เรื่องบางเรื่องที่เราอาจยังไม่รู้...เกี่ยวกับสมอง
จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร
เอกสารประกอบการนำเสนอ “กระบวนการพัฒนาเด็กปฐมวัย ในเขตพื้นที่อำเภอปางมะผ้า อำเภอ ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน”ภายใต้โครงการ “เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่โรงเรียนและชุมชนในการพัฒนาเด็กปฐมวัย”ดำเนินการโดย มูลนิธิรักษ์เด็ก (The Life Skills Development Foundation)สนับสนุนโดย บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และองค์การ เชฟ เดอะ ซิลเดร็น(สหรัฐอเมริกา)
บรรดานักวิจัยและนักพัฒนาที่แม่ฮ่องสอนเราคุยกันมากเรื่องของการพัฒนาศักยภาพคน เพื่อก้าวไปสู่การเรียนรู้และสร้างสรรค์ชุมชน แต่ค่อนข้างจะพัฒนายาก อาจเป็นเพราะ พื้นฐานการพัฒนาทางด้านสมองของคนแต่ละคนแตกต่างกัน พอมาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสมองแล้ว ทำให้คิดว่า หากจะพัฒนาคน คงต้องเริ่มที่การพัฒนาสมอง ตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพที่คุ้มค่าที่สุด แม้จะใช้เวลาค่อนข้างนาน องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ประกอบกับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมสนใจเป็นทุนเดิม ก็เลยร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และจัดประชุมวงเล็กๆกันภายในอำเภอ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมไปถึงการดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ตามที่กล่าวมาข้างต้น เวทีเรียนรู้ที่ว่า น่าสนใจ ทุกภาคส่วนที่ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ได้เรียนรู้ความมหัศจรรย์ของสมอง ตรงนี้เองเป็นพื้นฐานให้ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก ต้องตระหนัก และเริ่มต้นการพัฒนาสมองของคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวมาเป็นสมาชิกในชุมชน ของชาติในอนาคต เรามาเรียนรู้เรื่องของสมองไปพร้อมๆกัน นะครับ
- ความโง่ หรือความฉลาดของคนเรา ไม่ได้ติดตัวมาแต่เกิด แม้ว่าเราจะมีกรรมพันธุ์มาต่างกันแต่ “การเรียนรู้จากการฟัง คิด ถาม เขียน อ่าน และลงมือทำสิ่งต่างๆนั่นต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด”
- ในสมองของเรามีเซลสมองถึงราว 1 แสนล้านเซล ไม่มีใครเกิดมาแล้วมีเซลเพียงจำนวนหมื่น ทุกๆเซลในสมองรอให้เรา “เรียนรู้” กล่าวคือ เซลในสมองต้องการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกันเอง เพื่อให้เกิด “วงจร” ขึ้นจำนวนมาก วงจรและเครือข่ายของเซลในสมองเรานี่เอง คือสิ่งที่เรียกว่า การเรียนรู้
- สมองของเราเป็นระบบทางสรีรวิทยาที่ออกแบบเพื่อการเรียนรู้ ต้องการที่จะเรียนรู้และสมองเองรู้ดีโดยธรรมชาติว่าจะเรียนรู้อย่างไร เด็กทุกคนเริ่มหัดลืมตา คว่ำ คลาน นั่ง ยืน เดิน หัดเลียนเสียง กิน เคี้ยว กลืน (แรกๆ จะกลืนยังไม่เก่ง) กระบวนการเหล่านี้ได้พิสูจน์แล้วว่า สมองรู้จักวิธีการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากประสาทอัตโนมัติ ที่ทำได้ทั้งหมดก็เพราะเจ้าของชีวิตเรียนรู้ที่จะ “ทำ” ด้วยตัวเอง หน้าที่ของคุณครูและผู้ปกครองก็คือ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเรียนรู้ของเขา
- สมองเรียนรู้จากการลงมือทำ การลงมือทำหมายถึงว่า เราอาจเริ่มจากการผิด แก้ไขที่ทำผิดนั้น เรียนรู้จากที่ผิดแล้วพยายามใหม่จนพบว่าอะไรที่เรียกว่าถูกต้อง สมองจะใช้งานชุดความรู้ที่ถูกต้องและจัดการลบแบบแผนที่ผิดทิ้งไป ลองคิดเทียบเคียงกับการหัดขี่จักรยานอย่างไร ในความรู้ที่ซับซ้อนมากๆ อาจต้องการการแนะนำ ช่วยเหลือบางอย่าง เพื่อให้สมองเรียนรู้เร็วขึ้นก็ได้
- สมองเรียนรู้จากการฝึกฝน เพราะว่าการฝึกฝนเป็นกระบวนการที่เซลสมอง 2 เซลขึ้นไปเชื่อมโยงกับเดนไดรต์ซึ่งเป็นแขนงประสาทจะค่อยๆงอกสายใยประสาทออกไปโดยรอบ และเชื่อมโยงกับแอ็กซอนของเซลสมองอื่นๆ เรียกว่า ซินแนปส์ (Synapse) กระบวนการเช่นนี้แหละ คือสิ่งที่เรียกว่า การเรียนรู้ ดังนั้น การฝึกฝนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้การเรียนรู้อยู่ตัว
- การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา เพราะการเรียนรู้เกิดจากการเติบโตและการเชื่อมโยงกันของโครงข่ายร่างแหเซลสมอง เกิดเป็นวงจรหรือ pathway เมื่อวงจรหนาแน่นอยู่ตัว ความรู้ความชำนาญก็เกิดขึ้น เด็กทุกคนเรียนรู้ด้วยอัตราความเร็ว (rates) และจังหวะ (rhythm) ต่างกัน เด็กอายุเท่าๆกันไม่จำเป็นต้องเรียนได้ในอัตราความเร็วเท่ากัน เด็กทุกคนย่อมมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการเรียนรู้หรือชอบวิธีเรียนรู้ต่างกัน (different style of learning) ไม่ควรคิดว่าเด็กอายุเท่ากัน จะมีพัฒนาการเท่ากัน ไม่ควรคิดว่าเด็กอายุเท่ากันต้องบรรลุผลการเรียนรู้เท่ากัน พร้อมกันเสมอไป เด็กที่เรียนรู้เร็วไม่ได้แปลว่ามี ความสามารถ สูงกว่าเด็กที่เรียนรู้ในอัตราความเร็วที่ช้ากว่า การประเมินการเรียนรู้ของเด็กเป็นได้ทั้งประโยชน์และก่อให้เกิดปัญหา เพราะเด็กมีลีลาการเรียนรู้ต่างกัน มีหรือสนใจวิธีการสื่อสารต่างกัน ดังนั้น การประเมินอาจได้สะท้อนภาพที่แท้จริงของเด็ก
- ถ้าเซลสมองหรือนิวรอนในสมองของเราไม่ถูกใช้งาน เช่น ถ้าเราไม่ใช้หรือไม่ได้ฝึกฝนความรู้ที่เรารับมา นิวรอนก็จะฝ่อไป เดนไดรต์ (dendrite) และซินแนปส์จะค่อยๆหายไปถ้าเราเลิกใช้มัน ลองคิดดูว่าถ้าเราเรียนรู้วิธีขับรถยนต์ ฝึกสัก 10 วัน จนขับได้ แสดงว่าสมองได้จัดการเข้ารหัส (encode) สร้างกระบวนแบบ (pattern) ของวิธีขับรถยนต์ไว้ในสมอง เซลสมองชุดที่เกี่ยวข้องกับการขับรถได้เชื่อมโยงกันแล้ว แต่ถ้าเราไม่ได้ขับรถเลยในเวลาต่อมา ในไม่ช้าแบบแผนและสิ่งที่เชื่อมโยงไว้นี้ก็จะถูกลบทิ้งจากสมอง เว้นแต่ว่าการฝึกนั้นเราได้ทำจนชำนาญมากก็ยากที่จะลบข้อมูลนี้ออกจากสมองได้ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ความโง่ก็คือภาวะงอมือเท้าและไม่ทำอะไรเลยเท่านั้นเอง
- อารมณ์ มีบทบาทมากที่สุดต่อความสามารถที่จะเรียนรู้ คิด และสร้างความทรงจำ ความข้องใจต่อสิ่งที่ทำอยู่ ความกลัว ความเกลียดชัง ความเบื่อหน่าย จะกีดกัน การเรียนรู้
- ศิลปะและดนตรี เป็นเครื่องมือหรือเป็นกระบวนการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเซลสมองที่ช่วยในการพัฒนาสมอง ทั้งสองอย่างนี้ทำให้เกิดวุฒิภาวะทางอารมณ์ และทำให้รู้จักตนเอง การเข้าใจตนเองและพัฒนาอารมณ์ เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ เป็นความรู้ที่ละเลยไม่ได้ มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่า เมื่อเล่นดนตรีหรือฟังดนตรี สมองส่วนที่ใช้คิดคำนวณจะทำงานดีขึ้น เราทุกคนไม่ได้วาดรูปและเล่นดนตรีเพื่อจะไปเป็นศิลปิน แต่เราต้องการใช้ประโยชน์จากสองสิ่งนี้ การวาดช่วยให้เด็กๆระบายสิ่งที่อยู่ภายในใจออกมา ช่วยให้เด็กรู้ตัวว่าตัวเองรู้อะไร หรือไม่รู้เกี่ยวกับสิ่งที่วาดอยู่ การฟังดนตรีช่วยให้สมองผ่อนคลาย ลดความเครียด ฝึกสมาธิให้จดจ่อนิ่งอยู่กับเสียงเพลง รวมทั้งหัดสร้างจินตนาการ นอกจากนี้การค้นพบใหม่ๆ ชี้ว่า ดนตรีช่วยพัฒนาความสามารถในการคิดคำนวณ งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ดนตรีที่มีจังหวะเร็วและรุนแรงมากจะมีผลตรงข้าม คือ มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมก้าวร้าว และไม่มีสมาธิ
- สมองกีดกันไม่ให้เกิดความคิด และกีดกันการสร้างความทรงจำความเชื่อมั่น ความสนใจ ความตื่นเต้น ความอยากรู้ เหล่านี้เป็นอารมณ์ที่กระตุ้นให้เซลในสมองเชื่อมโยงกันได้ง่าย ทำให้สมองเรียนรู้ คิด และสร้างความทรงจำ
- คนทุกคนเกิดมาล้วนมีธรรมชาติแห่งการเรียนรู้แต่กำเนิด การที่สมองสร้างเซลขึ้นมาถึงแสนล้านเซล ก็เพื่อเตรียมรองรับการเรียนรู้ที่เป็นไปได้ทั้งหมด
- เราคิดว่าอาหารมีหน้าที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต แต่ที่จริงมันมีผลต่อการพัฒนาสมองเด็กอย่างมากเพราะสมองต้องการสารอาหารหลายชนิด และยังเป็นอวัยวะที่ใช้พลังงานมากที่สุดของร่างกาย สมองหนักเพียง 8% ของน้ำหนักตัวเราแต่ใช้พลังงานถึง 20% ของร่างกาย นอกจากนี้สารอาหารต่างๆ ยังมีผลต่อสมดุลเคมีที่กระตุ้นการทำงานของสมองให้ปกติ การขาดสารอาหารบางชนิดถึงกับทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุล และมีผลให้เด็กง่วงเหงาหาวนอน ก้าวร้าว ซึมเซา เป็นต้น การรับประทานอาหารแป้งน้ำตาลเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในช่วงเช้ามีผลให้สมองหย่อนประสิทธิภาพ ง่วง และเซื่องซึมลงในตอนสาย การจัดสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาไม่อาจละเลยความสำคัญของการจัดการด้านอาหารสำหรับเด็ก
- การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่การออกกำลังกายเป็นการสร้างภาวะสมดุลให้แก่ระบบไหลเวียนของโลหิต และเป็นการส่งออกซิเจนไปสู่สมอง สมองต้องการสนับสนุนจากทั้งสองระบบนี้ นอกจากนี้ การออกกำลังกายทำให้สมองหลายส่วนทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากข้อความเหล่านี้ เราเชื่อว่า “การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมย่อมสามารถช่วยให้เด็กก้าวไปสู่การพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเองได้” แต่จะก้าวไปสู่รูปแบบการพัฒนาเด็ก จำเป็นต้องได้รับความร่วมและมือจากทุกส่วนนับตั้งแต่คู่สามีภรรยาที่กำลังวางแผนมีบุตร พ่อแม่ ครอบครัว ชุมชน ตลอดจนบุคลากรองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง ว่าจะให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาเด็กหรือไม่ อย่างไร มองอนาคตพัฒนาการของเด็กอย่างไร เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิดและวางแผนต่อไป