จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ไม่บอกไม่รู้


เมื่อคืนและคืนนี้ ผมเริ่มนำข้อมูลที่ได้จากภาคสนามมาเรียบเรียงเขียนครับ ซึ่งจะต้องให้เสร็จภายในสองวันนี้แหละครับ แต่ดูเหมือนว่าคืนนี้จะไม่ได้อะไรอีกแล้ว ไม่เป็นไรครับ คืนนี้ไม่ก้าวหน้าไม่เลิก เพียงแต่ขอแว๊บมาเขียนบล็อกเพื่อรวบรวมสมาธิก่อน

การเดินทางสู่กลันตันรอบนี้ สร้างความตื่นเต้นให้ผมกับเพื่อนร่วมทางได้มากทีเดียวครับ อย่างแรกคือ เพื่อนผมนึกว่าผมเชี่ยวชาญเส้นทางดี ที่ไหนได้ถ้าเป็นในเมืองโกตาบารู เมืองหลวงของกลันตัน วันแรกที่เราไปถึงวนเกือบๆ สองชั่วโมงครับ แล้วผมก็รู้สึกว่า การวางระบบจราจรของเมืองโกตาบารูดีมากครับ คือ ขับไปได้เรื่อยๆ ไม่มีทางตัน แล้วมันจะพาคุณกลับมานะจุดเดิมได้ ดูเหมือนว่า ในเมืองนี้จะมีประมาณสามวงจราจรครับ

จุดแรกที่ผมอยากไปคือ ร้ายหนังสือ ซึ่งเป็นอาคารเดียวกันกับที่ทำการพรรคบาส แต่วันแรกที่ไปถึงวนยังงัยๆ ก็ไม่สามารถเข้าใกล้ได้เลย เห็นแต่ตึกไกลๆ ดังนั้นวันที่สองของการลงสนามครั้งนี้ ดร.ดลวนะ มาสมทบ ผมจึงสามารถขับพารถคู่ใจไปถึงได้ เช่นเดียวกันกับร้านอาหารมามะห์ เจ้าดังที่ผมประทับใจในการมาครั้งที่แล้ว ต้องขอให้ ดร.ดลวนะ เป็นคนนำทางไปให้ ก่อนลงพื้นที่วันที่สอง ผมเลยขอให้ท่านชี้ทาง พาเวียนเมืองก่อนหนึ่งรอบ ซึ่งทำให้ผมกระจ่างเส้นทางในเมืองมากขึ้น รอบนี้เพื่อนเฮ็งสบายใจขึ้นเยอะครับ

การขับรถในเมืองในขณะที่สมาธิของเราอยู่ที่การมองหาเป้าหมาย ทำให้ผมฝ่าไฟแดงไปสามครั้งครับ แฮะแฮะ ครั้งหลัง ดร.ดลวนะก็เตือนว่า อาจารย์ระวังนะครับ จับได้จ่ายสามพันบาทนะ ไม่ใช่สองร้อยเหมือนเมืองไทย ต้องขอบอกว่าไม่ได้ตั้งใจฝ่าครับ แต่จับจังหวะไฟไม่ถูกมากกว่า ก็มันเขียวอยู่ดีๆ ผมถึงจุดพอดี ก็ต้องเร่งเครื่อง แต่แล้วมันก็เหลืองทันทีทันใด จะเบรกก็ไม่ทัน แล้วไฟเหลืองเร็วมากครับ กลายเป็นแดง ดังนั้นเร่งแล้วเร่งเลย ฝ่าแล้วฝ่าเลยครับ

อีกกรณีหนึ่งที่ ดร.ดลวนะ เตือนคือ เข็มขัดนิรภัยครับ อันนี้ปกติผมก็รัดเข็มขัดอยู่แล้วครับทุกครั้งที่ขับรถ แต่เพื่อนผมที่นั่งมาด้วยเขาไม่ได้รัดเข็มขัด ซึ่งค่าปรับเท่ากันคือ สามพันบาท (สามสิบเหรียญครับ)

เนื่องจากเพื่อนร่วมทางผม บังคับให้ผมทำทุกอย่างเอง โดยอ้างว่า ผมอยู่ปัตตานีเกินสิบปีแล้ว คุยภาษามลายูน่าจะรู้เรื่องแล้ว ทำเองแล้วกัน ดังนั้น นอกจากการขับรถแล้ว ผมต้องมีภาระกิจในการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่โรงแรมต่างๆ เพื่อสอบถามข้อมูล (โดยเฉพาะราคาค่าห้อง) โอ้ บทสนทนาของผมใช้ได้ดีครับ จากสามโรงแรมแรก มีเจ้าหน้าที่โรงแรมจากสองโรง เข้าใจว่า ผมเป็นคนมาเลเซีย แสดงว่า สำเนียงใช้ได้แล้ว เหลือแต่ศัพท์ที่ใช้ครับ เทคนิคที่ทำให้คนฟังคิดว่าผมพูดได้คล่องก็คือ ใช้ประโยคสั้นๆ ศัพท์พื้นๆ เท่าที่มี แล้วก็ใช้สีหน้าท่าทางเข้าช่วย

โรงแรมที่ผมเข้าพัก หลังจากที่ตกลงราคากันได้แล้ว เขาขอหลักฐานจากผม โดยขอบัตรประจำตัวประชาชนครับ แฮะ มีที่ไหนละ คนต่างประเทศ พอยื่นพาสปอตให้ ก็หันมายิ้มแล้วพูดว่า นึกว่าเป็นคนมาเลเซีย (โอ้ ใช้ได้นะเรา) เห็นมัย ไม่บอกไม่รู้หรอกว่าคนไทยหรือคนมาเลย์

แต่โรงแรมที่เข้าพักคืนที่สอง อันนี้ขอพาสปอทเลยครับ แต่เข้าใจได้ว่า เขาคงเห็นรถที่ผมขับไปเป็นป้ายไทยมากกว่าจับได้การพูดคุยของผม (ฮาฮา เข้าข้างตัวเอง)

คืนแรกที่กลันตัน ผมตามใจเพื่อนครับ (เนื่องจากกลางวันช่วยทำงาน กลางคืนก็ต้องตามใจกันหน่อย) และภารกิจของเพื่อนก็ปรากฏชัดขึ้นทันทีครับ คือการซื้อของฝากให้ภรรยา ให้แม่ ฯลฯ สารพัดคนรอรับของฝากจริงๆ ส่วนผมคิดไม่ออกจริงๆ ว่าจะซื้ออะไรฝากดี แต่ก็ถือได้ว่า นี้เป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งในการฝึกภาษามลายูครับ เลยเดินชมร้าน คุยกับคนขาย ต่อรองราคาบ้าง โอ้ได้ผลเช่นกัน ต่อได้หลายบาท

ส่วนการลงพื้นที่ภาคสนาม ความยากอยู่ที่การขอสัมภาษณ์ครับ ถ้าเราบอกเขาว่า เรามาทำวิจัยของสัมภาษณ์หน่อย รับรองได้เลยครับ เขาเดินหนีทันที (อันนี้ประสบการณ์จากครั้งที่ผ่านมา) วิธีที่ได้ผลคือ การเข้าไปชวนคุยไปเรื่อย แล้วนำเข้าประเด็นที่เราอยากรู้ครับ แต่ก็คุยประเด็นเดียวไม่ได้เหมือนกันครับ เพราะถ้าเขารู้สึกไม่สนุกจะคุยแล้ว เราก็จะได้ข้อมูลได้ไม่หมด จะต้องเปลี่ยนประเด็นแล้วก็พาวกกลับมาอีกครั้งครับ

สำหรับรอบนี้ ผมกำหนดแนวทางการหาแหล่งข้อมูลไว้ว่า ผมจะต้อหาไกด์นำเที่ยวชุมชนไทย แล้วให้เขาเป็นคนนำไปหาแหล่งข้อมูล และบางข้อมูลก็จะต้องได้จากไกด์คนนี้ซึ่งต้องเป็นคนไทย ปัญหาคือ ใครจะมาเป็นไกด์ให้ผมได้ ผมจึงตั้งใจว่าจะต้องกลับไปหาผู้ใหญ่บ้าน (พี่จำเริญ) แต่ผมก็ผิดพลาดอีกจนได้ครับ คือ ผมไม่ได้หยิบเอาเบอร์โทรของพี่ท่านมาด้วย ดังนั้นผมก็ปรับแผนอีกรอบ โดยเอาโจทย์ของการหาพี่จำเริญมาเป็นประเด็นหาแหล่งข้อมูล แล้วผมก็ใช้เป้าเดิมคือ สัมภาษณ์จากคนในหลากหลายอาชีพ

ผมขับรถไปเรื่อยๆ ในชุมชน จนกระทั่งเห็นร้านๆ หนึ่ง จึงจอดรถ เพื่อนถามว่าทำไมต้องร้านนี้ ผมตอบว่า ก็ชื่อร้านน่าสนใจ อ่านจากภาษาอังกฤษแล้ว น่าจะชื่อว่าร้านลายไทย งานนี้ผมขอไปคุยคนเดียวครับ ที่ไม่อยากให้ลงรถเลยคือ ดร.ดลวนะครับ เพราะทั้งหน้าตาและการแต่งกายของท่านเป็นมลายูชัดๆ

จากการสนทนาไม่ได้ประเด็นใหม่เท่าไรครับ แต่ได้ย้ำความถูกต้องของข้อมูลเดิม แล้วผมก็นึกถึงผลจากการลงภาคสนามครั้งที่สองว่า ครั้งนั้นผมอยากไปตลาดของตุมปัตมาก ดังนั้นเสร็จจากแหล่งข้อมูลแรก ผมก็ถามทางจากดร.ดลวนะ นำพาเราไปตลาดสด

ได้ผลดังคาดครับ คือ ผมได้เจอแม่ค้าคนไทยสามคน แล้วก็ได้สัมภาษณ์อย่างจุใจ เสร็จจากสามท่านนี้ ผมเริ่มเจ็บต้นขาขึ้นมาทันทีครับ ก็ยืนคุยเป็นชั่วโมง กลับมาที่รถ คราวนี้เริ่มไม่อยากจะเดินแล้วครับ ออ.แม่ค้าท่านที่สามให้ข้อมูลรอบด้านจริงๆ น่าสนใจมากครับ

อีกหนึ่งคำถามที่ผมยังไม่ได้คำถาม คือสภาพการตั้งชุมชน เพราะตั้งแต่รอบแรก รอบสองและครั้งนี้ ทุกคนบอกว่า การตั้งบ้านเรือนจะตั้งอยู่ในแหล่งเดียวกัน โดยไม่ปะปนระหว่างเชื้อชาติ แต่ผมยังไม่เห็นภาพนั้น ดังนั้นออกจากตลาดสด ผมก็ลงไปหาคำตอบนี้อีกครั้งในชุมชน และผมก็ใช้แนวเดิมครับ คือ ลงไปหาตามร้านขายของชำ และแล้วผมก็หาร้านที่น่าสนใจได้ ลงไปจะคุยกับเจ้าของร้าน แต่เจ้าของร้านไม่คุยด้วย ดีที่ยายคนหนึ่งที่มาซื้อของในร้านคุยกับผม แฮะ คุยนานด้วย ในสภาพที่ยืนคุยกัน ผมไม่กล้าบอกว่านั่งคุยกันดีกว่าครับยาย เนื่องจากกลัวท่านจะตอบว่า ไม่ล่ะ ยายไปก่อนดีกว่า ก็เลยยืนคุยอีกรอบ ผมรู้สึกว่าขาเจ็บของผมจะตึงไปหมดแล้วครับ แต่ต้องพยายามฝืนไว้ แล้วยายคนดังกล่าวก็สงสัยจะเมื่อยแล้วเหมือนกัน เธอหาที่นั่งคุย ผมจึงได้โอกาสนั่งด้วย โอ้ยโล่งไปเยอะ

รอบนี้คำตอบครบแล้วครับ สุดท้ายของการคุยกัน ยายก็ถามเพื่อนผมว่า เป็นคนไทยหรือเปล่าเพื่อนผมตอบว่า ครับ ส่วนดร.ดลวนะ ผมแนะนำว่าเป็นไกด์ชาวมาเลย์ของผม (ไม่เข้าใจภาษาไทย) ฮิฮิ ไม่ได้ตั้งใจจะหลอกครับ แต่คิดว่าจำเป็นต้องบอกแบบนั้น เพราะอยากให้ยายสบายใจว่าคุยกับคนไทยเท่านั้น ไม่ได้คุยกับมลายูที่พูดภาษาไทยได้ ส่วนผม ยายเข้าใจว่า เป็นคนไทยพุทธด้วยซ้ำผม แต่อันนี้ผมไม่ได้บอกนะครับ

เหตุที่ผมถูกเข้าใจว่าเป็นไทยพุทธ ในการลงสนามทั้งสามครั้ง เนื่องจากผมแหลงใต้ได้ชัดถ่อยชัดคำงัยครับ จะไม่ให้ชัดได้งัยก็ผมคนสตูล แล้วก็เข้าใจประเพณีทางศาสนาพุทธพอสมควร ดังนั้นการคุยเรื่องศาสนา เรื่องประเพณีคนไทยพุทธ ก็คุยได้สนุกครับ แต่ผมจะไม่โกหกนะครับ ถ้าแหล่งข้อมูลถามว่า เป็นพุทธหรือมุสลิม ก็จะตอบว่าเป็นมุสลิม ซึ่งจะมีคู่สนทนาเพียงไม่กี่คนที่ถามว่า ผมไม่ใช่พุทธหรอกหรือ? สำหรับรอบนี้ ยายถามเชื้อสายของสองคนครับ ส่วนผม ยายมองหน้าแล้วก็ยิ้ม ไม่ถามว่าเป็นอะไร แหม่ ก็จะมีมุสลิมกี่คนที่จะชวนคุยเรื่องทอดกฐินได้ละเอียดอย่างผม ฮิฮิ (ยกหางตัวเองอีกแล้ว)

จากการคุยกับยายคนนี้ ผมเกิดคำถามใหม่อีกแล้วครับ แฮะแฮะ อยากหาคนให้ทุนทำวิจัยต่ออีกแล้ว แล้วผมก็เสนอความคิดผมให้ดร.ดลวนะฟัง ท่านก็ตอบว่า ฮือ น่าสนใจจริงๆ

แต่จากสองวันนี้ ผมเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า หน้าตาผมมันเป็นแบบไหนกันแน่ คนไทยชัดๆ หรือหน้าออกมลายู หรือประเภทเปลี่ยนสีได้ ก็เข้าสังคมมลายู เขาก็ว่าน่าจะใช่คนมลายู เข้าสังคมไทยคนก็ว่าชัดๆ คนไทย งานนี้เลยทำให้คิดถึงคำพูดของอ.อับดุรรอห์มาน ที่เคยบอกว่า มุสลิมจำเป็นต้องมีเอกลักษณ์เพื่อให้คนอื่นรับรู้ได้อย่างไม่ลังเลว่าเป็นมุสลิม ผมเคยตอบท่านไปว่า นั่นแหละที่ผมต้องไว้เครา เพราะชื่อผม นามสกุลผม ไม่สื่อมาทางการเป็นมุสลิมเลย

จบเพียงเท่านี้นะครับ

หมายเลขบันทึก: 217901เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2008 00:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ตามมาขอบคุณถึงblog อาจารย์เลยค่ะ ได้ไปเที่ยวกลันตันด้วย เป็นกำลังใจแก่กันและกันนะคะ

สลามมุอาลัยกุม อาจารย์

อาจารย์ใครๆก็ดูออกว่าเป็นมาเล (คือมาจากเลบ้านเรางั้น)555555

ขอบคุณข้อมูลการเดินทางเพื่อโอกาส อัลฮัมดุลิลล่ะ

จะติดกลันตันตอนต่อไป บังหีม

ขอบคุณครับอาจารย์ อาจารย์เหม่ง

บันทึกอาจารย์ถ่ายทอดประสงค์การณ์ต่างประเทศน่าสนใจมากครับ ผมเข้าไปอ่านแล้วได้เรียนรู้เยอะแยะเลยครับ

วาอาลัยกุมุสลามครับบังหีม
แฮะแฮะ ท่าจีจริงครับ ออกดำๆ สักอีด ไม่บอกกาโร ว่ามาไต๋เล

 

นั่นแหละที่ผมต้องไว้เครา เพราะชื่อผม นามสกุลผม ไม่สื่อมาทางการเป็นมุสลิมเลย

....................

มันไม่แน่เสมอไปนะคะ เพราะเดี๋ยวนี้ กระแสวัยรุ่นเค้านิยมไว้เครา เพราะซุปเปอร์สตาร์บางคนไว้เครา ^^

ถึงเขียนยาว แต่ก็อ่านจบ อ่านทุกตัวตั้งแต่ตัวแรกถึงตัวสุดท้าย

เขียนอีกนะคะ ได้ข้อคิดดีๆหลายเรื่อง

สลามค่ะ

ขอบคุณครับ SK

ตอนนี้การไว้เคราเป็นเรื่องของวัยรุ่นด้วยครับ ผมก็คิดอยู่เหมือนกันว่าจะให้เคราสีอะไรดี ฮิฮิ เผื่อจะได้ลดอายุไปได้เยอะๆ หน่อย

วาอาลัยกุมุสลาม น้องนางสาวมารียา เจ๊ะตำ

พยายามเขียนสั้นๆ แล้วครับ แต่ทำไม่ได้ เขียนทีไรแล้วเรื่องยาวทุกทีไป

 

- ผมอ่านที่อาจารย์เล่ามาทีไร ทำให้ผมจินตนาการเหมือนผมยืนอยู่กับอาจารย์และคุณยายข้างๆด้วย มันเห็นภาพมากๆเลยครับ

- ส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบที่จะเข้าไปพบปะในชุมชนเรียนรู้สิ่งใหม่ๆจากชุมชนนั้นๆครับ

อ่านแล้วอยากไปเที่ยวด้วย จัง

ได้ข่าวว่า อาทิตย์หน้าพรรคพวกจะไปสิงคโปร์ เสียดายจัง

ขอบคุณครับ ซุลกอรนัยน์ที่ติดตามอ่าน

ขอบคุณครับอาจารย์ ibm ครูปอเนาะ

ไปสิงค์โปร์ ผมก็ไม่ได้ไปด้วยครับ เพราะติดงานสัมมนาที่มหิดล

ขายเพื่อนกันน่าดูเลยน่ะ แต่ยังไงรอบหน้าก็หน้าด้านจะขอตามไปอีก มีเรื่องฝากความหวังให้เพื่อนช่วยเรื่องหนึ่ง คือต้องการประวัติของเชคดาวูดและนักวิชากการมุสลิมอื่นๆ ที่น่าสนใจ ถ้ามีรบกวนตอบมาด้วย (ใครที่อ่านถ้ามีก็รบกวนส่งกลับมาจะขอบพระคุณมาก)

ขอบคุณ hadee ที่ร่วมเดินทางแล้วยังแวะมาเยี่ยมบล็อกอีก ฮาฮา

มีเพื่อนดีก็อย่างงี้แหละ ขอช่วยมาทำงานแล้วยังเอามาขายได้อีก ฮาฮาฮา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท