Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๕๗)_๒


        ทั้งนี้ แนวทางการจัดการความรู้ของกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเพียงแนวทางกว้าง ๆ ที่สามารถปรับปรุงให้เหมาะกับสถานการณ์ได้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยระหว่างการดำเนินงานจะมีคณะทำงานเป็นสื่อกลางในการนำข้อมูลระหว่างหน่วยงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วนำไปปรับปรุงให้เหมาะสม ขณะเดียวกันคณะทำงานในหน่วยงานก็มีเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และปรับปรุงกระบวนการอย่างสม่ำเสมอ ช่องทางการสื่อสารที่สามารถแลกเปลี่ยนให้สะดวก คือ ผ่านช่องทาง Website KM WebPage ของกรมส่งเสริมการเกษตร
         จากการดำเนินงาน KM ที่ผ่านมาประมาณ (ถึงเดือนสิงหาคม 2548) พอสรุปโดยแยกเป็น 2 ส่วนคือ การดำเนินงานของจังวัดนำร่อง และการดำเนินงานของส่วนกลางดังนี้ คือ
การดำเนินงานของจังหวัดนำร่อง
         ทุกจังหวัดได้ดำเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานจัดการความรู้แก่บุคลากรขององค์กรแล้ว ยังดำเนินงานตามกระบวนการจัดการความรู้โดยใช้เครื่องมือชุดธารปัญญา มีการกำหนดวิสัยทัศน์ในการจัดการความรู้ร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ของจังหวัดเอง ซึ่งสามารถบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับงานอื่น ๆ และมีการประยุกต์ใช้เทคนิค และวิธีการที่หลากหลายตามประสบการณ์ที่มีอยู่ และเห็นว่าการสกัดความรู้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางาน และคน สามารถทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
         สุรัตน์ สงวนทรัพย์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนางานเกษตรชลประทานและพื้นที่เร่งรัด กองพัฒนาการพื้นที่เฉพาะ  เล่าว่า “ได้เริ่มกระบวนการจัดการความรู้ในจังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดอ่างทอง โดยได้เลือกกลุ่มแม่บ้านในการทำการจัดการความรู้ เมื่อมีการเริ่มกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจากจังหวัดอ่างทอง มี 7 อำเภอ มี 73 กลุ่มแม่บ้าน มาทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามโมเดลธารปัญญา แต่กลุ่มแม่บ้านมีจำนวนมากถึง 73 กลุ่ม ซึ่งจำนวนที่มากเกินไป จึงทำให้ไม่รู้ว่าจะแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญกลุ่มไหน
         การแลกเปลี่ยนจึงต้องปรับกลยุทธ์คือเลือกกลุ่มแม่บ้าน 1 กลุ่ม/ 1 อำเภอ ซึ่งรวมแล้วจะเหลือเพียง 7 กลุ่ม โดยมีวิธีการในการแลกเปลี่ยน ให้กลุ่มแม่บ้านผู้ที่รับข้อมูลเป็นผู้เสนอข้อมูลของตนเองขึ้นมาก่อน และให้กลุ่มแม่บ้านที่พร้อมจะให้ความรู้ นำเสนอข้อมูลของตนเองภายหลัง”
         “เมื่อทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วย กระทั่งแลกเปลี่ยนครบ 2 ชั่วโมง ทำให้ได้เห็นกลุ่มที่สามารถนำความรู้ของกลุ่มอื่นไปปรับใช้ในกลุ่มของตนเอง เช่น กลุ่มแม่บ้านแต่ละกลุ่มได้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อเป็นการฝากขาย และตัวอย่างคือ  การถ่ายทอดเทคโนโลยี กลุ่มที่ผลิตข้าวแต๋น มีปัญหาในเรื่องของสภาพแวดล้อมในพื้นที่เช่น ไม่มีแดดที่จะใช้ตากข้าวแต๋น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็ทำเรื่องกล้วยอบ ก็ให้กลุ่มที่ทำข้าวแต๋น นำสินค้ามาอบในเครื่องของกลุ่มกล้วยอบ ซึ่งสามารถใช้แทนการตากแดดอย่างได้ผล”
         ขณะที่มีกลุ่มที่ทำเรื่องข้าวสารมีปัญหาในเรื่องการเก็บข้าวแล้วมอดกัดกิน ซึ่งมีกลุ่มที่ทำเรื่องบรรจุภัณฑ์สูญญากาศ ก็สามารถเชื่อมต่อกับกลุ่มข้าว จนสามารถจัดการกับปัญหามอดกัดกินข้าวได้ คุณสุรัตน์กล่าว
         ทั้งนี้ ผู้บริหารที่ทำหน้าที่ Chief Knowledge Officer (CKO) ของจังหวัดนำร่องมีส่วนสำคัญที่ให้การสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการจัดการความรู้ในองค์กรอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการให้คำแนะนำปรึกษา สนับสนุนงบประมาณและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน
การดำเนินงานของส่วนกลาง
         คณะทำงานการบริหารจัดการความรู้ได้จัดทำ KM-Webpage เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการประชาสัมพันธ์ซึ่งเริ่มเปิดใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2548 และคณะทำงานปฏิบัติงานและสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัดนำร่องอย่างต่อเนื่อง เช่น ร่วมกิจกรรมและเรียนรู้การดำเนินงานของจังหวัด จัดเวทีเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างจังหวัดให้คำแนะนำ/ปรึกษาสนับสนุนข้อมูล
         ณัฐวัตร  เตชะสาน  นักวิชาการเกษตร 7 ว หนึ่งในคณะทำงานส่วนกลาง อธิบายว่า “ประเด็นส่งเสริมการเกษตร เหมือนการส่งเสริมการจัดการความรู้ ซึ่งคณะทำงานได้ทำหน้าที่เป็นบทบาททั้งคุณประสานและคุณลิขิต ที่ช่วยส่งเสริมเกษตรกร ได้ทำการจัดการความรู้ในเรื่องการพัฒนาอาชีพ ซึ่งการจัดการความรู้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานมาก จริง ๆ แล้วกรมส่งเสริมการเกษตรมีการแลกเปลี่ยนกันอยู่บ้างแล้ว ไมว่าจะเป็นในรูปแบบโรงเรียนเกษตรกร ที่เรียนรู้กันเน้นประเด็นในเรื่องพืช ศัตรูพืช แต่อาจจะไม่มีการเรียนรู้ที่เป็นระบบเครื่องมือเหมือนอย่างที่ สคส. ได้แนะนำมาให้
         ซึ่งกรมฯ ก็กำหนดเรื่องนี้ขึ้นมา มีคณะทำงานบริหารการจัดการความรู้ และมีการปรึกษาและหาแนวทางในการดำเนินงาน คณะทำงานเห็นแล้วว่าการจัดการความรู้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับกรมส่งเสริมการเกษตร แต่ในเรื่องของกระบวนการยังไม่มีการความชัดเจนว่าจะออกมาในรูปแบบใด จึงมีการเลือกสรรจังหวัดนำร่องขึ้นมาทดลองจัดการความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกร”
         ขณะที่ อุดม รัตนปราการ   นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 7 ว กล่าวว่า การจัดการความรู้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งการดำเนินงานของกรมฯ มี 2 ส่วน ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่และระดับเกษตรกร หากวิเคราะห์ตามโมเดล ปลาทู ก็จะมีการแชร์ความรู้และประสบการณ์กัน แต่จุดอ่อนที่ผ่านมา คือ ไม่ได้กำหนดเป้าหมายไว้ให้ชัดเจน ซึ่งโดยกระบวนการแล้วเจ้าหน้าที่มีความเข้าใจกระบวนการจัดการความรู้ดี แต่ภาพของการเดินไปสู่กระบวนการสรุปบทเรียนอาจจะยังเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งสำหรับเจ้าหน้าที่จะเน้นหนักไปที่การเรียนรู้ในเชิงวิชาการเกษตร ซึ่งไม่เน้นหนักในทางเทคนิคการส่งเสริมซึ่งขณะนี้บางจุดเจ้าหน้าที่มี่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องของวิธีการส่งเสริมว่าจะทำอย่างไร ให้เกษตรกรยอมรับ ใครได้ปฏิบัติแล้วมีความสำเร็จเป็นรูปธรรมก็นำมาเล่าให้ที่ประชุมฟัง
         นอกจากนี้ยังร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน KM กับหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการดำเนินงานและสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายกับหน่วยงานอื่น ๆ มาตั้งแต่ต้น
         ถึงแม้ว่ากรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการส่งเสริมด้านการเกษตรเพื่อพัฒนาอาชีพเกษตรในรูปแบบของโรงเรียนเกษตรกรอยู่บ้างแล้ว แต่การเปิดรับรูปแบบใหม่ที่มีความชัดเจนในเรื่องการจัดการความรู้ เพื่อพัฒนางาน คน องค์กรก็นับได้ว่าเป็นการประสานองค์ความรู้ที่จะช่วยให้งานนั้นสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
         ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ใช้รูปแบบ การเชื่อมโยงความรู้เดิม ให้เข้ากับความรู้ใหม่ และกำลังขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร โดยอาศัยเครือข่าย 9 จังหวัดนำร่องเป็นตัวอย่างของการจัดการความรู้ ที่จะช่วยขยายฐานของการจัดการความรู้ที่จะทำให้การส่งเสริมการเกษตรขับเคลื่อนงานของตนเองได้อย่างอัตโนมัติ


ธุวนันท์ พานิชโยทัย ผอ.กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โทร.02-5799524 / 02-5790121-7 ต่อ 250,291
โทรสาร. 02-5799524 / 02-5793940
E-Mail :
[email protected]

หมายเลขบันทึก: 21863เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2006 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท