ที่มาของคำไทย สุภาษิตไทยและ ชื่อต่าง ๆ และ อีกมากมาย 6


รู้ไว้ใช่ว่า

ที่มาของสำนวนไทย "ควันหลง"
สำนวนไทยคำว่า "ควันหลง" เป็นสำนวนที่ได้มาจากวงนักเลงสูบฝิ่นหรือกัญชา เพราะพวกนี้จะเข้าใจคำว่า "ควันหลง" เป็นอย่างดีที่สุด หมายความถึงควันที่หลงเหลืออยู่ในบ้องกัญชาหรือกล้องสูบฝิ่น ภายหลังที่สูบแล้ว คนที่ไม่เคยสูบเมื่อได้เห็นเข้าก็มักอยากลองสูบ หรือลองดูดดูว่าจะมีรสชาดเป็นฉันใด ครั้นดูดดูเล่นๆนึกว่าเป็นกล้องเปล่า แต่กลายเป็นอัดเอาควันหลงเข้าไปเต็มปอด เพราะยังเหลือค้างในกล้อง จะเกิดความมึนเมาขึ้นทันทีทันควัน
ในทางสำนวนหมายถึงผู้ที่ไม่ได้เป็นตัวการ แต่พลอยถูกกระเส็นกระสายในเรื่องร้ายๆ ที่เขาก่อกันขึ้นไว้เป็นการใหญ่ แล้วพลอยถูกเกาะกุมตัวไปด้วยภายหลัง โดยสำนวนจึงหมายถึงว่าผู้นั้นโดนเอาควันหลงเข้าให้แล้ว

ที่มา: ปัญหาสอบเชาวน์ และ ความรู้รอบตัว
โดย ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์

ที่มาของ "ธงด้านหน้ารถพระที่นั่งในหลวง"
ธงมหาราช
"ธงมหาราช" เป็นธงพระราชอิสริยยศสำหรับประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ มีความเป็นมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงพระราชดำริว่าเวลาเสด็จพระราชดำเนินชลมารคมีกระบวนเรือหลายลำ ราษฎรและเจ้าหน้าที่จะถวายความเคารพก็ไม่มีเครื่องหมายสังเกตว่าพระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งลำใด จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำธงประจำพระองค์ขึ้นเรียกว่า "ธงจอมเกล้า" ลักษณะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นกลางสีขาบ (สีน้ำเงินแก่อมม่วง) ภายในส่วนพื้นกลางของธงมีแท่นสีเหลืองประดิษฐานพระมหาพิชัยมงกุฎ มีคันทวยตั้งรองรับ พระมหาพิชัยมงกุฎอยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และเป็นสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยตามพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ สองข้างพระมหาพิชัยมุงกฎตั้งฉัตร 7 ชั้น และมีกรอบสีแดงล้อมรอบนอกของรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งเป็นสีขาบ รอบนอกที่เป็นสีแดง มาจากพื้นสีธงชาติสยามที่ใช้ในรัชกาลนั้นครั้นถึงรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปโล่ที่ใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เหนือโล่มีรูปจักรีแทนอุณาโลม รูปโล่นี้มาจากพระลัญจกรประจำแผ่นดิน ในโล่แบ่ง 3 ช่อง ช่องส่วนบนพื้นสีเหลืองมีรูปช้างไอราพตสามเศียร หมายถึงสยามเหนือ-กลาง-ใต้ ช่องล่างซีกข้างขวางพื้นสีชมพูมีรูปช้างเผือกยืน หมายถึงแผ่นดินลาว ช่องล่างซีกข้างซ้ายพื้นสีแดงมีรูปกริช 2 อันไขว้ หมายถึงแผ่นดินมะลายู ขนาดส่วนของธงพื้นสี และฉัตร 7 ชั้น คงไว้แต่เปลี่ยนเรียกธงนี้ว่า "ธงบรมราชธวัชมหาสยามมินทร์" จวบจนร.ศ.116 (พ.ศ.2440) โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อธงเรียกว่า "ธงมหาราช"ถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 6 ทรงให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นธง 4 เหลี่ยมจตุรัส พื้นสีเหลือง ตรงกลางมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง อันเป็นพระราชลัญจกรและโปรดให้ใช้เป็นตราแผ่นดินเครื่องหมายสำคัญสำหรับใช้ในราชการของประเทศ ธงมหาราชที่เปลี่ยนใหม่นี้กำหนดเป็นธงมหาราชใหญ่ ธงมหาราชน้อย ตามรูปแบบที่ใช้สืบมาจนทุกวันนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

ที่มาของแก้ว


น้องๆ ทั้งหลาย ดื่มน้ำกันบ่อยๆ เนี่ย
เคยอยากรู้บ้างไหมว่าเนื้อแก้วใสๆ ที่เราเห็นกันเนี่ย ทำมาจากอะไรกันแน่
จะว่าไป ไอ้ความรู้ด้านการทำแก้ว พี่ตินรู้แค่งูปลา จากทีวีแชมป์เปี้ยน เวลาเห็นเค้าเอาน้ำใสๆ ไปเผา
แล้วหล่อออกมาเป็นรูปทรงต่างๆ ก็กลายเป็นแก้วนั่นเอง
วันนี้ พี่ตินไปอ่านเจอเรื่องที่ว่าคนเราใช้อะไรมาทำเป็นแก้ว
ก็เลยค่อนข้างตื่นเต้น รีบเอามาเล่าให้น้องๆ ฟังกันทันที
เรื่องก็มีอยู่ว่า เมื่อประมาณ 4000 ปีก่อน
มีพ่อค้าชาวโพนีเชียน เดินทางไปค้าขายตามเมืองต่างๆ
ภายในเรือของพวกเขาบรรทุกเกล็ดโซฟาเต็มลำเรือทีเดียว
ในขณะที่กำลังล่องเรือผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ได้เกิดอุบัติเหตุให้เรือของพวกเขาไปเกยตื้นอยู่ที่ปากแม่น้ำแห่งหนึ่งใกล้ๆ กับ Sand Bank
ผู้โดยสารทั้งหมดจึงขึ้นบก เพื่อรอเรือช่วยเหลือมารับกลับไป
ระหว่างรอ พวกเขาก็เริ่มหิว จึงได้เอาเอาเกล็ดโซดาก้อนใหญ่ในเรือมาหนุนหม้อใบใหญ่สำหรับปรุงอาหาร
และเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว เตรียมตัวเก็บหม้อ ทำความสะอาดสถานที่
พวกเขาได้พบว่าเกล็ดโซดาก้อนใหญ่ได้ละลายรวมกับทราย และได้หลอมตัวเป็นก้อนแก้วที่สวยงาม
เป็นความน่าแปลกประหลาดมากทีเดียว
ชาวโพนีเซียน ซึ่งมีอาชีพเป็นพ่อค้าอยู่แล้ว ได้จำวิธีนี้ไว้ทันที
เมื่อกลับไปที่เมืองของตนสำเร็จ
พวกเขาได้นำวิธีนี้ไปทดลองจนสำเร็จ โดยมีส่วนผสมในการทำแก้วคือ ทราย เกล็ดโซดา และซิลิก้า
ก็หล่อหลอมออกมาเป็นแก้วที่สวยงาม
และพวกเขาก็ได้นำแก้วไปขายตามที่สถานที่ต่างๆ ทั่วโลก
และนั่นก็คือที่มาของแก้วนั่นเอง

 

ที่มาของลายน้ำบนกระดาษ


การเกิดลายน้ำบนกระดาษนั้น
เกิดขึ้นโดยบังเอิญที่โรงงานทำกระดาษในอิตาลี
ซึ่งได้ทำการผลิตกระดาษมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1260
โดยเกิดขึ้นในขั้นตอนการรีดน้ำออกจากเยื่อกระดาษ
ซึ่งบังเอิญมีเส้นลวดเล็กๆ เส้นหนึ่งติดอยู่บนตัวแม่พิมพ์สำหรับรีดน้ำ
ทำให้เส้นลวดกินเนื้อกระดาษเข้าไปและเกิดเป็นรอยบางๆ ขึ้น
และเมื่อส่องกับแสงสว่างก็จะเห็นชัดเจน

ต่อมาก็เริ่มมีการนำเอาเส้นลวดมาดัดเป็นรูปต่างๆ
และทำให้เกิดลายน้ำรูปใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น
จนถึงปัจจุบันก็ยังใช้วิธีการนี้อยู่ และมีรายละเอียดของภาพมากขึ้น
มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น การทำลายน้ำรูปผู้นำของประเทศบนธนบัตร
เพื่อทำให้การปลอมแปลงธนบัตรยากขึ้น

สำหรับกระดาษฟูลสแก๊ป นั้นก็มีที่มาจากลายน้ำรูปหมวกของตัวตลก (fool's
cap) บนกระดาษที่มีขนาด 34 x 43 เซนติเมตร ในต้นศตวรรษที่ 18

 

 

ที่มาของโบกี้-เบอร์ดี้ในกีฬากอล์ฟ

วันนี้ถามตอบรอบโลกขันอาสามาตอบข้อสงสัยของคุณธีรวุธที่ส่งคำถามเกี่ยวกับกีฬากอล์ฟเข้ามา โดยอยากรู้ที่มาของคำว่าโบกี้-เบอร์ดี้ ที่ได้ยินบ่อยในการนับคะแนน
สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยคงจะคิดว่ากีฬากอล์ฟนี่มีกติกาแปลกน่าดู เพราะไม่ว่ากีฬาประเภทไหนๆ ที่คนคิดขึ้นมาเล่นกันทั่วโลก ส่วนใหญ่ล้วนตัดสินการแข่งขันกันที่คะแนนสูงสุดทั้งนั้น ก็มีแต่กอล์ฟนี่แหละ ที่ผู้ชนะคือคนที่ทำคะแนนติดลบได้มากที่สุด และยังเป็นหนึ่งในกีฬาไม่กี่ประเภทที่ไม่มีการกำหนดขนาดของสนามไว้เป็นมาตรฐานด้วย
กีฬากอล์ฟคือกีฬาที่ผู้เล่นต้องพยายามตีลูกลงหลุมในจำนวนครั้งที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กติกาของสมาคมกอล์ฟที่เก่าแก่ที่สุดในโลก The Royal and Ancient Golf of Saint Anderws หรือ R&A ระบุไว้ว่า การเล่นมาตรฐานแต่ละรอบประกอบด้วยการตีทั้งหมด 18 หลุม และคะแนนในแต่ละหลุมถูกกำหนดด้วยพาร์
พาร์ (Par) คือ จำนวนครั้งการตีที่เป็นมาตรฐานในการเล่น หลุมแต่ละหลุมในแต่ละสนามมีค่าพาร์แตกต่างกันไปตามความยากง่ายในการตี ขึ้นอยู่กับระยะทางและอุปสรรคบนเส้นทาง ถ้าผู้เล่นสามารถตีลูกลงหลุมได้ในจำนวนพาร์ เช่น ตีลูก 3 ครั้งลงหลุมในหลุมที่เป็นหลุมพาร์ 3 จะถือว่าทำพาร์ได้ หรือ ทำอีเวน (Even) ถ้าตีได้น้อยครั้งกว่าพาร์ เรียกว่า อันเดอร์พาร์ (Under par) หรือถ้าตีมากกว่าพาร์ เรียกว่า โอเวอร์พาร์ (Over par)

การนับคะแนนตามพาร์ยังมีชื่อเรียกเฉพาะช็อตแตกต่างกันไปด้วย การตีต่ำกว่าพาร์หนึ่งครั้ง หรือ –1 เรียกว่า เบอร์ดี้ (Birdie) ต่ำกว่าพาร์สองครั้งหรือ –2 เรียกว่า อีเกิล (Eagle) ต่ำกว่าพาร์สามครั้งหรือ –3 เรียกว่า ดับเบิลอีเกิล (Double eagle) หรือ อัลบาทรอส (Albatross) และถ้าหลุมนั้นเป็นหลุมพาร์ 3 ย่อมหมายถึงการตีครั้งเดียวลงหลุม ที่เรียกว่า โฮลอินวัน (Hole-in-one) ส่วนการตีต่ำกว่าพาร์ได้สี่ครั้งหรือ -4 เรียกว่า ทริปเปิลอีเกิล (Triple eagle) หรือ คอนดอร์ (Condor)
ดูชื่อแล้วอาจจะงงว่าทำไมต้องตั้งเป็น Birdie หรือ Bird ที่แปลว่านก เรื่องนี้ต้องขยายความให้ฟังว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 คำว่า Bird เป็นคำแสลงที่มีความหมายทำนองว่า เจ๋งสุดยอด และเมื่อมีคนเริ่มให้คะแนนกันด้วยนก เลยมีการตั้งชื่อคะแนนลำดับต่อๆ มาเป็น Eagle (เหยี่ยว) Albatross (ชื่อนกทะเลตัวใหญ่) และ Condor (นกแร้งขนาดใหญ่) ซึ่งเจ๋งกว่ากันขึ้นมาตามลำดับ

พูดถึงคะแนนติดลบไปแล้ว คราวนี้มาดูคะแนนบวก (ซึ่งแปลว่าไม่ดี) กันบ้าง คะแนนโอเวอร์พาร์ถูกเรียกอีกชื่อว่าโบกี้ (Bogey) โบกี้ คือ การตีเกินพาร์หนึ่งครั้ง ส่วนการตีเกินสองครั้งและสามครั้ง เรียกว่า ดับเบิลโบกี้ (Double Bogey) และทริปเปิลโบกี้ (Triple Bogey) ตามลำดับ

คำว่าโบกี้นี้มีที่มาจากเพลงยอดฮิตของเกาะอังกฤษในช่วงต้นทศวรรษ 1890 ชื่อ "The Bogey Man" หรือที่รู้จักกันภายหลังในชื่อ "The Colonel Bogey March" ซึ่งพูดถึงปิศาจโบกี้ที่ชอบหลบหนีและซ่อนตัวอยู่ในความมืด ดังเนื้อเพลง "I'm the Bogey Man, catch me if you can" คำว่าโบกี้ในกีฬากอล์ฟสมัยก่อน จึงหมายถึงการตามหาสิ่งที่พบได้ยากมาก หรือ คะแนนที่ดีที่สุดนั่นเอง

แต่เมื่อเวลาผ่านไปและการกำหนดคะแนนด้วยพาร์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย คำว่าโบกีกลับถูกเปลี่ยนความหมาย กลายเป็นการให้คะแนนโอเวอร์พาร์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน มันแปลกดีไหมล่ะ

 

 

ความเป็นมา บัตรประชาชน
ประวัติของบัตรประชาชน มีมาตั้งแต่สมัยใด สาเหตุที่เป็นต้นกำเนิดของบัตรประชาชน/น้องบอลล์บอย
บัตรประชาชนเป็นหลักฐานยืนยันตัวบุคคล มีแนวคิดมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากยุคนั้นประชาชนซึ่งมีฐานะไพร่ประมาณ 80-90% เป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่ง เพราะเป็นกำลังหลักในด้านเศรษฐกิจ การศึกสงคราม เป็นแรงงานในการก่อสร้าง ฯลฯ ทางราชการจึงต้องมีการสักบอกสังกัดมูลนายไว้ที่ข้อมือ เมื่อจะเดินทางไปท้องที่อื่นจะต้องขออนุญาตจากเจ้านาย การสักข้อมือจึงเป็นวิธีการที่ใช้ในการยืนยันตัวบุคคลของคนไทยมาตั้งแต่อดีต

กระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ยกเลิกไป ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการยกเลิกระบบทาสและไพร่ ราษฎรที่ต้องการเดินทางไปท้องที่อื่นที่ไม่ใช่ท้องถิ่นที่อยู่ของตนเองจะต้องไปขอหนังสือเดินทางจากอำเภอ เพื่อใช้เป็นเอกสารรับรองผู้ถือว่าเป็นใคร มาจากแห่งหนตำบลใด โดยหลักฐานอยู่ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พระพุทธศักราช 2457 มาตรา 90 บัญญัติว่า "กรมการอำเภอเป็นพนักงานทำหนังสือเดินทางสำหรับราษฎรในท้องที่อำเภอนั้น จะนำไปทำมาค้าขายในท้องที่อื่น"


ในปีพ.ศ.2486 รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออกกฎหมายบัตรประจำตัวประชาชนขึ้นมาบังคับใช้เป็นการเฉพาะครั้งแรก เรียกว่า "พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พุทธศักราช 2486" บังคับให้ประชาชนที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี จัดทำบัตรประจำตัวประชาชนเป็นครั้งแรก มีลักษณะเป็นบัตรรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พับ 4 ตอน สีพื้นตัวบัตรเป็นสีฟ้าอมเขียว และมีลายเทพพนมตลอดเล่ม ภายในเล่มมีข้อมูลของผู้ถือบัตร

ปี 2505 มีการออกพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน โดยปรับปรุงบัตรให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แผ่นเดียวขนาดกว้าง 6 เซนติเมตร ยาว 9 เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นรูปครุฑอยู่ตรงกลางพร้อมข้อความ "สำนักบริหารการทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชนกระทรวงมหาดไทย" วันที่ออกบัตรและวันที่บัตรหมดอายุ ด้านหลังจะเป็นรายการข้อมูลของผู้ถือบัตร มีภาพถ่ายขาว-ดำที่มีเส้นบอกส่วนสูงเป็นนิ้วฟุตเลขและตัวอักษรแสดงอำเภอที่ออกบัตร และลายมือชื่อเจ้าพนักงานออกบัตร เป็นต้น ปี 2531 จึงเปลี่ยนเป็นรูปสีธรรมชาติ

กระบวนการจัดทำบัตรที่ผ่านมาใช้มือเป็นหลัก บัตรรุ่นแรกทำที่สำนักทะเบียนอำเภอ และนับแต่ปี 2505 จัดทำที่ส่วนกลาง คือสำนักทะเบียนบัตรรวบรวมข้อมูลและรูปถ่ายผู้ถือบัตรส่งให้ส่วนกลางผลิต เมื่อผลิตเสร็จจึงส่งกลับไปให้สำนักทะเบียนแจกจ่ายให้ประชาชน ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

ปี 2539 มีการทำบัตรแถบแม่เหล็ก ซึ่งทำด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ผลิตเองที่สำนักทะเบียน ประชาชนรอรับบัตรได้เลยใช้เวลาประมาณ 15 นาที กระทั่งปี 2547 จึงหันมาใช้บัตรอเนกประสงค์ หรือสมาร์ท การ์ดแทน เนื่องจากจัดเก็บข้อมูลได้จำนวนมากและป้องกันการปลอมแปลงได้ 100% แต่ตอนนี้ระงับชั่วคราวกลับมาใช้บัตรแถบแม่เหล็กก่อน เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำสมาร์ทการ์ดหมดต้องรอการประมูลและจัดซื้อใหม่

ที่มาของข่าว คอลัมน์ รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น ฃ หนังสือพิมพ์ มติชน

 

ชนิดและการกำหนดชื่อพายุเขตร้อน

พายุไซโคลน ความกดอากาศต่ำที่ ประเทศไอซ์แลนด์
พายุไซโคลน เฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น วิลลี-วิลลี บาเกียว และพายุหมุนเขตร้อนคือพายุชนิดเดียวกันแต่มีชื่อเรียกต่างกันไปตามถิ่นที่เกิดเท่านั้น ชื่อเรียกกลางคือ "พายุหมุนเขตร้อน" (Tropical cyclone)
เกิดในมหาสมุทรอินเดียและแอตแลนติกเรียกว่า เฮอร์ริเคน (Hurricane)
เกิดในอ่าวเบงกอล เรียกว่า ไซโคลน (cyclone)
เกิดแถบนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย เรียกว่า วิลลี-วิลลี (Willy-willy)
เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิก เรียกว่า ไต้ฝุ่น (Typhoon)
เกิดในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เรียกว่า บาเกียว (Baguio)
พายุหมุนเขตร้อน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่สามารถทำความเสียหายได้รุนแรง และเป็นบริเวณกว้างมีลักษณะเด่น คือ มีศูนย์กลางหรือที่เรียกว่า ตาพายุ เป็นบริเวณที่มีลมสงบ อากาศโปร่งใส โดยอาจมีเมฆและฝนบ้างเล็กน้อยล้อมรอบด้วยพื้นที่บริเวณกว้างรัศมีหลายร้อยกิโลเมตร ซึ่งปรากฏฝนตกหนักและพายุลมแรง ลมแรงพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลาง ดังนั้น ในบริเวณที่พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่ผ่าน ครั้งแรกจะปรากฏลักษณะอากาศโปร่งใส เมื่อด้านหน้าของพายุหมุนเขตร้อนมาถึงจะ ปรากฏลมแรง ฝนตกหนักและมีพายุฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจปรากฏพายุทอร์นาโด ในขณะตาพายุมาถึง อากาศจะโปร่งใสอีกครั้ง และเมื่อด้านหลังของพายุหมุนมาถึงอากาศจะเลวร้ายลงอีกครั้งและรุนแรงกว่าครั้งแรก

ชนิดและการกำหนดชื่อพายุเขตร้อน
ดูเพิ่มบทความหลัก: การตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อน

พายุหมุนเขตร้อนเริ่มต้นการก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงซึ่งอยู่เหนือผิวน้ำทะเล ในบริเวณเขตร้อนและเป็นบริเวณที่กลุ่มเมฆจำนวนมากรวมตัวกันอยู่โดยไม่ปรากฏการหมุนเวียนของลม หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงนี้ เมื่ออยู่ในสภาวะที่เอื้ออำนวยก็จะพัฒนาตัวเองต่อไป จนปรากฏระบบหมุนเวียนของลมอย่างชัดเจน ลมพัดเวียนเป็นวนทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ พายุหมุนในแต่ละช่วงของความรุนแรงจะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อม ความเร็วลมในระบบหมุนเวียนทวีกำลังแรงขึ้นเป็นลำดับ กล่าวคือ ในขณะเป็นพายุดีเปรสชั่นความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางมีค่าไม่เกิน 33 นอต ในขณะที่เป็นพายุโซนร้อนความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางมีค่าอยู่ระหว่าง 34 – 63 นอต และในขณะเป็นพายุหมุนเขตร้อนหรือไต้ฝุ่น ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางจะมีค่าตั้งแต่ 64 นอตขึ้นไป ดังนั้นสามารถแบ่งชนิดของพายุเขตร้อนได้ดังนี้

ดีเปรสชั่น (Depression) สัญลักษณ์ D ความเร็วสูงสุด 33 นอต (17 เมตร/วินาที) (62 กิโลเมตร/ชั่วโมง)ไม่นับเป็นพายุหมุน
พายุเขตร้อน (Tropical Storm) สัญลักษณ์ S ความเร็วสูงสุด 34-63 นอต (17-32 เมตร/วินาที) (63-172 กิโลเมตร/ชั่วโมง)ไม่นับเป็นพายุหมุน
พายุหมุนเขตร้อน ความเร็วสูงสุด 64-129 นอต (17 เมตร/วินาที) (118-239 กิโลเมตร/ชั่วโมง) นับเป็นพายุหมุน

การกระจายตัวของพายุหมุนเขตร้อนของโลกระหว่าง พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2548
พายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกและมีความแรงของลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุมากกว่า 33 นอต จะเริ่มมีการกำหนดชื่อเรียก โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้จัดรายชื่อเพื่อเรียกพายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกไว้เป็นสากล เพื่อทุกประเทศในบริเวณนี้ใช้เพื่อเรียกพายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวขึ้น โดยเรียงตามลำดับให้เหมือนกัน

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา ได้เกิดระบบการตั้งชื่อพายุเป็นภาษาพื้นเมืองของแต่ละประเทศสมาชิกในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนบนและแถบทะเลจีนใต้ 14 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย ไมโครนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และไทย โดยนำชื่อมาเรียงเป็น 5 สดมภ์ เริ่มจากกัมพูชาจนถึงเวียดนามในสดมภ์ที่ 1 เมื่อหมดแล้วให้เริ่มขึ้นสดมภ์ที่ 2 ถึง 5 แล้วจึงเวียนมาเริ่มที่สดมภ์ 1 อีกครั้ง จนกว่าจะมีการกำหนดชื่อพายุครั้งใหม่อีก

ประเทศไทยได้รับผลกระทบจาก'พายุหมุนเขตร้อน ที่ก่อตัวในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก และพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเราเรียกว่า ไซโคลน แม้พายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในบริเวณมหาสมุทรอินเดียจะไม่เข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง แต่ก็สามารถก่อความเสียหายต่อประเทศไทยได้เช่นกัน เมื่อทิศการเคลื่อนที่เข้าสู่บริเวณใกล้ประเทศไทยทางด้านตะวันตก ในกรณีของพายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้นั้นจะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทยในบริเวณต่างๆ ของประเทศแตกต่างกันตามฤดูกาล


ลักษณะเฉพาะ
พายุไซโคลนหรือพายุหมุนเขตร้อนซึ่งจะต้องมีความเร็วลมมากกว่า 64 นอต(30 เมตร/วินาที , 74 ไมล์/ชั่วโมง หรือ 118 กิโลเมตร/ ชั่วโมง) ขึ้นไป และมักจะมี ตาซึ่งเป็นบริเวณที่ลมค่อนข้างสงบและมีความกดอากาศค่อนข้างต่ำอยู่กลางวงหมุน ตาพายุนี้จะเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายดาวเทียมเป็นวงกลมเล็กที่ไม่มีเมฆ รอบตาจะมีกำแพงล้อมที่มีขนาดกว้างประมาณ 16-80 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีพายุฝนและลมหมุนที่รุนแรงมากหมุนวนรอบๆ ตา


โครงสร้างของพายุหมุนเขตร้อน
การเคลื่อนตัวของเมฆรอบศูนย์กลางพายุก่อตัวเป็นรูปขดวงก้นหอยที่เด่นชัด แถบหรือวงแขที่อาจยื่นโค้งเป็นระยะที่ยาวออกไปได้มากในขณะที่เมฆถูกดึงเข้าสู่วงหมุน ทิศทางวงหมุนของพายุขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดว่าอยู่ ณ ส่วนใดของซีกโลกดังกล่าวแล้ว หากอยู่ซีกโลกเหนือ พายุจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา ด้านซีกโลกใต้จะหมุนตามเข็มนาฬิกา ความเร็วสูงสุดของพายุหมุนเขตร้อนที่เคยวัดได้มีความเร็วมากกว่า 85 เมตร/วินาที (165 นอต, 190 ไมล์/ชั่วโมง, 305 กิโลเมตร/ชั่วโมง) พายุที่รุนแรงมากและอยู่ในระยะก่อตัวช่วงสูงสุดบางครั้งอาจมีรูปร่างของโค้งด้านในแลดูเหมือนอัฒจรรย์สนามแข่งขันฟุตปอลได้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบางครั้งในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ปรากฏการณ์อัฒจรรย์” (stadium effect)

วงหมุนที่เกิดผนังตาพายุจะเกิดตามปกติเมื่อพายุมีความรุนแรงมาก เมื่อพายุแรงถึงขีดสุดก็มักจะเกิดการหดตัว ของรัศมีกำแพงตาพายุเล็กลงถึงประมาณ 8-24 กิโลเมตร (5-15 ไมล์)ซึ่งบางครั้งอาจไม่เกิด ถึงจุดนี้เมฆฝนอาจก่อตัวเป็นแถบอยู่ด้านนอกแล้วค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้าวงในแย่งเอาความชื้นและแรงผลักดันหรือโมเมนตัมจากผนังตาพายุ ทำให้ความรุนแรงลดลงบ้าง (ความเร็วสูงสุดที่ผนังลดลงเล็กน้อยและความกดอากาศสูงขึ้น) ในที่สุดผนังตาพายุด้านนอกก็จะเข้ามาแทนผนังในจนหมด ทำให้พายุกลับมามีความเร็วเท่าเดิม แต่ในบางกรณีอาจกลับเร็วขึ้นได้ แม้พายุหมุนจะอ่อนตัวลงที่ปลายผนังตาที่ถูกแทนที่ แต่ที่จริงแล้วการเพิ่งผ่านปรากฏการณ์ลักษณะนี้ในรอบแรกและชะลอการเกิดในรอบต่อไป เป็นการเปิดโอกาสให้ความรุนแรงสะสมตัวเพิ่มขึ้นอีกได้ถ้ามีสภาวะที่เหมาะสม


พายุหมุนที่สร้างความเสียหายมาก
พายุหมุนเขตร้อนแกลวิสตัน นับเป็นพายุหมุนเขตร้อนหรือพายุเฮอร์ริเคนที่สร้างความเสียหายหนักมากพายุหนึ่งที่ได้รับการบันทึกไว้


เส้นทางของเฮอร์ริเคนแกลวิสตันเมื่อ พ.ศ. 2443
พายุหมุนเขตร้อนแกลวิสตัน หรือ "เฮอร์ริเคนแกลวิสตัน" ขึ้นฝั่งในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2443 พายุนี้เกิดในมหาสมุทรแอตแลนติกและขึ้นฝั่งที่เมืองแกลวิสตัน รัฐเทกซัส มีความเร็วลม 215 กิโลเมตร/ชั่วโมง จัดอยู่ในพายุเฮร์ริเคนประเภท 4 ตามมาตรวัดพายุซิมป์สัน ทำให้เมืองแกลวิสตันเสียหายอย่างหนักและมีผู้เสียชีวิตมากถึง 8,000 คน และหากนับการเสียชีวิตที่อื่นด้วยประมาณว่าอาจรวมได้ถึง 12,000 คน จัดเป็นพายุเฮอร์รเคนแอตแลนติกที่สร้างความเสียหายร้ายแรงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกหลัง "มหาพายุเฮอร์ริเคนแห่งปี พ.ศ. 2323" และ "เฮอร์ริเคนมิทช์" เมื่อ พ.ศ. 2541 แต่นับเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่สร้างความเสียหายและคร่าชีวิตผู้คนอันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกา

 

รหัสโค้ด ว.

ว.0 ขอรับคำสั่ง,แจ้งให้ทราบ ว.19 สถานีวิทยุถูกโจมตี
ว.00 คอยก่อน, ให้รับคำสั่ง ว.20 ตรวจค้น จำกุม
ว.1 อยู่ที่ไหน ว.21 ออกจาก..สถานที่
ว.2 ได้ยินหรือไม่ ว.22 ถึง..สถานที่
ว.3 ทวนข้อความ ว.23 ผ่าน..สถานที่
ว.4 ออกปฏิบัติหน้าที่ ว.24 แจ้งเวลา, ต้องการทราบเวลา
ว.5 ความลับ, ไม่สามารถแจ้งได้ ว.25 จุดมุ่งหมาย หรือที่หมาย
ว.6 ขออนุญาตติดต่อโดยตรง (ทางวิทยุ) ว.26 ให้ติดต่อทางวิทยุน้อยที่สุด อาจจะถูกดักฟัง
ว.7 ต้องการความช่วยเหลือภาวะคับขัน ว.27 ติดต่อทางโทรพิมพ์
ว.8 ส่งข้อความเป็นข้อความยาว ว.28 การประชุม
ว.9 ขออนุญาต หรือให้ใช้สัญญาณไฟแดง หรือเสียงไซเรน ว.29 ธุระ หรือมีราชการ
ว.10 หยุดรถเพื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยติดต่อทางวิทยุได้ ว.30 ขอทราบจำนวน
ว.11 หยุดรถโดยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ สามารถติดต่อทางวิทยุได้ ว.31 ความถี่ช่องที่ 1
ว.12 หยุดรถ โดยไม่สามารถติดต่อทางวิทยุได้ ว.32 ความถี่ช่องที่ 2
ว.13 ให้ติดต่อทางโทรศัพท์ ว.33 ความถี่ช่องที่ 3
ว.14 เลิกปฏิบัติหน้าที่ ว.34 ความถี่ช่องที่ 4
ว.15 พบ หรือให้ไปพบกัน ว.35 เตรียมพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่
ว.16 ทดสอบสัญญาณวิทยุ ว.36 เตรียมพร้อมเต็มอัตรา
ว.16-1 รับฟังไม่รู้เรื่อง หรือไม่มีเสียงพูด ว.37 เตรียมพร้อมครึ่งอัตรา
ว.16-2 รับฟังไม่ชัดเจน จับใจความไม่ได้เลย ว.38 เตรียมพร้อม 1 ใน 3
ว.16-3 รับฟังพอใช้ได้ มีเสียงรบกวนบ้าง ว.39 จราจรติดขัด
ว.16-4 รับฟังได้ชัดเจนดี ว.40 อุบัติเหตุรถชนกัน
ว.16-5 รับฟังได้ชัดเจนดีมาก ว.41 สัญญาณไฟจราจรเสีย
ว.17 มีเหตุอันตราย ห้ามผ่าน ว.42 ขบวนเสด็จ
ว.18 นำรถออกทดลองเครื่อง ว.43 ตั้งจุดตรวจ


เปลี่ยน เป็นการจบข้อความ เพื่อให้อีกฝ่ายส่ง ศูนย์ขานเวลา เป็นการจบการติดต่อ ให้ผู้ที่ต้องการติดต่อใหม่เข้ามาได้

ว. 61 ขอบคุณ ว.60 เพื่อน, ญาติ
ว.100 ขอโทษ ว.50 อาหาร, รับประทานอาหาร
601 สายอากาศ 602 เครื่องส่งวิทยุ

รหัสแจ้งเหตุ

เหตุ 100 ประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน เหตุ 300 การพนันเป็นบ่อน
เหตุ 111 ลักทรัพย์ เหตุ 510 วัตถุต้องสงสัยเกี่ยวกับระเบิด
เหตุ 121 วิ่งราวทรัพย์ เหตุ 511 ได้เกิดระเบิดขึ้นแล้ว
เหตุ 131 ชิงทรัพย์ เหตุ 521 วัตถุระเบิดได้ตรวจแล้วไม่ระเบิด
เหตุ 141 ปล้นทรัพย์ เหตุ 600 นักเรียนจะก่อการทะเลาะวิวาท
เหตุ 200 ประทุษร้ายต่อร่างกาย เหตุ 601 นักเรียนรวมกลุ่มมีเหตุเชื่อว่าจะก่อเหตุ
เหตุ 211 ทำร้ายร่างกายไม่ได้รับบาดเจ็บ เหตุ 602 นักเรียนก่อเหตุหลบหนีไปแล้ว
เหตุ 221 ทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ เหตุ 603 นักเรียนก่อเหตุยกพวกทำร้ายกันและกัน
เหตุ 231 ทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุ 604 นักเรียนก่อเหตุยกพวกทำร้ายกันถึงตาย
เหตุ 241 ฆ่าคนตาย เหตุ 605 นักเรียนก่อเหตุยกพวกทำร้ายกันมีวัตถุระเบิด


รหัสแจ้งเหตุพิเศษอื่นๆ

เหตุ 201 เพลิงไหม้หญ้า เหตุ 501 การบริการน้ำ ยกรถ ตัดต้นไม้
เหตุ 202 ไฟฟ้าลัดวงจร เหตุ 502 ขนส่งผู้ป่วย
เหตุ 203 เพลิงไหม้ยานพาหนะ เหตุ 503 สาธารณภัย ทางบก น้ำ อากาศ
เหตุ 204 เพลิงไหม้ชุมชน อาคารสูง อาคารตึกแถว บ้านเรือน เหตุ 600 เหตุพิเศษ
เหตุ 205 เพลิงไหม้สถานเชื้อเพลิงต่างๆ สารเคมี เหตุ 602 อาคารถล่ม
เหตุ 206 เพลิงไหม้อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ เหตุ 603 ระเบิด

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ความรู้
หมายเลขบันทึก: 218904เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2008 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อืมม์ ข้อมูลและเนื้อหาดีมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท