44.ท่องกุวาฮาตีครึ่งวัน


กุวาฮาตี ประตูสู่อีสานของอินเดีย

  

         

กุวาฮาตี (Guwahati) ภาษาอัสสัมเรียกว่าเกาฮาตี (Gauhati) มาจากภาษาอัสสัมสองคำคือ 'guwa' (หมาก) และ 'haat' (ตลาด) เป็นเมืองหลักทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เมืองนี้ถือว่าเป็นประตูสู่อีสานของอินเดีย และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีสาน ดิสปูร (Dispur) เป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ตรงใจกลางของอาณาบริเวณ กุวาฮาตีเป็นเมืองที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วมากคือเป็น 1 ใน 100 เมืองที่โตเร็วของโลก และเป็นอันดับ 5 ของอินเดีย เป็นเมืองศูนย์กลางทางด้านการพาณิชย์ และการศึกษาของภาคอีสานของอินเดีย เป็นที่ตั้งของสถาบันทางด้านเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงระดับโลกคือ สถาบันเทคโนโลยีกุวาฮาตีแห่งอินเดีย (Indian Institute of Technology Guwahati) และมีสถานศึกษาที่เก่าแก่และมีชื่อเสียง เช่น Cotton College มีอายุกว่าร้อยปี เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางทางด้านวัฒนธรรมและกิจกรรม รวมทั้งกีฬาต่างๆ เป็นศูนย์กลางทางด้านการเมือง การปกครอง และเป็นศูนย์รวมการคมนาคมขนส่งไปสู่อีสานของอินเดีย  

          ภูมิอากาศเป็นแบบกึ่งร้อนชื้น ฤดูร้อนแล้งประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ถึงกันยายน เราจะได้ยินข่าวทุกปีว่าอัสสัมน้ำท่วม ฤดูหนาวตั้งแต่ตุลาคม-มีนาคม อุณหภูมิเฉลีย24 องศาเซลเซียส สูงสุด 40 องศา ต่ำสุด 5 องศา  

          ดิสปุรเป็นเมืองหลวงของอัสสัมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973  แม้ว่าจะเป็นเมืองหลวง     แต่คนรู้จักกุวาฮาตีมากกว่า เพราะเป็นเมืองที่เก่าแก่และมีบทบาทในด้านต่างๆ มาช้านาน อย่างไรก็ตามเราซึ่งเพิ่งไปแยกไม่ออกหรอกว่าเมืองไหนอยู่ตรงไหนเพราะกลืนกันเป็นเนื้อเดียวกันหมด เจ้าของบ้านเท่านั้นจึงจะทราบว่าตรงไหนที่เรียกว่าเมืองหลวง  

          เมื่อทำความรู้จักกับเมืองหลวง เมืองเก่าของอัสสัมแล้ว ดิฉันขอนำท่านไปรู้จักกุวาฮาตีในเวลาเพียงครึ่งวันของดิฉันต่อนะคะ

           ดิฉันตื่นแต่เช้าเพราะนอนหลับสนิททั้งคืน ทำกิจวัตรเสร็จออกมาเพื่อจะเดินดูบ้านเมืองต่อ ร้านรวงบรรยากาศที่เห็นมืดๆ เมื่อคืน เช้านี้ดูเป็นมิตรมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่เปิดกันก็ตาม ดิฉันจะเดินหาร้านกาแฟ แต่ไม่พบ เห็นคนกำลังกวาดขยะข้างถนน นักเรียนกำลังเดินทางไปเรียน คนเริ่มไปทำงาน ที่นี่มีรถบริการสาธารณะหลายรูปแบบ ที่เห็นคือรถเมล์ รถสามล้อเครื่อง รถจี๊บสีแดงดูแข็งแรงคันใหญ่เห็นคนนั่งเบียดกันตัวเล็กๆ คงได้ราว 10 คน วิ่งในบริเวณที่รถเมล์เข้าไปไม่ถึง ดิฉันเดินไปเดินมาไม่มีอะไรให้ดูก็เลยกลับเข้าโรงแรม สั่งชามาทาน  

          เจ้าหน้าที่ลูกครึ่งไทอาหม-อินเดียคนเมื่อวาน (ดิฉันขอเรียกว่าเพื่อนนะคะ) มารับดิฉันตามเวลานัด วันเสาร์อินเดียยังทำงานอยู่นะคะ เขาพาดิฉันนั่งรถของสถาบันวิจัยสังคมเข้าเมือง พอดิฉันเห็นหน้าตาของเมือง โอ้โห เมืองนี้ทั้งใหญ่ ทั้งกว้างมาก ตึกรามบ้านช่องมีหลากหลายรูปแบบทั้งใหม่ ทั้งเก่า  ถนนหนทางกำลังพัฒนา การก่อสร้างเกิดขึ้นมากมาย ทำให้มีฝุ่นเยอะมาก ย่านที่ดิฉันพักอาจจะอยู่ท้ายๆ เมืองก็ได้ เขาพาดิฉันไปแลกเงินที่ธนาคาร State bank of India ซึ่งเข้าเมืองไปไกลทีเดียว แต่ดีเพราะได้ชมเมืองด้วย ขึ้นลิฟท์ไปชั้น 3 ไปแผนกแลกเงินต่างประเทศ ดิฉันไม่มีสำเนา passport จึงตามเจ้าหน้าที่ไปที่ห้องถ่ายเอกสารเอามาประกอบแบบฟอร์ม วันนั้นอัตรา $100 แลกได้ 3920 รูปี (ราคาดี) ดิฉันแลกเผื่อๆ ไว้เพราะต้องเดินทางไปอีกไกล ไม่ทราบว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร  

          คนมาใช้บริการที่ธนาคารเยอะมาก เสร็จแล้วพวกเราไปร้านหนังสือในเมือง ดิฉันบอกเพื่อนดิฉันว่าอยากไปซื้อหนังสือเกี่ยวกับอัสสัมและชาติพันธุ์ เขาพาไปเดินหลายร้านอยู่เป็นย่านเลยค่ะ เข้าร้านโน้น ออกร้านนี้ มีทั้งร้านใหญ่ ร้านเป็นแผง ดิฉันก็เลือกซื้อไปพอสมควร เกรงว่าเงินที่แลกมาจะไม่พอสำหรับเดินทางไกลจึงได้แต่เพลาๆ ไว้ก่อน ขนาดนี้ก็หนักอึ้งทีเดียว ดิฉันซื้อมาเข้าห้องสมุดที่ทำงาน ไปทุกครั้งต้องหาซื้อหนังสือมาเกือบทุกครั้งเพราะเรายอมแบกมาไม่เสียค่าขนส่ง  

          เสร็จแล้วมาซื้อตั๋วรถทัวร์ที่ท่ารถ ท่านอย่านึกภาพสถานีขนส่งสายเหนือ สายใต้ของเราเด็ดขาดเลยนะคะ นึกถึงแค่ซุ้มพอค่ะ เพื่อนดิฉันติดต่อถามให้ว่าไป Moran ยังมีที่อยู่ไหม เขาบอกมี เหลือไม่กี่ที่ เป็นรถโดยสารปรับอากาศ ค่ารถ 322 รูปี รถออกวันพรุ่งนี้เวลา 7.45 น. ไปถึงราวๆ บ่ายสามโมงกว่า  

          ดิฉันเชิญเพื่อนและคนขับรถไปแวะดื่มชากัน เขาพาไปร้านมังสวิรัติที่ดูทันสมัย สะอาด คนเยอะมาก ทำให้เห็นว่าเมืองนี้มีทั้งเก่าและใหม่ผสมกันจริงๆ เพื่อนๆ สั่งของว่างมาทานกันคือ Dosa จิ้มแกง แผ่นใหญ่เหมือนเครปเลยและกรอบ ข้างในห่อไส้มันฝรั่งพับครึ่งมา มีเครื่องจิ้มและแกงให้ อร่อยดีค่ะ ก่อนทานอย่าลืมล้างมือทุกครั้งนะคะ เพราะทานมือจึงจะเข้ากับอาหารของเขา ยกเว้นใช้ช้อนตักแกงได้ เราทานไม่ถึง 15 นาที ดิฉันแวะไปซื้อขนมเค้กแบบมังสวิรัติในร้านฝากให้เพื่อนทั้งสองคนไปฝากลูกๆ เขาด้วย ให้ตัวเองด้วย เพื่อนๆ มาส่งฉันที่โรงแรม  

          ดิฉันฝากเงินไว้ที่เพื่อนเพื่อให้ช่วยถ่ายเอกสารหนังสือที่ได้รับคำแนะนำจากท่านผู้รู้เมื่อวานนี้ให้ด้วย และอีกจำนวนหนึ่งเป็นค่าน้ำมันรถที่ใช้รับส่งดิฉัน  ตลอดจนค่าโทรมือถือที่เขาช่วยโทร. ประสานงาน เพื่อนบอกให้มากไปหรือเปล่า ดิฉันบอกไม่เป็นไรเพราะยังอีกหลายวันที่ต้องอยู่ที่นี่ นอกจากนี้ดิฉันฝากให้เพื่อนช่วย confirm ตั๋วเครื่องบินขากลับให้ด้วย เพื่อนบอกว่าวันไหนที่ฉันจะกลับจากภาคสนามให้โทร. บอกด้วย ดิฉันเดินทางวันที่ 6 เมษายน และคาดว่าจะกลับมาราววันที่ 12 เมษายนซึ่งเป็นเทศกาลบิฮู (Bihu) ของชาวอัสสัม ดิฉันก็ยังไม่แน่ใจว่าจะกลับวันนั้นหรือเปล่าเพราะต้องดูสถานการณ์ก่อน

 

 

          ช่วงบ่ายๆ ดิฉันเดินออกมาด้านหน้าโรงแรม ร้านค้าเปิดเต็มพิกัด ดิฉันเดินไปร้าน internet ส่งเมล์ ตรวจเมล์ ตอบเมล์เสร็จราวครึ่งชั่วโมงเสียเงิน 10 รูปี เสร็จแล้วเดินย้อนกลับมาอีกทาง ปรากฎว่าเป็นตลาดมีร้านขายเสื้อผ้ามากมาย สาหรีมีทั้งแบบหรูของอัสสัม แบบถูกๆ คล้ายผ้าสาหรีชีฟองธรรมดาแต่ละลานตาด้วยสีสัน ลวดลาย ร้านรองเท้า ร้านชำ ร้านขายเทปเพลง ร้านขายเครื่องมืออุปกรณ์ไฟฟ้า ฯลฯ

          เดินต่อไปเป็นตลาดผลไม้ มีทั้งมะละกอ สาลี่ แอปเปิล มะม่วง ส้มเช้ง แตงโม ทับทิม องุ่น กล้วยดิฉันก็ลังเลจะซื้อร้านไหนดี ไปยืนอยู่หน้าแผงหนึ่งดูผู้ชายคนหนึ่งกำลังซื้ออยู่ ดิฉันขอโทษเขาถามเขาว่าทับทิมที่เขากำลังซื้ออยู่ราคาเท่าไร เขาบอก 100 รูปี (แพงกว่าที่เดลลี)   นี่ลดลงมา 20 รูปีแล้วเขาบอกผลไม้ที่นี่คงนำเข้าจากที่อื่นเพราะราคาแพงหมด ---ผลไม้ที่อินเดียส่วนใหญ่ราคาแพง ยกเว้นที่ปลูกในท้องถิ่นจริงๆ หรือฤดูกาลของเขาจึงจะถูกดิฉันเห็นชายคนนี้ซื้อหลายอย่างมาก ดิฉันถามเขาว่ามีงานเลี้ยงหรือ เขาบอกเปล่าซื้อปกติ สุดท้ายเขาถามดิฉันว่าเป็นคนชาติอะไร ดิฉันบอกไทยมาจากประเทศไทย ดิฉันถามเขาว่าเขาเป็นไทอาหมหรือ เขาบอกไม่ใช่แต่อยู่ใกล้ๆ ดิฉันบอกว่ามาทำวิจัย เขาจึงให้นามบัตรไว้เป็นจิตแพทย์ พูดภาษาอังกฤษดี เคยทำงานที่บังกาลอร์แล้วกลับมาทำที่นี่ซึ่งเป็นคลินิคส่วนตัว คุณหมอคนนี้เป็นมิตรกับชาวต่างชาติมาก ในที่สุดแกซื้อทับทิมให้ดิฉันหนึ่งกิโล ดิฉันบอกไม่ต้องเพราะดิฉันจะซื้อเองอยู่แล้ว คุณหมอไม่ยอมจ่ายเงินให้พ่อค้า ดิฉันยกมือไหว้ขอบคุณ นี่เป็นครั้งแรกที่เจอคนใจดีขนาดนี้ แกหอบถุงผลไม้และลาจากไป ดิฉันซื้อผลไม้ต่อ ซื้อองุ่นเขียวไร้เม็ด ดูสภาพไม่ค่อยสวยแต่ราคากิโลกรัมละ 80 รูปี (ดิฉันเคยซื้อที่แหล่งปลูกคือมุมไบสวยมาก ซื้อยกเข่งราคากิโลกกรัมละ 30 รูปี ลูกยาวๆ ปลอดสารพิษ หอบกลับมาฝากคนที่เมืองไทย) ซื้อส้มสองกิโล กลับมาที่โรงแรมล้างองุ่นหลายน้ำ ต้องประณีตในการล้างมากเพื่อให้แน่ใจว่าสะอาดจริงๆ ทานแล้วไม่จู๊ดๆ ที่อินเดีย ใครๆ ก็ทราบว่าต้องระวังเรื่องความสะอาดของอาหาร และน้ำดื่ม แต่ดิฉันก็ยังไม่เคยท้องเสียเลย ผลไม้จะเอาไปบ้านเพื่อนเย็นนี้  

          เห็นพ่อค้าหาบผักมามีผักชีแบบไทย กระเจี๊ยบ มะเขือม่วง มะเขือเทศ ฟักทอง ฟักเขียวลูกยาวๆ เป็นต้น บรรยากาศตอนกลางวันดูคึกคัก ผิดกับเมื่อวานเย็นที่ไฟดับคนละภาพเลยค่ะ  

          ตอนเย็นเพื่อนดิฉันมารับดิฉันไปทานข้าวที่บ้านซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมที่พัก เป็นบ้านใหญ่สองชั้น กำลังบูรณะ ในบ้านมีคุณพ่อ คุณแม่ซึ่งเป็นไทอาหมหน้าตาเป็นคนไท มากกว่าลูกชายเสียอีก มีภรรยาก็เป็นไทอาหม หน้าตาก็เป็นไทคมขำ และลูกสาวสองคนก็หน้าตาเป็นไท เป็นครอบครัวอบอุ่น น่ารัก คุณพ่อ คุณแม่อายุมากแล้วแต่ก็ช่วยเลี้ยงหลาน คุณพ่อคุณแม่มานั่งคุยด้วยว่าลูกเขยเคยไปเมืองไทย ท่านพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง คุณแม่แต่งกายแบบผู้หญิงอัสสัมคือไม่ใช้ผ้าห่อตัวเหมือนสาหรี แต่ใช้ผ้าสองชิ้นพัน มีเสื้อตัวเล็กๆ สวยงาม  

          เขาให้ดิฉันทานมีเพื่อนนั่งทานกับลูกๆ ด้วย ส่วนคนอื่นยืนดู คงเร็วเกินไปสำหรับมื้อเย็นของเขา อาหารมีปูรี (แป้งทอด) มันอลูผัดผงกะหรี่ อร่อยดี (อัสสัมก็เรียกอลูคือมันฝรั่ง) ข้าวใส่โยเกิร์ตโรยน้ำตาลอ้อย คล้ายข้าวหมาก ตบท้ายด้วยครองแครงทอดมีทั้งหวาน ทั้งเค็ม ความจริงไม่ใช่อาหารหลัก แต่เป็นอาหารทานเล่นมากกว่า แต่ดิฉันก็อิ่มทีเดียว ตบท้ายด้วยชาใส่นมของอัสสัม ชาที่นี่สุดยอดค่ะ อร่อยทุกบ้าน ทานเสร็จก็คุยกันต่อสักพัก ทุกคนน่ารัก มีอัธยาศัยมาก ตอนลากลับคุณแม่บอกว่าให้มาอีกนะ ราว 1 ทุ่ม เพื่อนกับลูกสาวตัวน้อยขับรถมาส่งดิฉันเพราะเขาจะไปเลี้ยงวันเกิดลูกสาวต่อ  

          ดิฉันเดินเล่นต่อเพื่อดูร้านรวง ผู้คน ดิฉันชอบดูวิถีชีวิตของผู้คนที่หลากหลาย แวะไปที่ร้านอาหารสั่งข้าวผัดและปอเปี๊ยะแบบอินเดีย (spring roll) สำหรับไว้กินตอนเดินทางพรุ่งนี้ ดิฉันขอแนะนำว่า spring roll ของอินเดียอร่อยมากค่ะ ทานมาสองสามที่แล้ว รสชาติดี กรอบนอก ข้างในสั่งเป็นไส้ไก่ เขาผัดกับหอมหัวใหญ่และพริกเม็ดใหญ่ใส่ซอส ทานกับซอสพริก รสชาติดีทีเดียวค่ะ คนที่ร้านจำดิฉันได้แล้ว นั่งรออาหารที่ร้าน ได้อาหารแล้ว จ่ายเงินเดินกลับที่พัก เตรียมจัดกระเป๋าเพื่อเดินทางต่อวันพรุ่งนี้

 

 

 

ขอเชิญท่านที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับอินเดีย สมัครเรียนในหลักสูตรปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมและการพัฒนา วิชาเอกอินเดียศึกษา ตั้งแต่บัดนี้ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 โปรดเข้าชมรายละเอียดใน www.lc.mahidol.ac.th โทร. 02-800-2308-14 ต่อ 3101 โทร. 02-800-2323

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 220145เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2008 12:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • อ่านซะเพลินไปเลยค่ะ
  • เขียนได้ละเอียดและมองเห็นภาพ ทำให้อยากไปจริง ๆเลยค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ค่ะ

เรียนคุณเพ็ญศรี

     ขอบคุณมากค่ะ ดิฉันเขียนจากบันทึกที่จดในระหว่างที่ออกภาคสนามที่นั่น จึงยังคงมีรายละเอียดแม้เวลาจะผ่านมาหลายเดือนแล้วค่ะ

ขอบคุณเจ้าของกระทู้มากค่ะ ได้ความรู้และก็เปิดโลกทัศน์ให้ตัวเอง

ตื่นเต้นไปกับการอ่าน ที่บรรยายได้ชัดเจน ขอบคุณมากค่ะ

เรียน คุณบังเอิญผ่านมา และkrutoi

      ขอบคุณมากค่ะที่ส่งข่าวมาให้ทราบ หากสนใจโปรดติดตามไปเรื่อยๆ นะคะ ยังมีอีกหลายตอนค่ะ

สวัสดีครับ

แวะมาอ่าน ชอบครับ

ตั้งแต่กาเลหม่านไต ก็ไม่ค่อยได้อ่านเรื่องอาหมที่มีรายละเอียดอีกเลย

วิชาเอกอินเดียศึกษา เรียนภาษาด้วยไหมครับ

เรียน คุณธวัชชัย

      เรามีอบรมภาษาฮินดีด้วยค่ะ ไม่ทราบสนใจไหมคะ กรุณาติดต่อตามเบอร์โทร. ที่ให้ไว้นะคะ

อจ.โสภนาครับ

ดีจังครับ

สนุกและได้ความรู้ เหมือนไปด้วย

เรียน ท่านพลเดช

    ขอบพระคุณค่ะ นี่เป็นข้อดีที่ได้จากการจดบันทึกประจำวันไว้สำหรับการไปออกภาคสนามค่ะ ไม่งั้นคงลืมเลือนไปเยอะเพราะเวลาผ่านไปหลายเดือนแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท