ออก กำลังสมอง ก่อนสมองจะเสื่อม


                          

          
 
       สมองก็ เหมือนร่างกายที่ต้องการการออกกำลังให้แข็งแรง คล่องแคล่ว ฉับไว โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้นยิ่งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะการทำงานของสมองเสื่อมลงจนอาจเกิดภาวะสมองเสื่อม สูญเสียความทรงจำ หรือเกิดโรคอัลไซเมอร์
      ในประเทศไทยพบว่าเมื่อปี ๒๕๔๘ มีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมสูงถึง๒๒๙,๑๐๐๐ คน และจะเพิ่มขึ้นเป็น๔๕๐,๒๐๐ คนในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า ดังนั้น เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อมยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การป้องกันที่ดีที่สุดคือการรักษาความดันโลหิตให้ปกติ อย่าให้มีไขมันในเลือดสูง ออกกำลังสมอง ไม่เครียด และเข้าร่วมสังคม จะช่วยกระตุ้นให้สมองทำงาน ไม่เสื่อมสภาพเร็ว
 
การออกกำลังสมอง หรือ'นิวโรบิกส์ เอ็กเซอร์ไซส์' (Neurobics Exercise) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยได้
      ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทิกา ทิวชาชาติ จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่าถึงถึงวิธีการออกกำลังสมองว่า การออกกำลังสมองเปรียบเทียบได้กับการออกกำลังของร่างกาย ที่จะต้องเคลื่อนไหวเพื่อใช้กล้ามเนื้อหลาย ๆ ส่วนให้ทำงานเชื่อมโยงกัน ส่งผลให้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้น
 
      ดังนั้นการออกกำลังสมองจึงเป็นเสมือนการฝึกให้สมองส่วนต่าง ๆ มีการทำงานที่ประสานสัมพันธ์กัน ทำให้ระบบการทำงานของสมองแข็งแรงและมีพลังขึ้น เพราะเมื่อฝึกออกกำลังสมองบ่อย ๆ สมองจะมีการหลั่งสารที่เรียกว่า นิวโรโทรฟินส์ (Neurotrophins) ที่เปรียบเหมือน 'อาหารสมอง' ที่ ทำให้เซลล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ 'เดนไดรต์' (Dendrite) ที่เชื่อมระหว่างเซลล์ประสาททำงานดีขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เนื้อเซลล์เจริญเติบโต และเซลล์สมองแข็งแรง
 
       'เมื่อเซลล์สมองส่วนใหญ่แข็งแรง ก็จะทำให้เกิด 'พุทธิปัญญา' (Cognitive Function) ที่หมายถึงความจำ สมาธิ การรับรู้ ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการแสดงออก รวมไปถึง ' การทำงานของสมองระดับสูง' (Executive Function) คือ การคิด แก้ปัญหา การตัดสินใจ และการวางแผนที่ดีขึ้น ทำให้การทำงานของสมองยังคงประสิทธิภาพดี แข็งแรง และชะลอความเสื่อม เรียกง่าย ๆ ว่า 'สมองฟิต' เหมือนการออกกำลังให้ร่างกายนั่นแหล่ะ'
     
      สำหรับหลักการของการออกกำลังสมอง หรือนิวโรบิกส์ เอ๊กเซอร์ไซส์ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงนันทิกา อธิบายว่า เกิดจากการกระตุ้นให้ประสาทสัมผัสทั้ง๕ (Sensory Organs) อันได้แก่ การได้ยิน ได้มองเห็น การได้กลิ่น การลิ้มรส และการสัมผัส รวมไปถึงส่วนสำคัญส่วนที่ ๖ คือ ส่วนของ 'อารมณ์' (Emotional Sense) ได้ทำงานเชื่อมโยงกัน โดยใช้กิจกรรมในชีวิตประจำวันเดิมของเราเป็นตัวช่วย เพียงแต่ต้องเปลี่ยนวิธีการไปจากเดิม
       'ยกตัวอย่างเช่น จากที่เคยชินกับการใช้มือขวาซึ่งเป็นข้างที่ถนัดหยิบจับทุกอย่าง ก็เปลี่ยนมาใช้มือซ้ายทำแทน เนื่องจากพฤติกรรมและการรับรู้ต่าง ๆ เกิดจากการทำงานประสานกันระหว่างสมองซีกซ้ายและขวา ถ้าเราใช้แต่มือข้างขวาทำทุกอย่าง สมองด้านซ้ายซึ่งบังคับมือขวาจะได้รับการกระตุ้นด้านเดียว แต่สมองส่วนขวาซึ่งบังคับมือซ้ายก็จะไม่ค่อยได้ทำงานและอาจจะเสื่อมไป ดังนั้นเมื่อเราฝึกทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยมือซ้าย ก็ช่วยให้สมองส่วนขวาได้รับการกระตุ้นและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย'
การออกกำลังสมองไม่ยากอย่างที่คิด
 
      การออกกำลังสมองสามารถทำได้ด้วยตัวเองได้ มาลองทำดูกันนะคะ
     
ถ้าอยู่บ้าน ลองทำกิจกรรมเหล่านี้ดู
      - ปิดตาทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ปิดตาอาบน้ำ ปิดตาดูทีวี เพื่อเปลี่ยนความเคยชินในการรับข้อมูลจากประสาทสัมผัสเดิม ๆ เช่น เมื่อเราปิดตาดูทีวี แทนที่จะ'มองเห็น' เราก็จะ 'ฟัง' และกระตุ้นความคิดว่า เรากำลังดูรายการอะไร หรือพิธีกรซึ่งเป็นเจ้าของเสียงนี้คือใคร
      - ปิดไฟในห้องแล้วใช้มือคลำ เพื่อกระตุ้นประสาทในส่วน 'สัมผัส' เชื่อมโยงกับความจำว่าสวิตซ์ไฟหรือสิ่งของภายในห้องอยู่ตรงไหน
      - สลับกับกิจกรรมที่เคยทำตั้งแต่ตื่นนอน จากที่เคยอาบน้ำก่อนกินข้าว ก็เปลี่ยนเป็นกินข้าวก่อนอาบน้ำ (แต่จะแปรงฟันก่อนก็ได้) เนื่องจากสมองจะใช้พลังในการทำสิ่งใหม่ ๆ มากกว่าตอนที่ทำกิจกรรมเดิม ๆ ซึ่งเคยชิน
     
ระหว่างเดินทางก็ฝึกสมองได้
      - หากเปิดแอร์ระหว่างขับรถทุกวันก็ลองเปิดกระจกขับรถบ้าง แต่ก็ควรเลือกเส้นทางที่มีอากาศบริสุทธิ์หน่อยนะคะ เพื่อเชื่อมโยงประสาทรับกลิ่นและเสียงภายนอกให้ทำงานประสานกันมากขึ้น
      - หากคุณต้องขับรถไปทำงานทุกวันก็ลองเปลี่ยนเส้นทางที่ใช้อยู่เดิมบ้าง อาจเป็นเส้นทางที่ใช้อยู่เดิมบ้าง เส้นทางใหม่ที่ทราบอยู่แล้ว หรือเส้นทางทดลองขับก็ได้ เพราะทั้งวิวทิวทัศน์ กลิ่น และเสียงของเส้นทางใหม่จะช่วยกระตุ้นทั้งสมองชั้นนอกและฮิปโปแคมปัสให้สร้าง แผนที่เส้นทางชุดใหม่ขึ้นในสมอง
      - เปลี่ยนวิธีการเดินทางบ้าง เช่น จากที่เคยขับรถก็อาจนั่งรถเมล์หรือรถไฟฟ้ามาทำงานแทน
 
ทำงานไปด้วย ฝึกสมองไปด้วยก็ได้
      - เปลี่ยนตำแหน่งสิ่งของบนโต๊ะทำงานโดยเฉพาะถังขยะ เพราะความเคยชินจากการรู้ว่าจะหยิบจับอะไรตรงไหน ทำให้สมองเราทำงานน้อยลง พิสูจน์ได้จากเมื่อคุณย้ายตำแหน่งถังขยะในช่วงแรก ๆ คุณก็ยังทิ้งขยะลงที่เดิมซึ่งไม่ลงถังแล้ว นั่นเป็นเพราะสมองเคยชิน
      - พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานใหม่หรือคนที่ไม่ค่อยคุยด้วย เพื่อเติมข้อมูลใหม่ ๆ ให้กับสมอง ทั้งการจำลักษณะใบหน้า เสียงพูดหรืออุปนิสัยส่วนตัวของเพื่อนร่วมงานคนนั้น
      - ชวนเพื่อนร่วมงานถกเถียง อภิปรายหรือพูดคุยในประเด็นที่ไม่เคยพูด เพื่อเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ
     
      ลองฝึกดูนะคะ ค่อย ๆ ทำวันละเล็ก วันละน้อย ก็สามารถจะยืดอายุสมองของคุณให้แข็งแรงนานขึ้นค่ะ


อนุโมทนาสาธุข้อมูลที่มีคุณค่า

จาก ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ภาพประกอบจาก


 


หมายเลขบันทึก: 220142เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2008 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จะลองบริหารสมองดูน๊ะครับ อิอิ

P

 

  • ธรรมสาวัสดีโยม suksom
  • อนุโมทนาสาธุ..
  • ธรรมรักษา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท