กรอบแนวคิด การพัฒนาคุณธรรมต้องเอาความดีเป็นตัวตั้ง โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี


ความดีหรือคุณธรรม เป็นพลังชีวิตและพลังแผ่นดิน

       ความดีเป็นพลังชีวิตและเป็นพลังแผ่นดิน ชีวิตจะขับเคลื่อนไปได้และมีความเป็นปกติ ต้องอาศัยความดีเป็นพลังขับเคลื่อน สังคมก็เช่นเดียวกัน อาจจะเรียกว่าเป็นพลังแผ่นดิน ต้องใช้ความดีขับเคลื่อน ชีวิตถ้าขาดความดี ชีวิตก็จะสั้นลง ไม่สามารถอยู่อย่างปกติได้ สังคมก็เช่นเดียวกัน ถ้าสังคมขาดความดีก็จไม่มีทางที่จะรักษาตนเองไว้ได้ เพราะฉะนั้นความดีหรืคุณธรรมนี่เป็นพลังชีวิตและเป็นพลังแผ่นดิน.   
      การพัฒนาต่างๆ ต้องเอาความดีเป็นตัวตั้ง ถ้าเอาอย่างอย่างอื่นเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่องอะไรทั้งหลายทั้งปวงก็จะพลาดประเด็นที่แท้จริงไป ความดีไม่ได้แปลว่ามีหรือไม่มีเศรษฐกิจ แต่ความดีจะแก้ความยากจนได้ ดังนั้นในเรื่องของการพัฒนาต้องเอาความดีเป็นตัวตั้ง
       ถ้าถามว่า เราจะทำอย่างไรกันบ้างที่เรียกว่าจะพัฒนาตนให้ความดีเกิดขึ้น มีการมองได้หลายแบบ ผมอยากจะนำเสนอแนวทางที่จะทำอย่างไรอย่างไรให้เป็นการพัฒนาที่เอาความดีมาเป็นตัวตั้ง ซึ่งมีอยู่ 5 ประการ คือ
ประการที่ 1 การตั้งคำถามพื้นฐานของสังคม คำถามของสังคมจะเป็นตัวกำหนดทิศ กำหนดความคิด กำหนดการกระทำ กำหนดกิเลส สมัยโบราณ เมื่อ 2,000 ปีที่ผ่านมา ในประเทศอินเดียจะตั้งคำถาม พื้นฐานของสังคมว่า "ความจริงคืออะไร ความดีคืออะไร" โดยการตั้งคำถามแบบนี้ ได้มีอาจารย์ใหญ่ๆ พยายามตอบคำถามเหล่านี้ แบ่งเป็นสำนัก ที่เรียกว่า อาจารย์สำนักทั้ง 5 และสำนักทั้ง 6 ซึ่งพระพุทธองค์เป็นหนึ่งในปัญญาชนที่ตอบคำถามว่า  ความจริงคืออะไร ความดีคืออะไร  เพราะการตอบคำถามเหล่านี้ล้วนเป็นปัญญาที่สืบทอดกันมาและก่อให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์นับล้านๆคนมาตลอดช่วงเวลา 2,000 กว่าปีที่ผ่านมา และเดี๋ยวนี้ก็ยังคงอยู่
       สมัยปัจจุบันที่เรียกว่าเป็นอารยธรรมวัตถุนิยม อารยธรรมบริโภคนิยมและนับถือเงิน คำถามของสังคมได้เปลี่ยนไปเป็น "ทำอย่างไรจึงจะรวย" ผมว่าคนทั้งหมด หรือทั้งโลกขณะนี้ถูกชักนำไปสู่การตั้งคำถามนี้ ซึ่งถ้าตั้งคำถามว่า "ทำอย่างไรจึงจะรวย" คำถามนี้จะนำไปสู่ความเสื่อมเสียต่างๆนานา เพราะจะทำอย่างไรก็ได้ จะไปโกงใคร ขายผู้หญิงหรือเด็กจะไปทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายวัฒนธรรม ค้ากำไรเกินควร ไปเอาเปรียบคอร์รับชั่น ไปค้าเงิน ปั่นหุ้น ทำอบายมุขต่างๆ ร้อยแปดเพื่อให้รวย ล้วนเพราะคำถามที่ว่า "ทำอย่างไรจึงจะรวย" เราไปส่งเสริมกันจนเกิดวิกฤตการณ์ทางสังคม ความเสื่อมเสียทางศีลธรรมต่างๆ
      เพราะฉะนั้นข้อแรกต้องพยายามรณรงค์เพื่อปรับคำถามให้ได้ ว่า "ความดีคืออะไร" ให้อยู่ในหัวใจของทุกคน ตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาว่า "ความดีคืออะไร" ซึ่งตอบไม่ยากเลย สามารถตอบได้ ประเดี๋ยวก็จะตอบได้ทีละข้อๆ เช่น เมตตากรุณาเป็นความดี ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นความดี การขยันหมั่นเพียรและวิริยะเป็นความดี ความประหยัดเป็นความดี การเรียนให้รู้สิ่งไหนดีหรือไม่ดีก็เป็นความดี การร่วมมือร่วมจิตร่วมใจก็เป็นความดีก็จะตอบได้เป็นลำดับๆไป
      ถ้าถามว่าความดีคืออะไร ความดีก็จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นคำถามหลักของสังคมเป็นสิ่งสำคัญ ผมคิดว่าศูนย์คุณธรรม และท่านทั้งหลายที่สนใจคุณธรรมควรจะต้องรณรงค์ เพื่อช่วยกันปรับเปลี่ยนคำถามของสังคมจาก "ทำอย่างไรจึงจะรวย" เป็น "ความดีคืออะไร" ถ้าถามว่าทำอย่างไรจึงจะรวย เราจะแก้ไขความยากจนไม่ได้ เพราะคนอยากรวยจะเอาเปรียบกัน แย่งชิงกัน แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามว่า "ความดีคืออะไร" จะแก้ความยากจนได้ เพราะมันจะนำไปสู่การพึ่งตนเอง ความขยัน การประหยัด ฯลฯ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนได้ ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจนไม่ได้ ความดีจะแก้ความยากจนได้ แต่ถ้าจะไปพัฒนาให้รวยมันแก้จนไม่ได้ เพราะคนที่มีแรงก็จะเอาเปรียบคนอื่นมากขึ้น แก้จนไม่ได้ เพราะฉะนั้นข้อนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องรณรงค์ให้คนมีคุณธรรม จะต้องเร่งชวนกันให้เปลี่ยนคำถามพื้นฐานของสังคมเสียก่อน
ประการที่ 2 ที่จริงคนทำดีมีอยู่แล้วในธรรมชาติในที่ต่างๆ แต่ผู้คนไม่รู้กันเท่านั้นเอง เพราะคนเจอคนดีน้อยกว่าคนชั่ว คนจึงรู้จักคนชั่วมากกว่าคนดี ดังนั้น ข้อ 2 นี้จึงต้องพยายามตามหาคนดี จัดทำแผนที่คนดี ในปัจจุบันเราวางระบบการศึกษาค่อนข้างกว้างขวางมาก โดยการศึกษาตั้งแต่อนุบาลขึ้นมาจนถึงระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่ว่าการศึกษาของเราทั้งหมดเน้นไปที่การเรียนรู้ทางเทคนิคที่ต้องไปแย่งชิงกัน ต้องสู้กัน ซึ่งตรงนี้ถ้าจะมีการศึกษาขอให้เน้นไปศึกษาวิจัย ว่า ทำดีเขาทำกันอย่างไร ความดีที่เจอได้ในทุกพื้นที่ ฉะนั้นการศึกษาทุกระดับต้องช่วยกันตามหาเรื่องความดี พยายามศึกษาวิจัยเรื่องคนดี อาจจะเป็นพี่คนนี้ ป้าคนนั้น น้าหรืออา ฯลฯ ทำอะไรดีๆ ความดีก็จะเข้าตัว แล้วเอาผลการวิจัยเหล่านั้นมาเผยแพร่ มหาวิทยาลัยทั้งหมดต้องเอาความดีออกมาว่ามีที่ไหนบ้าง ทำอย่างไร ความดีก็จะมีพลังขึ้นมาในสังคม
      ถัดมาในข้อนี้ คือ การสื่อสาร ซึ่งการสื่อสารส่วนใหญ่ไปปลุกระดมการบริโภคมากขึ้น ด้วยเทคนิคต่างๆส่งเสริมคนให้สุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือย หรือแม้แต่เสพของเป็นโทษ ยกตัวอย่างเรื่องเด็กๆ พวกเขาจะสัมผัสอยู่กับสื่อและการโฆษณาตลอดเวลา ตัวอย่างเช่นของที่เขาเรียกว่าขนมหลอกเด็ก ปีหนึ่งเป็นมูลค่าแสนเจ็ดหมื่นล้านบาท ด้วยการโฆษณาต่างๆ ให้คนสนใจการบริโภค ผมคิดว่าสื่อนี่ต้องสื่อความดี สื่อมวลชนต้องค้นคว้าหาความดี เขามาสื่อสารกัน ศูนย์คุณธรรมอาจทดลองให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยให้แก่โรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ ไปสนับสนุนให้สื่อมวลชน ทดลองเอาความดีมาสื่อสารกัน มันจะได้มีพลังความดีขึ้นมาในแผ่นดิน
ประการที่ 3 เราต้องสร้างรากฐานของสังคมที่แข็งแรง ขณะนี้สังคมไม่มีฐาน สังคมลอยตัวเคว้งคว้าง สังคมเหมือนตึกที่เรานั่งอยู่นี้ ตึกสูงๆจะมั่นคงได้ รากฐานของตึกจะต้องแข็งแรงอยู่บนฐานที่แข็งแรง สังคมก็เช่นเดียวกัน ฐานล่างของสังคมต้องแข็งแรง และส่วนบนคือสังคม ก็จะเกิดความถูกต้องขึ้น ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดความรวนเรไปทั้งระบบ นึกถึงตึกที่ฐานไม่แข็งแรง ตึกจะทรุด สังคมก็เช่นเดียวกัน ถ้าฐานของสังคมไม่แข็งแรง ก็จะทรุด ถ้าจะถามว่า ฐานสังคมจะแข็งแรงได้อย่างไร ก็ด้วยอิฐ 3 ก้อน คือ ศาสนา เศรษฐกิจพอเพียง และชุมชนเข้มแข็ง
               ศาสนา ศาสนาสอนเรื่องดีๆทั้งสิ้น เรื่องความเมตตา กรุณา ความประหยัด การเคารพคน พัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น
               เศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริที่องค์พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งอยู่บนฐานศาสนา ธรรมอาศัยความไม่โลภ ความรู้จักประมาณ อาศัยความรู้จักตนเอง อาศัยความเพียร การรักษาสิ่งแวดล้อมและการรักษาวัฒนธรรมต่างๆ เพราะฉะนั้นศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียงจะรวมตัวเชื่อมโยงกันอย่างเหมาะสมทีเดียว และจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ช่วยสังคมไทยไปสู่ความถูกต้อง ศาสนาหมายถึง ทุกศาสนา ศาสนาอะไรก็ได้เข้ากับเศรษฐกิจพอเพียงได้ทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพุทธ อิสลาม คริสต์ ฮินดู ซิกข์ได้หมดทุกศาสนา ในศาสนามีโครงสร้างอยู่มากทีเดียว ซึ่งถ้าแต่ละศาสนาทำเรื่องศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียงหรือจะแยกกันทำก็ได้ เช่น พุทธศาสนากับเศรษฐกิจพอเพียง อิสลามกับเศรษฐกิจพอเพียง คริสต์กับเศรษฐกิจพอเพียง ฮินดูกับเศรษฐกิจพอเพียง ศาสนาซิกข์กับเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะมีพลังมากขึ้นอาจจะร่วมมือกันก็ได้ ทุกศาสนาจะสอดคล้องกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้ เพราะเป็นเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับเรื่องความดีเกี่ยวกับจิตใจ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับสั่งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไว้เป็นอย่างมาก ตรงนี้จะเป็นพลังให้เกิดความเข้มแข็งและความถูกต้องขึ้น ทั้งนี้ 2 เรื่องที่กล่าวมานี้จะเชื่อมโยงเข้ากับชุมชนเข้มแข็ง
               ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนนั้นเป็นสถาบันทางสังคม ที่อยู่ตรงฐานรากของสังคม ถ้ามีการร่วมคิด ร่วมทำจนเกิดความเป็นชุมชนขึ้น ตรงนี้เองที่จะเกิดความดีขึ้น เมื่อเป็นชุมชน คนจะเห็นแก่ตัวน้อยลง จะเห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น โดยมีศาสนธรรมเป็นแกนเสมอ แล้วก็ทำเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงอยู่บนพื้นฐานของธรรมชาติของมนุษย์ อยู่บนธรรมะ ชาวบ้านจะเข้าใจได้มากที่สุดและจะใช้เศรษฐกิจพอเพียงได้โดยอัตโนมัติ ทั้ง 3 เรื่องนี้ เวลาเคลื่อนตัวในพื้นที่จะเชื่อมโยงกัน ทั้งศาสนา เศรษฐกิจพอเพียงและชุมชนเข้มแข็ง การพัฒนานี้จะพัฒนาแบบบูรณาการทุกเรื่องไปพร้อมๆกัน มิได้พัฒนาแบบแยกเรื่อง กล่าวคือ ทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ ครอบครัว ชุมชน สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพฯลฯ จะเชื่อมโยงไปพร้อมกัน
               ปัญหาของเราที่เผชิญอยู่ขณะนี้คือ การพัฒนาแบบแยกส่วน แยกเป็นเรื่องๆ ในที่สุดจะแก้ปัญหาไม่สำเร็จ เช่น ไปแก้เรื่องน้ำท่วม ไปแก้เรื่องฝนแล้ง ไปแก้เรื่องสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม โดยแยกเป็นเรื่องๆ จะพบว่า แก้ไม่ได้ มันต้องเชื่อมโยงเป็นบูรณาการทั้ง 3 อย่าง คือ ศาสนา เศรษฐกิจพอเพียง และชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งถ้าเราพัฒนาตรงนี้เต็มพื้นที่ จะเป็นการพัฒนาเรื่องความดีควบคู่คุณธรรม อันจะเป็นฐานของสังคม การพัฒนาทุกอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นศาสนา เศรษฐกิจ ความยุติธรรม การศึกษา ฯลฯ ต้องเชื่อมโยงกับฐานของสังคม ไม่อย่างนั้น ไม่เป็นโครงสร้างของสังคม การพัฒนาทุกวันนี้ ลอบตัวไปหมด ลอยเคว้งคว้างทุกเรื่อง ทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ ศาสนา ฯลฯ ตรงนี้เป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง เราต้องประกอบโครงสร้างของสังคมให้สมประกอบ ขณะนี้มันพิการ ไม่มีฐานและการพัฒนาก็ไม่เชื่อมโยง ไร้ฐาน เคว้งคว้างไปตามเรื่องตามราว เกิดความปั่นป่วนรวนเรไปทั่ว ความดีก็ไม่มีที่จะอยู่ได้ โครงสร้างสังคมต้องสมประกอบ จึงจะทำให้ความดีเกิดขึ้นได้ง่าย ให้เกิดขึ้นเต็มแผ่นดินของเรา ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างฐานรากของสังคมให้เข้มแข็งด้วยอิฐ 3 ก้อน คือ ศาสนา เศรษฐกิจพอเพียง และชุมชนเข้มแข็ง
ประการที่ 4 การสร้างสปิริตแห่งการเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคมให้เต็มแผ่นดิน การที่เราเป็นอาสาสมัคร ได้ทำเพื่อเพื่อนมนุษย์จะสร้างจิตใจที่ดีงาม เป็นจิตใจที่มีความเมตตากรุณา ไม่ใช่แย่งชิงกันเอาเปรียบกันเต็มแผ่นดิน เหมือนกับแนวทางการพัฒนาทุกวันนี้ ที่ทำให้มนุษย์แยกขาดจากกันเป็นส่วนๆ การมีอาสาสมัครเพื่อสังคมจะเป็นตัวเชื่อมสังคมเข้าด้วยกัน อาสาสมัครจะไปช่วยคนยากจน เด็กกำพร้า คนป่วย คนชรา คนพิการต่างๆ ในเรื่องนี้ประเทศไทยเรามีการส่งเสริมน้อยมาก แต่ต่างประเทศ เช่นเกาหลี ไต้หวัน จะมีภิกษุณี หรือที่เรียกว่า "ฉือจี้" เป็นองค์กรใหญ่มาก ได้ทำเรื่องดีๆมากมายให้กับสังคมของเขา รวมทั้งมีสถานีโทรทัศน์เป็นของตนเอง มีโรงเรียนแพทย์ของตัวเอง ซึ่งอาสาสมัครเข้าช่วยกันทำทั้งนั้น
     ผมเคยไปดูพระที่ประเทศเกาหลี เขาจะมีหมู่บ้านดอกไม้ที่คอยช่วยเด็กพิการ คนชรา คนเจ็บทุกชนิด จะมีอาสาสมัครพวกนี้ไปคอยดูแลกว่า 400 คน เป็นข้าราชการก็มี นักธุรกิจก็มี หรือนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เรื่องนี้รัฐบาลไทยสามารถทำเป็นนโยบายได้ ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำเป็นนโยบายกัน การกำหนดเป็นนโยบายก็เช่น ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา สามารถใช้เวลาเท่าไรก็แล้วแต่ 2-3 สัปดาห์ ไปเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคม โดยกำหนดเป็นเครดิตหนึ่งของหลักวิชา สามารถใช้เวลาปีละ 2 ครั้งเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม
    ในภาคธุรกิจก็เช่นกัน ถ้าเรามีอย่างนี้คนที่เป็นอาสาสมัคร จะช่วยให้สังคมงดงามขึ้น แล้วสังคมจะมีปัญญาที่รู้เรื่อง เพราะอาสาสมัครเหล่านี้จะไปช่วยกันและข้อมูลต่างๆ จะเชื่อมโยงกัน ไม่อย่างนั้นไม่รู้หรอก เราจะได้เห็นว่า เรามีทรัพยากรมากมาย อาหารเหลือกิน ได้รู้ได้เห็นคนแก่ คนพิการ เด็กต้องเลี้ยงปู่ย่าตายายที่พิการบ้าง ตามที่สื่อมวลชนได้เสนอภาพให้เห็น ทุกวันนี้ เราจะเห็นความลำบากของสังคมและได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือกัน แผ่นดินจะเต็มไปด้วยน้ำใจ มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ สังคมเราจะมีแต่ความโหดร้าย เอารัดเอาเปรียบกันไม่ได้ สังคมจะต้องมีธรรมะ ธรรมะคือ ความถูกต้อง ครองแผ่นดิน ดังพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งเป็นพระปฐมบรมราชโองการแรกที่ตรัสออกมาเมื่อขึ้นครองราชย์ ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" จะเห็นว่าทรงเน้นการปกครองแผ่นดินโดยธรรมเสียก่อนจึงจะก่อประโยชน์สุขต่อมหาชนชาวสยาม มีธรรมะครองแผ่นดิน มีธรรมะเต็มแผ่นดิน มีความดีและความถูกต้องเต็มแผ่นดิน ถ้าเรานึกถึงพระเจ้าอยู่หัว ต้องนึกถึงพระบรมราชโองการนี้
    ดังนั้น การกำหนดนโยบายในครั้งนี้ ที่ประชุมจะต้องเสนอ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลส่งเสริมคนไทยเป็นอาสาสมัครเพอื่สร้างสังคมให้เต็มแผ่นดิน ทำตอนนี้ได้เลยไม่ยาก รัฐบาลก็ได้นโยบายที่สร้างคุณค่าให้กับรัฐบาล สังคมไทยก็จะดีขึ้น ความดีก็จะเกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน สังคมจะเกิดความเชื่อมโยงกันด้วยปัญญา
    ปัญญา จะมาจากความเมตตากรุณา ถ้าขาดความเมตตากรุณา ปัญญาก็จะไม่เกิด มีแต่อบายมุขเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีแต่จะขาดจริยธรรม ความรู้ไม่แน่ว่าจะมีจริยธรรม แต่ปัญญาจะมีจริยธรรมเสมอ เพราะปัญญา หมายถึงการรู้ คือต้องรู้ทั้งหมด หมายถึงต้องรู้ตัวเองด้วย ปัจจุบันนี้การศึกษาของเราที่ขะมักเขม้นเรียนรู้ ไม่มีเลยที่จะศึกษาให้รู้จักตัวเอง มีแต่ให้รู้รอบตัวมาเป็นอาภรณ์ประดับตัวเอง แต่ภายในตัวเองไม่ได้เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการศึกษาทุกชนิด จะต้องนำไปสู่การรู้ตัวเอง เพราะถ้าเรารู้ตัวเอง ก็รู้คนอื่นด้วย เราจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างเราเองกับสรรพสิ่งได้อย่างถูกต้อง
    จริยธรรม หมายถึง ความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ฉะนั้นถ้าไม่มีปัญญาก็จะไม่มีจริยธรรม มีแต่ความรู้จะไม่เกิดจริยธรรม จะเกิดตรงข้าม คือเอาความรู้ไปทำร้ายกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ 500 ปีก่อน ในยุโรปค้นพบวิทยาศาสตร์ซึ่งเป้นความรู้ที่ยังไม่ใช่ปัญญา เป็นการรู้เป็นเรื่องๆ และชาวยุโรปก็เอาความรู้ไปสร้างเทคโนโลยีที่มีอำนาจ คือ เรือรบ ปืนใหญ่ ปืนกลฯลฯ แล้วใช้อำนาจนี้รุกรานคนทั่วโลก แย่งชิงเขตดินแดนและทรัพยากร ไปฆ่าเขาแย่งชิงตั้งแต่จากอเมริกา  ไปแอฟริกา ไปเอเชีย ไปทั่วโลก นี่เป็นตัวอย่างการใช้ความรู้โดยขาดจริยธรรม
    ดังนั้นอย่าไปมั่นใจเรื่องความรู้ เพราะความรู้ไม่ใช่จะมีจริยธรรมแต่ปัญญาจะมีจริยธรรมอยู่ภายในปัญญาเสมอ เพราะปัญญาหมายถึง การรู้ทั้งหมดและการรู้ตนเองด้วย สามารถจัดตัวเองให้เข้ากับสังคมและสิ่งแสดล้อมได้ถูกต้อง แต่ทั้งนี้ปัญญาจะไม่เกิดจากการเรียนความรู้ ยกตัวอย่างเช่น เจ้าชายสิทธีตถะได้ศึกษาความรู้ ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า ศิลปวิทยาทั้ง 18 แขนง พระองค์ทรงมีความรู้ แต่ไม่ได้มีปัญญา ต่อเมื่อหนีจากวัง ไปสัมผัสทุกข์ยากของคนที่เกิดแก่เจ็บตาย จึงได้สัมผัสความทุกข์ยากของมนุษย์ ทำให้เกิดความกรุณาในหัวใจ แล้วถึงจะเกิดปัญญาขึ้น เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นมาเอง ดังนั้นอาสาสมัครเพื่อสังคม ถ้ามีเต็มแผ่นดินจะช่วยให้เกิดปัญญา เพราะได้สัมผัส ได้รู้ ได้เห็น อันก่อให้เกิดความกรุณา
    มนุษย์แม้จะมีกิเลสก็จริง แต่กิเลสนี้ก็ไม่ใช่ธรรมชาติแท้จริงของมนุษย์ มนุษย์มีความดีฝังอยู่ในตัวของมนุษย์ เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ถ้าเรารู้จักรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์แห่งความดี ก็จะงอกงาม แผ่ไพศาลปกคลุมแผ่นดินแห่งความร่มเย็น เป็นความเจริญ เป็นความสุข ดังนั้นอย่าไปหมดหวังกับมนุษย์ ถ้ามัวแต่ไปคิดว่ามนุษย์มีแต่ความเลว เราก็จะหมดหวัง แต่จริงๆแล้ว ในทัศนะของชาวพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน เชื่อว่ามีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในหัวใจ ซึ่งถ้าเรารดน้ำพรวนดินให้เมล็ดนี้งอกงามแผ่ไพศาลออกไปได้ ตรงนี้คือการส่งเสริมให้มนุษย์เอาหัวใจมาสัมผัสกัน เจ้าเมล็ดพันธุ์จะงอกงาม 100 เปอร์เซนต์ เพราะเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ แต่เราไปแยกมนุษย์ออกจากกัน ต้องส่งเสริมให้มนุษย์สัมผัสเชื่อมโยงกัน
    ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่งนักศึกษา 40 คนไปอยู่กับชาวบ้านยากจน ที่จังหวัดชุมพรบ้านละคน ชาวบ้านก็ยากจนแต่เขามีน้ำใจพากิน กบ เขียดบ้างตามประสาที่เขามี นักศึกษาจะรักเขาทุกคน หัวใจของเขามาเจอกัน ความเป้นมนุษย์ได้เจอกัน ตรงนี้สำคัญ การศึกษาของเราไปเอาแต่วิชาในตำรามาเป็นตัวตั้ง เด็กจำไม่อยากคุยแม้แต่พ่อแม่ปู่ย่าตายาย เพราะคุยไม่ได้คะแนน การศึกษาของเราเอาไปวัดกันที่ท่องวิชา ทำให้มนุษย์แตกแยกจากเพื่อนมนุษย์ แม้แต่ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย การที่ลูกหลานได้พูดคุยกับพ่อแม่ปู่ย่าตายายจะได้เรียนรู้ ได้สัมผัสความรักที่มีอยู่ในพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เราก็ไม่เอา กลับไปให้ความสำคัญกับการท่องวิชา การศึกษาไทยเป็นอย่างนี้ทุกระดับเลย ตั้งแต่อนุบาล จนถึงมหาวิทยาลัยเลย เราใช้การรู้วิชาเป็นตัวตั้ง ปัญญามันไม่เกิด
     การศึกษาต้องเอาชีวิตเป็นตัวตั้งและเอาวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง กระบวนการศึกษาของไทยขณะนี้เป็นการศึกษาและแยกส่วน ชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาก็อย่างหนึ่ง มันต้องเอาการศึกษาที่มีชีวิตเป็นตัวตั้ง การที่เราส่งเสริมให้มีอาสาสมัครเพื่อสังคมเต็มแผ่นดิน นี่คือการเอาชีวิตกับชีวิตไปเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เกิดน้ำใจ เกิดปัญญา ปัญญาจะเกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน รัฐบาลสามารถทำได้ถ้าเข้าใจตรงนี้ ดังนั้นที่ประชุมนี้ จึงต้องนำเสนอแนวคิดนี้ให้เกิดขึ้นเป็นนโยบาย ให้เกิดอาสาสมัครเพื่อสังคมทั้งในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ภาครัฐและภาคเอกชน ต้งให้เวลานักเรียน นักศึกษาได้ศึกษาและมีคะแนนด้วย รวมทั้งข้าราชการและนักธุรกิจด้วย อันนี้น้ำใจจะเกิด มันเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองอัตโนมัติ
ประการที่ 5
เป็นเรื่องของ ความสุข ถือเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราทำความเข้าใจในตรงนี้ เพราะว่าทุกคนต้องการมีความสุขและอยากมีความสุข ไม่มีใครต้องการความทุกข์ถ้าเราเข้าใจเทคนิคตรงนี้ จะทำให้มีความสุข ความสุขเกิดจากความดี ทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำความดี และช่วยเพื่อนมนุษย์ให้มีความสุข หมายถึง ความดีจะเกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน ถ้าทุกคนอยากมีความสุข ความสุขกับความดีเชื่อมกัน นี่ก็เป็นแรงจูงใจ เพราะทุกคนต้องการความสุข ถ้าพูดถึงธรรมะ บางคนอาจจะบอกว่า ฉันไม่ต้องการ แต่ความสุขทุกคนต้องการ เราต้องเอาความสุขกับธรรมะเชื่อมกัน มันก็จะเป็นตัวพา และเกิดเป็นความจริง
     ท่านดาไลลามะ ได้เขียนเรื่องศิลปะแห่งความสุข(The arts of happiness life) รายละเอียดก็จะเป็นอย่างนี้คือ คนเรานี้บางช่วงจะมีความสุข บางช่วงจะมีความทุกข์ เราอยากมีความสุขเสมอๆ ลองดูตัวเอง ลองดูความคิดของตัวเอง ว่าเราคิดอย่างไรแล้วเรามีความสุขอย่างไร เราคิดอย่างไรแล้วเรามีความทุกข์ ก็จะพบว่าเวลาเราโกรธ เราเกลียดคนอื่น เราจะมีความทุกข์ เกิดความเครียดในตัวเรา ยามใดที่เรามีความเมตตากรุณาต่อคนอื่น เราจะมีความสุข ถ้าเรารู้จักตัวเองบ่อยๆ ว่าเรากรุณาต่อคนอื่นแล้วเรามีความสุขบ่อยๆ ฉะนั้น เราต้องมีความกรุณาบ่อยๆ หรือทำอย่างอื่นก็ได้ เช่นเข้าใจคนอื่น ไม่เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง เพราะว่าความจริงไม่มีเราเพียงคนเดียว เรามีคนอื่นด้วย มีสังคม มีมนุษย์ มีสิ่งแวดล้อมและอื่นๆอีก เราต้องนึกถึงคนอื่น การที่เรานึกถึงคนอื่นคือ ปัญญา ถ้าเรานึกถึงแต่ตัวเราเอง แล้วเห็นแก่ตัว นี่เป็น อวิชชา ไม่ใช่ปัญญา ถ้าเราเห็นความเป็นทั้งหมด นั่นคือเราเข้าถึงความจริง
     ความจริงนั้น ธรรมชาติทั้งหมดมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งตัวเรา ทั้งเพื่อนมนุษย์ ทั้งสิ่งแวดล้อม ถ้าเราเข้าถึงความจริงคือ ความเป็นหนึ่งเดียวทางธรรมชาติทั้งหมด เราจะรักเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด รักสิ่งแวดล้อมทั้งหมด จิตใจของเราจะเปลี่ยนไป เราจะเป็นอิสระ และมีความสุข และมีเทคนิคอื่นๆ ที่ทำให้เรามีความสุข แต่ไม่ได้นำเสนอในที่นี้
     เราลองทำความเข้าใจว่า ส่งเสริมให้ทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างความสุขและช่วยเพื่อนมนุษย์ให้สามารถสร้างความสุขได้ด้วยวิธีนี้ จะเกิดความดีขึ้นเต็มแผ่นดิน เพราะคนทุกคนต้องการความสุข แล้วจะค้นพบว่าการทำความดีทำให้เกิดความสุข และเมื่อตัวเองสร้างความสุขขึ้นในตัวเองจะอยากช่วยให้คนอื่นมีความสุข เวลามีจิตสงบ มีสติ จะเข้าถึงความสุข ความเป็นอิสระ ถ้าเราเข้าถึงความจริงจะเข้าถึงความงาม และรักเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด รักธรรมชาติทั้งหมดเป็นสภาพจิตที่มีความสุขอย่างยิ่ง ตรงนี้ถ้าทุกคนสามารถทำได้ จะเป็นความสุขที่ราคาถูกมาก(Happiness at low cost)เมื่อเป็นความสุขราคาถูก แสกงว่าเป็นกันได้ทุกคน ไม่จำเป็นต้องซื้อความสุขราคาแพง
     บางคนบอกว่าต้องเงินเป็นล้านๆ จึงจะมีความสุข ความจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ ถึงมีเงินเป็นร้อยล้านถ้าไม่รู้จักพอ ก็ไม่มีความสุข ฉะนั้นตรงนี้ ต้องทำความเข้าใจและศึกษาให้ดีว่า ความสุขนั้นเกิดขึ้นจากอะไร ความสุขที่แท้จริงเกิดจากอะไร ก็จะพบว่าความสุขเกิดจากความถูกต้อง แล้วทุกคนต้องการความสุข ทุกคนต้องการที่จะเป็นตัวสร้างความถูกต้องขึ้น ช่วยเพื่อนมนุษย์ให้เกิดความถูกต้องขึ้นนั้น ผมคิดว่า ศูนย์คุณธรรม ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ ว่าความสุข ความดี และความถูกต้องเกิดจากอะไร แล้วพยายามส่งเสริมให้ทุกคนปฏิบัติ ถ้าเราไปบอกว่าใช้ธรรมะ คนจะหนี ไม่อยากซื้อ วิ่งหนีธรรมะ ถ้าบอกว่าความสุขเอาไหม ก็บอกว่าเอา แล้วความสุขนี้จะเป็นตัวเชื่อม ทำให้ทุกคนทำความดี เพราะความไม่ดี ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขได้ ต้องความดีเท่านั้น ที่จะก่อให้เกิดความสุขได้ ทุกคนต้องการความสุข ถือเป็นหน้าที่ ที่ทุกคนต้องส่งเสริมให้คนอื่นมีความสุข ทุกคนจะต้องสร้างความดีขึ้น ถ้าทุกคนทำได้อย่างนี้แล้วจะเกิดความสุขขึ้นในสังคมไทย
     การมีศูนย์คุณธรรมเกิดขึ้น ต้องมีอุดมการณ์ และมีเป้าหมายอันสูงส่งที่อยากเห็นความดีเกิดขึ้นเต็มแผ่นดินและเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดสันติสุขขึ้น และเป็นปัจจัยของการเกิดพลังแผ่นดินขึ้น ที่ว่า ความดีเป็นพลังแผ่นดินนั้น เราจำไว้ง่ายๆว่า พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯหรือ "ภูมิพลัง" แปลว่า พลังดิน เป็นผู้ตรัสพระราชประถมราชอุดมการณ์ ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ถ้าเรารักพระองค์ เราต้องต้องกันทำให้ความดีเต็มแผ่นดิน ผมขออนุโมทนากับศูนย์คุณธรรม ที่มีความพยายามทำให้เกิดสันติสุขขึ้นในสังคมไทย ๑๑๑

 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21241เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2006 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2012 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท