องรักการอ่าน  ถ้าครูไม่รักการอ่านทุกสิ่งทุกอย่างก็จบ 

คงต้องย้อนกลับมาดูตัวเองแล้วค่ะ ว่ามีมากพอที่จะถ่ายทอดให้ผู้อื่นหรือยัง

       ขอบพระคุณด้วยความเคารพค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • เห็นด้วยกับความเห็นที่ 11  ค่ะ
  • และต้องการให้...มาอ่านบันทึกนี้กันมาก ๆค่ะ
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

อรุณสวัสดิ์ค่ะ..ครูกานท์ที่เคารพ

  • อ่านเรื่องราวการอ่านของครูเป็นครั้งที่สามแล้วค่ะ
  • พยายามอ่านอย่างมีมิติค่ะ..ครู
  • ด้วยมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบงานแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และการสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน ในโรงเรียนสังกัด สพทงเชียงใหม่ เขต 1 ค่ะ
  • มีความรู้สึกดังเช่นที่ครูบอกเล่าทั้งหมดและโดยตลอดมาค่ะ
  • เป็นเหมือนหนามยอกอกเหมือนครูบอกค่ะ
  • วันเสาร์ที่ผ่านมาได้เป็นกรรมการการแข่งขันตอบคำถามจากสารานุกรมไทยฯ  นักเรียนทำคะแนนได้น้อยมากค่ะ โดยประมาณแล้วอยู่ที่ 40-50 % เท่านั้นค่ะ 
  • คงสืบเนื่องจากสาเหตุหลายประการค่ะครู   ถึงแม้กลุ่มเด็กเหล่านี้จะเป็นเสมือนไม้หนึ่ง..เป็นมือเอกของโรงเรียนแล้วก็ตาม
  • ที่เห็นชัดๆ จากการได้ตรวจคำตอบของเด็ก..พบว่าพวกเขาอ่านเพียงมิติเดียวค่ะ..ใช้เพียงความเร็วเท่านั้น ขาดมิติการมองเชิงลึกเหมือนครูบอกจริงๆ ค่ะ 
  • เพราะข้อคำถาม ถามลึกกว่าความรู้ความจำเพียงอย่างเดียวค่ะ..ครู
  • ดังนั้นในภาวะเช่นนี้  นอกจากพ่อแม่แล้ว..ครูเป็นฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งนะคะ ในการระดมพลังช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ที่จะช่วยให้เด็กอ่านออก  อ่านได้ และอ่านเป็นนะคะ
  • เมือ่มีโอกาสก็จะพูดกับคุณครูเสมอค่ะ..เช่นเดียวกับที่ครูพูด ..ชาติจะก้าวไกลถ้าเด็กไทยรักการอ่าน เมื่อจะให้เด็กรักการอ่าน  ครูต้องรักการอ่านก่อน (ศึกษานิเทศก์ด้วยค่ะ)  ดังเช่นที่ครูบอกค่ะ

   ที่สุดของที่สุดก็คือ  ครูจะต้องรักการอ่าน  ถ้าครูไม่รักการอ่านทุกสิ่งทุกอย่างก็จบ

                                                         กราบคารวะครูด้วยความเคารพค่ะ..

ขอบคุณครูตุ๊กแก ครูคิม และคุณวัชราภรณ์ ผู้มีความจริงจังตั้งใจต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ความประจักษ์ร่วมกันใน "สมุทัย" ย่อมนำไปสู่การเลือกใช้ "มรรค" เพื่อ "นิโรธ" ปัญหาได้ถูกแท้มากขึ้นครับ

.

ทุ่งสักอาศรมได้จัดกิจกรรมทั้งที่เป็นโครงการวิทยาทานและโครงการที่หน่วยงานการศึกษามีส่วนร่วมสนับสนุน เพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาสภาวการณ์ กระทำอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ไม่อาจชนะปัญหาที่ใหญ่หลวงในทั้งหมดทั้งมวล เราต่างเชื่อมั่นในสิ่งที่ประจักษ์ว่าถูกทางที่สุดต่อไป...ช่วยกัน

.

อายุบวร

ครูกานท์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท