คำนี้เป็นบาลีที่มีใช้ทั่วไปในภาษาไทย ลองเปิดพจนานุกรมตรวจสอบภาษาอังกฤษก็แปลได้หลายศัพท์ เช่น world. earth. globe. planet. ฯลฯ อาจสะท้อนกลับมาได้ว่า โลก ในภาษาไทยนั้นบ่งชี้ถึงความหมายใดบ้าง จึงขอฝากให้ผู้สนใจไปคิดต่อ ส่วนบันทึกนี้จะเล่าเฉพาะในความหมายภาษาบาลี...
ในหนังสือชื่อ ธรรมวิจารณ์ ซึ่งเป็นหนังสือในหลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นเอกนั้น หน้าแรกได้อัญเชิญคาถามาตั้งไว้ว่า
- เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ จิตฺตํ ราชรถูปมํ
- ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ
- สูเจ้าทั้งหลาย จงมาดูโลกนี้ อันตระการดุจราชรถ
- ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่
แล้วก็เริ่มอธิบายว่า โลก โดยตรงคือแผ่นดินเป็นที่อาศัย โดยอ้อมคือหมู่สัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินอยู่... (คิดว่าหลายคนคงเคยอ่าน) แต่พอบวชเรียนอยู่หลายปี ก็ได้ยินคำแปลใหม่ว่า
- สูเจ้าทั้งหลาย จงมาดูโลกนี้ อันตระการดุจราชรถ
- ที่พวกคนเขลาบวชอยู่ แต่ผู้รู้หาบวชอยู่ไม่
(5 5 5 5 5 5...)
............
ในประเด็นว่า โลก คือ หมู่สัตว์ผู้อาศัยแผ่นดินอยู่ ตรงกับบทวิเคราะห์ในคัมภีร์อภิธานว่า
- ลุชฺชตีติ โลโก
- สัตว์ใด ย่อมเสื่อม ดังนั้น สัตว์นั้น ชื่อว่า โลก
โดยท่านบอกว่า โลก มาจาก ลุชะ รากศัพท์ ใช้ในความหมายว่า เสื่อม,พินาศ .... และท่านก็ยกบาลีภาษิตซึ่งเราได้ยินอยู่เสมอว่า...
- กมฺมุนา วตฺตตี โลโก
- สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
โลโก ที่แปลว่า สัตว์โลก ในพระคาถานี้ ก็คือ สัตว์ผู้เสื่อม หรือ สัตว์ผู้พินาศ นั่นเอง
และในประเด็นว่า โลก คือ แผ่นดินเป็นที่อาศัย ตรงกับบทวิเคราะห์ในคัมภีร์อภิธานว่า...
- ลุชฺชตีติ โลโก
- ภพใด ย่อมเสื่อม ดังนั้น ภพนั้น ชื่อว่า โลก
โลกตามวิเคราะห์นี้ เหมือนกับข้างต้น เพียงแต่วิเคราะห์นี้ มุ่งขยายคำว่า ภพ นั่นคือ โลกตามนัยนี้ แปลว่า ภพที่เสื่อม ขณะโลกตามนัยก่อนแปลว่า สัตว์ผู้เสื่อม ...
แต่ในความหมายว่าโลกคือแผ่นดินเป็นที่อาศัยนี้ ท่านตั้งวิเคราะห์อีกนัยหนึ่งว่า...
- ปุญญาปุญญวิเสสกานิ โลกิยนฺติ ปติฎฺฐหนฺติ เอตฺถาติ โลโก
- ความต่างกันแห่งบุญและมิใช่บุญ อันธรรมดาย่อมตั้งไว้ คือย่อมดำรงไว้ ในภพนี้ ดังนั้น ภพนี้ ชื่อว่า โลก
ตามวิเคราะห์นี้ ท่านว่า โลก มาจาก โลกะ รากศัพท์ซึ่งใช้ในความหมายว่า ตั้งไว้ โดยอรรถว่า ตั้งไว้ซึ่งบุญบาปต่างๆที่บรรดาส่ำสัตว์ยังเกี่ยวข้องอยู่...
..........
แต่ตามที่ผู้เขียนจำมา โลก รากศัพท์ ยังแปลว่า มอง. เห็น. ได้อีกด้วย จึงลองตรวจสอบคัมภีร์ธาตุุปปทีปิกาอีกครั้ง ท่านก็ยกตัวอย่างเรื่อง โลก ๓ ได้แก่
- สังขารโลก
- สัตวโลก
- โอกาสโลก
ขึ้นมาเป็นตัวอย่างพร้อมกับบทวิเคราะห์ ก็เจอ โลก ในความหมายว่ามองหรือเห็น โดยท่านวิเคราะห์ว่า
- โลกิยติ เอตฺถ ปุญญปาปํ ตพฺพิปาโก จาติ โลโก
- บุญและบาปด้วย ผลแห่งบุญและบาปนั้นด้วย อันสัตว์ย่อมเห็นได้ ในภพนี้ ดังนั้น ภพนี้ ชื่อว่า โลก
- โลกิยติ วิจิตฺตากาเรน ทิสฺสตีติ โลโก
- ภพใด อันสัตว์ย่อมเห็น คือย่อมปรากฎ โดยอาการอันวิจิตร ดังนั้น ภพนั้น ชื่อว่า โลก
ตามวิเคราะห์สองนัยนี้ อาจมองได้ว่า โลกนี้มีบุญบาปและผลของมันซึ่งเป็นนามธรรมที่เราอาจสังเกตเห็นได้... และโลกนี้มีความหลากหลายซับซ้อนสวยงามซึ่งเป็นส่วนรูปธรรมที่เราอาจสังเกตเห็นได้เหมือนกัน...
..........
สรุปว่า โลก ตามที่เล่ามาโดยย่อๆ นั้น มี ๓ ความหมาย กล่าวคือ
๑. โลก แปลว่า เสื่อม นั่นคือ สัตว์ก็เสื่อม และสถานที่สัตว์อาศัยอยู่ก็เสื่อม
๒. โลก แปลว่า ตั้งไว้ นั่นคือ เป็นที่ตั้งไว้ คือรองรับบุญและบาปของส่ำสัตว์ทั้งหลาย
๓. โลก แปลว่า มองเห็น นั่นคือ เป็นที่มองเห็นบุญบาปได้ และมองเห็นความสวยงามตระการตาก็ได้