สู้ตาย...ไว้ลาย (อาจารย์) ถาปัด


คำถามที่เกิดขึ้นเสมอคือเหตุใดนิสิตหรือผู้เรียนในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาจึงมีพฤติกรรม ลักษณะนิสัย และรูปแบบการเรียนการปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนที่แตกต่างจากช่วงเวลาแรกเข้าสอนในสถาบันแห่งนี้

ทำไม..ต้องสู้ (ตาย)

จากประสบการณ์การเรียนการสอนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาเป็นเวลาเกือบสิบปี ได้พบเห็นและสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนิสิตหลายต่อหลายรุ่นในรายวิชาบรรยายที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ คำถามที่เกิดขึ้นเสมอคือเหตุใดนิสิตหรือผู้เรียนในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาจึงมีพฤติกรรม ลักษณะนิสัย และรูปแบบการเรียนการปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนที่แตกต่างจากช่วงเวลาแรกเข้าสอนในสถาบันแห่งนี้ อาทิ การขาดวินัยในการเข้าชั้นเรียน การขาดความสนใจในการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน การขาดทักษะในการฟัง อ่าน เขียน การขาดความรับผิดชอบในฐานะผู้เรียนที่ดี และประเด็นสำคัญคือ การขาดทัศนคติที่ดีต่อองค์ความรู้ทางวิชาชีพสถาปัตยกรรม

เหตุผลที่ถูกนำมาใช้เพื่อปลอบใจตนเองคือ วิชาที่สอนเป็นวิชาที่เนื้อหายากต่อการทำความเข้าใจ เพราะเป็นวิชาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติวิชาชีพซึ่งไม่ถูกจริตกับรูปแบบการเรียนรู้ของนักเรียนสถาปนิกที่ชื่นชอบแต่การทำงานออกแบบหรือคิดแบบร่างอาคารเป็นสำคัญ และบางทีนิสิตอาจยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของเนื้อหาการเรียนในรายวิชาดังกล่าวมากนัก

แต่หากเรายกเอาเหตุผลดังกล่าวมาเป็นข้ออ้าง เราเองก็จะไม่ย้อนกลับมาพิจารณาที่เนื้อหาการสอนของเรา หรือสนใจพฤติกรรมการสอนของเราว่ามีความเหมาะสมกับผู้เรียนหรือไม่ ไปจนถึงรูปแบบการเรียนรู้และกระบวนการถ่ายทอดที่ไม่แตกต่างจากเมื่อเราอยู่ในวัยศึกษาของตนเอง และที่สำคัญเราคงไม่รับรู้และเข้าใจถึงกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปในการเรียนรู้ของประเทศตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแต่อย่างใด

จากการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมแห่งยุคสมัยของผู้เรียนและแนวทางการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทำให้ตนเองเกิดความเข้าใจถึงสาเหตุแห่งปัญหาที่ประสบมามากขึ้น และยังเข้าใจต่อไปว่าวิธีคิดที่ผ่านมาของตนเองไม่สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้ของนิสิตในยุคปัจจุบันเท่าใดนัก และเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนโดยเร็วเพื่อประโยชน์สูงสุดในการเรียนรู้ของผู้เรียนซึ่งเป็นภาระหน้าที่อันสำคัญยิ่งของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นครูอาจารย์

 

รู้ทัน…..บุคลิกลักษณะของเด็กยุค Net Generation

นิสิตสถาปัตย์เกษตรในยุดปัจจุบันสามารถจัดได้ว่าเป็นผู้ที่อยู่ในยุด Net Generation โดยแท้จริง (เกิดหลังปี 2525) เพราะเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ Internet และเทคโนโลยีต่างๆ มากมายที่พัฒนาขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น Webcam Mobile phone MSN และการเป็นสมาชิกสังคมออนไลน์อาทิ Hi5 Facebook ระบบเครือข่ายแบบ World Wide Web และ Blog จึงทำให้เด็กในยุคนี้มีลักษณะพฤติกรรมที่แตกต่างจากชีวิตในวัยเยาว์ของครูผู้สอนมากหรือน้อยตามแต่ช่องว่างระหว่างวัย ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้เราพอจะสรุปเป็นพฤติกรรมร่วมยุคสมัยของเด็กในยุคสมัยดิจิตอลซึ่งบ่งบอกลักษณะนิสัยของนิสิตสถาปัตย์เกษตรในปัจจุบันได้ดังนี้

1)       มีความสนใจหลากหลาย : ด้วยศักยภาพของสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ และการเรียนรู้อุปกรณ์ไฮเทคมาตั้งแต่เด็กๆ ส่งผลทำให้เด็กในยุคนี้ไม่กลัวการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และยินดีเปิดรับเรื่องราวใหม่ๆที่ตนเองสนใจได้ตลอดเวลาและรวดเร็ว และที่สำคัญเด็กในวัยนี้จะมีความสนใจเรื่องราวหลายอย่างได้พร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน เราจึงเห็นเด็กสมัยนี้พิมพ์งานส่งอาจารย์ไปพร้อมกับ MSN และฟังเพลงจาก Ipod ไปพร้อมกับดู TV และกินขนม และแน่นอนด้วยนิสัย Net เขาจึงนั่งเรียนกับเราไปพร้อมๆ กับการคิดแบบและนั่งคุยกับเพื่อน พร้อมกับกินขนมเครื่องดื่มไปพร้อมกันโดยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดอะไร

2)       มีสมาธิสั้นถึงสั้นมาก : เนื่องจากเด็กสมัยนี้มีสื่อ ความบันเทิงและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกคอยบำรุงชีวิตอย่างมากมาย พวกเขาเหล่านี้จึงไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรได้นานเพราะต้องจัดสรรเวลาไปปฏิสัมพันธ์กับสื่อ เรื่องบันเทิงและอุปกรณ์เหล่านี้ให้ครบถ้วนในระยะเวลาไม่มากนัก ดังนั้นเด็กในยุคนี้จึงมีสมาธิจำกัด หรือนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้นาน และชื่นชอบและเคยชินกับภาวะถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลาหรือมีการรับรู้ได้ไวต่อสิ่งเร้าต่างๆ อยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อต้องถูกจับขังให้ฟังอาจารย์บรรยายเป็นเวลานานๆ เมื่อใด ก็มักจะเกิดอาการเบื่อหน่าย หรือง่วงเหงาหาวนอนอยู่เสมอ

3)       Fast Food Habit : ด้วยความเคยชินกับระบบการคลิกเพื่อสืบค้นข้อมูลผ่าน Internet และการกดเปลี่ยน Remote Control ผสมปนเปกับกลไกทางการตลาดที่มุ่งเน้นการบริโภคของสังคมในปัจจุบัน ทำให้เด็กยุคนี้เบื่อง่าย ขาดความอดทนรอคอย เวลาจะทำอะไรก็ตามต้องได้มาในระยะเวลารวดเร็วเหมือนกด Remote และคลิก Mouse ของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์

4)       ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ : เนื่องจากศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูลเป็นจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วในระดับ Terra-Bit เด็กยุคนี้จึงใช้วิธีการค้นคว้าข้อมูลที่ต้องการแบบเหวี่ยงแหและเอาเข้าตัวไว้ก่อน โดยไม่เคยพิจารณากลั่นกรองอยากถี่ถ้วนว่าอะไรเป็นข้อมูลที่ต้องการหรือไม่ นอกจากนี้เด็กยุคนี้ยังขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ข้อมูลและมักคิดเหมาเอาเสมอว่าข้อมูลที่ตนเองหามาจาก Internet หรือแหล่งข้อมูลใดๆ เป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอโดยไม่เคยสนใจข้อมูลนั้นนำมากลั่นกรองและศึกษาทบทวนวิเคราะห์ความถูกต้องแต่อย่างใด สิ่งนี้อาจจะเป็นเพราะการขาด Criteria หรือหลักการที่ใช้ในการตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ ในการดำเนินชีวิตของตนเองอีกด้วย

5)       ขาดทักษะการเขียน (ตัวหนังสือ) : ด้วยความเคยชินจากการอ่านหน้า Webpage จำนวนมากตลอดเวลา เด็กในยุคนี้จึงเคยชินกับ Icon และคำวลีมากกว่าตัวหนังสือที่ยืดยาว นอกจากนี้พฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กในยุคนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปจากการซึมซับความรู้ผ่านตัวหนังสือในตำราไปสู่การเรียนรู้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ เด็กในยุคนี้จึงไม่สนใจและใส่ใจกับทักษะการเขียนอธิบายความในรูปแบบต่างๆ ที่ใช้ในการเรียนการสอนแต่อย่างใด เพราะตัวขาคุ้นเคยกับการใช้คำวลีสั้นๆ ในการอธิบายความในแบบฉบับการสื่อสารของตนเอง ดังนั้นเราจึงพบเห็นการตอบคำถามแบบอัตนัยด้วยภาษาที่เป็นเอกลักษณ์แห่งยุคสมัย และสอดแทรกความบันเทิงลงไปในเนื้อความคำตอบของตนเองอยู่เสมอ

6)       ชอบการเรียนรู้เชิงทดลอง : ข้อดีของเด็กในยุคสมัยนี้คือ มีความกล้าในการเรียนรู้และทดลองของใหม่ๆ โดยไม่กลัวความผิดพลาด อันเนื่องมาจากความอิสระในระบบความคิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเยาว์และศักยภาพด้านเครื่องมืออุปกรณ์และสื่อในการค้นคว้าข้อมูลที่เพียบพร้อม ดังนั้นการมอบหมายงานให้ทดลองและท้าทายให้คิดเรื่องราวความรู้ใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งที่ถูกกับจริตของเด็กๆ เป็นอย่างยิ่ง

 

รู้ทันแล้ว….ทำอย่างไร

จากการทำความเข้าใจวิธีคิดและวิถีทางความคิดของเด็กในยุค Net Generation จะช่วยให้เราทำความเข้าใจในตัวลูกศิษย์ลูกหาของเราเองได้ดียิ่งขึ้น เมื่อเราเข้าใจผู้เรียนมากขึ้นจะทำให้เรามีวิธีการในการปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนของเราให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมแวดล้อม และสอดคล้องกับพฤติกรรมการรับรู้ของผู้เรียนในยุคสมัยแห่งปัจจุบันนี้ได้ผ่านรูปแบบ 3 กลุ่มหลักดังต่อไปนี้

1.       การจัดสภาพห้องเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้

1)       ผังการจัดห้อง

รูปแบบการจัดผังที่นั่งแบบเดิมคือ อาจารย์อยู่หน้าชั้น มีที่นั่งของผู้เรียนอยู่เรียงจากด้านหน้าห้องไปจนถึงด้านหลัง สามารถแสดงถึงรูปแบบการสอนของผู้สอนได้อย่างชัดเจน ว่ายังคงยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลางในการเรียน (Teacher-Centered) ไม่ใช่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-Centered)

ดังนั้นรูปแบบของห้องเรียนที่มีประสิทธิภาพต่อการเรียนรู้ร่วมกันควรเป็นการจัดผังที่สลายพื้นที่หน้าห้องและหลังห้องให้หมดไป ด้วยการจัดผังที่นั่งของผู้เรียนเข้าหากันและมีทางเดินหลักอยู่ส่วนกลางห้องเพื่อให้เกิดพื้นที่หน้าห้องซึ่งเป็นจุดที่ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีมากที่สุดมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และรูปแบบนี้จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียน และลดปัจจัยที่เอื้อต่อการบรรยายแบบ One-way Communication ของอาจารย์ให้น้อยลงมากที่สุด รวมทั้งยังช่วยลดพื้นที่หลังห้องที่ไม่เกิดผลดีต่อผู้เรียนรู้ให้น้อยลง และยังสามารถลดพฤติกรรมหลบเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์กับชั้นเรียนของเด็กหลังห้องได้ดีขึ้น นอกจากนี้การจัดผังที่นั่งผู้เรียนเป็นกลุ่มๆ ก็เป็นอีกวิธีที่เหมาะกับการเรียนการสอนแบบกลุ่มสัมพันธ์หรือ Workshop เพราะการจัดที่นั่งแบบ Face to Face จะกระตุ้นให้เกิดการปรึกษาหารือระหว่างสมาชิกในกลุ่มมากยิ่งขึ้น

2)       ตำแหน่งการสอนของอาจารย์

ต่อจากนั้น เมื่อเราต้องการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ตำแหน่งการสอนของอาจารย์ในห้องเรียนจึงไม่ควรยึดติดกับพื้นที่หน้าห้องแบบเดิมเท่านั้น อาจารย์ควรปรับเปลี่ยนตำแหน่งการสอนหรือตำแหน่งการพูดบรรยายของตนเองไปได้ทุกพื้นที่ในห้องเรียนตามการปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนแต่ละคน ดังนั้นเมื่อตำแหน่งของผู้สอนไม่ยึดติดกับพื้นที่ใดแต่แปรเปลี่ยนไปตามผู้เรียน อาจเป็นสัญญะอย่างหนึ่งที่แสดงว่าเราให้ความสำคัญกับผู้เรียนมากกว่าให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้สอน นอกจากนี้การเพิ่มศักยภาพในการสอนด้วยการเข้าถึงทุกพื้นที่ในห้องเรียนอย่างอิสระ จะช่วยลดพื้นที่หลังห้องในชั้นเรียนให้หายไปโดยสิ้นเชิง เพราะตัวผู้สอนสามารถสลายจุดอับในการเข้าถึงของตนเองได้ด้วยการปรับเปลี่ยนผังที่นั่ง และทำการสอนหรือบรรยายด้วยการใช้อุปกรณ์ Wireless Remote Slide ที่สามารถปรับเลื่อนสไลด์ประกอบการบรรยายได้จากระยะไกล

3)       สภาพความสว่าง

เมื่อมีการปิดไฟให้มืดลงบริเวณหน้าชั้นหรือทั้งชั้นเพื่อให้การชม Slide ประกอบการบรรยายให้เห็นอย่างชัดเจน นาฬิกาชีวภาพของนิสิตจะบอกเจ้าของว่าถึงเวลานอนแล้ว ดังนั้นเราจึงแน่ใจได้เลยว่าผู้เรียนจะหลับพร้อมกันทั้งโดยมิได้นัดหมายและมีการนัดหมายล่วงหน้าในทันทีที่ปิดไฟให้มืดลง และถือเป็นโอกาสอันดีของชาวสถาปัตย์หลังห้องทั้งหลังให้มีโอกาสมากขึ้นในการหลบเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนและบทเรียนและการหลบเลี่ยงเข้าและออกจากห้องเรียนได้โดยง่าย ดังนั้น ผู้สอนพึงหลีกเลี่ยงการปิดไฟแสงสว่างภายในห้องเรียนในทุกพื้นที่อย่างเด็ดขาด และให้ความสนใจกับการควบคุมปริมาณความสว่างของห้องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการเรียนคือไม่ต่ำกว่า 300 Lux อยู่เสมอ และพึงระลึกไว้เสมอว่าจะปิดไฟในห้องเฉพาะส่วนหน้าห้องเพื่อฉาย Slide ประกอบการบรรยายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น  และหลังจากนั้นควรเปิดไฟและเปิดม่านในห้องเพื่อให้ห้องเรียนสว่างอยู่เสมอ

4)       ห้องเรียนที่ไม่ใช่ห้องเรียน

การพิจารณาพื้นที่เรียนในลักษณะอื่นๆ โดยไม่ใช้ห้องเรียนแบบเดิมไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภายในคณะ หรือภายนอกคณะ เช่น TCDC หรือ สมาคมสถาปนิกสยามฯ ณ ศูนย์ Discovery (ซึ่งสามารถขอใช้พื้นที่ได้เป็นครั้งคราว) จะสามารถลดความจำเจของการเรียนในห้องสี่เหลี่ยมได้ในบางโอกาสตามความเหมาะสมของเนื้อหาและรูปแบบการเรียนรู้ และจะสามารถช่วยให้นิสิตมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้นได้

2.       รูปแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ (Constructionist) เพื่อการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้

1)       การจัด Timing การเรียนการสอน (Time is not matter)

เนื่องจาก (เด็ก) ผู้เรียนในยุคปัจจุบันมีพฤติกรรมสมาธิสั้นจากคุ้นเคยกับการเสพเทคโนโลยีต่างๆ มาโดยตลอด ระยะเวลาการเรียนการสอนซึ่งที่กำหนดไว้ตามหน่วยกิตไม่ว่าจะเป็น 2 หรือ 3 ชั่วโมงจึงไม่ถูกจริตของเด็กยุคนี้อย่างแน่นอน เราจึงพบว่านิสิตจะมีความตั้งใจฟังการบรรยายจากอาจารย์ได้ในระยะเวลาไม่เกิน 30 นาทีเท่านั้น…..โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง….. 30 นาทีเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นชาวสถาปัตย์เกษตรจะเริ่มต้นพฤติกรรมปกติของวัยตนเองทันที อันได้แก่ คุยประกอบการเรียน นอนประกอบการบรรยาย ไปจนถึงแบ่งประสาทการรับรู้ไปที่การคิดแบบ การคุย และการฟังการบรรยายให้ไม่รู้เรื่องได้

แต่คำถามก็คือแล้วเราจะใช้เวลาเพียงเท่านี้อธิบายหรือสอนเนื้อหาตามหลักสูตรให้เขาได้ครบถ้วนอย่างไร แนวทางแก้ไขควรปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้หลากหลายกว่าวิธีสอนแบบ One-way Communication เพียงอย่างเดียว โดยอาจกำหนด Format ของกิจกรรมในชั้นเรียนไว้ดังนี้

·        Intro : พูดคุยสร้างบรรยากาศด้วยการเชื่อมโยงข่าวสารบ้านเมือง หรือข่าวในวงการสถาปัตยกรรม (10-15 นาที) อบรมคุณธรรมจริยธรรม หรือการไต่ถามสารทุกข์สุขดิบของนิสิตเพื่อไม่ให้ชั้นเรียนมีบรรยากาศซีเรียส

·        อธิบายเนื้อหาการเรียนการสอน : ขั้นตอนนี้เป็นช่วงที่ผู้เรียนจะให้ความสนใจน้อยลงเรื่อยๆ ตามเวลาและเนื้อหาที่ผู้สอนพูดอธิบาย ดังนั้นอาจารย์จึงต้องออกแบบการสอนในแต่ละครั้งให้เนื้อหาแต่ละประเด็นถูกนำเสนอร่วมกับกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดความน่าเบื่อของผู้เรียน และเพื่อให้ผู้เรียนได้รับการถ่ายทอดความรู้ที่ต้องการให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

·        ระหว่างการเรียนการสอน : ควรใช้วิธีการเรียนการสอนรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา (ดูรายละเอียดในเครื่องมือช่วยในการเรียนรู้)

·        การสรุปเนื้อหา เพราะนิสิตปัจจุบันไม่มีทักษะการสรุปความ ดังนั้นเราสามารถช่วยให้เขาเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้นด้วยการสรุปเนื้อหาอีกครั้งตอนท้ายชั่วโมง หรืออาจใช้วิธีการพูดคุยซักถาม หรือเขียนบรรยายเนื้อหาที่ได้เรียนในชั่วโมงดังกล่าวด้วยการเขียน Topic Discuss หรือ Diary การเรียนรู้ประจำชั่วโมงเพื่อส่งท้ายชั่วโมง

2)       เครื่องมือช่วยในการเรียนรู้ของผู้เรียน

·  อ่านก่อน….สอนทีหลัง (อ่าน + คิด + คุยแลกเปลี่ยน + สรุป) เป็นการบังคับอ่านบทความหรือเอกสารประกอบการบรรยายที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเพื่อให้นิสิตทุกคนมีความรู้พื้นฐานในเรื่องที่ผู้สอนต้องการนำเสนอในปริมาณที่ใก้ลเคียงกัน (คล้ายกับการมอบหมายให้นิสิตไปศึกษาข้อมูลหรือ Case ล่วงหน้าในการเรียนระดับสูง) กิจกรรมนี้จะทำให้นิสิตตั้งสมาธิในการอ่านได้ช่วงเวลาหนึ่ง (15-20 นาที) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการ Concern ต่อบทเรียนของผู้เรียน และสามารถทำให้ผู้เรียนมีองค์ความรู้พื้นฐานในเรื่องดังกล่าวเพียงพอสำหรับโต้ตอบปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้สอนได้ดียิ่งข้น รวมทั้งยังเป็นการฝึกวัฒนธรรมการอ่าน (ตัว)หนังสือ และฝึกสมาธิของนิสิตให้ยาวนานมากขึ้นไปในตัว

·      การทำ Topic Discuss (ฟัง + คิด + สรุป + เขียน + คิดต่อยอด)

การจัดทำใบคำถาม-ตอบตามประเด็นการเรียนในครั้งนั้นๆ ให้นิสิตเขียนตอบท้ายชั่วโมง เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของนิสิต และประเมินความคิดเห็นเกี่ยวกับบทเรียนหรืออื่นๆ ตามที่อาจารย์ต้องการทราบ

วิธีนี้เป็นการแก้ไขปัญหาถาม (แล้วทำไม) ไม่ตอบของเด็ก และลดภาวะการเขินอายของชั้นเรียนด้วยการมอบหมายงานให้เขียนคำตอบส่งภายในชั่วโมง เพราะนิสิตจะมีความกล้าที่จะตอบคำถามที่เราต้องการทราบหรือประเมินได้ง่ายกว่าการตอบเป็นคำพูด นอกจากนี้แล้ววิธีนี้ยังช่วยพัฒนาทักษะการเขียนของนิสิตได้อีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ กิจกรรมอื่นๆ ที่ควรพิจารณานำมาใช้ระหว่างการเรียนด้วยวัตถุประสงค์ข้างต้นยังประกอบด้วย

§           การโยนคำถามแบบ Ping Pong (คุยแล้วคิด คิดแล้วคุย)

§  การทำ Group Discuss ในชั้นเรียน (อ่าน + คิดเดี่ยวแล้วคุยกลุ่ม + คิดวิพากษ์ + คุยวิจารณ์ + สรุป)

§  ฯลฯ

3.       ทบาทของอาจารย์

1)       การปรับบทบาทเป็น Edutainer เนื่องจากยุคสมัยปัจจุบันเป็นยุคที่ผู้คนสนใจความบันเทิงเป็นหลักไม่ยกเว้นแม้แต่นิสิตของเราก็เช่นกัน ดังนั้นบรรยากาศการเรียนแบบเดิมจึงไม่ถูกจริตกับเด็กในยุคปัจจุบันอีกต่อไป เพราะเขาจะรู้สึกต่อต้านและเครียดเพราะมีความเชื่ออย่างฝังหัวมาตลอดว่าการเรียนหนังสือเป็นสิ่งที่ซีเรียส เคร่งเครียดและจริงจัง ดังนั้นหากผู้สอนสามารถลบบทบาทอาจารย์กับลูกศิษย์ให้เป็นผู้แสดงกับผู้ชมได้ จะทำให้ผู้เรียนเห็นว่ากิจกรรมนี้ไม่ใช่การเรียนแต่เป็นกิจกรรมบันเทิงให้ตนเองเป็นผู้ชม และหากกิจกรรมในชั้นเรียนทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมได้ จะยิ่งถูกจริตของผู้เรียนมากยิ่งขึ้นในลักษณะของ Reality Show ที่ตนเองมีส่วนร่วมด้วย

นอกจากนี้จากการสำรวจข้อมูลนิสิตชั้นปีที่ 5 สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2551 เห็นว่าบทบาทการสอนของอาจารย์ควรมีการปรับเปลี่ยนไปสู่บทบาทการสร้างอารมณ์ขันแบบมีสาระ เช่นเดียวกับ พิธีกรนีโน่เมทนี (ตลกแบบมีสาระ) และบทบาทของคุณครูอำนวยคือสอนแบบชวนคุย ชวนคิด เพื่อไม่ให้ผู้เรียนรู้สึกว่าตนเองกำลังเรียนอยู่ โดยจากข้อมูลการศึกษายังพบว่า นิสิตทุกคนล้วนปฏิเสธบทบาทการสอนแบบเดิมคือ คุณครูระเบียบที่เน้นแต่การสอนและความเคร่งเครียดในเนื้อหาแต่เพียงอย่างเดียว

2)       More Active Less Passive เนื่องจากเด็กหรือนิสิตในปัจจุบันมีความคุ้นเคยกับการถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลาด้วยสื่อรูปแบบต่างๆ ดังนั้น เมื่อนิสิตก้าวเข้าสู่ห้องเรียนทั้งๆ ที่ไม่อยากเข้า ผู้สอนจึงต้องสร้างแรงจูงใจในการเรียนให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการกระตุ้นให้ผู้เรียนตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะผู้เ

คำสำคัญ (Tags): #edutainer#ปฏิสัมพันธ์
หมายเลขบันทึก: 211486เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2008 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท