เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเพื่อนร่วมงานใหม่ของวลัยลักษณ์


การที่คนเราจะบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้นั้น จะต้องสร้างความสมดุลในจิตใจของตนให้ได้เสียก่อน

เมื่อเวลาประมาณ 13.45 น.วันนี้ผมได้รับเชิญจากหน่วยOD ให้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับบุคลากรใหม่ของพวกเราชาววลัยลักษณ์ทั้งสายวิชาการและสายปฏิบัติการฯ ประมาณ 30 คน โดยมีพวกเราชาววลัยลักษณ์ทั้งสายวิชาการและสายปฏิบัติการฯที่ทำงานด้วยความภูมิใจในวลัยลักษณ์ที่อยู่กับวลัยลักษณ์มานานหลายปี จนบางคนนับปีไม่ค่อยถูกเหมือนกันจริงไหมครับ มาร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยอีกประมาณ 25 คน โดยวัตถุประสงค์ของการเปิดเวทีก็เพื่อสร้างค่านิยมร่วมกันในการทำงานเพื่อวลัยลักษณ์อันเป็นที่รักของพวกเราทุกคน ซึ่งขอชื่นชมในกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ และขอให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานทุก ๆ คน ที่เสียสละเวลาในการให้ความร่วมมือและเข้ากิจกรรมอย่างมากพอสมควรทีเดียวนะครับ ในส่วนผมเองได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพวกเราในวันนี้ว่า การที่คนเราจะบรรลุเป้าหมายในชีวิต จะต้องสร้างความสมดุลในจิตใจของตนเองให้ได้เสียก่อน เพราะโดยปกติแล้วจิตใจคนเราทุกคนจะมี 2 ด้านคือ ด้านที่ใฝ่ดี คือ จิตใจที่มีความคิดในลักษณะของความทุ่มเท ขยัน มานะ บากบั่นในการทำงานเพื่อให้งานที่ทำมีคุณภาพ มีคุณค่า เป็นที่ยอมรับของสังคมและคนทั่วไปเพื่อให้ได้รับการยกย่อง และนำไปสู่เป้าหมายในชีวิตทั้งในเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงาน ฐานะ ความมั่นคง และการได้รับการยกย่องจากสังคม  ในขณะเดียวกันทุกคนก็จะมีจิตใจในอีกด้านหนึ่งที่ใฝ่ในทางร้าย ด้วยเช่นกันเสมอ ลักษณะของจิตใจที่ใฝ่ในทางร้ายนี้จะมีลักษณะของความหลง เช่น การหลงในวัตถุ การหลงในหน้าตา การหลงในยศ ตำแหน่ง ซึ่งความหลงในสิ่งเหล่านี้หากมีเกินความพอดี ก็จะเป็นตัวบั่นทอนจิตใจที่ใฝ่ทางดีในลดน้อยถอยลง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น คน ๆ คนนั้นก็จะทำงานหรือทำทุกสิ่งเพื่อให้ได้ความหลงเหล่านี้มา แต่จะไม่ได้มุ่งทำงานเพื่อให้งานที่มีทำมีคุณภาพหรือคุณค่า ดังนั้นคนที่ประสบความสำเร็จและไปถึงเป้าหมายในชีวิตจึงต้องมีความสามารถในการบริหารจิตใจตัวเองให้เกิดความสมดุลระหว่างจิตใฝ่ทั้ง 2 ด้าน ด้วยเหตุนี้การที่วลัยลักษณ์ของพวกเราจะบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ ก็จะเกิดจากระดับการสร้างความสมดุลที่เกิดขึ้นในหมู่พวกเราชาววลัยลักษณ์ทุกคนนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 21777เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2006 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
บรรจงวิทย์ ยิ่งยงค์

ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้   ทั้งในฐานะที่เป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรมนี้  และในฐานะที่เป็นพนักงาน มวล.คนหนึ่งที่ต้องการจะเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ / ทำความรู้จัก  สร้างความสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงานให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ถึงแม้จะเป็นกิจกรรมที่เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรก (เดิมเป็นกิจกรรมในลักษณะ/รูปแบบของการปฐมนิเทศพนักงานใหม่ที่พนักงานส่วนใหญ่มารับฟังข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เพียงฝ่ายเดียว) แต่ผลจากการทำ AAR หลังจากจัดกิจกรรมเสร็จแล้ว  ปรากฏว่าหลายๆคนไม่ได้ตั้งความหวังอะไรมากนัก  นอกจากการมาพบปะ /รู้จักเพื่อนใหม่เพิ่มมากขึ้น    แต่หลายๆคนกลับได้รับประโยชน์ในเรื่องอื่นๆเพิ่มเติม จากการแบ่งกลุ่มเล่าเรื่องกัน ( 4 กลุ่ม  กลุ่มละ 10 คน) เช่น ได้รับฟัง / ลปรร.แนวคิด  ประสบการณ์ / ทัศนคติ ในการทำงานและการใช้ชีวิตที่มีความสุขในมหาวิทยาลัย  ทำให้คนอื่นๆ(ทั้งที่เป็นพนักงานที่เพิ่งเข้ามาปฏิบัติงานใหม่และพนักงานที่ทำงานมาแล้ว 3 ปี  5ี ปี 10 ปี และเกิน 10 ปี ) สามารถนำเอาแนวคิด /ประสบการณ์ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ได้   รวมทั้งเกิดทัศนคติที่ดีต่อกันไม่ว่าจะเป็นพนักงานในระดับตำแหน่งใดก็ตาม  เกิดแรงจูงใจที่ดี   เกิดพลัง  ได้ทบทวนการใช้ชีวิต การทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมถึงได้ตระหนัก/ตั้งใจที่จะ ทำงานเพื่อองค์กรให้ดียิ่งขึ้นๆไป  นอกจากนี้แต่ละคนได้มีข้อเสนอแนะที่ดีที่จะให้ผู้จัดพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น  เช่น เพิ่มเวลาในการเล่าเรื่อง  เพิ่มกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์(เน้นการทำงานเป็นทีม)  จัดโครงการลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมสู่พนักงานมากขึ้น  เป็นต้น   ซึ่งทางผู้จัดยินดีที่จะรับไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป

       ในส่วนของตัวผมเองยังมีความประทับใจเพิ่มเติมในหลายๆ เรื่องจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้    และประทับใจ รศ.สมนึก ที่ได้ให้ความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะนี้โดยตลอดทุกครั้ง   ซึ่งเป็นกำลังใจที่ดีให้กับพนักงานเป็นอย่างมาก  ช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้บริหารกับพนักงานระดับล่างได้มาก และได้มารับฟังทัศนคติ /ความคิดเห็นจากพนักงานโดยตรง  อันจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายของ มวล.ต่อไป 

      มีอีกสิ่งหนึ่งที่รศ.สมนึก ได้ให้ข้อคิดกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้คือ ท่านได้กล่าวว่า(โดยสรุป) "การกระทำของพนักงานและขององค์กรจะต้องมีความสมดุลกัน  ท่านได้เปรียบเทียบว่ามวล.เป็นเสมือนเรือลำเล็กๆที่วิ่งในทะเล  มีจุดหมายที่จะไปยังสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง  ซึ่งจะต้องเจอคลื่นลม/สภาพอาอาศที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง   โดยในเรือดังกล่าวจะมีคนหลายๆคน(เปรียบเสมือนพนักงานของมวล.)นั่งไปด้วย  ในกรณีที่มีฝนตกหรือแดดร้อนในด้านใดด้านหนึ่งของเรือ  แล้วพนักงานที่นั่งอยู่ด้านนั้นทั้งหมด ลุกขึ้นไปนั่งอีกด้านหนึ่งเพื่อไม่ให้ตนเองร้อนหรือเปียกฝน  ก็จะทำให้เรือจมลงได้  ซึ่งจะทำให้เรือไม่สามารถไปสู่เป้าหมายที่วางไว้  ทั้งเรือและคนก็จะจมน้ำ " ซึ่งเป็นข้อคิดที่ดีและเปรียบเทียบได้ชัดเจนมากครับ 

     

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท