พรหมวิหาร๔


มงคล คือ ทางก้าวหน้า ความสุข และความเจริญ ฉะนั้นคำว่า มงคลชีวิต หมายถึง เหตุแห่งความสุขความเจริญและความก้าวหน้าของชีวิตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงไว้เพื่อเป็นข้อควรประพฤติปฏิบัติ ซึ่งมีอยู่ ๓๘ ประการ

พรหมวิหาร ๔

            พรหมวิหารธรรม เป็นหลักธรรมประจำใจของผู้ประเสริฐมี ๔ ประการ คือ

            ๑. เมตตา ความรัก ความปรารถนาให้มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงมีความสุข

            ๒. กรุณา ความสงสาร อยากช่วยให้คนและสัตว์ทั้งปวงพ้นทุกข์

            ๓. มุทิตา ความยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดีหรือประสบผลสำเร็จ

            ๔. อุเบกขา การวางเฉย การวางใจเป็นกลาง

 

กตัญญูกตเวทีต่อประเทศชาติ

          ความกตัญญู  หมายถึง การรู้จักบุญคุณต่อสิ่งที่มีคุณต่อเรา ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดก็ตาม เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ พ่อแม่ ครูอาจารย์ พระมหากษัตริย์ ญาติผู้ใหญ่ที่อุปการะ กตัญญูต่อสัตว์ที่มีคุณค่าต่อเรา ต่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง คือ กตัญญูต่อสิ่งที่มีคุณต่อเรา

          กตเวทิตา หมายถึง รู้ที่จะตอบสนองบุญคุณต่อสิ่งที่มีคุณต่อเรา

 

     ความกตัญญูกตเวทิตาต่อประเทศชาติ คือ การรู้จักบุญคุณของประเทศชาติที่ให้ความสงบสุขอยู่ในปัจจุบัน มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทยที่มี ๓ สถาบันเป็นหลัก คือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งคนไทยทุกคนเคารพเทิดทูน

 

          ดังนั้นเราควรแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อประเทศชาติ ดังนี้

          ๑. ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีเป็นพลเมืองดีของชาติ เช่น ถ้าเป็นเด็กต้องเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน มีความรับผิดชอบ มี่กิริยามารยาทงดงาม มีความซื่อสัตย์ และมีความเมตตากรุณา เป็นต้น

          ๒. ศรัทธาและยึดมั่นในพระรัตนตรัย

          ๓. เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะต้องประกอบอาชีพสุจริต รู้จักเลี้ยงชีพและแสวงหาทรัพย์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

          ๔. บำรุงรักษาชาติด้วยการเสียภาษี การใช้จ่ายสิ่งของของตนเอง และของสาธารณะ อย่างเห็นคุณค่า และประหยัดอดออมไม่ฟุ่มเฟือย

          ๕. มีความสามัคคี รวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว รักใคร่กลมเกลียวกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน

          ๖. มีความขยันหมั่นเพียรไม่ท้อถอย เพียรพยายามที่จะทำให้ชาติบ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้า

 

          ๗. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเพื่อจะได้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้อย่างเต็มที่

          ๘. รักษาและหวงแหนวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชาติ

          ๙. จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์

          ๑๐. ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างเคร่งครัด

 

มงคลชีวิต  ๓๘

          มงคล คือ ทางก้าวหน้า ความสุข และความเจริญ ฉะนั้นคำว่า มงคลชีวิต หมายถึง เหตุแห่งความสุขความเจริญและความก้าวหน้าของชีวิตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงไว้เพื่อเป็นข้อควรประพฤติปฏิบัติ ซึ่งมีอยู่ ๓๘ ประการ

ในชั้นนี้จะศึกษามงคลชีวิต ๓ เรื่อง ได้แก่

 

 ความเคารพ

          ความเคารพ หมายถึง ความซาบซึ้งรู้ถึงคุณความดีที่มีอยู่จริงของบุคคลอื่น ยอมรับนับถือด้วยใจจริง แล้วแสดงความนับถือต่อผู้นั้นด้วยการแสดงความอ่อนน้อมอ่อนโยน อย่างเหมาะสมทั้งต่อหน้าและลับหลัง ผู้ที่เห็นคุณค่าในคุณความดีของผู้อื่น จะถือได้ว่าเป็นผู้มีปัญญา เพราะว่าจิตใจได้ยกสูงขึ้น ไม่มีความถือตน และจิตใจพร้อมที่จะรับความดีจากผู้อื่นสู่ตน คนประเภทนี้ คือ คนที่มีความเคารพ

 

บุคคลที่ควรเคารพ ได้แก่

   ๑. พระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงเป็นที่พึ่งของพสกนิการ และเป็นผู้นำในการสร้างความดี

   ๒. พระสงฆ์ ท่านเป็นผู้มีศีล ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม ซึ่งชาวพุทธควรเคารพอย่างยิ่ง

   ๓. บิดามารดา ท่านเป็นผู้มีพระคุณสูงสุดที่เลี้ยงเรามาตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่

   ๔. ครูอาจารย์ ท่านเป็นผู้ให้วิชาความรู้และอบรมสั่งสอนคุณธรรมจริยธรรมแก่เรา

   ๕. ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพ ท่านเหล่านี้เป็นญาติผู้ใหญ่ หรือเป็นผู้ที่เคยเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนช่วยเหลือเรามาก่อน

          เราสามารถแสดงออกถึงความเคารพให้ปรากฏชัดแก่บุคคลทั่วไปได้หลายวิธี ได้แก่

          การแสดงออกทางกาย เช่น การกราบ การไหว้ การลุกขึ้นยืนรับ การให้ที่นั่งแก่ผู้ที่เคารพ การหลีกทางให้ และการขออนุญาตก่อนทำกิจกรรมต่าง ๆ

          การแสดงออกทางวาจา เช่น การพูดด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน

          การแสดงออกทางใจ เช่น การระลึกถึงพระคุณของท่านอยู่เสมอ

 

ประโยชน์ของการมีความเคารพ

    ๑. ทำให้เป็นคนน่ารัก น่าเกรงใจ

    ๒. ทำให้สุขกายสบายใจ

    ๓. ทำให้สามารถถ่ายทอดความดีจากผู้อื่นได้ง่าย

    ๔. ทำให้ผู้อื่นเมตตาช่วยเหลือเพิ่มเติมคุณความดีให้

 

 

 

ความถ่อมตน

          ความถ่อมตน คือ การพิจารณาข้อบกพร่องของตนเอง รู้จักตนเองว่าเป็นอย่างไร ไม่อวดตัวดื้อรั้นถือดี และยอมรับคุณงามความดีของผู้อื่นเข้าสู่ตนเองได้อย่างเต็มที่

ลักษณะของผู้มีความถ่อมตน

          ผู้ที่มีความถ่อมตน จะเป็นผู้ที่รู้คุณค่าของตนเองตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในปัญญา รู้จักตัวเองดีว่าตัวเรามีอะไร ไม่มีอะไร ดังนั้นผู้ที่มีความถ่อมตนจะมีลักษณะการแสดงออกที่ดีเด่นกว่าคนทั้งหลาย ดังนี้

          ๑. มีกิริยาอ่อนน้อม คือ การแสดงกิริยาท่าทางที่นุ่นนวลอ่อนหวานต่อคนทั่วไป รู้จักที่ต่ำที่สูง ไม่ตีตนเสมอท่าน สงบเสงี่ยม แต่มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีลักษณะท่าทางที่องอาจ ผึ่งผาย รวมทั้งการไม่ถือตัวและการไม่ลดตัวลงจนเกินควร

          ๒. มีวาจาอ่อนหวาน คือ การพูดจาสุภาพอ่อนโยน ซึ่งออกมาจากจิตใจที่สะอาดนุ่มนวล ไม่ก้าวร้าวแข็งกระด้างในการพูดกับคนทั่วไป ไม่ควรพูดโอ้อวดยกตัว ไม่พูดกล่าวโทษลบหลู่ทับถมคนอื่น ไม่นินทาว่าร้ายไม่พูดเยาะเย้ยถากถางผู้ทำผิดพลาด ไม่ใช้วาจาข่มขู่ผู้อื่นและเห็นใครทำดีก็แสดงใจจริง เมื่อตนทำสิ่งที่ผิดพลาดก็ควรกล่าวคำว่า ขอโทษ  และเมื่อผู้ใดกระทำคุณแก่ตนก็ควรกล่าวคำว่า ขอบคุณ

          ๓. มีจิตใจอ่อนโยน คือ การนอบน้อมละมุนละม่อม ถ่อมตัว แต่ไม่ใช่ความอ่อนแอมีจิตใจที่เข้มแข็ง แต่ไม่ใช่ความแข็งกระด้าง นอกจากนี้ควรพยายามฝึกฝนตนเองให้มีใจที่เปิดกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ควรยึดถือเอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่  เมื่อผู้ใดไม่เห็นด้วยก็โกรธ โดยค่อย ๆ ปรับความคิดเห็นเข้าหากัน ย่อมเป็นการพัฒนาตัวเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

ประโยชน์ของการมีความถ่อมตน

          ๑. ทำให้อยู่เป็นสุข ไม่มีศรัตรู

          ๒. ทำให้น่านับถือ น่าเคารพกราบไหว้

          ๓. ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ

          ๔. ทำให้เป็นที่รักของบุคคลทั่วไป

 

การทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน

          ความดี คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจแล้วทำให้จิตใจใสสะอาด ปราศจากความเศร้าหมองขุ่นมัว เกิดขึ้นจากการที่ใจสงบ ทำให้เลือกคิดเฉพาะสิ่งที่ดีที่ถูกที่ควรที่เป็นประโยชน์ แล้วพูดดีทำดีตามที่ได้คิดนั้น 

การทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน มี ๒ ประเภท คือ

    ๑. ความดีที่ทำจากชาติก่อน  การสั่งสมความดีมาแต่ชาติก่อน ส่งผลให้เห็นในปัจจุบัน ถ้าในอดีตชาติสะสมความดีมามากพอ เกิดมาชาตินี้ก็เป็นคนใจในสะอาดบริสุทธิ์มาตั้งแต่เด็ก มีสติปัญญาดีมาแก่กำเนิด ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีโอกาสสร้างความดีได้มากกว่าคนทั้งหลาย และถ้าหมั่นสะสมความดีในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอีกก็จะเจริญก้าวหน้าได้รวดเร็ว

          ๒. ความดีที่ทำให้ชาติปัจจุบัน  คนที่ทำความดีตั้งแต่วัยเด็กเรื่อยมา เช่น ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียร เคารพเชื่อฟังพ่อแม่ คบคนดีเป็นมิตร หรือฝึกจิตใจให้ผ่องใสมาตั้งแต่เด็ก ความคิด คำพูด การทำงาน ย่อมดีกว่าบุคคลอื่นในวัยเดียวกัน เมื่อเติบโตขึ้น ย่อมมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าผู้อื่น

 

 

            การทำความดีทุกอย่างที่กล่าวมา สรุปได้เป็น บุญกิริยาวัตถุ ๓ คือ

          ๑. ทาน คือ การบริจาคทรัพย์สิ่งของแก่ผู้ที่ควรให้ ให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่เหมาะสมตามความสามารถของตน ซึ่งเป็นการขจัดความเห็นแก่ตัว และความตระหนี่ออกจากใจและกาย

          ๒. ศีล คือ การป้องกันตนเองไม่ให้ทำชั่ว โดยการสำรวมกาย วาจา ให้สงบเรียบร้อย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น

          ๓. ภาวนา คือ การสวดมนต์ทำสมาธิ เคารพอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม อ่านหนังสือธรรมะ หมั่นฟังธรรม สนทนาธรรมกับผู้รู้ ตักเตือนแนะนำให้ผู้อื่นได้รู้ธรรม ซึ่งถือเป็นการฝึกฝนตนเองให้มีสติปัญญาดี

          ดังนั้นเราควรหมั่นสั่งสมบุญและทำความดีตั้งแต่บัดนี้ โดยตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ฝึกฝนตนเองให้มีความขยันขันแข็ง และต้องฝึกจิตใจให้ผ่องใสด้วยการทำงาน รักษาศีล สวดมนต์ไหว้พระภาวนาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการทำความดีให้พร้อมไว้ก่อนจะได้เป็นบุญติดตัวไปในวันหน้า

 

ตัวอย่างผลของการทำความดีให้ถึงพร้อม

เป็นผู้ที่มีอายุยืน                  เพราะในอดีตไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ผู้ที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ   เพราะในอดีตไม่รังแกหรือทรมานสัตว์

ผู้ที่มีพลานามัยสมบูรณ์  เพราะในอดีตให้ทานด้วยข้าวปลาอาหารมาก

ผู้ที่มีความสวยผิวพรรณงาม เพราะในอดีตรักษาศีล และให้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม

ผู้ที่มีอำนาจมีคนเกรงใจ         เพราะในอดีตมีความยินดีเมื่อเห็นคนอื่นได้ดีไม่อิจฉาริษยาใคร

ผู้ที่ร่ำรวยมีโภคทรัพย์มาก  เพราะในอดีตให้ทานและทำบุญกุศลมาก

ผู้ที่เกิดในตระกูลสูง    เพราะในอดีตบูชาบุคคลที่ควรบูชา

ผู้ที่ฉลาดมีสติปัญญาดี เพราะในอดีตคบบัณฑิต ฝึกสมาธิ เจริญภาวนาและไม่ดื่มสุรายาเมา

 

ประโยชน์ของการทำความดี

          ๑. นำความสุขความเจริญก้าวหน้ามาให้  เพราะผู้ที่ทำความดีย่อมเป็นที่รักใคร่ของบุคคลทั่วไป ทำสิ่งใดก็มักจะประสบความสำเร็จก้าวหน้าในหน้าที่การงาน นำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ตน

          ๒. ความดีติดตามตนไปทุกที่ เพราะความดีเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง ผู้ใดทำผู้นั้นได้ ความดีเป็นของเฉพาะตน ไม่มีใครลักขโมยไปได้

          ๓. เป็นเกราะป้องกันภัย เพราะผู้ที่ทำความดีย่อมเป็นที่รักใคร่ของผู้อื่น มีแต่คนรักสงสารและเมตตา ไม่มีใครทำร้าย เพราะความดีที่เรามีอยู่

          ๔. สามารถทำความดีในครั้งต่อ ๆ ไปได้ง่าย เพราะมีพื้นฐานในการทำความดีอยู่แล้ว ถึงจะตกไปอยู่ในสถานที่ที่ทำความดีได้ยาก แต่ก็มักจะมีวิธีในการทำความดีได้ตลอด

 

 

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เนต

หมายเลขบันทึก: 213784เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2008 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบนมัสการ พระคุณเจ้า

 

  • วันนี้  นักเรียนไม่มี  เพราะนักเรียนไม่มา  ครูอ้อย เลยมีเวลา ทำงานไปด้วย เช็คเมล์ด้วย และอ่าน บันทึกสมาชิก โกทูโนมากขึ้นเจ้าค่ะ
  • พระคุณเจ้า  เขียนได้มากจริงๆเจ้าค่ะ ตั้ง 65533 ไบต์  ครูอ้อย ไม่เคยเขียนถึงเลยเจ้าค่ะ..ยอมให้ พระคุณเจ้า เป็น ที่ 1 เลยเจ้าค่ะ
  • บล็อก ของพระคุณเจ้า สวยงาม โอ่อ่ามากเจ้าค่ะ รูปภาพ ก็สวยสดชื่น  แสงสว่างดีมากเลยเจ้าค่ะ
  • หากให้คะแนน  ครูอ้อย ให้ เกือบเต็ม ยกเว้น  ตรงด้านบนของบล็อก  เทียนส่องแสงมี นิดเดียวเองเจ้าค่ะ
  • เอ...จำไม่ได้แล้ว  ต้องขยายตัวเลข แล้ว ลองผิดลองถูก ดูนะเจ้าคะ
  • ที่นี่ กทม.ฝนตกหนัก  ฟ้าผ่า ฟ้าร้องเปรี้ยงปร้างเลยเจ้าค่ะ

เดี๋ยวจะถ่ายภาพ และเขียน เรื่อง ฝนเจ้าค่ะ

กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ

P

  • ธรรมสวัสดีนะโยมคุณครูอ้อย
  • กำลังจะปรับปรุง..เอารูปใส่หัวบลอค
  • ยังไม่ได้แนะนำหน่อย..
  • ที่ศรีสะเกษฝนก็ตก..ฟ้าร้องมากเหมือนกัน
  • ต้องระวังหากมีฟ้าร้องไม่กล้าเปิดเนท
  • อนุโมทนาสาธุกับคำชม
  • ความจริงบันทึกของคุณครูมีเยอะมาก
  • สมกับเป็นครูตัวอย่างจริงๆ
  • บุญรักษา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท