การวิจัยแบบสำรวจ


 

 การวิจัยแบบสำรวจ (Survey or Explaratory studies)

 

              เป็นการศึกษาปัญหาอย่างกว้าง ๆ เป็นการสำรวจหาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเป็นจริงหรือลักษณะทั่ว ๆ ไปของสิ่งที่ทำการวิจัย จุดประสงค์เพื่อทราบปัญหา และแก้ปัญหาในสภาวการณ์ปัจจุบัน จึงนิยมใช้เพื่อการปรับปรุงงานหรือแก้ปัญหาเกี่ยวกับนักเรียน หลักสูตร การสอน การวัดผล การบริหารโรงเรียน เป็นต้น การวิจัยแบบสำรวจนี้แบ่งได้เป็น 5 แบบคือ

                   1) การสำรวจโรงเรียน (School survey) เป็นการสำรวจสภาพทั่ว ๆ ไปของโรงเรียน เช่น การเรียน การสอน การวัดผล การเงิน บุคลากร อาคารสถานที่ ฯลฯ ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด โดยนำไปเปรียบเทียบกับสภาพที่เป็นมาตรฐานเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุง วางแผน หรือบริหารโรงเรียน

                   2) การวิเคราะห์งาน (Job analysis) เป็นการสำรวจสภาพการทำงาน ความรับผิดชอบ และประสิทธิภาพของบุคลากรในการทำงาน คุณภาพของงาน ฯลฯ เพื่อช่วยในการปรับปรุงหรือจัดงานให้เป็นระบบ จัดวางตัวบุคลากรให้เหมาะสมกับบทบาทและตำแหน่ง

                   3) การวิเคราะห์เอกสาร (Documentary or Content analysis) เป็นการสำรวจสภาพความเป็นจริงของเหตุการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยอาศัยเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เป็นหลักฐาน เป็นการวิจัยที่มุ่งสำรวจข้อบกพร่องของเนื้อหา กิจกรรม โครงสร้างของหลักสูตร บทเรียน ตำรา กฎหมาย ระเบียบราชการ คำสั่ง เป็นต้น เพื่อช่วยในการปรับปรุงให้เหมาะสมต่อไป ทั้งยังทำให้ทราบแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย

                   4) การสำรวจประชามติ (Public opinion survey) เป็นการสำรวจความคิดเห็นและความนิยมของประชากรส่วนใหญ่ เครื่องมือที่ใช้มักนิยมใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) ประกอบการสัมภาษณ์ (Interview) การสำรวจประชามติใช้มากในวงการเมือง การตลาด และธุรกิจต่าง ๆ การวิจัยประเภทนี้จะต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษในเรื่องของการเลือกกลุ่มตัวอย่าง วิธีการสุ่มตัวอย่าง และขนาดของกลุ่มตัวอย่าง

                   5) การสำรวจชุมชน (Community survey) เป็นการสำรวจลักษณะของประชากร ชีวิตความเป็นอยู่ในด้านต่าง ๆ เจตคติของประชากร และสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อชาติ ศาสนา อาชีพ ขนาดครอบครัว การเกิด การตาย ขนบประเพณีวัฒนธรรม สุขภาพ อนามัย ที่อยู่อาศัย การศึกษา การปกครอง กฎหมาย ความเชื่อ ความคิดเห็น เป็นต้น การวิจัยชนิดนี้มุ่งนำข้อเท็จจริงนั้น ๆ มาประกอบการตัดสินใจในการปรับปรุงหรือแก้ปัญหาของชุมชนนั้นนั่นเอง การสำรวจชุมชนเป็นการวิจัยที่ศึกษาหลายอย่างหลายเรื่องในขณะเดียวกัน ไม่ได้จำกัดเฉพาะความคิดเห็นหรือเจตคติเพียงเรื่องเดียวเหมือนการสำรวจประชามติ

              เนื่องจากการวิจัยแบบสำรวจมีหลายแบบ และแต่ละแบบต่างก็มีเทคนิคและวิธีการ แตกต่างกัน ดังนั้นจึงจะขอกล่าวถึงรายละเอียดของการวิจัยแบบสำรวจแบบต่าง ๆ ดังนี้

              1) การสำรวจโรงเรียน การสำรวจโรงเรียน เป็นการศึกษาสภาพการณ์ ต่าง ๆ ของโรงเรียน เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ตัวอย่างการสำรวจ โรงเรียน เช่น

              - การสำรวจสิ่งแวดล้อมในการเรียน ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคม การเงิน ห้องสมุด วัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น

              - การสำรวจลักษณะของผู้เรียน ได้แก่ สติปัญญา ความถนัด ทักษะ ลักษณะนิสัยของนักเรียน รูปแบบพฤติกรรมในชั้นเรียนหรือที่บ้าน ฯลฯ

              - การสำรวจคุณลักษณะของบุคลากร ได้แก่ ครู ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับเรื่องเพศ อายุ การศึกษา รายได้ เจตคติ เป็นต้น

              - การสำรวจลักษณะของกระบวนการเรียนการสอน ได้แก่ หลักสูตร กิจกรรมการเรียน การสอน การบริการ รวมทั้งโครงการต่าง ๆ ของโรงเรียน

                   (1) ความมุ่งหมายของการสำรวจโรงเรียน การสำรวจโรงเรียนมีจุดมุ่งหมายในการสำรวจ 3 ประการคือ เพื่อศึกษาสภาพความเป็นจริงของโรงเรียนในปัจจุบัน เช่น ปัญหาความต้องการ และรายละเอียดต่าง ๆ ภายในโรงเรียนนั้น

                        - เพื่อเปรียบเทียบสภาพต่าง ๆ ของโรงเรียนกับเกณฑ์มาตรฐาน

                        - เพื่อค้นหาแนวทางปรับปรุงโรงเรียน การวางแผนการจัดการศึกษาและการบริหาร

                   (2) ลักษณะสำคัญของการสำรวจโรงเรียน การสำรวจโรงเรียนมีลักษณะที่สำคัญดังนี้

                   - เป็นการวิจัยเพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานประกอบการตัดสินใจ การแก้ปัญหา หรือการวางแผนงานของโรงเรียน

                   - เป็นการวิจัยเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพทั่วไปของโรงเรียน ลักษณะของผู้เรียน บุคลากร และกระบวนการเรียนการสอน

                   - เป็นการวิจัยเพื่อรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปตีความหมาย และประเมินผลการจัดการศึกษาในโรงเรียนเปรียบเทียบกับอดีต

                   (3) ประโยชน์ของการสำรวจโรงเรียน การสำรวจโรงเรียนมีประโยชน์ที่สำคัญดังนี้

                   - เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงการจัดการศึกษาในโรงเรียน

                   - เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายของโรงเรียนให้สอดคล้องกับภาวการณ์ปัจจุบันและความต้องการในอนาคต

                   - เพื่อนำมาใช้ประเมินผลการจัดการศึกษาว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่

              2)  การวิเคราะห์งาน การวิเคราะห์งานเป็นการศึกษาเกี่ยวกับงานด้านบริหารและธุรกิจ เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงและวางแผนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างการวิเคราะห์งานเช่น

                   - ศึกษาลำดับขั้นตอนของการทำงาน สภาพการทำงาน เจตคติต่องาน

                   - ศึกษาอำนาจหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงาน ค่าจ้าง และเวลาในการทำงาน

                   - ศึกษาความซ้ำซ้อนของงาน จุดอ่อนของงาน

                   ฯลฯ

                   (1) จุดมุ่งหมายของการวิเคราะห์งาน การวิเคราะห์งานมีจุดมุ่งหมายดังนี้

                        - เพื่อสำรวจข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนที่ทำให้งานนั้นขาดประสิทธิภาพ เช่น การจัดบุคลากรไม่เหมาะสมกับงาน เป็นต้น

                        - เพื่อกำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างให้เหมาะสมกับงานในหน้าที่รับผิดชอบระดับต่าง ๆ

                        - เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ

                        - เพื่อสร้างหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความดีความชอบ

                        - เพื่อใช้กำหนดแนวทางพัฒนาบุคลากรและระบบงานให้มีประสิทธิภาพ

                        - เพื่อช่วยในการวางโครงการอบรมบุคลากรที่ด้อยประสิทธิภาพ และบุคลากรที่จะเลื่อนตำแหน่งใหม่ที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจการทำงานในหน้าที่ใหม่

                        - เพื่อศึกษาความเหมาะสมของสถานที่การทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ

                        - เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการโยกย้าย สับเปลี่ยน หรือเลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงาน

                   (2) ประโยชน์ของการวิเคราะห์งาน การวิเคราะห์งานมีประโยชน์ดังนี้

                        - เพื่อนำมาใช้วางโครงการอบรมบุคลากรให้มีความสามารถมากขึ้น

- เพื่อนำมาใช้กำหนดอัตราเงินเดือนให้เหมาะสมกับตำแหน่งและหน้าที่

- เพื่อนำมาใช้วางมาตรฐานเกี่ยวกับงานและตำแหน่งแต่ละตำแหน่งว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง

- เพื่อใช้สำหรับวางโครงการเตรียมฝึกบุคลากรในแต่ละหน้า

              3) การวิเคราะห์เอกสาร การวิเคราะห์เอกสารเป็นการศึกษาสภาพความเป็นจริงจากเอกสารต่าง ๆ เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงในอันที่จะนำมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป ตัวอย่างการวิเคราะห์เอกสารเช่น

              - การวิเคราะห์วรรณคดีไทยเรื่อง พระอภัยมณี

              - การวิเคราะห์แบบเรียนวิทยาศาสตร์ ชั้นม.1

              - การวิเคราะห์แบบเรียนคณิตศาสตร์ ชั้นป.6

                   ฯลฯ

              (1) จุดมุ่งหมายของการวิเคราะห์เอกสาร การวิเคราะห์เอกสารมีความมุ่งหมายดังนี้

                   - เพื่อศึกษาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบันโดยใช้เอกสารต่าง ๆ

                   - เพื่อศึกษาลักษณะหรือแนวโน้มของเนื้อหาสาระในเอกสาร

                   - เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาสาระของตำราหรือแบบเรียนต่าง ๆ ว่า สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของเอกสารหรือไม่ และเหมาะสมกับการสอนในระดับชั้นนั้น ๆ เพียงใด

                   - เพื่อประเมินผลเอกสารโดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดหรือเทียบกับระดับมาตรฐาน

                   - เพื่อพิจารณาถึงความยากง่ายของตำรา แบบเรียน หรืองานพิมพ์ต่าง ๆ

                   - เพื่อดูความสัมพันธ์ของเนื้อหาในเอกสารต่าง ๆ

                   - เพื่อพิจารณาความแตกต่างหรือความคล้ายคลึงของเนื้อหาที่มีผู้แต่ง 2 คน หรือมากกว่า 2 คน

                   - เพื่อวิเคราะห์ลักษณะของกิจกรรมและแนวคิดในการจัดเนื้อหาของเอกสาร

              (2) ลักษณะของการวิเคราะห์เอกสาร การวิเคราะห์เอกสารมีลักษณะที่สำคัญดังนี้

                   - การวิเคราะห์เอกสารเป็นการศึกษาจากเอกสารเท่านั้น

                   - การวิเคราะห์เอกสารเป็นการบรรยายและบอกลักษณะแนวโน้มของเนื้อหาสาระในเอกสารต่าง ๆ

                   - การวิเคราะห์เอกสารเป็นการศึกษาหาความจริงจากเหตุการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน บางครั้งจึงอาจเรียกการวิจัยนี้อีกอย่างว่า การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์

                   - การวิเคราะห์เอกสารจะเก็บข้อมูลส่วนใหญ่จากห้องสมุด ศูนย์เอกสารและหอจดหมายเหตุ ดังนั้นจึงมีผู้เรียกการวิจัยอีกอย่างหนึ่งว่า การวิจัยห้องสมุด

                   - การวิเคราะห์เอกสารจำเป็นต้องมีการประเมินคุณค่าข้อมูล โดยพิจารณาทั้งภายนอกและภายใน เช่นเดียวกับการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์

              (3) ประโยชน์ของการวิเคราะห์เอกสาร การวิเคราะห์เอกสารมีประโยชน์ดังนี้

                   - ทำให้ทราบข้อเท็จจริงของข้อความในเอกสารต่าง ๆ

                   - ทำให้เห็นข้อบกพร่องและจุดเด่นของแบบเรียนที่ใช้อยู่ในโรงเรียน

                   - การวิเคราะห์เอกสารจะทำให้ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างตำรา แบบเรียนหรือเอกสารต่าง ๆ กับการเรียนการสอนในโรงเรียน

                   - การวิเคราะห์เอกสารจะทำให้ทราบถึงลักษณะกิจกรรม และแนวความคิดในการจัดเนื้อหาของเอกสารต่าง ๆ

                   - การวิเคราะห์เอกสารจะทำให้ประเมินได้ว่า เนื้อหาสาระนั้นสอดคล้องกับความมุ่งหมายหรือเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่

              4) การสำรวจประชามติ การสำรวจประชามติ เป็นการสำรวจความนิยมและความคิดเห็นทั่ว ๆ ไปของประชาชน การวิจัยประเภทนี้นิยมใช้มากในวงการเมือง การตลาด และธุรกิจต่าง ๆ ตัวอย่างการสำรวจประชามติ เช่น

              - การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการยุบสภาพผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2526

              - การสำรวจประชามติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต กับรวมเขต

                   ฯลฯ

                   (1) ความมุ่งหมายของการสำรวจประชามติ การสำรวจประชามติมีความมุ่งหมายที่สำคัญดังนี้

                        - เพื่อสำรวจความต้องการของชุมชน อันจะเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับความต้องการนั้น

                        - เพื่อต้องการจะทราบว่า ประชาชนมีความคิดเห็นต่อลัทธิการเมือง เศรษฐกิจ หรือนโยบายการศึกษาอย่างไร

                        - เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งของบุคคลทั่วไป

                        - เพื่อใช้จัดลำดับขั้นของการทำงาน

                   (2) ประโยชน์ของการสำรวจประชามติ การสำรวจประชามติมีประโยชน์ดังนี้

                        - การสำรวจประชามติสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษาได้

                        - การสำรวจประชามติใช้เป็นแนวทางในการวางแผนและกำหนดนโยบายต่าง

                        - การสำรวจประชามติสามารถนำมาใช้เพื่อจัดแบบการปกครอง หรือการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

              5) การสำรวจชุมชน การสำรวจชุมชนเป็นการสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของสังคมในชุมชนว่ามีลักษณะอย่างไร การวิจัยประเภทนี้มุ่งที่นำเอาข้อเท็จจริงมาประกอบการตัดสินใจในการปรับปรุงหรือแก้ไจปัญหาของชุมชน ตัวอย่างการสำรวจชุมชน เช่น

              - สำรวจประวัติ ได้แก่ จุดกำเนิด และพัฒนาการของชุมชน เชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ

              - สำรวจด้านการปกครอง กฎหมาย การเก็บภาษา ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ

              - สำรวจด้านประชากร ได้แก่ การแจงนับประชากรเกี่ยวกับอายุ เพศ เชื้อชาติ การศึกษา อาชีพ ลักษณะที่อยู่อาศัย ฯลฯ

                   (1) ความมุ่งหมายในการสำรวจชุมชน การสำรวจชุมชนมีความ มุ่งหมายที่สำคัญดังนี้

                   - เพื่อศึกษาประวัติของชุมชนว่ามีการพัฒนามาอย่างไร

                   - เพื่อศึกษาสภาพทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจของชุมชน เช่น การคมนาคม อาชีพ การกระจายของชุมชน ฯลฯ

                   - เพื่อศึกษาวัฒนธรรมและจารีตประเพณี เช่น การอบรมเลี้ยงดูบุตร ศาสนา ฯลฯ

                   - เพื่อศึกษาด้านการปกครองของชุมชน เช่น กฎหมาย ข้อบังคับ ฯลฯ

              (2) ประโยชน์ของการสำรวจชุมชน การสำรวจชุมชนมีประโยชน์ดังนี้

                   - เพื่อนำมาใช้ในการจัดรูปแบบของชุมชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

                   - เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาสถาบันต่าง ๆ ของชุมชน ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนนั้น

                   - เพื่อนำมาใช้ในการส่งเสริมงานอาชีพหรือพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

                   - เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับของชุมชน

 

Mr.PK

 

ขอขอบคุณที่มา

เอกสารชุดนี้นำมาจาก เอกสารประกอบคำสอนเรื่อง "ประเภทของการวิจัย" โดย รองศาสตราจารย์นิภา ศรีไพโรจน์

http://w

หมายเลขบันทึก: 219305เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2008 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถึง คุณพรหมพชร

ผมจะเสนอโครงการ"ชุมชนเป็นฐานในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย"เป้าหมายโครงการอยู่ที่หมู่บ้านเสี่ยงต่ออุทกภัยและดินโคลนถล่ม ลักษณะของโครงการ โดยสรุปมีดังนี้

1. การพัฒนาคนและชุมชนเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนและดำเนินการ

2. การมีส่วนร่วมของชุมชนภาคส่วนต่าง ๆ อย่างบูรณาการโดยมีเป้าหมายพัฒนาคน พัฒนาระบบงานให้สอดคล้องกับสภาพนิเวศน์ที่แตกต่างกัน

3. ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ ความรู้ ความสามารถของสมาชิกในชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ มีความเชื่อมโยง ความสามารถในการรวมกันกำหนดกลวิธีลดความเสี่ยงและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำแผนการจัดการภัยพิบัติ

4. ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบข้อมูล องค์ความรู้เพื่อใช้ในการเรียนรู้และวางแผนดำเนินงานติดตามและประเมินผล

ทีนี้ การเสนอโครงการจะต้องจัดทำเอกสารความค้มค่าของโครงการในมิติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้คำตอบสำหรับผลลัพท์เชิงบวก เชิงลบและผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งก็ต้องจัดทำแบบสำรวจ อยากจะขอให้ช่วยจัดทำแบบสำรวจด้วย จักขอบคุณยิ่ง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท