Mind Map in Architecture


สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อสถาปนิกต้องการนำข้อมูล (ภาพ) ในความคิดตนเองมาอธิบายความในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานให้ผู้อื่นเข้าใจเป็นตัวหนังสือกลับเป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่ง

Mind Map in Architecture

แผนภูมิความคิดหรือ Mind Map ถือเป็นเครื่องมือช่วยจัดระเบียบข้อมูลที่ยุ่งเหยิงอยู่ในสมองของเราให้เป็นระบบ เป็นหมวดหมู่ง่ายต่อการนำไปใช้ และถือเป็นเครื่องมือสากลที่แพร่หลายและได้รับความนิยมไปทั่วโลกมาเป็นเวลานาน แผนภูมินี้เลียนแบบการทำงานของสมองด้วยการใช้รูปภาพสัญญลักษณ์แทนคำหรือเนื้อหาในเรื่องราวที่เราสนใจหรือคิดให้มีความเข้าใจได้ง่ายขึ้นเพื่อความสะดวกในการนำไปใช้งานในลักษณะอื่นๆ ต่อไป เช่น แก้ปัญหา เขียนบทความ เขียนหนังสือ และอื่นๆ  นอกจากนี้ ภาพความคิดจาก Mind Map ยังทำให้เรามองเห็นกระบวนการเชื่อมโยงเนื้อหาของข้อมูลดังกล่าวได้ทั้งในแง่ภาพรวมและในแง่รายละเอียด รวมทั้งยังเอื้อต่อการแตกแขนงข้อมูลย่อยๆ ในความคิดให้ขยายต่อเนื่องไปโดยไม่สิ้นสุดอีกด้วย

แนวคิดการนำภาพหรือกลุ่มคำมาแทนข้อความที่มากมายและซับซ้อนจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อคนทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาภาพ ให้มองเห็นความคิด (ที่เป็นตัวอักษร) เป็นรูปภาพและใช้ภาพสื่อแทนความหมายในความคิดของตนเองได้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว แต่เมื่อพิจารณาระเบียบวิธีคิดของสถาปนิกจะเห็นได้ว่า เราเคยชินกับวิธีการคิดและการอธิบายความด้วยภาพอยู่แล้วมาโดยตลอดทั้งการเรียนและการทำงาน จนอาจกล่าวได้ว่าสถาปนิกเรามีวิธีคิดแบบ Mind Map กันอยู่แล้ว

สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อสถาปนิกต้องการนำข้อมูล (ภาพ) ในความคิดตนเองมาอธิบายความในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานให้ผู้อื่นเข้าใจเป็นตัวหนังสือกลับเป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่ง เพราะสถาปนิกเรามักมีจุดด้อยในการอธิบายความและถ่ายทอดข้อมูลออกมาเป็นตัวอักษร ดังนั้น เราจึงควรหันมาคิดร่วมกันว่าจะมีวิธีการหรือเครื่องมือใดที่สามารถทำให้สถาปนิกสื่อสารอธิบายความคิดของตนเองออกมาเป็นตัวหนังสือได้อย่างง่ายๆ ได้

ในเมื่อสถาปนิกมีระบบวิธีคิดแบบ Mind Map อยู่แล้ว เราลองมาคิดแบบมุมกลับให้สถาปนิกเราคิดเป็นตัวหนังสือโดยใช้ Mind Map เป็นพื้นฐานโครงร่างความคิดแล้วต่อยอดขยายความเค้าโครงด้วยกลุ่มคำหรือคำอธิบายสั้นๆ เพื่อใช้สื่อสารอธิบายความกับตัวเองและผู้อื่น ควรจะเป็นแนวทางที่ดีในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และยังสามารถประยุกต์ใช้ Mind Map ในรูปแบบต่างๆ ต่อเนื่องไปยังกระบวนการทำงานออกแบบหรือกิจกรรมอื่นๆ ของตนเองได้อีกมากมายหลายอย่างอีกด้วย

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ หากสถาปนิกไทยสามารถจัดระบบความคิดในสมองของตนเองด้วย  Mind Map อย่างสม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน ย่อมสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่อง การขาดพฤติกรรมบันทึกข้อมูลและประสบการณ์ทางวิชาชีพของสถาปนิกบ้านเราให้ลดน้อยถอยลงได้ และจะถือเป็นมิติใหม่ในการเรียนรู้ร่วมกันในวงวิชาชีพได้เป็นอย่างดี

 

แนวทางการใช้งาน  Mind Map กับงานต่างๆ

1.       การใช้ Mind Map ในการแก้ปัญหา: เมื่อเราต้องการคิดวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ในการทำงาน การเรียนและอื่นๆ  Mind Map จะช่วยเริ่มต้นช่วยเราคิดและค้นหาวิธีการแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นโดยเริ่มต้นจาก “ปัญหา” ในส่วนกลางของหน้ากระดาษและค่อยๆ แตกแขนงความคิดออกไปตามหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหรือความคิด เช่น ต้องการเข้าใจที่มาของปัญหาว่ามาจากไหน เราก็เขียนบันทึกลงไปเป็นกลุ่มคำสั้นๆ หรือเราจะคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง ไปจนถึงการแสวงหาแหล่งข้อมูลเพื่อสนับสนุนวิธีการแก้ไขได้อย่างถูกต้อง เป็นต้น นอกจากนี้ เครื่องมือนี้จะช่วยทำให้ผู้เขียนมองเห็นภาพรวมและความสัมพันธ์ของข้อมูล (ความคิด) ในการแก้ปัญหาทั้งระบบได้ชัดเจนและเข้าใจง่าย

2.       การใช้ Mind Map ในการจดบันทึกประชุม : การบันทึกรายงานการประชุมที่เคยประพฤติปฏิบัติจะเป็นการเขียนบันทึกเนื้อหาเรียงกันไปตามระเบียบวาระเหมือนการเขียนเรียงความ แต่การบันทึกด้วย Mind Map จะช่วยทำให้ผู้บันทึกสามารถเขียนสรุปประเด็นและใจความของวาระการประชุมแต่ละวาระได้ง่ายขึ้น ผู้เขียนจะมองเห็นข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการประชุมนั้นๆ ได้อย่างครบถ้วนพร้อมมูลด้วยกระดาษเพียงแผ่นเดียว ไม่ว่าจะเป็นวาระการประชุม แนวทางการแก้ไขปัญหา การสรุปการพิจารณาอนุมัติ ไปจนถึงผู้รับผิดชอบดำเนินการ และสิ่งสำคัญอีกประการคือ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำข้อมูลไปใช้ติดตามเรื่องหรือวาระในการประชุมครั้งต่อไป

3.       การใช้ Mind Map ในการทำโปรแกรมการออกแบบ/ วิทยานิพนธ์ : การเริ่มต้นการคิดข้อมูลโปรแกรมการออกแบบอาคารหรือวิทยานิพนธ์ของสถาปนิกและนักเรียนสถาปนิก ควรเริ่มต้นจากการเขียนหัวข้อหรือแนวคิดของโครงการที่เราต้องการออกแบบ  ณ ตำแหน่งกลางหน้ากระดาษแล้วแตกแขนงประเด็นย่อยที่เกี่ยวข้องกับโครงการออกแบบของเราโดยควรเริ่มต้นจากประเด็นหลักคือ Requirement, Criteria และ Preferences แล้วแตกแขนงต่อยอดข้อมูลที่เราต้องการศึกษาหรือต้องการดำเนินการ (ออกแบบ) จากประเด็นเหล่านั้นจนครบถ้วน และสามารถเพิ่มเติมประเด็นหรือหัวข้ออื่นๆ ที่ผู้ออกแบบต้องการหรือเห็นว่าเกี่ยวข้องอย่างจำเพาะเจาะจงกับโครงการนั้นๆ ได้อีกด้วย เช่น หัวข้อกฎหมาย มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง แนวทางการออกแบบต่างๆ กลยุทธ์การประหยัดพลังงาน หรือ กรณีศึกษาอาคาร เป็นต้น

4.       การใช้ Mind Map ในการบันทึกข้อมูลการบรรยาย/ อบรม/ สัมมนา : การบันทึกข้อมูลที่ได้รับจากการบรรยาย อบรม สัมมนาที่เข้าร่วมด้วย Mind Map จะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาของการบรรยายได้ง่ายและชัดเจนกว่าการเขียนบันทึกแบบ Short note เป็นบรรทัดเรียงกันไปดังที่เคยปฏิบัติมา เพราะการเขียน Mind Map จะบันทึกข้อมูลเพียงการเขียนสรุปประเด็นสำคัญหรือ Keywords ของแต่ละหัวข้อหลักและหัวข้อรองในการบรรยายนั้นๆ ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนจบการบันทึกข้อมูลหรือเต็มหน้ากระดาษ พร้อมกันนี้ เรายังสามารถเพิ่มเติมประเด็นปลีกย่อยที่เกี่ยวข้องหรือการต่อยอดความคิดได้ง่าย รวมทั้งยังทำให้เราอ่านทบทวนข้อมูลความคิดของเราและนำไปใช้งานต่อในรูปแบบอื่นๆ ได้สะดวกและรวดเร็ว

นอกจากนี้ จากผังความเชื่อมโยงของเนื้อหาข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เรามองเห็นโครงข่ายความสัมพันธ์ของข้อมูลทุกประเด็นในการบรรยายได้อย่างชัดเจน และเมื่อนำมาอ่านทบทวนก็ใช้เวลาไม่มากเพราะเราจะใช้เวลาทำความเข้าใจเนื้อหาทุกประเด็นของเรื่องดังกล่าวด้วยกระดาษแผ่นเดียวอีกเช่นกัน

5.       การใช้ Mind Map ในการเขียนวิทยานิพนธ์/ บทความและหนังสือ : การเขียนรายงานวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญามหาบัณฑิตขึ้นไปเป็นข้อมูลที่มีรูปแบบโครงร่างเป็นมาตรฐานผนวกกับข้อมูลที่มีความซับซ้อนจำนวนมากสัมพันธ์กัน ดังนั้ร การใช้ Mind Map จะช่วยเรียบเรียงโครงร่างของข้อมูลวิทยานิพนธ์ที่มีรูปแบบมาตรฐานได้เป็นหมวดหมู่และเป็นระบบตามรูปแบบหรือ Format ของวิทยานิพนธ์ ตั้งแต่ บทนำ การทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ระเบียบวิธีวิธีวิจัย เป็นต้น นอกจากนี้เครื่องมือนี้ยังช่วยจัดลำดับความสัมพันธ์ของข้อมูลของวิทยานิพนธ์ในทุกส่วนและทุกมิติได้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำ Literature Review ที่มีปริมาณข้อมูลเป็นจำนวนมากและแสดงการเชื่อมโยงข้อมูลนั้นๆ ไปยังแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่สืบค้นมาได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง

เช่นเดียวกันกับการเขียนบทความและหนังสือตำราต่างๆ เราย่อมสามารถเริ่มต้นเค้าโครงเนื้อหาบทความหรือหนังสือตำราของเราจากการกระทำในลักษณะเดียวกันคือเริ่มจากหัวข้อเรื่อง และกำหนดโครงร่างของเนื้อหาที่เราต้องการนำเสนอจนครบหัวข้อ และแตกแขนงความคิด/ เนื้อหาย่อยๆ ลงไปจากโครงร่างเนื้อหาหลักและรองต่อเนื่องกันไปจนครบถ้วน

ประโยชน์ของ Mind Map in Architecture

จากแนวทางการใช้งานของ Mind Map สามารถช่วยสถาปนิกและนักเรียนสถาปนิกแก้ปัญหาที่เป็นจุดด้อยในระบบวิธีคิดแบบภาษาภาพของตนเองได้ด้วยการจำแนกข้อมูลในสมองให้เป็นระบบ และเป็นหมวดหมู่ รวมทั้งสร้างความเข้าใจในความเชื่อมโยงของข้อมูลทั้งในแง่ภาพรวมและรายละเอียด ตามประเด็นดังต่อไปนี้

1.       ช่วยสร้างความเข้าใจกลไกความสัมพันธ์ของข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือในรูปแบบลักษณะภาษาภาพและกราฟฟิกและระบบภาพรวม (Whole System) ที่คุ้นเคยกับวิธีคิดแบบปกติของสถาปนิก

2.       สร้างทักษะให้สถาปนิกมีความสามารถเขียนย่อความ และสรุปความและอธิบายต่อผู้อื่นให้เข้าใจได้โดยง่ายด้วยการเชื่อมโยงกับรูปแบบวิธีคิดแบบภาษาภาพในสมองของตน

3.       ช่วยจำแนกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ/ เรื่องราว/ ปัญหาเราที่สนใจ ได้อย่างเป็นระบบ อย่างมีระเบียบและเป็นหมวดหมู่หรือ สร้าง System Thinking ที่เป็นภาษาตัวหนังสือในระบบความคิด

4.       ทำให้มองเห็นภาพรวมและเข้าใจภาพรวมและการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของหัวข้อ/ เรื่องราว/ ปัญหาเราที่สนใจได้ดียิ่งขึ้นด้วยการพิจารณาข้อมูลจากหน้ากระดาษเพียงแผ่นเดียว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคิดแก้ไขและคิดต่อยอดสิ่งที่เป็นอยู่ได้โดยสะดวก

5.       สามารถลดปริมาณการจัดเก็บเอกสารรายงานต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลจำนวนมากได้ด้วยการสรุปความเพียงกระดาษ A 4 จำนวน 1 แผ่น

6.       นำข้อมูลจากแผนภาพ Mind Map ไปประยุกต์ใช้งานต่อได้ทั้งในกระบวนการแก้ปัญหา และการเขียนอธิบายความต่างๆ ซึ่งช่วยลดจุดด้อยด้านการเขียนอธิบายความของสถาปนิกได้เป็นอย่างดี

รูปแบบการใช้งาน Mind Map ประกอบการทำงานของสถาปนิก

ลำดับ

รูปแบบการใช้งาน

จุดประสงค์

ตัวอย่างหัวข้อความคิด

1

การเรียบเรียงความคิดและวิธีการแก้ปัญหา

·      วิเคราะห์สภาพที่มา/ที่ไปของปัญหา

·      เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ

·      ที่มาของปัญหา

·      แนวทางการแก้ไขปัญหา

·      ความเชื่อมโยงของปัญหากับวิธีการแก้ปัญหา

2

จดบันทึกการประชุม

·      สามารถบันทึกประเด็นสำคัญของการประชุมได้อย่างครบถ้วน

·      สามารถใช้ประกอบการติดตามหรือดำเนินการตามวาระการประชุมต่างๆ ได้อย่างสะดวก

·      ตามระเบียบวาระการประชุม

·      บันทึกสรุปประเด็นของแต่ละวาระประชุม

3

จัดทำโปรแกรมการออกแบบ/ วิทยานิพนธ์

·       เรียบเรียงข้อมูลที่ใช้ประกอบการออกแบบ

·       จำแนกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบออกเป็นกลุ่ม/ ประเด็นอย่างชัดเจน

·       แสดงเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหัวข้อและภายในหัวข้อเดียวกัน

·       เพิ่มเติม/ ปรับลดประเด็นและหัวข้อที่ต้องการได้โดยสะดวก

·       สามารถมองเห็นภาพรวมของโครงการได้อย่างชัดเจน

·      Concept

·      Requirement of Project

·      Criteria of Project

·      Preference of Project

·      Design Solutions

 

4

บันทึกข้อมูลการบรรยาย/ อบรม/ สัมมนา

·     

คำสำคัญ (Tags): #architecture#mind map
หมายเลขบันทึก: 211487เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2008 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 05:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับ

ผมใช้โปรแกรม Mindmap Mindmanager ในการเขียน Mindmap

 

Tag : เว็บไซต์สำเร็จรูป, เว็บสำเร็จรูป, ร้านค้าออนไลน์

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท