แม้วบี้ทนงแก้ 'ถังแตก' สั่งล้วงเงินฝากแก้ขัด


แม้วบี้ทนงแก้ 'ถังแตก' สั่งล้วงเงินฝากแก้ขัด

      จากกรณีที่กระทรวงการคลังประสบปัญหาสภาพคล่อง รายรับไม่พอกับรายจ่าย จนดุลเงินสดติดลบวันละ 800 ล้านบาท วานนี้ (28 มี.ค.)นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีได้กำชับนายทนง พิทยะ รักษาการรมว.คลัง ดูแลเงินคงคลังอย่างใกล้ชิด ให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของส่วนราชการทุกแห่งว่ามีหน่วยงานใด   เบิกจ่ายเงินแล้วนำไปฝากสถาบันการเงินเพื่อหวังรายได้จากดอกเบี้ย หากตรวจพบผู้บริหารระดับสูงแต่ละแห่งจะต้องรับผิดชอบทันที เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ  “ในที่ประชุม ครม. ไม่ได้หารือถึงสาเหตุเงินคงคลังเหลือน้อย เพราะ รมว.คลังแจงรายละเอียดอย่างชัดเจน ซึ่งก็ไม่น่าเป็นห่วง และนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้คลังดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงตรวจสอบหน่วยงานราชการที่เบิกเงินไปแล้วไม่ได้ใช้ตามที่ขอเบิกจ่ายด้วย หากพบว่ามีการกระทำดังกล่าวผู้บริหารระดับของหน่วยงานต้องรับผิดชอบ”
ทั้งนี้ เงินคงคลังในปัจจุบันเหลือเพียง 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งนายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า สำนักงบฯ เป็นห่วงกับการกระทำของหน่วยงานราชการบางแห่งกรณีที่เบิกจ่ายงบประมาณจำนวนมาก แล้วนำเงินส่วนหนึ่ง ฝากกับสถาบันการเงินเพื่อหวังรายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มเติม ดังนั้นอยากให้กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับแผนการเบิกจ่ายใหม่ โดยมีมาตรการตรวจสอบการนำเงินไปใช้อย่างเข้มงวด ให้อนุมัติรายจ่ายตามความเป็นจริงและควรเป็นรายงวด
นายวราเทพ รัตนากร รักษาการ รมช.คลัง กล่าวชี้แจงกรณีที่ระบุว่าการที่รัฐบาลค้างจ่ายเงินผู้รับเหมา    ก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิหลายหมื่นล้านบาท เพราะเงินคงคลังไม่เพียงพอนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมินั้นใช้เงินกู้จากต่างประเทศจึงไม่เกี่ยวข้องกับฐานะเงินคงคลังแต่อย่างใด  ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าผู้รับเหมาทั่วประเทศส่งงานไป 6 เดือนแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงิน ในทางปฏิบัติกรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินให้กับส่วนราชการหรือจ่ายตรงให้กับผู้รับจ้างภายในระยะเวลา 3–7 วัน การกล่าวอ้างเรื่องดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้  “สำหรับงบประมาณการเลือกตั้ง 2,000 ล้านบาท ในวันที่ 2 เมษายน 2549 หรืออาจใช้มากกว่านั้นหากการเลือกตั้งยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อเงินคงคลัง ขอชี้แจงว่าเงินจำนวนดังกล่าวใช้เงินงบกลางของปี 2549 และมีเงินรายได้แผ่นดินรองรับไว้แล้ว ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ปรับแผนการใช้จ่ายเงินให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย  จึงไม่ส่งผลกระทบต่อเงินคงคลัง” นายวราเทพ กล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังได้สั่งให้กรมบัญชีกลางหาแนวทางแก้ไขเรื่องนี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในเบื้องต้นได้ตรวจสอบว่าหน่วยงานใดที่มีเงินฝากอยู่ในธนาคารเป็นจำนวนมากให้นำเงินส่วนนั้นออกมาใช้ก่อนเพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้นแล้วจึงหาแนวทางแก้ไขปัญหาเม็ดเงินส่วนนี้ในภายหลัง
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น ทางกรมบัญชีกลางต้องมาดูว่าหน่วยงานที่เบิกเงินแล้ว      ไปฝากในธนาคาร แล้วไม่สามารถดึงกลับมาใช้ก่อนได้มีข้อขัดข้องทางกฎหมายเรื่องใด หากจำเป็นต้องแก้กฎหมาย ในส่วนนี้ก็คงต้องทำ เช่น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีเม็ดเงินฝากไว้ที่ธนาคารเป็นจำนวนมาก  แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่และไม่สามารถดึงกลับเข้ามาโยกให้หน่วยงานอื่นใช้ก่อนได้ และยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีเงินฝากไว้โดยไม่ใช้ประโยชน์ จึงต้องหาทางแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถดึงเงินเหล่านี้มาใช้ได้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว “ระบบการจัดการด้านการเงินการคลังอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS ทำให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณ  รวดเร็วขึ้น แต่เบิกไปแล้วควรจะนำไปใช้จ่ายไม่ใช่เบิกไปฝากแบงก์ ที่บอกว่าขาดกระแสเงินสดนั้นมันก็จริงส่วนหนึ่ง เพราะเม็ดเงินไปจมที่แบงก์หมดถ้าจะพูดจริง ๆ เงินมันมีเหลือมากแต่ดึงกลับมาใช้ไม่ได้ ถ้าจะดึงกลับมาใช้ให้ได้ต้องแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถดึงกลับมาให้หน่วยงานที่จำเป็นต้องใช้ก่อน ผลในระยะยาว จะทำให้การเบิกจ่าย    มีประสิทธิภาพมากขึ้นและไม่เกิดปัญหาขาดกระแสเงินสดรับขึ้นอีก” แหล่งข่าวกล่าว
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการปรับปฏิทิน  งบประมาณรายจ่ายปี 50 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ เนื่องมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรจึงทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ เกิดความล่าช้า โดยคาดว่าดำเนินการได้เดือน พ.ย.  แต่ช่วงเดือน ต.ค. สามารถใช้เงินของปีงบประมาณ 49 ก่อนเพราะยังมีเหลือ
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 49 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยขยายเวลาตั๋วสัญญาใช้เงินจากธนาคารออมสิน 5,000 ล้านบาท ที่จะครบกำหนดคืนวันที่ 26 เม.ย. 49 ออกไปก่อน เพื่อรักษาระดับเงินสดให้เพียงพอกับการเบิกจ่ายงบประมาณ เนื่องจากระหว่างเดือน เม.ย.–พ.ค.นี้ คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในอัตราที่สูง ในขณะที่รายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี    จะนำส่งคลังได้ในสัปดาห์แรกของเดือน มิ.ย. จึงทำให้เงินคงคลังไม่เพียงพอที่จะรองรับธุรกรรมรายจ่ายของรัฐบาล  “ตั๋วสัญญาใช้เงินที่คลังทำกับออมสิน 5,000 ล้านบาทมีอายุ 6 ปี ดอกเบี้ย 2 % ต่อปี ซึ่งการขยายเวลาชำระคืนออกไป จะทำให้วงเงินรวมภายใต้แผนการบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจาก  2.6 แสนล้านบาท เป็น 2.65 แสนล้านบาท แต่ก็จะทำให้การบริหารเงินสดรับและจ่าย ของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันการณ์มากยิ่งขึ้น”
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการปรับปรุงวิธีการบริหารจัดการหนี้ต่างประเทศของรัฐบาล 1.32 แสนล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 1.93 แสนล้านบาท จากเดิมที่กำหนดวิธีการรีไฟแนนซ์ ยืดหนี้หรือสว็อปว่า แต่ละประเภท   เป็นเงินเท่าไร  เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นข้อจำกัดในทางปฎิบัติและขาดความคล่องตัวในการบริหาร


ผู้จัดการรายวัน  29  มีนาคม  2549

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21705เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2006 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท