พุทธศาสนิกชน..


ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี และต่อมาเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกอีก ๑,๐๐๐ รูป

                                          

 

หน้าที่ชาวพุทธ

      พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการสวดมนต์มาตั้งแต่เกิด แต่มักจะสวดตาม ๆ กันไป โดยมากไม่รู้คำแปลและความหมายของบทสวดนั้น ๆ ดังนั้นเราควรรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการสวดมนต์ เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญาให้แก่ตนเอง

การสวดมนต์คืออะไร

 

                                                                                                                                                                            การสวดมนต์ คือ การสวดพรรณนาพระคุณของพระรัตนตรัยว่าด้วยพุทธมนต์ต่าง ๆ

   ที่มาของการสวดมนต์นั้นมีเหตุมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าถึงเหตุแห่งความหลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า บุคคลจะหลุดพ้นจากกิเลสได้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ

          ๑) การฟังธรรม คือ การฟังเทศน์ ฟังปาฐกถา ฯลฯ

          ๒) การแสดงธรรม คือ การสอนธรรมแก่คนอื่น

          ๓) การสาธยายธรรม คือ การท่องบ่นสวดมนต์

          ๔) ธรรมวิจัย คือ การใคร่ครวญ พินิจพิจารณาธรรม

          ๕) การเจริญสมาธิภาวนา คือ การทำจิตให้สงบ

            อานิสงส์ของการสวดมนต์ (ประโยชน์ของการสวดมนต์)

          ๑. ตัดความเห็นแก่ตัว เพราะขณะสวดมนต์จิตจะจดจ่ออยู่กับการสวดมนต์ ไม่ได้คิดถึงตัวเอง ดังนั้น กิเลส โลภ โกรธ หลง และความเห็นแก่ตัว จะไม่เข้ามารบกวนจิต

          ๒. ได้ปัญญา เมื่อสวดมนต์และแปลความหมายของบทสวดมนต์นั้นทำให้เราได้ทราบความหมาย ดังนั้นจึงเกิดปัญญา

          ๓. จิตเป็นสมาธิ ผู้สวดจะต้องสำรวมใจให้แน่วแน่ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิความสงบเยือกเย็นในจิตจะเกิดขึ้น

          ๔. ขจัดความเกียจคร้าน ขณะที่สวดมนต์ จิตใจของผู้สวดจะสดใส เบิกบาน ความเกียจคร้านเชื่องซึมจะหายไป

          ๕. เป็นการปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยความระลึกถึงพระคุณความดีของพระพุทธองค์ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญาอย่างแท้จริง

 

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัด

          คำว่า "วัด" หมายถึง ที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ สถานที่นั้น ๆ อาจจะเป็นโรงเรียนหรืออาคาร ซึ่งมีรูปลักษณะอย่างไรก็ตามเมื่อเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ ก็เรียกว่า วัด

          มีคำที่มีความหมายถึงวัด ๓ คำ คือ อาราม วิหาร อาวาส และถือว่า "วัด" เป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา

ประวัติความเป็นมาของวัด

          ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี และต่อมาเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกอีก ๑,๐๐๐ รูป

          เมื่อพระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธ ได้ทรงฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว จึงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสมาก ได้ประกาศพระองค์เป็นอุบาสก ซึ่งพระองค์เป็นพระราชาองค์แรกที่เป็นพุทธมามกะ และทรงมีพระราชประสงค์จะจัดหาสถานที่ประทับที่เหมาะสมแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์จึงได้ทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวันแก่พระพุทธเจ้า

 

          เวฬุวันมหาวิหาร เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของกรุง    ราชคฤห์ สร้างถวายโดยพระเจ้าพิมพิสาร การที่พระเจ้าพิมพิสารถวายพระราชอุทยานเวฬุวันก็ด้วยทรงพิจารณาถึงลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสม คือ

ประเทศที่เหมาะสม คือ

          ๑. เป็นสถานที่ที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก ประชาชนสะดวกต่อการเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

          ๒. ตอนกลางวัน มีผู้คนไม่พลุกพล่าน ส่วนตอนกลางคืนจะเงียบสงัดไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม

          ๓. ไม่มีเสียงรบกวนจากคนที่เดินเข้าออก เหมาะสมจะเป็นที่บำเพ็ญภาวนาของผู้ที่ต้องการความสงบ

          พระพุทธเจ้าทรงรับและอนุโมทนาแก่พระเจ้าพิมพิสาร หลังจากนั้นจึงมีพระพุทธดำรัสอนุญาตให้ภิกษุอยู่ในวัดเวฬุวันหรือวัดสวนไผ่ นับว่าเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีสภาพเป็นป่าไม้ไผ่อันสงบร่มรื่น

          พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่ออกไปจนถึงรัฐและเมืองต่าง ๆ ผู้มีศรัทธาได้สร้างวัดถวายเป็นจำนวนมาก วัดที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษา และมีชื่อปรากฏในพระไตรปิฎกนอกจากวัดเวฬุวันแล้วยังมีวัดพระเชตวันมหาวิหารเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ซึ่งสร้างถวายโดยท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

 

การสร้างวัดในประเทศไทย

          พระพุทธศาสนาไปเผยแผ่เข้าสู่ประเทศไทยหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว โดยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก จึงได้ส่งสมณทูตออกประกาศพระพุทธศาสนาถึง ๙ สาย และส่งสมณทูตเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิ ๒ รูป คือ พระโสณะ และ พระอุตตระ ได้มาประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่แคว้นทวารวดี คือ เมืองนครปฐม ในปัจจุบัน

        เมื่อมีผู้นับถือพระพุทธศาสนามากขึ้นและมีผู้ขอบวชจึงเกิดมีวัดมากขึ้น ซึ่งการสร้างวัดแต่เดิมนั้น มีจุดประสงค์ คือ การสร้างเจดีย์เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เรียกว่า "วัดพุทธเจดีย์" โดยมีวิหารอยู่ข้างหน้าเพื่อเป็นที่ประชุมสงฆ์ เพราะในสมัยพุทธกาล พระสงฆ์จะหยุดพักเพื่อจำพรรษาเฉพาะในฤดูฝน ส่วนในฤดูอื่น ๆ พระสงฆ์จะออกสั่งสอนศาสนธรรมไปยังที่ต่าง ๆ เป็นกิจวัตร

 

      ต่อมาเกิดความนิยมสร้างวัดเพื่อเป็น "อนุสาวรีย์" เป็นที่ระลึกสำหรับวงศ์ตระกูลของผู้มีฐานะดี          เมื่อประชาชนมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น จึงมีการสร้างวัดเพิ่มขึ้นตามความต้องการของประชาชนผู้นับถือพระพุทธศาสนา ความมุ่งหมายในการสร้างวัดก็แตกต่างไปจากเดิม คือ ต้องการมีวัดเพื่อเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ซึ่งจะได้ทำบุญบำเพ็ญกุศลกันตามประเพณีได้แก่ การทำบุญตักบาตร ให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ ฟังธรรม และสวดมนต์ไหว้พระ เป็นต้น ตลอดจนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ จัดงานรื่นเริงในเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานสงกรานต์ ทอดกฐินผ้าป่า เป็นต้น

 

 

การปฏิบัติตนต่อศาสนสถาน

การปฏิบัติตนต่อวัด

การไปวัดควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อย โดยใช้เสื้อผ้าสีอ่อน ๆ หรือสีขาวไม่ควรสวมกางเกงขาสั้น หรือกระโปรงสั้น

          ขณะที่เราอยู่ในบริเวณวัด เราควรสำรวมกาย วาจา ไม่ควรส่งเสียงดังและไม่ยิงนกตกปลาในวัด

 

การปฏิบัติตนต่อศาสนสถานอื่น ๆ

          ๑. ช่วยกันรักษาให้อยู่ในสภาพเดิม ไม่ขีดเขียนสิ่งใด ๆ ให้สกปรก

          ๒. บำเพ็ญประโยชน์โดยการช่วยกันทำความสะอาด

          การทำความเคารพ เมื่อเดินผ่านวัดหรือ ศาสนสถานควรยกมือไหว้ด้วยความเคารพ

 

 การบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่วัด

          วัดเป็นสถานที่อำนวยคุณประโยชน์มากมาย วัดตั้งอยู่ทั่วทุกตำบลทุกหมู่บ้าน วัดมีความสำคัญต่อชีวิตส่วนบุคคลตลอดถึงส่วนรวม คือ ประเทศชาติ เป็นสถาบันสำคัญสถาบันหนึ่งใน ๓ สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

          วัดเป็นสมบัติส่วนรวมของทุกคน เมื่อวัดเป็นสมบัติของเรา เราต้องบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่วัด ดังนี้

          ๑) ไม่ทำลายทรัพย์สมบัติของวัด เช่น ไม่ขีดเขียนกำแพงฝาผนัง หรือข้างฝา

          ๒) ไม่ลักขโมยทรัพย์สมบัติของวัด

          ๓) ป้องกันมิให้ผู้อื่นทำลายหรือลักขโมยทรัพย์สมบัติของวัด

          ๔) ช่วยบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุที่ชำรุดทรุดโทรมให้มั่นคงแข็งแรง โดยช่วยกันบริจาคทรัพย์ซ่อมแซมหรือชักชวนให้ผู้อื่นช่วยกันบำรุงรักษาวัด

          ๕) ช่วยกันรักษาความสะอาดศาสนสถานรวมทั้งบริเวณวัด

          ๖) ปลูกต้นไม้และบำรุงรักษาต้นไม้ เพื่อให้วัดเป็นสถานที่ร่มรื่นสวยงาม

          ๗) บริจาคสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนรวมแก่วัด เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ภาชนะต่าง ๆ เป็นต้น

          นอกจากการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่วัดแล้ว พระพุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติตนต่อวัด ดังนี้

          ๑) แสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมทั้งการสำรวมกิริยามารยาท ตลอดจนการเข้าไปในบริเวณวัดควรจะแต่งกายสุภาพเรียบร้อย

          ๒) ประพฤติตนอยู่ในขอบเขตศีลธรรมอันดีงาม เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมยไม่ก่อการทะเลาะวิวาทกัน

          ๓) หมั่นเข้าวัดเพื่อทำบุญตักบาตร ฟังธรรม สวดมนต์ไหว้พระในวันพระหรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

          การบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่วัด ถือว่าเป็นการบูชาพระคุณของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ โดยถือว่าวัดเป็นสมบัติของพุทธศาสนิกชนทุกคน เราต้องรักและหวงแหนวัด โดยช่วยกันทำนุบำรุงวัดเพื่อความมั่นคงถาวรของพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติไทย

                  

                                   

                                                     

หมายเลขบันทึก: 213751เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2008 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อนุโมทนากับทุกท่าน

ที่แวะมาอ่าน

ธรรมรักษา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท