วิทยาการสุขภาพ : ระดมสมองเรื่อง Multiprofessional Health Education (๒)


หาทางให้นักศึกษาทุกหลักสูตรมีโอกาสฝึกปฏิบัติร่วมกันใน รพ.เดียวกัน

ตอนที่

ดิฉันเข้าประชุมกลุ่มย่อยกลุ่มที่ ๑ มีสมาชิก ๘ คน เป็นคณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ คณบดีและรองคณบดีสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ แพทย์จาก รพ.ตรัง อาจารย์จากสำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์

ว่ากันตามจริงพวกเราไม่ได้คิดยุทธศาสตร์อะไรหรอก แต่ได้ช่วยกันคิดว่าจะมีกิจกรรมอะไรได้บ้างที่เข้ากับหลักของ MPE ความคิดเหล่านี้เราเคยพูดๆ กันมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้มาช่วยกันกำหนดว่าจะทำอะไรเมื่อไหร่ คราวนี้จึงได้มากำหนดเพิ่มเติมว่าจะลงมือเรื่องนั้นๆ ทำเมื่อไหร่

การจัดการเรียนการสอนร่วมกัน
ในระยะแรกตกลงกันว่าจะไม่ให้กระทบกับข้อกำหนดของสภาวิชาชีพ sequence, และ course placement ทั้งนี้ให้ลองเริ่มจาก ๑-๒ รายวิชาดูก่อน เลือกรายวิชาที่มีความสำคัญและทุกหลักสูตรต้องเรียน รศ.ดร.สุรสีห์ วัฒนวิกย์กิจ คณบดีสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ เสนอว่าให้เลือกรายวิชา Pathology/Pathophysiology ระบาดวิทยาและการป้องกันโรค สำหรับรายวิชาด้านศึกษาทั่วไป ควรเรียนร่วมกับหลักสูตรอื่นๆ เมื่อคุยกันถึงเรื่องนี้เราก็ได้รู้เพิ่มเติมว่าขณะนี้นักศึกษาแพทย์และเภสัชฯ เรียนวิชาภาษาอังกฤษและเคมีร่วมกันอยู่

รายวิชาที่สามารถเรียนร่วมกันได้อีก น่าจะเป็นรายวิชาปฏิบัติการ เช่น Lab ก่อนขึ้นคลินิก เรามีห้องปฏิบัติการพยาบาลอยู่แล้ว ทางแพทย์หรือเทคนิคการแพทย์ สามารถมาใช้ร่วมกันได้ คุยๆ กันแล้วจึงรู้ว่าหลายคนยังไม่รู้ว่าเรามีห้อง Lab อะไร หน้าตาเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหนบ้าง เราจึงนัดหมายไปทัวร์ห้อง Lab ทุกห้องในช่วงเช้าวันที่ ๒ ตุลาคม

รายวิชาปฏิบัติการในชุมชน ทีมอนุกรรมการเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชน เคยมีการวางแผนไว้แล้วว่าหลักสูตรไหนจะลงชุมชนร่วมกัน ในภาคการศึกษาใดบ้าง

รายวิชาคลินิก จะหาทางให้นักศึกษาทุกหลักสูตรมีโอกาสฝึกปฏิบัติร่วมกันใน รพ.เดียวกัน ปัจจุบันนี้แต่ละหลักสูตรต่างก็หาแหล่งฝึกของตนเอง ไม่เหมือนหลักสูตรแพทย์ที่เป็นโครงการความร่วมมือกับ รพ. มีงบประมาณสนับสนุน เราจึงขอให้เวลาไปเจรจากับแหล่งฝึก ควรเจรจาให้ครอบคลุมทุกสาขา เมื่อมานำเสนอในห้องประชุม ศ.ดร.ธีระยุทธ กลิ่นสุคนธ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการเสนอว่าควรจัด Clinical correlation คล้าย conference ร่วมกันเป็นช่วงๆ

การจัดกิจกรรมร่วมกัน
ต้นภาคการศึกษาที่ ๑ ที่ผ่านมาทีมอนุกรรมการเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชนได้จัดปฐมนิเทศการเข้าชุมชนให้กับนักศึกษาปี ๑ ทุกหลักสูตรแล้ว ดิฉันเสนอว่าควรจัดปฐมนิเทศ pre-clinic ให้นักศึกษารู้จักห้องปฏิบัติการต่างๆ ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย ในภาคการศึกษาที่ ๒ และปฐมนิเทศเกี่ยวกับโรงพยาบาลรวมทั้งสถานบริการอื่นในภาคการศึกษาที่ ๓ กิจกรรมพวกนี้แค่คิดก็รู้สึกตื่นเต้นแล้ว

ผศ.พญ.มยุรี วศินานุกร เสนอว่าน่าจะมีการจัดค่ายบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกัน ในช่วงปิดภาคการศึกษาที่ ๓ ไม่จำกัดชั้นปีนักศึกษาที่จะเข้าร่วม

ดิฉันเสนอกิจกรรม ลปรร. ระหว่างคณาจารย์ทั้ง ๔ สำนักวิชา จัดทุกภาคการศึกษา ในเบื้องต้นกำหนดว่าจะจัดในเดือนธันวาคม มีนาคม และสิงหาคม

การพัฒนาสุขภาพชุมชนแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน
ดิฉันใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์โครงการ KM สุขภาวะชุมชนภาคใต้ ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจาก สสส.เชิญชวนทุกสำนักวิชาให้มาทำงานร่วมกัน

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 213168เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2008 09:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ มาทักทายค่ะ อิอิ เป็นกำลังใจให้ค่ะสู้ๆๆ

  • ดีจังเลยครับ
  • รออ่านงานนี้นะครับ
  • โครงการ KM สุขภาวะชุมชนภาคใต้ ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจาก สสส.เชิญชวนทุกสำนักวิชาให้มาทำงานร่วมกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท