ออกแบบ CAI จากทฤษฎีการเรียนรู้วัยผู้ใหญ่ กลุ่มโยคะ


และแล้ว..เราก็เอาทั้ง 9 ข้อของ Gangne, 7 ข้อของ Alessi และ5 ข้อของ ADDIE มารวมกัน

       กว่าจะได้คลอดออกมา  (จริง ๆ แล้วคือถ้าพร่งนี้ไม่มีเรียนไม่รู้จะเสร็จไหม) สำหรับการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน นึกอยู่ว่าจะเลือกของใครดี  และแล้วเราก็เอามารวมกันทั้งหมดเพราะไม่รู้จะตัดออกยังไง เพราะว่าหลักการแต่ละคนต่างช่วยทำให้การผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนออกมาดี ๆ  ทั้งนั้น จึงขอนำเสนอให้ผู้ที่สนใจช่วยกันแสดงความคิดเห็นด้วยว่าควรจะเพิ่มเติมหรือแก้ไขตรงไหนบ้าง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

จากหลักพฤติกรรมนิยม
                โดยกาเย่และบริกส์ (Gagne’ and Briggs, 1979) ได้แนะนำการสอนประกอบด้วย หลักการติดต่อกัน (Contiguity) การกระทำซ้ำๆ (Repetition) และการเสริมแรง (Reinforcement) เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบและพัฒนาระบบการสอนโดยคอมพิวเตอร์ช่วยสอนก็ควรมีหลักการดังนี้
1. Contiguity : ให้มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างทันทีทันใด
2. Repetition : ต้องมีการฝึกปฏิบัติเพื่อทำให้การเรียนรู้เข้มข้นและยังทำให้จดจำได้ดี
3.Feedback and Reinforcement : ความรู้ที่เกิดจากการได้ข้อมูลย้อนกลับที่ถูกต้อง  จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี
ทฤษฎีการเรียนรู้ด้านปัญญานิยม
การเรียนรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัสการรับรู้ (Reception) ความจำระยะสั้น (Shot – Term storage) การเข้ารหัส (Encoding) ความจำระยะยาว (Long – Term storage) และการนำเอาข้อมูลกลับมาใช้ (Retrieval of Information)
1. Orientation and Recall : การเรียนรู้ที่มีการระลึกถึงการสังเคราะห์ความรู้เดิมจะทำให้เกิดความจำที่ดี
2. Intellectual Skills : การเรียนรู้จะง่ายขึ้นถ้าให้โอกาสผู้เรียนใช้กลยุทธ์การเรียนรู้ของตนที่มีอยู่
3. Individualization : การเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ถ้าการออกแบบการเรียนการสอนนั้นประยุกต์ให้ตรงกับความต้องการและคุณลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
            จากทฤษฏีพฤติกรรมนิยมและปัญญานิยม ได้นำมาเป็นแนวทางในการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับวัยผู้ใหญ่  โดยได้ยึดหลักการเรียนรู้สำหรับวัยผู้ใหญ่  ตามขั้นตอนของ ADDIE model เป็นหลักและ Alessi and Trollip โดยมีหลักการนำเสนอ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์ในบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ตาม Robert Gangne  ดังนี้

ขั้นตอนการพัฒนา ADDIE model

ขั้นตอนการวิเคราะห์ (Analysis)
ประกอบด้วยรายละเอียดแต่ละส่วน ดังนี้
1.  การกำหนดหัวเรื่องและวัตถุประสงค์ทั่วไป   
บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง โยคะเพื่อสุขภาพสำหรับผู้ใหญ่ ประกอบด้วยเนื้อหา ต่อไปนี้ -  ความหมายของโยคะ
- ชนิดของโยคะ
- ประโยชน์การฝึกโยคะ
- เทคนิคการฝึกโยคะ
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ
1. เผยแพร่ความรู้และฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับโยคะ
2. ส่งเสริมให้มีสุขภาพแข็งแรง
2.  การวิเคราะห์ผู้เรียน 
ผู้เรียน ได้แก่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งมีอายุ ระหว่าง  21-40   ปี  โดยวัยผู้ใหญ่มีความต้องการให้มีการจัดการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้
1.        แผนการสอนที่มีโครงสร้างเป็นระบบ
2.        การจัดประสบการณ์อย่างกว้าง ๆ ประสบการณ์กว้าง ๆ มาเป็นแหล่งข้อมูลหลักช่วยในการสอนและนำเข้าสู่เนื้อหาสาระหรือหัวข้อในการศึกษา
3.        ต้องทำให้เห็นความแตกต่างหรือข้อได้เปรียบที่ได้รับก่อน
4.        ต้องการการตอบสนองหรือต้องการที่จะให้ปฏิบัติเยี่ยงผู้ใหญ่  ต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจไม่ว่าจะกระทำการใด ๆ ก็ตาม  ต้องการที่จะกระทำหรือลงมือปฏิบัติไปพร้อม ๆ กันกับผู้สอน 
5.        ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากผู้สอน  และให้ช่วยชี้แนะ คอยให้กำลังใจและให้ความสนับสนุนในยามจำเป็น
6.        จุดประสงค์การเรียนรู้หรือจุดประสงค์ในการสอน  ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ จะต้องมีคุณค่าจริง ๆ เพราะเวลาสำหรับผู้ใหญ่มีความสำคัญมาก
ดังนั้น การมอบหมายงาน หรือจัดการเรียนรู้จะต้องเหมาะสมกับอายุ  สอดคล้องกับความรับผิดชอบ ปล่อยอิสระในการคิดและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยอาศัยประสบการณ์เดิม ในการอภิปราย  ร่วมมือทำงาน บทบาทสมมุติ  ฝึกภาคสนามและเรียนรู้โดยการลงมือทำไม่ใช่การบรรยาย การเข้ามาเรียนรู้ของผู้ใหญ่เข้ามาเรียนเพราะต้องการความรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน  การเรียนรู้ควรเป็นแบบแนวระนาบ  ผู้สอนควรเป็นผู้กระตุ้น  เน้นทฤษฎีและปฏิบัติ  ไม่ควรยัดเยียดความรู้  ดังนั้นข้อมูลควรเป็นการนำเสนอ ไม่ใช่สอน
3.  การวิเคราะห์วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง โยคะ เพื่อสุขภาพมีวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ดังนี้
1. บอกความหมายและชนิดของโยคะได้
2. บอกประโยชน์ของการฝึกโยคะที่มีต่อด้านต่าง ๆ ได้
3. ปฏิบัติเทคนิคการฝึกโยคะท่าต่าง ๆได้

4.  การวิเคราะห์เนื้อหา(ขั้นตอนการเตรียมของ อลาสซี)  
ขั้นตอนการวิเคราะห์เนื้อหา
1. ศึกษาวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมของบทเรียน
1.1 บอกความหมายและชนิดของโยคะได้
1.2 บอกประโยชน์ของการฝึกโยคะที่มีต่อด้านต่าง ๆ ได้
1.3 ปฏิบัติเทคนิคการฝึกโยคะท่าต่าง ๆได้
2. เขียนเนื้อหาสั้นๆ ทุกหัวเรื่องย่อย ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
เนื้อหาย่อยที่ใช้ในบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
2.1 บอกความหมายและชนิดของโยคะได้
-  ความหมายของโยคะ
โยคะ หมายถึง กระบวนการที่มนุษย์เรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอย่างเป็นองค์รวมให้ได้มากที่สุด ซึ่งรวมไปถึงการทำความรู้จักตัวตนของตัวเองและการลดทอนหรือขจัดสภาวะต่างๆ ที่บั่นทอนความเป็นองค์รวม ซึ่งการอยู่อย่างองค์รวมโยคะให้ความสำคัญกับเทคนิคต่างๆ ที่จะช่วยให้มนุษย์รู้จักมูลเหตุทุกชนิดที่ขาดสมดุล อันก่อให้เกิดความเจ็บป่วยและจัดปรับให้มันคืนสู่ความเป็นปกติ ดังนั้น โยคะจึงเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการพัฒนาทางด้านจิตและด้านกายของมนุษย์ และทางด้านการบำบัดรักษาไปพร้อมๆ กัน
- ชนิดของโยคะ
1. กลุ่มญานโยคะ
2. กลุ่มกรรมะโยคะ
3. กลุ่มภักดีโยคะ
4. กลุ่มราชาโยคะ
2.2 บอกประโยชน์ของการฝึกโยคะที่มีต่อด้านต่าง ๆ ได้

- ประโยชน์การฝึกโยคะ
1. ประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร
2. ประโยชน์ต่อระบบไหลเวียนเลือด
3. ประโยชน์ต่อระบบหายใจ
4. ประโยชน์ต่อระบบฮอร์โมน
5. ประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย
6. ประโยชน์ต่อระบบประสาท
7. ประโยชน์ต่อกระดูก สมอง
8. ประโยชน์ต่อกล้ามเนื้อ
2.3 ปฏิบัติเทคนิคการฝึกโยคะท่าต่าง ๆได้

- เทคนิคการฝึกโยคะ  แบ่งเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 
1. อาสนะ  คือ อิริยาบถเฉพาะเป็นการยืดเหยียดส่วนของร่างกาย
2. ปราณยามะ  คือ การฝึกเพื่อควบคุมระบบหายใจ
3. มุทรา พันธะ  คือ การล็อคและควบคุมกล้ามเนื้อกึ่งควบคุม
4. กริยา  คือ  การทำความสะอาด  การชำระล้าง
5. สมาธิ  คือ การฝึกควบคุมการทำงานของจิต
6. การอบรมทัศนคติ  คือ  การควบคุมพฤติกรรมของตนเองเพื่อพัฒนาทัศนคติที่เหมาะสม

ขั้นตอนการออกแบบ (Design)
ประกอบด้วยรายละเอียดแต่ละส่วน ดังนี้
1.  การออกแบบ Courseware  (ขั้นตอนการออกแบบบทเรียน ของ อลาสซี)
                ซึ่งจะประกอบด้วยส่วนต่างๆ ได้แก่ วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม   เนื้อหา   แบบทดสอบก่อนบทเรียน (Pre-test)  สื่อ  กิจกรรม  วิธีการนำเสนอ  และแบบทดสอบหลังบทเรียน (Post-test)
                ในส่วนของ สื่อ กิจกรรม วิธีการนำเสนอ  จะเป็นการให้ความรู้เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญ ประโยชน์ของการฝึกโยคะ เพื่อให้วัยผู้ใหญ่เห็นความสำคัญตามหลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ เพื่อให้เกิดความรู้สึกอยากรู้และต้องการเรียน  ซึ่งจะประกอบไปด้วย  ส่วนที่เป็น ตัวอักษร  ภาพนิ่ง  ภาพเคลื่อนไหวเพื่อเร้าความสนใจ (กาเย่) และมีกิจกรรมให้ทำระหว่างเนื้อหาแต่ละส่วนเพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมตอบสนองกับบทเรียนที่สร้างขึ้น(กาเย่)   สำหรับแบบทดสอบก่อนและหลังเรียนจะเป็นการทบทวนความรู้(กาเย่) เกี่ยวกับสุขภาพ ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยใช้การฝึกโยคะเพื่อเป็นการนำเสนอเนื้อหาใหม่(กาเย่) และให้ข้อมูลย้อนกลับ(กาเย่)  เมื่อตอบแบบสอบถามเสร็จในลักษณะการอธิบายเพื่อให้เหมาะสมกับวัยที่เรียนโดยใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์  และสรุปเนื้อหาส่วนท้ายเพื่อทบทวนแนวคิดที่สำคัญ และบอกแหล่งข้อมูลอ้างอิงและแหล่งข้อมูลค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อการศึกษาต่อไป

2. การออกแบบผังงาน (Flowchart) และการออกแบบบทดำเนินเรื่อง (Storyboard)(ขั้นตอนการเขียนผังงานและสตอรี่บอร์ดของ อลาสซี่)
ผังงาน (Flowchart) หมายถึง   แผนภูมิที่แสดงให้ เห็นถึงความสัมพันธ์ของบทดำเนินเรื่อง ซึ่งเป็นการจัดลำดับความสัมพันธ์ของเนื้อหาแต่ละส่วน
บทดำเนินเรื่อง (Storyboard) หมายถึง เรื่องราวของบทเรียน ประกอบด้วยเนื้อหาที่แบ่งออกเป็นเฟรมๆตั้งแต่เฟรมแรกซึ่งเป็น Title ของบทเรียน     จนถึงเฟรมสุดท้าย  บทดำเนินเรื่องจึงประกอบด้วย ภาพ  ข้อความ  คำถาม-คำตอบ และรายละเอียดอื่น ๆ ลงในกระดาษ 
ขั้นตอนการออกแบบผังงานและบทดำเนินเรื่อง
                สำหรับการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง โยคะเพื่อสุขภาพ  กำหนดให้มีการดำเนินบทเรียนแบบสาขา (Branching)  เนื้อหาแต่ละเฟรมจะไม่เรียงลำดับ การดำเนินบทเรียนแบบนี้จะตอบสนองความต้องการของผู้เรียนในวัยผู้ใหญ่ได้ดีเนื่องจากวัยผู้ใหญ่ชอบอิสระในการเรียนรู้  ผู้เรียนที่รับรู้เนื้อหาได้เร็วจะได้รับเนื้อหาที่แตกต่างจากผู้เรียนที่รับรู้เนื้อหาได้ช้า  ซึ่งทำให้ผู้เรียนแต่ละคนศึกษาเนื้อหาได้จบในเวลาที่แตกต่างกัน  เหมาะสำหรับวัยผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพสูง ขึ้นอยู่กับความสามารถและมีข้อจำกัดในด้านของเวลา
3. การออกแบบหน้าจอภาพ (Screen Design)
การออกแบบหน้าจอภาพ หมายถึง การจัดพื้นที่ของจอภาพเพื่อใช้ในการนำเสนอเนื้อหา ภาพ และส่วนประกอบอื่นๆ  สิ่งที่ต้องพิจารณามีดังนี้
1.  การกำหนดความละเอียดภาพ (Resolution)  เลือกใช้ที่ระดับ SVGA 800 x 600 dpi เนื่องจากเป็นระดับความละเอียดมาตรฐานและสบายตาสำหรับวัยผู้ใหญ่
2.  การจัดพื้นที่แต่ละหน้าจอภาพในการนำเสนอ  เช่น  พื้นที่การนำเสนอข้อความ และภาพพื้นที่การให้ข้อมูลย้อนกลับและอื่นๆ  แล้วแต่เนื้อหาที่จะนำเสนอในแต่ละส่วน
3.  การเลือกรูปแบบและขนาดของตัวอักษรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้เลือกตัวหนังสือ Angsana UPC ขนาด 18 pt  เนื่องจากไม่จำเป็นต้อง install Font เพิ่ม มีความสบายตาและเป็นตัวหนังสือทางราชการ
4.  การกำหนดสี ได้แก่  สีของตัวอักษร (Font Color) ,สีของฉากหลัง (Background) ,สีของส่วนอื่นๆ เลือกใช้โทนสีฟ้า เพื่อให้ความรู้สึกสดใส มีชีวิตชีวา เหมาะกับเนื้อหาการฝึกโยคะเพื่อสุขภาพ
5.  การกำหนดส่วนอื่นๆ ที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้บทเรียน เช่น ปุ่ม Help สำหรับวัยผู้ใหญ่ที่ขาดความมั่นใจและต้องการการชี้แนะคำแนะ นำ

ขั้นตอนการพัฒนา (Develop)  (ขั้นตอนการสร้าง/เขียนโปรแกรมและผลิตเอกสารประกอบการเรียน ของ อลาสซี)
ประกอบด้วยรายละเอียดแต่ละส่วน ดังนี้
1.  การเตรียมการ  การเตรียมการ เกี่ยวกับองค์ประกอบดังนี้  
                                1.1  การเตรียมข้อความ  เนื้อหาที่เกี่ยวกับ ความหมาย ชนิด ประโยชน์ของโยคะและเทคนิคการฝึกโยคะ
                                1.2  การเตรียมภาพ ได้แก่  ภาพนิ่ง  ภาพการ์ตูน  ภาพกราฟิก ภาพเคลื่อนไหว  ภาพวีดิทัศน์ ที่เกี่ยวกับโยคะเพื่อสุขภาพ
                                1.3  การเตรียมเสียง ได้แก่  เสียงบรรยาย  เสียงดนตรี  เสียง Sound Effect ที่เหมาะสมสำหรับเนื้อหาและวัยผู้ใหญ่
                                1.4  การเตรียมโปรแกรมจัดการบทเรียน  ได้แก่  

          - โปรแกรม  Macromedia  Authoware สำหรับสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
          - โปรแกรม Adobe Photoshop สำหรับตกแต่งภาพนิ่ง กราฟิก
          - โปรแกรม Ulead VedioStudio  สำหรับตัดต่อวีดิโอ
          - โปรแกรม Macromedia Flash  สำหรับสร้างภาพเคลื่อนไหว
          - โปรแกรม Sound forge  สำหรับตัดต่อเสียงดนตรี เสียงบรรยาย
2.  การสร้างบทเรียน หลังจากได้เตรียมข้อความ ภาพ เสียง และส่วนอื่น เรียบร้อยแล้ว  ขั้นต่อไปเป็นการสร้างบทเรียนโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จัดการ เพื่อเปลี่ยนสตอรี่บอร์ดให้กลายเป็นบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
3. การสร้างเอกสารประกอบการเรียน  ได้แก่ คู่มือการใช้งานของผู้เรียน, คู่มือการใช้ของผู้สอนและเอกสารประกอบการเรียน
                หลังจากสร้างบทเรียนเสร็จสิ้นแล้ว    ในขั้นต่อไปเป็นการตรวจสอบและทดสอบความสมบูรณ์ขั้นต้นของบทเรียน

ขั้นตอนการนำไปใช้ (Implement)
                การนำบทเรียนคอมพิวเตอร์ไปใช้ โดยแนวปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ได้แก่ การใช้กับกลุ่มเป้าหมาย 2-3 คน  เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของบทเรียนในขั้นต้น หลังจากนั้น จึงทำการปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายจริง ซึ่งมีจำนวนอย่างน้อย 10 คนขึ้นไป เพื่อหาประสิทธิภาพของบทเรียน  และนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความเหมาะสมและประสิทธิภาพของบทเรียน CAI
 
ขั้นตอนการประเมินผล (Evaluate)
การประเมินผลบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน คือการเปรียบเทียบกับการเรียนการสอนแบบปกติ โดยแบ่งผู้เรียนออกเป็น 2 กลุ่ม เรียนด้วยบทเรียน CAI ที่สร้างขึ้น 1 กลุ่ม และเรียนด้วยการสอนปกติอีก 1 กลุ่ม  หลังจากนั้นจึงให้ผู้เรียนทั้งสองกลุ่ม ทำแบบทดสอบชุดเดียวกัน และแปลผลคะแนนที่ได้ สรุปเป็นประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

        สำหรับสองขั้นตอนหลังในรายวิชานี้แล้วไม่รู้ว่าจะได้ทำหรือเปล่า แต่ถ้าทำก็จะครบตามขั้นตอนของ ADDIE

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21231เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2006 02:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท