ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 4)


 
วันนี้มาคุยเรื่องความฉลาดของต้นไม้ต่อครับ เมื่อต้นเดือนกันยายน 2551 นี้เอง ได้มีรายงานวิจัยในวารสาร Biogeoscience (T. Karl, A. Guenther, A. Turnipseed, E.G. Patton, K. Jardine. Chemical sensing of plant stress at the ecosystem scale. Biogeosciences, September 8, 2008) ที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับความฉลาดรู้รักษาตัวรอดของพืช โดยผู้รายงานนั้นเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สังกัดศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติ (National Center for Atmospheric Research เรียกย่อๆ ว่า NCAR) ซึ่งนำโดย Thomas Karl ซึ่งได้ค้นพบว่าต้นวอลนัทมีความสามารถในการปล่อยสารเคมีในกลุ่มเดียวกับยาแอสไพริน (ที่พวกเราทานแก้ลดไข้ ปวดหัว นั่นแหล่ะครับ) ออกมาเมื่อพวกมันมีอาการเครียด

การค้นพบโดยบังเอิญนี้เกิดขึ้นในขณะที่นักวิจัยได้เก็บไอระเหยอินทรีย์จากป่าวอลนัท เพื่อเอาไปตรวจสอบมลพิษของอาณาบริเวณนั้น เนื่องจากไอระเหยอินทรีย์เหล่านี้เมื่อมารวมกับไอเสียจากอุตสาหกรรม ก็จะบอกระดับมลภาวะแถวๆ นั้นได้ คณะวิจัยต้องตกตะลึงเมื่อพบไอโมเลกุลของสารประเภทแอสไพริน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อพืชเจอกับสภาวะอันตราย เช่น ฝนแล้ง อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ความร้อนหรือหนาวเย็นนอกฤดูกาล นักวิจัยได้เก็บไอระเหยนี้ที่ระดับความสูง 30 เมตรจากพื้นดิน แล้วพบว่าสารกลุ่มนี้ ที่ปล่อยออกมาจากป่าแห่งนี้ มีปริมาณสูงถึง 0.025 มิลลิกรัมต่อตารางฟุตต่อชั่วโมง คณะวิจัยมีเชื่อว่าสารกลุ่มแอสไพรินที่พืชปล่อยออกมานี้ ทำหน้าที่อย่างน้อย 2 ประการคือ ประการแรกมันช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของพืช ให้ตื่นตัวและเริ่มกระบวนการปกป้องตัวเอง ประการที่สอง สารที่ปล่อยออกมานั้นล่องลอยกินอาณาบริเวณ ซึ่งจะช่วยเตือนภัยแก่ญาติๆของมัน ซึ่งก็เป็นการสื่อสารส่งข่าวบอกกันและกันด้วย นักวิจัยหวังว่าองค์ความรู้ที่ได้ในครั้งนี้จะช่วยในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเฝ้าดูพืช ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับเกษตรกรรม เพราะเกษตรกรสามารถตรวจรู้ภัยคุกคามที่มีต่อพืชได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแมลงศัตรูพืช ความรู้สึกของพืชต่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความเครียดของพืช ซึ่งก่อนหน้านี้เกษตรกรจะรู้ก็ต่อเมื่อเกิดอะไรขึ้นแล้ว เช่น ใบแห้งตาย หรือมีหนอนกระจายทั้งไร่

 

หมายเลขบันทึก: 224398เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2008 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ๆ ก็แปลกดีนะครับ

สวัสดีครับ

ขอบคุณมากครับ ที่ให้ความเห็นและคำทักทายครับ

ต้นไม้ก็เหมือนมนุษย์ มีการปกป้องกลุ่มของตนเอง มีการแจ้งส่งข่าวอันตรายที่มาจะถึงกัน ต้นไม้มีประโยชน์ต่อมนุษย์มาก แต่เราไม่เห็นค่าไม่ดูแลรักษา  อีกทั้งยังตัดทำลาย  เราก็ต้องรับกรรม จากน้ำท่วม หรือดินถล่ม จากผลการกระทำของเราในที่สุด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท