แบงก์ชาติยัน ศก. ยังขยายตัว ชี้ ดบ.ปรับขึ้นไม่มีผลกระทบ


แบงก์ชาติยัน ศก. ยังขยายตัว ชี้ ดบ.ปรับขึ้นไม่มีผลกระทบ
    ผู้ว่าการแบงก์ชาติยืนยัน ศก.ไทยยังขยายตัวทั้งท่องเที่ยวและส่งออก 23% การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยาย 4% ส่วนเดือนมีนาคมการเมืองร้อนแรงยังไม่รู้ผลกระทบ ลั่นพูดตรงไปตรงมาใครสั่งไม่ได้ ชี้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นไม่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว "สศค." ระบุขาดดุลกระแสเงินสดยังไม่ถึงขั้นวิกฤต คาด เม.ย. ปรับตัวดีขึ้น เหตุหยุดยาวสงกรานต์ชาวบ้านใช้จ่ายมากขึ้น
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ว่า      จากการติดตามข้อมูลของเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมายืนยันเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ทั้งในเรื่องการท่องเที่ยว การส่งออกที่ขยายตัว 23% และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวประมาณ 4%    ส่วนการลงทุนภาคเอกชนจะทราบตัวเลขในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ธปท. จะแถลงตัวเลขทางเศรษฐกิจของเดือนกุมภาพันธ์    อย่างละเอียด ส่วนภาวะเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม เป็นช่วงสถานการณ์การเมืองมีความร้อนแรงขึ้น ยังไม่ทราบผลกระทบ เนื่องจากยังไม่มีใครเห็นตัวเลขที่แท้จริง   "อย่าไปพูดกันก่อนว่าไม่ดี ถ้าเศรษฐกิจดีผมก็บอกว่าดี    ถ้าไม่ดีผมก็บอกว่าไม่ดี อย่างตอนนี้ไม่ดีอย่างไร นอกจากจะมีใครมาสั่งให้บอกว่าไม่ดี" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ปรับลดลงนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า กว่าที่ดัชนีความเชื่อมั่นจะมีผลจริงต้องใช้เวลา 3-6 เดือน  ซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองมีการพลิกผันภายในช่วง       3-6 เดือนนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยก็จะกลับไปยังทิศทางเดิมและไม่แย่ลงตามความเชื่อมั่นที่ลดลง   ทั้งนี้ ยืนยันว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลกระทบจนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ตราบใดที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ได้อยู่ในระดับสูงถึง 15-16%
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยแรงขับเคลื่อนหลักยังเป็นภาคการส่งออก ขณะที่ปัจจัยอื่นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ รายได้จากภาษีที่ยังไม่ได้เข้ามามาก   ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงการขาดดุลกระแสเงินสดในขณะนี้  แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต โดยคาดว่าเดือนเมษายนนี้ การบริโภคในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องด้วยเป็นช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาว ทำให้ผู้คนจะมีการจับจ่ายกันมาก และจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้    ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบการเบิกจ่ายงบประมาณช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 พบว่ามีรายการเบิกจ่ายงบฯ ประจำ 41% งบฯ ลงทุน 29.9% มากกว่าปี 2548          ที่เบิกจ่าย 38% และ 23% ตามลำดับ ดังนั้นจึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ดุลเงินสดขาดดุลได้
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังในเดือนกุมภาพันธ์ยังขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว เห็นได้จากรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวเพียง 2.6% ลดลงจากเดือนมกราคม ที่ขยายตัว 19.5%   รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากความกังวลทางการเมือง   สำหรับอัตราเงินเฟ้อของเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวลดลงจาก 5.9% ของเดือนมกราคม เหลือ 5.6% ในส่วนของดอกเบี้ยคาดว่าจากนี้ไปดอกเบี้ยนโยบายของธนาคาร
แห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึง 5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.5% เนื่องจากดอกเบี้ยของธนาคารกลาง สหรัฐมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 5%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า เศรษฐกิจไทยปี 2549 มีแนวโน้มการเจริญเติบโตได้ในอัตราใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยยังมีโอกาสที่จะเจริญเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 4-4.5 ต่อปีตามที่ได้เคยประมาณไว้ แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะชะลอตัวลงได้ในครึ่งหลังของปีอันเป็นผลจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และจีนอาจจะชะลอตัวและส่งผลต่อเนื่องให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลงด้วย นอกจากนั้น หากปัญหาการเมืองภายในยังยืดเยื้อและไม่ชัดเจนต่อไป จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการชะลอตัวลงก่อนกำหนดที่ประมาณการไว้ได้
ที่พรรคไทยรักไทย นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงกรณีสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่นำเสนอบทความวิเคราะห์เศรษฐกิจภายใต้การบริหารของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นผลจากการบริหารของรัฐบาล และรัฐบาลไม่ได้มีส่วนในการทำเศรษฐกิจขยายตัวเท่าที่ควรว่า การบริหารงานของรัฐบาลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา        มีความเป็นรูปธรรมชัดเจน การที่ทีดีอาร์ไอสรุปเช่นนี้ ทำให้เห็นชัดว่ามุมมองหรือกระบวนทัศน์ของทีดีอาร์ไอ  ยังเป็นแบบเก่าที่ครอบงำเศรษฐกิจไทยในยุคประชาธิปัตย์ กระบวนทัศน์แบบนี้ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตหลายครั้ง การที่ทีดีอาร์ไอเปรียบเทียบตัวเลขกับประเทศอื่น ๆ นั้นต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน   ทั้งนี้ ประเทศไทยมีมาตรฐานถึงระดับจะเทกออฟ และมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ และมาตรฐานทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน   ฉะนั้น การเปรียบเทียบให้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจเพื่อนบ้านไม่มีอะไรแตกต่างกัน แล้วมาสรุปว่านายกฯ ทักษิณไม่ได้ทำอะไรนั้น จริง  ๆ ไม่เลย เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งขึ้นมาก และมีตัวเลขที่สามารถพิสูจน์ได้
นายสุรนันทน์กล่าวว่า เมื่อเข้ามารับหน้าที่เมื่อปี 2544 ได้เน้นการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ทำให้ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลง 17.9% เหลือ 8.2%   นอกจากนี้ ยังชำระหนี้ไอเอ็มเอฟก่อนกำหนดและลดหนี้ต่างประเทศจากเดิมที่มีสูงถึง 79,715 ล้านดอลลาร์ ให้เหลือเพียง 51,588 ล้านดอลลาร์  มีการควบคุมการก่อหนี้ต่างประเทศ ในแต่ละปีไม่ให้เกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ   และหนี้สาธารณะลดลงจาก 57% ของจีดีพีในปี 2544 ลดเหลือ 46% ของจีดีพีในปี 2548     การดูแลการก่อหนี้ต่างประเทศทำให้รายได้การส่งออกเพิ่มขึ้น จาก 32,661 ล้านดอลลาร์ในปี 2544 เป็น 53,377 ล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549    โดยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเน้นเศรษฐกิจแบบรากหญ้า  โดยจัดทำโครงการกองทุนหมู่บ้าน  โครงการเอสเอ็มแอล   โครงการพักหนี้เกษตรกรและโอท็อป ขณะเดียวกันก็ดูแลสุขภาพประชาชนด้วยนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้มีจำนวนคนจนลดลง 12.8 ล้านคนในปี 2543 เหลือ 7.5 ล้านคนในปี 2547  และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น  การกระจายรายได้เพิ่มขึ้น จะเห็นลักษณะตัวเลขเศรษฐกิจมีพื้นฐานที่แข็งแรงขึ้น ยังเปิดโอกาสด้านสังคม เช่น การให้ทุนการศึกษา การให้หลักประกันสังคม หลักประกันสุขภาพ รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เช่น ไข้หวัดนก สึนามิ หรือวิกฤตพลังงานระหว่างประเทศ
มติชน  31  มีนาคม  2549
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21971เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2006 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท