ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน


แลดูได้ดูแล

ใครๆก็รู้การที่จะลงมือทำอะไรสักอย่างมันยากสักแค่ไหน??????  ยิ่งบอกว่าต้องทำงานอย่างเป็นระบบ  ก็รู้สึกหนักใจ  หนักใจกับระบบที่ไม่คุ้นเคย  ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

โอ้โฮ!!!  เอกสารอะไรทำไมเยอะแยะมากมาย  ใครจะทำกันไหวล่ะ ?????? ไม่เคยมีการยอมรับอะไรเกิดขึ้นในสมอง  ทำไปทำไม???  ทำเพื่ออะไร ???  เพื่อมีหลักฐานร่องรอยไว้รอรับการประเมินตามขั้นตอนของระบบดูแลหรือ?????  เอาไว้เพื่อผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนต้นแบบ

หรือว่าโรงเรียนเหรียญทองเท่านั้นหรือ????   ถูกต้องแล้วสำหรับบุคคลที่ไม่รู้จักระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างแท้จริง  แท้จริง  ในที่นี่หมายถึง  ลงมือทำด้วยตนเอง  ถูกต้องแล้วสำหรับบุคคลที่ทำระบบดูแลแค่เอกสาร  วันหนึ่งก็นั่งนึกเอาว่าเด็กคนนี้น่าจะเป็นอย่างนั้น  เด็กคนนั้นน่าจะเป็นอย่างนี้  แล้วก็ขีดๆเขียนๆเอา  ซึ่งฉันคนหนึ่งก็เคยเป็นเช่นนั้น  แล้วก็รู้สึกเบื่อไม่อยากจะทำงานนี้เลย  ไม่เห็นจะเกิดประโยชน์อะไรสักนิด  พอหมดการประเมินหรือจบปีการศึกษาก็ปล่อยให้มันผ่านไปแล้วพอเปิดเทอมใหม่ก็.วุ่นวายอีกเหมือนเคย

                ก็ด้วยความสับสนปนขี้เกียจ!!!!!  ผ.อ. ของโรงเรียนฉันจึงได้เชิญ  ศ.น. จากเขตพื้นที่การศึกษามาจัดการอบรมให้กับคณะครูที่โรงเรียนโดยตรง ก็ได้จุดเริ่มต้นในการทำงานตามขั้นตอนของระบบดูแล  (จริงๆแล้วก็พอเข้าใจอยู่บ้าง แต่ไม่อยากทำ  อันไหนมันเสร็จเร็ว ก็ทำก่อนมันง่ายดี)

เรื่องเยี่ยมบ้านไม่ต้องพูดถึงใครจะไป  ตอนเย็นก็ต้องรีบกลับบ้าน ( เพราะบ้านฉันไม่ได้อยู่ในโรงเรียน)  ธุระตอนเย็นก็เยอะแยะอยู่แล้ว  ความจริงเราคนเรามีสองด้านค่ะ  ด้านหนึ่งขาว  ด้านหนึ่งดำ  แต่ส่วนใหญ่ฉันคงจะแสดงด้านดำให้เห็นมากกว่า  ซึ่งสิ่งนั้นน่าจะเป็นเหตุผล  เหตุผลที่คนเรามักเข้าข้างตัวเองเสมอ  อ้อ!!! แต่ว่าด้านขาวของฉันก็มีอยู่นะคะ   สำนึก  ยังไงล่ะ   สำนึก  คือเสียงเล็กๆที่คนเราไม่ค่อยฟัง (จำมาจากการ์ตูนเรื่อง พิน็อคคิโอ)  สำนึกของฉันบอกว่าน่าจะลองแบ่งเวลาไปเยี่ยมบ้านนักเรียนบ้าง 

                การเยี่ยมบ้านครั้งแรกก็เกิดขึ้นกับเด็ก  2-3  คน (เลือกคนที่มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป)โอ้โฮ!! เหนื่อยจัง   เมื่อยอีกด้วย (อาการทางร่างกายค่ะ)  แต่สิ่งที่ได้ในใจ  ในสมองของฉัน  คือ ฉันต้องเยี่ยมบ้านเด็กในความรับผิดชอบของฉันให้ครบทุกคน( เด็กม.3ค่ะ)  เพราะฉันได้ความรู้สึกที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิด  บางคนน่าสงสารกว่าที่ฉันคิด  บางคนอยู่โรงเรียนเป็นเด็กดีเรียบร้อย  แต่อยู่บ้านว่านอนสอนยาก (คงจะขี้เกียจเพราะอยู่โรงเรียนขยันแล้ว)  เหมือนคนละคน

ก็มี ส่วนผู้ปกครองก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีตามสภาพของบ้านแต่ละคน   และผู้ปกครอง

เกือบทุกบ้านที่พูดออกมาเหมือนกันว่าดีใจที่ครูมาเยี่ยมและเล่าเรื่องของลูกเขาที่โรงเรียนให้ฟัง  เพราะเขาก็อยากรู้ว่าลูกอยู่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง (จริงๆแล้วลูกของเขาไม่อยากให้ครูไปหรอกค่ะเพราะกลัวครูฟ้อง)

                ตอนเช้า.กลับมาเจอกันที่โรงเรียน  บางคนก็เปลี่ยนพฤติกรรมไปเลยจากที่แต่งตัวไม่เรียบร้อยก็แต่งตัวได้ถูกระเบียบของโรงเรียน(สงสัยเมื่อคืนจะถูกอบรมเป็นกระบุงโกย) บางคนก็รู้จักทักทายครูนอกจากคำว่า  สวัสดี  (ทุกทีไม่เคยคุยเล่นกันเลย)  พฤติกรรมที่มักก่อกวนในห้อง

ก็ลดลงอย่างสิ้นเชิง (เพราะขู่เอาไว้ถ้าไม่สนใจเรียนจะไปฟ้องอีก)  อันนี้ก็แล้วแต่ยุทธศาสตร์ใคร

ก็เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อห้องเรียนนะคะ

                การเยี่ยมบ้านของฉันทำให้ฉันได้ดูแลเด็กในความรับผิดชอบได้ดีขึ้นจากเดิม   และเห็นประโยชน์ที่ได้รับมากขึ้น  ไม่มีคำบรรยายไหนจะอธิบายให้เข้าใจถึงการรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้อย่างแท้จริง  ถ้าเราไม่ลงมือทำด้วยตนเอง  ไม่มีสิ่งไหนที่จะทำให้เราเข้าใจและรู้จักผู้เรียนได้อย่างแท้จริง  ถ้าเราไม่ลงมือทำด้วยตนเอง  ประสบการณ์ของใครก็ของคนนั้นเพราะประสบการณ์จะทำให้เราเข้าใจ  และรู้จักผู้เรียนได้อย่างแท้จริง  ถ้าเราลงมือทำด้วยตนเอง

                สำหรับสิ่งที่ทำให้ระบบดูแลของโรงเรียนฉันเดินไปอย่างเป็นระบบ  มีแนวทางในการดำเนินการ คือ  จัดทำยุทธศาสตร์การดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน  2  ยุทธศาสตร์

                                1.  ยุทธศาสตร์เชิงรับ                         

2.  ยุทธศาสตร์เชิงรุก

                                                ยุทธศาสตร์เชิงรับ  ประกอบด้วย  การปฐมนิเทศผู้ปกครองพร้อมกับจัดกิจกรรมพบผู้ปกครอง(Classroom  meeting)   หลังจากนี้  ก็ดำเนินงานตามขั้นตอนของระบบดูแลอย่างสม่ำเสมอ  จัดกิจกรรมเสริมตามที่นักเรียนสนใจและตามสภาพของโรงเรียนที่เอื้ออำนวย

                                                ยุทธศาสตร์เชิงรุก  ประกอบด้วย  การเยี่ยมบ้านนักเรียน  นำข้อมูลนักเรียน  ผลงานของนักเรียนที่ปรากฏขณะร่วมกิจกรรมต่างๆของโรงเรียนให้ผู้ปกครองได้ชื่นชม

                การรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคลอย่างแท้จริง  ทำให้ฉันได้ดูแลเด็กในความรับผิดชอบได้อย่างเป็นระบบโดยอัตโนมัติ

 

การที่เราจะรู้จักใครสักคน

ถ้าเราเข้าไม่ถึงเขา

หรือไม่ได้เป็นในสิ่งที่เขาเป็นอยู่

หรือไม่ได้ทำในสิ่งที่เขาทำอยู่

เราจะไม่มีวันได้รู้จักเขาเลย…”

                               

                                                                                                              โดย       ทัศนีย์  ไชยเจริญ

                                                                                                                       ครูโรงเรียนวัดพวงนิมิต

คำสำคัญ (Tags): #คือเรา
หมายเลขบันทึก: 222761เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2008 01:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท