ผู้ที่ผ่านมาเยี่ยมบันทึกของผู้เขียนเป็นประจำ คงจะเคยเห็นว่าผู้เขียนใช้ศัพท์นี้เป็นปกติ ส่วนความหมายที่ผู้เขียนใช้นั้น อาจเป็นไปได้ทั้งเชิงบวกหรือเชิงลบ ดังเรื่องราวในบันทึกนี้...
อนุโมทนา เป็นคำที่ใช้กันติดปากสำหรับบรรดานักบุญหรือผู้คุ้นเคยอยู่กับวัด เพียงแต่ความหมายและความเข้าใจในภาษาไทยอาจแตกต่างไปบ้างจากภาษเดิม และอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีกเมื่อเพ่งเฉพาะท้องถิ่นที่ใช้ ดังเช่น ภาษาถิ่นปักษ์ใต้ (โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา) จะพูดกันสั้นๆ ว่า โมนา นั่นคือ ลดรูปลดเสียง จาก...
- อนุโมทนา - โมนา
ดังเช่นสำนวนว่า...
- เฮ ! ฉานอีไปทอดถิ่นวัดโคะ ใครอี โมนา มั้งฮะ ? ( นี้ ! ฉันจะไปทอดกฐินวัดพระโคะ ใครจะร่วมทำบุญบ้าง ?)
- โมนา ไปกับบ้านออกแล้ว ทำเล่าก็ได้ ชาติหน้าจะได้พบกันเล่า ! (ร่วมทำบุญไปกับบ้านออกแล้ว ทำอีกก็ได้ ชาติหน้าจะได้พบกันอีก)
โมนา ซึ่งรูปลดเสียงมาจาก อนุโมทนา ตามที่เล่ามา น่าจะหมายถึง ร่วมทำบุญ หรือ บริจาค...
............
คำว่า อนุโมทนา มาจาก มุทะ รากศัพท์ซึ่งใช้ในความหมายทำนองว่า พอใจ. ยินดี. ชื่นชอบ. โดยมี อนุ ซึ่งบ่งชี้ความหมายว่า ตาม เป็นอุปสัคนำหน้า
- อนุ+มุทะ+ยุ = อนุโมทนา (แปลงสระ อุ เป็น โอ แล้วแปลง ยุ ปัจจัยเป็น อนะ ตามหลักไวยากรณ์)
โดยมีวจนัตถะว่า...
- กุสลกมฺมํ อนุโมทติ ตายาติ อนุโมทนา
- บุคลย่อมยินดีตาม ซึ่งกุสลกรรม ด้วยกิริยานั้น ดังนั้น กิริยานั้นชื่อว่า อนุโมทนา (เป็นเหตุตามยินดี)
อนุโมทนา ซึ่งแปลตรงตัวว่า ตามยินดี หรือ ยินดีตาม แต่ถ้าจะแปลใ้ห้ได้สำนวนไทยน่าจะแปลว่า พลอยยินดี พลอยชื่นชม ด้วยความเต็มใจ หรือ เห็นชอบด้วย
..........
ส่วนสาเหตุที่ศัพท์นี้ได้รับการนิยมจนพูดกันติดปาก ผู้เขียนคิดว่าเพราะการพลอยยินดีหรือพลอยชื่นชมในกุศลกรรม คือสิ่งที่เป็นบุญ สิ่งดีๆ ที่คนอื่นทำนั้น จัดเป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า
- ปัตตานุโมทนามัย - บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
กล่าวคือ เมื่อใครทำบุญหรือทำความดีแล้วต้องการจะเผื่อแผ่บุญหรือความดีนั้นให้เรา ซึ่งเรียกกันว่า ปัตติทานมัย (บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ)... ถ้าเรายินดีเห็นชอบเห็นสมในความดีของเค้า เราก็มักจะรับคำว่า สาธุ ! หรือ อนุโมทนา สาูธุ ! นั่นคือ การพลอยยินดีในส่วนบุญหรือความดีนั้น ซึ่งจัดเป็นบุญเหมือนกันเรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย
และการอนุโมทนานี้ ถือกันว่าถ้าอนุโมทนาแต่ปากแต่ใจได้บุญน้อย ต้องทำด้วยจึงจะได้บุญมาก ดังนั้น คำว่าอนุโมทนา ค่อยขยายความหมายไปถึง การร่วมทำบุญ หรือ ร่วมบริจาค ในภาษาไทย ดังตัวอย่างที่ผู้เขียนเล่ามาข้างต้น
อีกอย่างหนึ่ง เพราะการอนุโมทนาหรือพลอยยินดีในบุญความดีนี้เอง... ต่อมา หากใครทำอะไรแล้ว เราเห็นชอบด้วยว่าเหมาะสมหรือดีแล้ว ก็ใช้คำว่า อนุโมทนา ซึ่งตามนัยนี้ก็อาจหมายถึง เห็นด้วย ดีแล้ว (เป็นความหมายเชิงบวก) ... และก็มีเหมือนกัน ที่ใครบางคนซึ่งพูดมาก ชอบคุย มักวาดโครงการให้คนข้างเคียงฟังบ่อยๆ ก็อาจได้รับคำว่า อนุโมทนา ซึ่งตามนัยนี้บ่งชี้ว่า ไม่อยากโต้เถียงด้วยเพราะรำคาญ (เป็นความหมายเชิงลบ)
............
อนึ่ง บางคนบอกว่า ถ้าอนุโมทนาก็ต้องเฉพาะส่วนบุญเท่านั้น ถ้าเรารับคำอนุโมทนารวมๆ แล้ว เราก็จะรับทั้งส่วนที่เป็นบุญและส่วนที่เป็นบาปของเค้ามาทั้งหมด... ซึ่งผู้เขียนยังเรียนไม่ถึงนี้ เพราะไม่เคยเจอและไม่รู้ว่าเค้าเอามาจากคัมภีร์ไหน
สำหรับความเห็นส่วนตัว คิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรมาก ก็คือ ใครทำดีแล้วปลื้มใจในการกระทำของเค้าก็นำมาเล่าให้เราฟัง อยากให้เรามีส่วนร่วมด้วย... เราก็ควรพลอยปลื้มใจในความดีที่เค้าได้ทำด้วย ซึ่งนั้นจัดเป็นหลักมุทิตาธรรมในพรหมวิหาร (มุทิตา ยินดีในเมื่อผู้อื่นทำดีหรือได้ดี) และกิริยาทำนองนี้ จัดเป็นบุญได้เหมือนกัน...
ทำไมจึงจัดว่าเป็นบุญได้ เพราะบุญแปลว่าฟอกหรือชำระ หมายถึงฟอกหรือชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสปราศจากกิเลส... และเฉพาะปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการพลอยยินดีส่วนบุญทำนองนี้ ย่อมฟอกจิตใจให้ปราศจากกิเลสคือความอิจฉาริษยาในการกระทำดีของผู้อื่นนั่นเอง...
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า...
- สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย
- ความบริสุทธิ์ (หรือ) ความไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตน คนหนึ่ง พึงชำระให้อีกคนหนึ่งบริสุทธิ์ หามิได้เลย
นั่นคือ ถ้าเราอนุโมทนาส่วนบุญของผู้อื่น ก็ทำให้ความอิจฉาริษยาที่จะบังเกิดภายในใจนั้นหมดไป (หรือน้อยลง) ซึ่งเป็นอุบายง่ายๆ แม้จะไม่ถึงขนาดทำให้จิตใจบริสุทธิ์ อย่างน้อยก็ทำให้จิตใจเราผ่องใสสดชื่น ไม่ขึ้งเครียดเพราะความอิจฉาริษยา...
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย BM.chaiwut ใน เล่าเรื่องภาษาบาลี
นมัสการพระคุณเจ้า เจ้าค่ะ
เคยเห็นจากซองผ้าป่าสามัคคี
โมทนาบุญ และ อนุโมทนาบุญ
และสงสัยคำว่า นมัสการ และกราบนมัสการ
กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ