ฉากชีวิตแบบน้ำๆ


"เสียดายเนาะ มันกำลังสิฮอดปาก ฮอดท้องแล้ว"

วันนี้ส่งลูกไปโรงเรียนเสร็จ ปั่นจักรยานต่อไปดูนา ฉันไม่พบใครเลย แปลกแฮะ ....เมื่อวานยังเห็นเจ้าของนาฝั่งตรงกันข้ามมาช่วยกันวางกระสอบทรายกั้นน้ำไม่ให้เข้านา แต่วันนี้ ลุงสมบูรณ์ก็ไม่เห็น พ่อใหญ่ใจก็ไม่เห็น คนหาปลา วางรอบกุ้งก็ไม่เห็น วันนี้เขาไปไหนกันหมด.....วันนี้ฉันจึงเห็นแต่น้ำ มด,ไส้เดือน,งูน้ำ พากันหนีน้ำไปอยู่ในที่แห้งๆ (ซึ่งเหลือน้อยเต็มที) ระดับน้ำเอ่อล้นขึ้นท่วมขอบคูระหว่างนาฉันกับนาฝั่งตรงกันข้ามแล้ว ตอนนี้ถนนตลอดแนวซึ่งขนานไปกับนาของฉันนั้น เหมือนฝายน้ำล้นยาวขนาด 150 เมตร เลยที่เดียวเชียว ฉันเดินลุยน้ำสำรวจการเดินทางของน้ำ ซึ่งตอนนี้มันตัดถนนน้ำผ่านกลางนาของฉันไปสู่นาของป้าโดยตรงแล้ว แถมมันยังทำถนนน้ำโอบล้อมนาทั้ง 3 ด้านของฉันด้วยอีกเช่นกัน  ตอนนี้จึงเหลือเพียงนาลุงสมบูรณ์นาเดียวที่น้ำยังไม่ทะลักเข้าท่วมมากนัก นอกนั้นน้ำทะลักเข้าหมดแล้ว   ฉันพอเริ่มเข้าใจรางๆขึ้นมานิดหน่อยว่า เจ้าของนาทั้งหลายอาจจะมาดูน้ำท่วมข้าวตัวเองตั้งแต่ไก่โห่แล้ว และเขาคงเห็นภาพที่ปวดร้าวใจจี๊ด ไปก่อนหน้าฉันแล้ว สายโด่งหนึ่งโมงครึ่งฉันจึงไม่พบใคร .....

น้ำหลากทุ่งกุลาร้องไห้ มาแต่ละที่ข้าวจะเหลือรอดน้อยมาก คนที่เคยมีประสบการณ์พูดกันไว้ หยั่งกะมันเป็นทฤษฎีๆหนึ่งงั้นแหละ ไอ้เรื่องน้ำท่วมนี่แหละ

"บ้านนี่เมืองนี้ มันเป็นจังซีแหละ ยามแล้งกะแล้งหลาย ยามท่วมกะท่วมหลาย"

บางคนถึงขนาดทำนายด้วยการดูต้นข้าวในนาของฉัน  เขาบอกว่า หากปีไหนข้าวนาฉันง๊าม งาม ปีนั้นน้ำจะท่วม อะไรจะแม่นขนาดนั้น ดูสิปีนี้น้ำท่วมจริงๆ ฉันนึกโมโหในใจ ทำไมต้องเป็นนา ตรู.....ฟะ!

นี่ก็อีกทฤษฎีนึง

"ถ้าน้ำท่วมมหาสารคาม น้ำที่นี่ก็ท่วมเหมือนกัน (เพราะเขาปล่อยน้ำระบายมาที่นี่) " และหากคันนาใหญ่ของฉันพัง (คันนาใหญ่ก็คือถนนติดนาฉัน) นาของคนอื่นๆก็ล่มจมหมดเหมือนกัน"

พ่อใหญ่ใจ ซึ่งทำนาเช่านั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง ปีนี้ ข้ามแกก็งามพริ้ง แต่เจอพิษน้ำท่วมระลอกนี้ แกไม่ออกมาดูนาเลย แกพูดไว้ว่า "พ่อใหญ่ต่อให้ 2 วัน ทั้งทุ่งจะขาวไปด้วยน้ำ" และหากใครเห็นภาพตอนนี้ (เสียดายไม่มีกล้องถ่ายรูป) คงจะรู้สึกเสียดายข้าวเหมือนกับชาวนาหลายๆคนที่นี่ เวลานี้  ชาวบ้านบางคนพูดว่า

"เสียดายเนาะ มันกำลังสิฮอดปาก ฮอดท้องแล้ว" (เสียดายมันกำลังจะได้กินอยู่แล้ว )

ตลอด 4- 5 เดือนที่ผ่านมา ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญของข้าวก็ว่าได้ เพราะข้าวกำลังเริ่มตั้งท้องอ่อนๆ ต้องได้รับการดูแลอย่างดี ชาวนาจะประคบประหงมข้าวในนาอย่างดี ดูเรื่องน้ำให้พอเหมาะ ,ใส่ปุ๋ยบำรุง  เหมือนแม่ที่ประคับประคองลูกในครรภ์ แต่ข้าวที่นี่กำลังโดนน้ำท่วมซะแล้ว และแม้ว่าข้าวบางส่วนจะรอดตายจากน้ำท่วมมาได้ ก็จะไม่ให้ผลผลิตดีเท่ากับข้าวที่ไม่โดนน้ำท่วม  หลายคนเริ่มถอดใจแล้ว ดูจากสีหน้าและแววตา แต่ฉันเชื่อว่าหลายคนยังมีหวัง นั่นคือ น้ำลดและฝนไม่กระหน่ำมาซ้ำสอง  เราชาวนาก็คงจะพอมีข้าวเอาไว้กินในปีหน้า 

มีปัจจัยหลายอย่างเหลือเกินที่อยู่เหนือการควบคุมของชาวนาอย่างเราและยิ่งปัจจัยที่เป็นภัยธรรมชาติแล้ว ไม่ว่าชาวนา ชาวสวน หรือ อาชีพไหนๆ ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าชาวนาอย่างเราต้องสิ้นหวัง นี่นา ฉันคนนึงที่ยังมีหวังกับสิ่งนี้อยู่ อย่างน้อยฉันก็ได้เรียนรู้และเข้าใจกับสภาพที่เป็นจริงขณะนี้  ถึงแม้ว่าน้ำจะเยอะกว่าข้าว แต่ฉันก็ทำเต็มที่แล้ว ฉันทำสุดความสามารถของคนหัดปลูกข้าวแล้ว และฉันควรจะดีใจไม่ใช่หรือ ที่ฉันได้เรียนรู้ชีวิตในบทคนหัดปลูกข้าวเพิ่มขึ้นอีกบทหนึ่ง นั่นคือ "น้ำท่วมเป็นเรื่องธรรมดา"

คำสำคัญ (Tags): #น้ำท่วม#อุทกภัย
หมายเลขบันทึก: 211001เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2008 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เพราะ ข้าว คือ ชีวิต ค่ะ

ขอบคุณครูใหม่คะ อยากเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ข้าวที่นาโดนน้ำท่วมไปเกือบ50 เปอร์เซ็นต์แล้วคะ ระดับน้ำที่ไหลบ่าเข้ามา ก็ยังทรงตัว เราชาวนาที่ทำนาใกล้เคียงกัน ได้แต่ภาวนาว่าขอให้น้ำลดลงเร็วๆ ข้าวเราจะได้ฟื้นตัวได้ ก่อนที่มันจะเน่าตาย

มนุษย์เราสามารถเอาชนะได้ทุกอย่าง ยกเว้นธรรมชาติ "ข้าวคือชีวิต" ข้าวคือทุนชีวิตของชาวบ้าน ผมเองเป็นลูกชาวไร่เข้าใจความรู้สึกของ "ภาวะขาดแคลนข้าว" ดี เพราะมันหมายถึงทุนชีวิตหายไปเลยทีเดียว ถ้ามีข้าวก็ยังพอหาผัก หาปลา มากินได้ แต่ขาดข้าวนั่นหมายถึงต้องซื้อหา แล้วจะเอาเงินที่ไหน ต้องหยิบ ต้องยืม ต้องกู้ นี่คือวิถีแห่งเกษตรกร ที่เขาเรียกว่า "กระดูกสันหลังของชาติ" หวังว่าน้ำจะลดลงโดยเร็ว พอให้ข้าวได้ออกรวง ได้เก็บเกี่ยว ได้อุ้มชูเลี้ยงตัวเอง เป็นกำลังใจให้นะครับ

ขอบคุณคะพี่ถนัด ตอนนี้น้ำลดลงแล้วคะ หวังว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆเหมือนกันคะ

ทำนาในใจทำด้วยจิตว่าง สาธุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท