BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปัญหาผู้สูงอายุ


ปัญหาผู้สูงอายุ

วันที่ ๗ เดือนนี้ ผู้เขียนรับนิมนต์ไปปาฐกถาธรรมเพื่อผู้สูงอายุที่ชมรมฯ เรื่องที่ตั้งใจจะพูดก็คือปัญหาผู้สูงอายุ ซึ่งผู้เขียนได้ประมวลความไว้ ในคราวเมื่อโยมผู้คุ้นเคยจากกระดังงาแวะมาเยี่ยมและคุยกันเมื่อ ๒-๓ ปีก่อน... แต่ที่ยังคิดไม่ออกก็คือ จะใช้ธรรมะหมวดใดเข้าไปสอดแทรกเพื่อให้ได้ใจความและพอดีกับเวลาที่กำหนดไว้ (๓๐-๖๐ นาที) จึงนำมาเขียนเล่าเล่นๆ เพื่อบางอย่างจะแว๊บขึ้นมา หรือใครบางคนเข้ามาอ่าน อาจมีความคิดเห็นดีๆ ทิ้งไว้ให้ผู้เขียนนำไปขยายความต่อ...

สำหรับปัญหาผู้สูงอายุ (หรือ คนแก่ แต่เดียวนี้ เค้าว่าไม่เหมาะสมที่จะเรียกว่า แก่ ให้เรียกว่า สูงอายุ ) ตามที่ผู้เขียนได้สรุปไว้ มี ๓ ประการ กล่าวคือ

  • อ้างว้าง เดียวดาย
  • สุขภาพไม่อำนวย
  • ความประพฤติไม่เหมาะสม

 

ประการแรก ความว้าเหว่ เปล่าเปลี่ยว เงียบเหงา อ้างว้าง เดียวดาย ฯลฯ เป็นเรื่องเป็นไปได้สำหรับผู้สูงอายุ เพราะว่าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันก็จากไปเยอะ หรือที่พอจะมีอยู่บ้างก็ห่างไกลออกไป ขาดการติดต่อ ทั้งสุขภาพก็ไม่อำนวยที่จะไปมาหาสู่... การที่เพื่อนๆ ค่อยๆ จากไปนั้น ทำให้ความเงียบเหงาและเดียวดายค่อยๆ เข้ามาเยือน...

ผู้สูงอายุที่ได้อยู่กับลูกหลาน ก็อาจไม่เป็นไรนัก แต่ก็มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ลูกหลานค่อยๆ จากไป หรือแยกออกไปอยู่บ้านหลังใหม่ ทำให้บางครั้งต้องจำเป็นอยู่คนเดียว อยู่คนเดียว และก็อยู่คนเดียวไปเรื่อยๆ... ความอ้างว้างเดียวดายจึงค่อยๆ เข้ามาเยือน...

ตามความเห็นผู้เขียน คิดว่าความอ้างว้างเดียวดายทำนองนี้ น่าจะเกิดขึ้นกับคนทุกคน เพียงแต่ว่าจะมากหรือน้อย และใครสามารถที่จะจัดการปัญหานี้ได้หรือไม่อย่างไรเท่านั้น...

ปัญหาเรื่องนี้ น่าจะเป็นหน้าที่ของลูกหลาน ต้องหมั่นไปเยี่ยม พาท่านไปเที่ยวออกงานบ้างตามโอกาส...

 

ประการต่อมา สุขภาพไม่อำนวย... ผู้สูงอายุทุกคนต่างก็อยู่ในข่าย ชรา ซึ่งแปลว่า ชำรุดทรุดโทรม นั่นคือ ร่างกายที่ใช้มานานแล้วย่อมชำรุดทรุดโทรม และอาจแตกหักขาดหายไปบ้างเป็นธรรมดา จะนั่ง ยืน เดิน นอน หรือจะกินจะถ่าย ก็ไม่ได้ดังใจดังเช่นสมัยหนุ่มสาวที่ยังมีกำลังวังชาสมบูรณ์แข็งแรง... ใครที่มีโรคน้อยหรือไม่มีโรคนับว่าเป็นบุญของผู้นั้น ดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ...

ผู้สูงอายุบางท่านนั้น มีโรคประจำตัวที่คอยเบียดเบียนอยู่เสมอ น้อยบ้างหนักบ้างก็ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีหรือเวรกรรมของแต่ละคน...

เรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุนี้ ผู้เขียนคิดว่าต้องร่วมมือด้วยกันทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ผู้สูงอายุเองต้องทานยาตามที่หมอสั่ง หมั่นออกกำลังกาย และงดเว้นของกินหรือยับยั้งการงานที่แสลงต่อโรค... และบรรดาลูกหลานก็ต้องมั่นเอาใจใส่คอยดูแลตามสมควร เช่น จัดหาอาหารบำรุงหรือหยุกยามาให้ พาท่านไปหาหมอหรือออกกำลังกายตามโอกาส ช่วยเหลือบำรุงท่านตามสมควร...

 

ประกานสุดท้าย ความประพฤติไม่เหมาะสม... ผู้สูงอายุบางท่านนั้น เวลาว่างเยอะ จึงมักจะชอบทำอะไรที่ตนชอบซึ่งในสมัยที่เป็นหนุ่มสาวไม่มีโอกาส เช่น ผู้ชายที่สูงอายุบางคนก็หลงใหลนักร้องและสถานเริงรมณ์ ชอบดื่มของมึนเมา หรือเล่นการพนัน... หรือผู้หญิงที่สูงอายุบางคนก็ชอบแต่งตัวเกินวัย อยากจะไปเรียนเย็บผ้าหรือเสริมสวย...

การที่ผู้สูงอายุบางท่าน ประพฤติตัวไม่เหมาะสมทำนองนี้ นอกจากจะไม่เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปแล้ว บางครั้งก็ทำให้ลูกหลานเสียหน้าและอับอายต่อผู้คนอยู่เสมอ... เป็นการลำบากใจที่จะตักเตือน พูดหนักๆ แรงๆ ก็หาว่าไม่เคารพเถียงคำไม่ตกฟาก จะดุด่าเฆี่ยนตีหรือลงโทษก็ไม่ได้...

ฉะนั้น ปัญหาประการสุดท้ายนี้ ผู้สูงอายุจะต้องแก้ไขเอง ปรับปรุงตัวเองให้เหมาะสมกับวัย แรงกายแรงใจ ตามฐานะ และความสามารถ... เพราะจะให้ผู้น้อยหรือลูกหลานคอยสอนสั่งอย่างเด็กๆ ก็เป็นไปไม่ได้ มิใช่เป็นการสมควร

 

ผู้เขียนคิดว่า ธรรมะ น่าจะสอดแทรกเข้ามาช่วยในประการสุดท้ายนี้แหละมากที่สุด ส่วนประการอื่นๆ ก็ยังสอดส่ายหาหมวดธรรมอยู่เช่นกัน... เพียงแต่ยังหาหมวดธรรมที่เหมาะสม พอทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ทั้งตรงประเด็น พอเพียงกับเวลาที่จะบรรยาย...

จึงเล่ามาเล่นๆ และใครมีความคิดในเรื่องนี้ก็บอกเล่าได้ เผื่อผู้เขียนจะได้นำไปขยายต่อเป็นวิทยาทานต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #ผูสูงอายุ
หมายเลขบันทึก: 220140เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2008 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

นมัสการพระคุณเจ้า

ผมว่าปัญหาผู้สูงอายุข้อสุดท้ายที่น่ากลัวครับ เพราะเป็นภัยต่อผู้คนรอบข้าง สำหรับผมเคยคิดไว้ว่าต่อไปในภายภาคหน้าจะต้องหามาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวข้างต้นทั้ง 3 ข้อ โดยมีแนวคิดไว้คือ เก็บหอมรอมริบบางส่วน แล้วก็หาอะไรทำตอนแก่ ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลานจนกว่าสุขภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย

เราต้องหาทางแต่เนิ่น ๆ มิฉะนั้นแล้วเราไปทำเอาตอนแก่คงลำบาก และท้ายสุดคงหนีไม่พ้นต้องศึกษาหลักธรรมให้เยอะ ๆ พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติเสียแต่เดี๋ยวนี้ เพื่อสร้างความเคยชิน และภูมิคุ้มกันให้กับจิตใจ และคงอีกหลาย ๆ อย่าง คงต้องมีการเตรียมแก่ก่อนแก่ คล้าย ๆ หลักการเตรียมตัวตายก่อนตายนั่นแหละครับ

P โยธินิน

 

คุณโยมว่ามา เห็นด้วยเลย เรื่องนี้ต้องสอนคนที่กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุ เพราะมองเห็นข้างหน้าชัดเจน...

เมื่อกลายเป็นผู้สูงอายุ หรือไปยืนยังจุดนั้นแล้ว บางอย่างเราอาจมองไม่เห็น และจะมาเริ่มต้นใหม่ก็คงยาก...

เจริญพร

ขอแลกเปลี่ยนมุมมองจากที่เคยเรียนมาค่ะพระคุณเจ้า ปัญหาของผู้สูงอายุที่นี่เค้าแบ่งเป็น 3 ข้อ เรียกว่า

the plagues of Loneliness, Helplessness, and Boredom

นั่นก็คือ 1. ความเหงา, 2. การที่ต้องพึ่งคนอื่น และ 3. ความเบื่อหน่าย

ถ้าแก้ 3 ข้อนี้ได้ผู้สูงอายุก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ก็คล้ายๆข้อ 1 และ 2 ของพระคุณเจ้า แต่มัทไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับ ข้อ 3 ของพระคุณเจ้าเท่าไหร่ เพราะบางทีที่ประพฤติไม่เหมาะเป็นเพราะร่างกาย สมองและจิตใจที่เปลี่ยนไปเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ บางทีเป็นเรื่องที่คนวัยอื่นควรทำความเข้าใจอย่างมีเมตตาไม่ควรไปว่าท่าน ผู้สูงอายุที่ทำตัวไม่เหมาะสมมักเป็นมานานแล้วไม่ต่างอะไรกับคนวัยอื่น เป็นปัญหามวลชน ไม่ใช่เพราะอายุเช่นเรื่อง สุราและการพนัน การรักสวยงามเกินงามไม่ดูภายใน เหล่านี้เป็นปัญหาของทุกวัย

เวลาใช้ศาสนามาจัดงานพูดให้ผู้สูงอายุฟังที่นี่ฟังมักจะเน้นว่า ท่านทำประโยชน์ได้ หรือไม่ก็พูดเรื่องการเตรียมความพร้อมเรื่องการเจ็บป่วยและความตายที่เป็นธรรมดา ไม่ประมาทในการใช้ชีวิตและพูดเรื่องไตรลักษณ์ เพราะเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก ให้เป็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา

ขอแลกเปลี่ยนเพียงเท่านี่ค่ะ


นมัสการพระคุณเจ้า

***หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ น่าจะมีโครงการอบรมหนุ่มสาวให้เข้าใจถึงสังขารอันไม่เที่ยงเพื่อเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุผู้ทรงคุณค่าในอนาคต

***เบื้องหลังผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งบางคน...มีอดีตในวัยหนุ่มสาวที่ส่งผลให้ต้องอยู่อย่างเดียวดาย....กรรมทันตาเห็นค่ะ

Pมัทนา

 

อนุโมทนาคุณโยมหมอมัทนาเป็นอย่างยิ่ง สำหรับคำแนะนำบางอย่าง...

ประเด็นข้อสุดท้ายนั้น อาตมาว่าสั้นๆ ให้พอเห็นแนวทางเท่านั้น... จริงอยู่ที่คุณโยมว่าพฤติกรรมทำนองนี้เป็นกันทุกวัย แต่วัยอื่นๆ นั้น อาจถูกป้องปราม ลงโทษ หรือกรรมเป็นตัวลงโทษเขาเอง...

แต่เรื่องนี้สำหรับผู้สูงอายุนั้น จัดเป็นสิ่งที่ไม่ควรเป็นภาระให้แก่ลูกหลาน... อาตมาได้รับการระบายความรู้สึกภายในใจเรื่องนี้จากเพื่อนๆ เยอะ เป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร...

.......

P กิติยา เตชะวรรณวุฒิ

 

ความเห็นของคุณโยมก็เป็นไปทำนองเดียวกับความเห็นแรก (คุณโยธินิน)...

ตอนนี้ เรามีบ้านพักคนชรา... เป็นต้น แต่สังคมไทยยังรับไม่ค่อยได้กับสภาพทำนองนี้ ซึ่งต่างจากสังคมบางประเทศ ที่ผู้สูงอายุมักเตรียมตัวเตรียมใจจะไปอยู่ที่นั้นกันเป็นปกติ...

ว่าอีกที ตอนนี้ ปัญหานี้มิใช่เรื่องเร่งด่วน เรื่อง สมานฉันท์ น่าจะมีความจำเป็นกว่า (......)

...........

เจริญพรคุณโยมทั้งสองท่าน

 

นมัสการค่ะ
เท่าที่เห็นส่วนมาก ผู้สูงอายุมักเหงา ลูกๆ แยกครอบครัวออกไป แต่ก็มีไม่น้อยที่ไม่เหงาเลย และเป็นที่เรียกร้องของลูกๆตลอด ให้ช่วยไปดุแลลูกๆของเขาให้บ้าง ไปช่วยดูแลสิ่งอื่นๆให้เขาบ้าง
โรคทึ่คนสูงอายุ ประเภทแรกเป็นกันมากคือ โรคซึมเศร้า และโรคหลงลืม
สังคมคนไทยสงสรคนแก่ แต่ไม่รัก
ดังนั้น คนสูงอายุ ต้องเตรียมตัว ในการดูแลตัวเองให้มากขึ้น ในต่อจากนี้ค่ะ
กราบ 3 หนค่ะ

*เบื้องหลังผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งบางคน...มีอดีตในวัยหนุ่มสาวที่ส่งผลให้ต้องอยู่อย่างเดียวดาย....กรรมทันตาเห็นค่ะ"
เรื่องนี้เรื่องจริงค่

นมัสการเจ้าค่..พระคุณเจ้า

  • ประการสุดท้าย ความประพฤติไม่เหมาะสม...
  • หลายครั้งได้ทราบข่าวจากแหล่งสื่อต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้  น่าอับอายแทนลูกหลาน วงศ์ตระกูล  ถ้าหากเกิดขึ้นบ่อย ๆ ทำให้เด็ก ๆ เยาวชนที่ไม่รู้คิดจะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา    และถ้าเป็นข้าราชการระดับสูง ๆ ยิ่งน่าสงสารจิตใจค่ะ
  • โยมครู..เคยอบรมผู้ปกครองนักเรียนรายหนึ่งว่า..คุณตาอายุขนาดนี้แล้ว  ทำไมต้องคิดเรื่องแบบนี้  สกปรกนะคะคุณตาเพราะเขาล่วงเกินหลานสาวค่ะ
  • กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ
 P


เห็นด้วยกับคุณโยม ผู้สูงอายุโดยทั่วไป เลี้ยงหลานเล็กๆ น่าจะเหมาะสม เพราะนอกจากจะมีประสบการณ์จากการเคยเลี้ยงลูกแล้ว ยังมีความรักเป็นเยื่อใยผูกพันไว้ด้วย... และคิดว่าดีกว่าการจ้างเค้าเลี้ยง ซึ่งบางครั้งบางคนต่อหน้าและหลับหลังมักปฏิบัติจากหน้ามือเป็นหลังมือ...
ความเห็นประการหลังเรื่องกรรมทันตาเห็นนั้น อาตมาก็เห็นด้วย และเดียวนี้ บางครั้งเมื่อไม่อยากพูดมากก็มักจะพูดติดปากเสมอว่า...
  • เวรกรรมไม่ต้องแลชาติหน้า แลกันชาตินี้แหละ !
.............



เรื่องทำนองนี้ สังคมรับไม่ได้ แต่รู้สึกว่าจะมีข่าวปรากฎอยู่เสมอ...
(อันที่จริงก็พิมพ์ไปเยอะ แต่พิมพ์ๆ ไปรู้สึกสังเวช จึงรบทิ้ง)
..........
เจริญพรคุณโยมทั้งสองท่าน

สูง

สูงอายุ แก่แล้ว             เลยวัย

จึงบ่มี ผู้ใด                  อยู่ด้วย

นิสัยกลับ กลายคล้าย   เด็กน้อย งอแง

ลูกหลานพึง อย่าได้     หลบลี้ หนีไกล

 

กราบ 3 หน

Pนายขำ

 

  • ผู้สูงอายุ = ช่วงพักชีวิตหลังตรากตรำ รอคนชวนทำงานต่อ ไร้คุณค่าความหมาย ไม่เป็นที่ต้องการ
  • มุมมองครอบครัว = ภาระเลี้ยงดู มีค่าใช้จ่าย ทอดทิ้ง เสียเวลา รายได้ไม่พอ ต้องมีคนดูแล กตัญญูทดแทน
  • มุมมองชุมชน = คนสำคัญวันเดียว รวมวัยเข้าวัด นับสหายตายจาก ระทมทุกข์  ไร้สวัสดิการ ฝากหลานเลี้ยงดู ผู้เฒ่าเฝ้าบ้าน
  • มุมมองสังคม = หมดเวลาทำงาน นั่งดูคนหนุ่มสาวเขาเล่น อย่ามายุ่งกิจการ หมดสภาพ รอวันร่วงโรย ทำงานไม่ทันใจ เชื่องช้าอืดอาด พลังขิงแก่

ไม่ค่อยเข้าใจ พยายามถอดออกมา ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ...

อีกอย่างหนึ่ง ความต่างระหว่างชุมชน กับ สังคม ก็ไม่ชัดเจน...

ถ้าเป็นไปได้ ท่านเลขาฯ (หรือใครที่พอเข้าใจ) ช่วยเข้ามาขยายความเพิ่มสักหน่อย จักอนุโมทนาอย่างยิ่ง...

เจริญพร

ผมพยายามใช้แผนภาพนี้อธิบายเรื่อง...วิธีคิดของผู้สูงอายุ...

โดยอ้างอิงจากคำบอกเล่าบางประการ...จากประสบการณ์ส่วนหนึ่งที่แม่ผมก็เป็นผู้สูงอายุ...ที่เสียชีวิตไปไม่นาน...

โดย

  • ผู้สูงอายุมองตนเอง = คนทำงานหนักก็หวังว่าพออายุ 60 ก็เป็นช่วงพักชีวิตหลังตรากตรำ แต่พอหยุดทำงานจริง ๆ ก็รู้สึกขาดอะไรไป เลยรอคนชวนทำงานต่อ รอแล้วรอเล่าไม่มีใครอยากมาชวน...เพราะคนอื่นก็คิดว่าท่านควรพัก ทำให้รู้สึกไร้คุณค่าความหมาย สุดท้ายก็คิดเอาเองว่าไม่เป็นที่ต้องการของคนรอบข้างเสียแล้ว
  • มุมมองครอบครัวต่อผู้สูงอายุ = ส่วนใหญ่เราคนไทยก็ถือว่าต้องเลี้ยงดูท่านแบบกตัญญูทดแทน แต่ทำไปนานๆกลายเป็นภาระเลี้ยงดู เพราะต้องมีคนดูแล และมีค่าใช้จ่าย ซึ่งหลายคนรายได้ไม่พอ บางคนก็รู้สึกเสียเวลา สุดท้ายท่านก็ถูกทอดทิ้ง
  • มุมมองชุมชน = เรามักจะเห็นสภาพความเป็นไปของชุมชนว่ามีผู้เฒ่าเฝ้าบ้าน ซึ่งมักรับหน้าที่ฝากหลานเลี้ยงดู  แม้ว่าเดี๋ยวนี้หลายชุมชนใช้โอกาสรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุทำให้ท่านรู้สึกภูมิใจแต่ก็เป็นแค่คนสำคัญวันเดียว นอกนั้นก็ปล่อยท่านรวมวัยเข้าวัด นับวันท่านก็คอยนับสหายตายจาก แต่ละชีวิตที่ล้มลงพาให้ท่านเงียบเหงาระทมทุกข์  ยิ่งเป็นสังคมที่ไร้สวัสดิการท่านก็เป็นส่วนเกินของชุมชนเท่านั้น
  • มุมมองสังคม = คนส่วนใหญ่เห็นว่าผู้สูงอายุหมดเวลาทำงาน ควรจะนั่งดูคนหนุ่มสาวเขาเล่น หัวโบราณแบบท่านอย่ามายุ่งกิจการเลย แม้ว่าบางช่วงจะได้มีโอกาสทำงานก็ถูกเรีกว่าพลังขิงแก่ เวลาทำงานไม่ทันใจ ไม่กล้าตัดสินใจเชื่องช้าอืดอาด เลยปล่อยให้หมดสภาพ และรอวันร่วงโรย

แล้วสรุปเป็นแผนภาพที่อยากเปลี่ยนกรอบวิธีคิดใหม่ดังนี้

 

กราบ 3 หน

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท