บทสรุปเรื่อง Self-Management


ขอบคุณ Prof. Tanya Packer ผู้เข้าร่วมประชุม และผู้จัดงานประชุมทุกท่านครับ และคาดว่าเราคงจะได้เห็นความก้าวหน้าของการนำแนวคิด Self-Management ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทยมากขึ้นครับ

1. The Self-Management Model of Care คือรูปแบบการดูแลตนเองด้วยกระบวนการสร้างทักษะการคิดแก้ไขปัญหาและทักษะการคิดวางแผนจัดการปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ความบกพร่องของร่างกาย-จิตใจ-สังคม ความแปรปรวนของอารมณ์ภายใต้สถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่ การมีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่างๆ (Activity & Participation) ด้วยความเชื่อมั่นในสมรรถนะแห่งตน (Self-efficacy) การยอมตามหรือปฏิบัติคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์อย่างเหมาะสม (Optimal compliance) การรับรู้ทักษะการจัดลำดับความสำคัญของอาการของโรคจนถึงสิ่งที่มีผลตามมาจากอาการของโรค (Symptom & co-morbidity) การเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องการดูแลตนเอง คนดูแล ผู้บำบัด คน/สังคมรอบข้าง และสิ่งแวดล้อม (Relationships) และการรับรู้ความก้าวหน้าของโปรแกรมการรักษาด้วยการประเมินตนเอง (Self-Assessment on Treatments)  

2. รูปแบบข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ผู้ที่ต้องได้รับคำแนะนำการส่งเสริมสุขภาพ ผู้ที่ได้รับความเจ็บป่วยระยะแรกรับ ระยะกลาง และระยะเรื้อรัง ทั้งนี้บุคลาการที่สนใจต้องแนวคิดนี้ควรสร้างทัศนคติที่ดีของการทำความเข้าใจในระยะการเปลี่ยนแปลงของผู้ที่ต้องการดูแลตนเอง (Stage of Change) การฝึกทักษะในการใช้จิตวิทยาการให้แรงจูงใจแก่ผู้ที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต (Motivational Interviewing) การฝึกทักษะการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสมรรถนะแห่งตน (Building Self-efficacy) การฝึกทักษะการวิเคราะห์เหตุผลทางคลินิกโดยใช้การสะท้อนความรู้สึกจากผู้รับบริการเป็นสำคัญ (Client-centered reflection) การฝึกคิดและวางแผนการประเมินและการพัฒนาโปรแกรมการรักษาในรูปแบบเชิงวิจัยและพัฒนาจากโปรแกรมที่มีอยู่แล้ว การฝึกลำดับความสำคัญว่าจะตัดปัจจัยหรือเนื้อหาใดที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุดกับความก้าวหน้าของผู้รับบริการ การฝึกคิดปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นให้ผู้รับบริการคิดแก้ไขปัญหาและมีตัวเลือกในการตั้งเป้าหมายและวางแผนการจัดการปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของตนเอง (Prioritization & Action Planning on Enhancement of Quality of Life)

3. ผู้บำบัดไม่ควรใส่ความคิดของตนเองแต่ควรทำตัวเป็นองค์ประกอบต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้รับบริการที่ดำเนินชีวิตอยู่กับอาการเจ็บป่วยเรื้อรังได้อย่างมีความสุข ผู้บำบัดทำตัวเสมือนเป็นผู้นำทาง ผู้ควบคุมสัญญาณสื่อสาร ผู้สร้างสนามบินและลานบิน ผู้ควบคุมเวลา-เชื้อเพลิง-ฯลฯ ทำให้นักบินฝึกฝนตนเองจนมีคุณภาพ สามารถบินเครื่องบินเล็กๆ ขึ้นลงท้องฟ้าได้อย่างปลอดภัย

4. ปัจจัยหรือองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาก่อนการสร้างโปรแกรมการจัดการตนเอง ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์หรือสาขาอื่นๆ ที่ต้องเข้ามาร่วมโปรแกรม ความพร้อมของผู้รับบริการต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต (Readiness for Change) และความเชื่อมั่นในสมรรถนะแห่งตน (Self-efficacy) ซึ่งอาจสอบถามความรู้สึกด้วยสเกล 1-10 หากคนใดพร้อมจะอยุ่ในคะแนน 7 ขึ้นไป หากต่ำกว่านี้ ต้องมีการพูดคุยและย้ำเป้าหมายและความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง (ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่ผู้รับบริการพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง) อาจใช้วิธีการใช้ประสบการณ์จริงของผู้รับบริการที่เคยประสบผลสำเร็จ (Performance Mastery) และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้รับบริการที่มีประสบการณ์หรือพื้นฐานชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ใกล้เคียงกัน (Vicarious Experience)

5. หลักการสำคัญของการฝึกพูดคุยสร้างแรงจูงใจต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเบื้องต้น ได้แก่ นิ่งฟังอย่างจริงใจมากกว่าพูดสอนผู้รับบริการ แยกแยะพฤติกรรมที่มีปัญหาและค่อยๆ ดึงประเด็นของพฤติกรรมที่น่าจะปรับเปลี่ยนได้มากที่สุดก่อน ย้ำพูดประเด็นที่สะท้อนความรู้สึกของความตั้งใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สังเกตประเด็นที่ไม่แน่ใจจะปรับเปลี่ยนโดยกล่าวข้ามประเด็นไปหรือนำมาพูดคุยในครั้งอื่น และใช้จิตวิทยาให้ผู้รับบริการเรียนรู้ที่จะประเมินตนเอง จากการใช้คำถามปลายเปิดและการสร้างกิจกรรมเสริมสัมพันธภาพและความไว้วางใจในการเข้าใจคุณภาพชีวิตระหว่างผู้บำบัดและผู้รับบริการ

6. ผู้สนใจแนวคิดข้างตนต้องทบทวนความรู้ (Review of Evidence Based Practice) วางแผนขั้นตอนการสร้างโปรแกรมที่ชัดเจน ได้แก่ ระวังกระบวนการที่สับสนกับรูปแบบทางการแพทย์อื่นๆ (เช่น Patient education และ traditional medications) เข้าใจกระบวนการให้ความรู้เชิงจิตวิทยา (Psychoeducation) เข้าใจแนวคิดหรือโปรแกรมต้นแบบ เรียนรู้พฤติกรรมที่เสี่ยงหรือยากต่อการมีสุขภาพดี ระยะเวลาและความถี่ของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ชัดเจน มีการสำรวจข้อมูลเชิงคุณภาพถึงความสำคัญและความพึงพอใจของการให้มีโปรแกรมในกลุ่มผู้รับบริการ มีการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย และบุคลากรผู้สนใจแนวคิดนี้ มีการทดลองใช้และเปรียบเทียบเพื่อปรับปรุงพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบของโปรแกรม ทำการทดลองประสิทธิผลแบบสุ่มผู้รับบริการรายอื่นๆ และนำโปรแกรมไปใช้ในหน่วยงานอื่นๆ อย่างจริงจัง

7. ในช่วงจัดกลุ่มระดมความคิด พบว่า หลายกลุ่มยังคงมุ่งใส่ข้อมูลทางการแพทย์และความคิดจัดการอาการของผู้รับบริการกลุ่มต่างๆ เช่น เบาหวาน ปวดหลังส่วนล่าง ข้อเข่าเสื่อม โรคอ้วนในผู้ป่วยจิตเภท อัมพาต ผู้ปกครองในเด็กพิเศษ เป็นต้น ท่านวิทยากรแนะนำให้คิดหากลวิธีและกระบวนการเพื่อดึงทักษะความสามารถของผู้รับบริการในการสะท้อนการแก้ไขปัญหาและแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตจริงและพัฒนาสัมพันธภาพที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง หลายกลุ่มมีเทคนิคการจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจแต่ต้องคิดถึงโอกาสของการใช้เทคโนโลยีและเทคนิคทางจิตสังคมมาช่วย เช่น telephone coaching, following up in each session, individual assistance, problem solving skills training, stress management, emotional coping skills training, brainstroming in group, time management, motivational & self-efficacy building, audit of self-management skills, self-assessment tools ทั้งนี้ทุกๆขั้นตอนต้องค่อยๆคิดค่อยๆทำอย่างเป็นระบบและระมัดระวัง อย่าใส่ความคิดหรือข้อมูลมากจนเกินไปหรือเกินกว่าที่ผู้รับบริการจะเข้าใจถึงเป้าหมายที่แท้จริงของหลักการ Self-Management

 

 

  

 

หมายเลขบันทึก: 214051เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2008 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ขอบคุณ Dr. Pop มากนะครับ สำหรับแนวคิดเรือง Self management model มีหลายแนวคิดที่คล้ายกับงานวิจัยที่ผมทำอยู่

วันก่อนผมได้เขียนถึงเรือง Stage of Change และ Motivational interview

งานวิัจัยที่ผมทำอยู่เ้ป็น Recovery model ซึ่งเป็นแนวคิดคล้ายๆ (หรือเกือบจะเหมือนกัน) เพียงแต่แนวคิด recovery model ใช้ในคนไข้จิตเวชเรื้อรัง

เพือให้เกิด Readiness to change ในแนวคิด Recovery model เน้นในหลายๆ องค์ประกอบ เช่น

  • Hope
  • Re-defining self
  • Empowerment
  • Self-responsibility

ขออนุญาตินำเข้า แพลนเน็ต นะครับ

ขอบคุณมากครับคุณ recovery

ผมเห็นด้วยครับในความสอดคล้องกันระหว่าง Self-management model of care กับ Recovery model of psychological rehabilitation

ขณะนี้ผมกำลังศึกษาและทดลองวิจัยทั้งสองแนวคิดครับ

สำหรับทั้งสองแนวคิดสามารถนำมาวางแผนจัดโปรแกรมในผู้รับบริการที่มีความพร้อมทุกประเภทครับ ผมได้ข้อมูลการศึกษานำร่องจากทีมนักกิจกรรมบำบัดจากสถาบันกัลยาราชณครินทร์ รพ.ศรีธัญญา ศูนย์ยาเสพติดเชียงใหม่ ครับ

ยินดีมากๆครับ ที่ได้เข้า Planet ของคุณ recovery

หากมีโอกาสคงได้ทำงานพัฒนาโปรแกรมร่วมกันครับ

สวัสดีคะ อาจารย์ ป๊อป

ต้องขอขอบคุณมากนะคะสำหรับความตั้งใจที่จะนำความคิดดี ๆ มาเผยแพร่ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์สังคม ถึงแม้ดิฉันจะไม่ได้อยู่ในฐานะที่ต้องทำงานเกี่ยวเนื่องกับหัวข้อประชุม แต่ก็ได้นำไปใช้กับวิถึชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งเป็นการที่จะทำให้คนที่อยู่ในฐานะที่เป็นคนไข้ มีจิตใต้สำนึกว่า หากจะทำให้ตัวเองมีความสุข มีการพัฒนาให้ดีขึ้น จะต้องเริ่มที่ตนเอง อย่าไปหวังให้แต่ผู้อื่นช่วย แต่หากผู้ที่ยังคิดไม่ได้ ผู้ที่เป็นผู้ดูแล เช่น นักกายภาพบำบัด จะต้องทำอย่างไรให้คนที่มาหารู้สึกว่า ได้รับการเอาใจที่ดี อบอุ่น และพร้อมที่จะปฏิบัติตามที่ได้รับคำแนะนำด้วยความเต็มใจ ดังนั้น น่าจะเป็นข้อแนะนำที่ดีกับนักกายภาพบำบัดทั้งหลายที่กำลังทำงานอยู่ในปัจจุบัน น่าจะมีการทำ self management สำหรับคนไข้แต่ละราย เป็นประวัติของแต่ละคน สามารถ follow up ได้ มีการวางแผนอย่างไรให้กับคนไข้ ไม่ใช่ทำไปเรื่อย ๆ หาย ก็หยุด เริ่มรายใหม่ ต่อไป

ขอบคุณอีกครั้งหนึ่งนะคะ หวังว่า อาจารย์คงยังไม่หมดไฟ ที่จะทำให้มหาวิทยาลัยมหิดล มีชื่อเสียงทางด้านกายภาพบำบัดนะคะ เป็นกำลังใจให้คะ

มาลินี

ขอบคุณมากครับคุณมาลินี

ผมเห็นด้วยที่เราทุกคนทุกสาขาวิชาชีพ โดยเฉพาะอาจารย์กายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด ของคณะกายภาพบำบัดฯ ม.มหิดล ต้องสร้างทัศนคติที่ดีในการรู้จักวิถีชีวิตและระบบแนวคิดจากผู้รับบริการครับ

สวัสดีค่ะพี่ป๊อบ

ขอบคุณที่สรุปรายงานการประชุมให้นะคะ ขออนุญาติจิ๊ก...อิอิ

ส่วนวิจัย Recovery Model เดี๋ยวขอแก้ไขเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย แล้วจะส่งไปให้ท่านที่ปรึกษาช่วยดูนะคะ

@^_^@

ยินดีอย่างยิ่งครับน้องขวัญ นักกิจกรรมบำบัดผู้ Active มากอีกท่านหนึ่ง

ดีจังค่ะที่ได้อ่านบล็อกวันนี้

ไม่ได้เข้าประชุมหรอก

แต่กำลังคิดว่า..self control ของตัวเองกำลังรวนอย่างแรง

ลองเอามาใช้กับตัวเอง...น่าจะได้ผลเนอะ

ถ้าน้อง OT ได้คิดและวางแผนกับความคิดที่มีเป้าหมายชัดเจน เช่น ความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือ การแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ในการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ผมคิดว่าแนวคิดการจัดการตนเองจะใช้ได้ผลครับ

มีแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับself management บ้างไหมคะ

ถ้าจะนำมาใช้ในการทำกรอบแนวคิดในการวิจัยจะต้องเริ่มต้นจากอะไร

นำมาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มอื่นนอกจากจิตเวชได้หรือไม่

Self-management เป็น concept ที่ใช้ได้กับผู้ป่วยทุกกลุ่มที่เจ็บป่วยเรื้อรัง

แหล่งข้อมูลคงต้อง search ผ่าน google scholar

ในประเทศไทย ผมกับอาจารย์คณะพยาบาล ม.มหิดล กำลังวางแผนทำวิจัยอยู่ครับ ส่วนผลงานวิจัยที่ผมกำลังตีพิมพ์คือ self-managment for stroke และที่ทำไปบ้างในงานบริการวิชาการ คือ ผู้ป่วยติดยา เด็กพิเศษ ผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึง Health promotion ในผู้สูงอายุ

หากสนใจข้อมูล คงต้องใช้เวลาค้นจากงานที่ทำไปแล้ว โดยอยากให้ผู้สนใจระบุประเภทผู้ป่วยหรือกลุ่มที่จะนำความรู้เรื่อง Self-management ไปประยุกต์ใช้ต่อครับ

ขอบคุณสำหรับบทความมีคุณค่านี้คะ

การสร้าง Self-efficacy ในสังคมไทย เป็นเรื่องท้าทาย

งานวิจัยของอาจารย์น่าติดตามคะ หากตีพิมพ์แล้วรบกวนขอลิงค์ด้วยนะคะ

ดิฉันตามบันทึกนี้มาจากคุณหมอ ป.ค่ะ

เรากำลังคิดจะทำ Self Management Program สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (อาจเน้นที่ผป.เบาหวาน) เข้าไปอ่านเรื่องนี้เจอเป็น Program ของ Stanford Medical School แต่ไม่เห็นรายละเอียดในโปรแกรม

อาจารย์จะกรุณาแนะนำหนังสือ หรือแนะนำอะไรสำหรับการเริ่มต้นได้บ้างคะ 

ขอบคุณมากครับคุณ Nui

สำหรับโปรแกรม self-management ของต่างประเทศ จะมีลิขสิทธิ์ คงต้องอีเมล์ขออนุญาตผู้วิจัยโดยตรง

ในไทยและต่างประเทศ มีหลายงานวิจัยที่ทำ self-management ใน DM ค้นเพิ่มผ่าน Google scholar ปีล่าสุด จะดีกว่าครับ

หากสนใจเรียนรู้เพิ่มเติม ก็พิมพ์ self-management ผ่านการค้นหา ของ GotoKnow เช่น

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/400536

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/354458

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท