KM คืออะไรกันแน่ ?


KM เหมือนกับ MK อะเปล่า ? เชิญ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) กันได้นะครับ

 

 

       จากการได้ไปร่วมงานการเสวนาการสร้างเครือข่ายองค์กรการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาอุดมศึกษา ครั้งที่ 2 ที่ดำเนินการโดย ศาสตราจารย์ นพ. วุฒิชัย ธนาพงศธร (Woody) และ รองศาสตราจารย์ นพ. จิตเจริญ ไชยาคำ (JJ) ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีทีม KM-QA-MSU จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามเข้าร่วมงานจำนวน 8 คน ตามที่ได้รายงานด้วยภาพไปแล้ว  ผมเองอาจจะถือได้ว่าเป็นน้องใหม่ในเครือข่ายวงนี้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในวงประกันคุณภาพ (QA) อย่างจริงจังมาก่อน จึงได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ได้มาก

          อ. Woody นำเสนอในช่วงแรกให้ผู้ที่เข้าร่วมเสวนาที่มีทั้งเก่าและใหม่ ได้รับทราบอย่างชัดเจนว่า การเสวนาครั้งนี้โดยภาพรวมมีอะไร ? ประกอบด้วย 3 ประการคือ

 

          1. เป้าหมาย คือการสร้างเครือข่ายประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับอุดมศึกษา (IQA)

          2. ระบบ และ กลไก ในการสร้างเครือข่ายก็คือ การใช้เครือข่าย Mini UKM

          3. เครื่องมือ ในการสร้างและพัฒนาเครือข่าย คือ การใช้การจัดการความรู้ หรือ KM

           

          อ. Woody เสนอกรอบ การจัดการความรู้ด้าน IQA ไว้ว่า ควรตอบคำถามให้ได้ว่า  ระบบ IQA :- ต้องทำอย่างไร + เมื่อไหร่ (How + When)  กลไกการดำเนินการ โดยใคร  งบประมาณเป็นอย่างไร (Who + Budget)  มีตัวชี้วัด เกณฑ์การตัดสิน การประเมินผล การปรับปรุง และการประเมินอภิมานอย่างไร ?  ในมุมมองของฅน KM เชื่อว่าชาว QA คงไม่ยึดติดกับกรอบมากจนเกินไป กรอบที่เสนอเป็นแนวทางหรือทิศทางที่ช่วยให้เห็นเส้นทางการเดินไปสู่จุดหมายได้ง่ายขึ้นเท่านั้น คงไม่ยึดติดกรอบจนกลายเป็น คุณประเมินแบบหัวสี่เหลี่ยม

          เรื่องที่ผมรู้สึกดีเป็นอย่างมากในการเข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้ก็คือ อ. Woody ได้เน้นให้ชาว QA ได้เห็นว่าการสร้างเครือข่ายประกันคุณภาพ โดยใช้เครื่องมือการจัดการความรู้ (KM) อันหลากหลายได้อย่างง่ายและชัดเจน  สำหรับผู้ที่ใหม่ในเรื่องของ KM อาจจะรู้สึกงง ๆ กับคำบางคำที่ อาจารย์ใช้อยู่บ้าง เช่น หัวปลา Fa (Facilitator) Notetaker ลปรร. (การแลกเปลี่ยนเรียนรู้)  KSF (Key Success Factors) แก่นความรู้ (KA หรือ Knowledge Assets) สุนทรียสนทนา (Dialogue) จนมีคำถามตามมาว่า ตกลง KM มันคืออะไรกันแน่ ?  ที่จริง อ. Woody ก็พูดชัดเจนว่า KM เป็นเครื่องมือ และมีเครื่องมือที่หลากหลาย สามารถนำมาใช้ให้เหมาะสมกับเวลาและสถานะการณ์ที่แตกต่างกัน เครื่องมือ KM (KM Tools) มีอะไรบ้าง ชาว G2K (Gotoknow) สามารถศึกษาง่าย ๆ ด้วยตนเองโดยการ ค้น คำสำคัญ (Tag) ได้ครับ

          มีบางคนถามว่า KM เหมือนกับ MK อะเปล่า ? ในความเห็นหรือมุมมองของผม ก็ขอตอบว่า จะว่าเหมือนหรือไม่เหมือนนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน เช่นเดียวกับการมองว่า KM จำเป็นหรือสำคัญต่อ การประกันคุณภาพ (QA) มากน้อยแค่ไหน ? คำว่า “KM เติมเต็ม QA”  คืออย่างไร ?  ถ้าจะมองว่า KM กับ MK มันคนละเรื่องกัน แตกต่างกันอย่างหน้ามือกับหลังมือก็ได้ การจัดการความรู้กับอาหาร มันไม่น่าจะเกี่ยวกัน แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้ง อาจจะมองเห็นว่า KM กับ MK มันเป็นคนละเรื่องเดียวกันก็ได้  การที่ MK มีคนเข้าไปอุดหนุนจนเกิดผลสำเร็จอย่างมาก มีสาขาทั่วประเทศ หลาย ๆ สาขาต้องไปยืนหรือนั่งรอ เข้าคิวในการที่จะเข้าไปใช้บริการ เพราะอะไร ?  เพราะเขาบริการอาหารตามใจที่ลูกค้าสั่งเสมอ   คุณชอบแบบไหน องค์ประกอบมีอะไรบ้าง มีเนื้อ หมู ปลา ปลาหมึก และมีผักชนิดต่าง ๆ อะไรบ้าง และ ปริมาณเท่าไหร่ คุณคือผู้กำหนด แต่สิ่งที่ทำให้อาหารเป็นที่ชื่นชอบ ติดอกติดใจของทุกคนที่ขาดไม่ได้ก็คือ น้ำจิ้ม MK ในมุมมองหนึ่ง กรณีของ  KM เติมเต็ม QA  ก็เหมือน KM เป็นน้ำจิ้มของ QA คุณจะชอบเติมน้ำจิ้มมาก ๆ หรือ เล็กน้อยก็พอ ก็ขึ้นอยู่กับคุณชอบหรือต้องการ

          กลุ่มวิศวะกร บางท่านบอกว่า KM เป็นเหมือนน้ำมันหล่อหลื่น หรือน้ำมันเครื่องของเครื่องจักรเครื่องยนต์ เครื่องจักรบางชนิดต้องการน้ำมันเครื่องมาก บางชนิดต้องการน้อย เครื่องจักรบางชนิดต้องการน้ำมันเครื่องที่มีความแตกต่างหรือเฉพาะเป็นต้น 

          ชาวนาไทยขนานแท้ระดับดอกเตอร์ บอกว่า KM เหมือน น้ำพริก ในชุดของน้ำพริก ไม่ว่าจะเป็น น้ำพริกปลาทูหรือน้ำพริกปลาป่น ที่ประกอบด้วยผักต่าง ๆ ที่หลากหลาย ตัวที่ทำให้การกินผักต่าง ๆ เหล่านี้ได้รสชาดต้องมี น้ำพริกด้วย แต่จะใช้มากใช้น้อยก็ตามใจชอบของแต่ละคน

          คุณหมอหรือนายแพทย์บางท่านมองว่า KM เป็นเหมือน เม็ดเลือด ในร่างกายของคนเรา หรือ บางท่านเปรียบเทียบว่า KM เป็นเหมือน Conductor ของวงดนตรีซิมโฟนี่ ที่ไม่ได้เล่นเครื่องดนตรีใด ๆ มีเพียงไม้เล็ก ๆ อยู่อันเดียวในมือขยับไปขยับมา มีความสำคัญหรือความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนต่อความสำเร็จของวงดนตรี ? ก็ขึ้นอยู่กับมุมมอง

          ความสำคัญของ KM จึงขึ้นอยู่กับมุมมองและความเชื่อของท่านเอง ว่ามันจะช่วยงานของท่านได้หรือไม่  ช่วยได้มากหรือน้อย เหมือนที่ท่าน อาจารย์ไร้กรอบ (ดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ) ชื่นชมแนวทางการสอนลิงของอาจารย์สมพร ที่เน้นสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ด้วยความรักเมตตา ก่อนที่จะให้ความรู้  จนสามารถนำไปปฏิบัติและพัฒนาต่อยอดได้ โดยนำมาตั้งเป็นชื่อหนังสือเล่มใหม่ของท่าน ให้ความรักก่อนให้ความรู้  หรือ Learn How to Learn

          ผลสำเร็จจึงเกิดจากมุมมองที่แตกต่าง อย่างเช่นที่ท่าน JJ พาท่านสมาชิก Mini UKM ดูหนังเรื่อง สามพี่น้องกับพรมวิเศษ  ท่าน ได้ดู ได้คิด แล้วคิดอะไรได้ ?  ท่านสรุปในตอนท้ายไว้ 3 อย่างสั้น ๆ คือ สติมาปัญญาเกิด  เปลี่ยนมุมมอง และ สามัคคีมีพลัง

          ท่านมีความคิดเห็นหรือมุมมองอย่างไร ? เชิญ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) กันได้นะครับ

หมายเลขบันทึก: 218908เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2008 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอกล่าวสุนทร .........เป็นกลอนโมเด็ม

เล่าเรื่องเคเอ็ม.........เติมเต็มหลากหลาย

จัดการความรู้..........มีอยู่มากมาย

กระจัดกระจาย.........มาไว้ใช้กัน

ความรู้ทั้งผอง.........มีสองชนิด

หนึ่งเรียกทาสิต.........ฝังติดตนนั่น

เป็นภูมิปัญญา .........คุณค่าอนันต์

เราต้องจัดสรร.........ดึงมันออกมา

สองเอ็กพลีสิต........เป็นทฤษฏี

ความรู้เหล่านี้..........เด่นชัดหนักหนา

อยู่ในคู่มือ...........หนังสือตำรา

เอกสารวิชา...........ค้นคว้ามาดู

ดิฉันมองKMเหมือนการฝึกดูจิต เวลาใช้แล้วทำให้มีความสุขกับการทำงานมากขึ้นค่ะ

  • สวัสดี หลาน โก๊ะจิจัง แซ่เฮ~natadee ที่สุดในแก๊ง ที่ร่วม ลปรร. ด้วยกลอนอันแสนไพเราะ ที่แสดงถึง Tacit Knowledge ของหลานแซ่เฮ คนนี้อย่างชัดแจ้ง
  • ขอบคุณ คุณหมอ พ.ญ. อัจฉรา เชาวะวณิช ที่ช่วยมาเสริมเติมเต็มครับ เห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่า KM เหมือนการฝึกดูจิต เพื่อให้เกิดสติ ทำให้มีความสุขกับการทำงาน เป็น KM ที่ท่าน อ. ไร้กรอบเรียกว่า KM ระดับปัจเจก ที่ถือว่าสำคัญที่สุด ที่จะนำพาให้เกิด KM ระดับงาน และ ระดับองค์กรต่อไปได้ในที่สุด
ธีระเดช อังธีระปัญญา

ขอร่วมศึกษาด้วยครับ

เข้าใจว่า km เป็นวิธีการที่นำความรู้ต่าง ๆ มาแชร์กัน แต่สงสัยเหมือนกันครับว่า

ต้องเป็นทางอิเลคทรอนิกซ์อย่างเดียวหรือไม่ครับ

บอร์ดต่าง ๆ ทำได้หรือไม่ครับ

เรียนท่าน ธีระเดช อังธีระปัญญา


การแชร์กัน สามารถทำได้หลาย ๆ ช่องทางครับ แต่โดยทั่วไปก็จะแบ่งกันเป็น 2 แบบหลัก ๆ ครับ

1. เรียกว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) แบบ พบกันเห็นหน้ากัน หรือที่ชาว G2K มักเรียกกันว่า F2F หรือพบกันแบบ ตัวเป็น ๆ ครับ

2. เรียกว่า ลปรร. ผ่านทางสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เว็บบอร์ด เว็บบล็อก (อย่างเช่น Gotoknow นี้) msn หรือ Hi5 หรือแม้แต่ทางมือถือ ที่มักเรียกโดยรวมว่า ลปรร. แบบ B2B ครับ

สวัสดีคุ่ะท่านผู้เชี่ยวชาญ ถ้าหากเราใช้ KM เพื่อบันทึกความรู้สึก หรือ ความทรงจำดีๆ ของเราได้ใหมค่ะ

  • สวัสดีค่ะ
  • พอเรียนรู้มาระยะหนึ่ง ก็พบว่า ตัวเอง เริ่ม งง งง กับ คำว่า KM ค่ะ
  • เมื่อวานก็นั่งคิดทั้งวันว่า มหกรรม KM มหกรรม CQI ต่างกันตรงไหนนะ
  • ---
  • แต่ที่เข้าใจตอนนี้ ก็คือ KM เป็นเครื่องมือที่นำแต่สิ่งมาเล่าสู่กันฟันแล้วเอาไปขยายผลหากตรงกับจริตตนเอง
  • แล้วก็ไม่สามารถตอบคำถามที่ตัวเอง งง ได้ทั้งหมดค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท