BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ดาลและกุญแจ


ดาลและกุญแจ

คิดว่าน้อยคนคงจะรู้ว่าสองคำนี้ก็มาจากภาษาบาลี... ดาล คือ กลอนประตูและสลักประตูที่ทำด้วยไม้แบบโบราณ ตามสำนวนเก่าๆ เช่น ลงดาล ย้ำดาล ใส่ดาล หรือ ลั่นดาล หมายถึงการใส่ลิ่มสลักปิดประตูลงกลอน ซึ่งสำนวนเหล่านี้ค่อนข้างเลือนหายไปจากภาษาปัจจุบัน เพียงแต่คำว่า่ ลั่นดาล ซึ่งมีความหมายเชิงเปรียบเทียบทำนองว่า ไม่ต้อนรับ เลิกคบ หรือ ปฏิเสธ ยังคงพอมีให้เห็นอยู่บ้าง... ส่วนคำว่า กุญแจ นั้น คิดว่าทุกคนคงจะยังคงใช้อยู่เป็นปกติ จึงไม่จำเป็นต้องขยายความ...

ดาล เขียนตามบาลีเดิมว่า ตาฬ มาจากรากศัพท์ว่า ตา แปลว่า ป้องกัน ส่วน ฬ.จุฬา เป็นปัจจัย (ตา+ฬ =ตาฬ) แต่พอมาใช้เป็นคำไทยก็เขียนเป็น ดาล ... หมายถึงอุปกรณ์หรือส่วนประกอบของเรือนที่ช่วยป้องกันทรัพย์สินไว้เป็นต้น โดยมีวิเคราะห์ว่า...

  • ตายตีติ ตาโฬ
  • อุปกรณ์ใดย่อมป้องกัน ดังนั้น อุปกรณ์นั้นชื่อว่า ตาฬะ (ผู้ป้องกัน)

 

กุญแจ เขียนตามบาลีเดิมว่า กุญจิกา มาจากรากศัพท์ว่า กุญจ แปลว่า คด, งอ, โค้ง ส่วน อิกา เป็นปัจจัยและอาคมตามหลักไวยากรณ์ (กุญจ+อิกา = กุญจิกา) แต่พอมาเป็นคำไทยก็เพี้ยนเป็น กุญแจ... หมายถึงอุปกรณ์ที่มีลักษณะคด งอ หรือโค้ง... ทำนองนั้น ซึ่งความหมายนี้คงจะทำนองเดียวกับคำว่า สายยู ซึ่งเราหมายถึงส่วนหนึ่งของกุญแจ ซึ่งมีลักษณะโค้งๆ งอๆ คล้ายๆ กับ ตัว U ในภาษาอังกฤษ... คำว่า กุญจิกา หรือ กุญแจ นี้ มีวิเคราะห์ว่า...

  • กุญฺจตีติ กุญจิกา
  • อุปกรณ์ใดย่อมโค้งงอ ดังนั้น อุปกรณ์นั้นชื่อว่า กุญจิกา (ผู้โค้งงอ)

 

อนึ่งในคัมภีร์อภิธานวรรณนาระบุว่าคำที่บ่งชี้ว่าเป็นลูกกุญแจ มีอยู่ ๓ ศัพท์ คือ...

  • กุญจิกา
  • ตาฬะ
  • อวาปุรณะ

คำสุดท้ายคือ อวาปุรณะ ไม่เคยเห็นในภาษาไทย คงมีอยู่สองคำแรกเท่านั้นที่เราแปลงมาใช้เป็น กุญแจ และ ดาล ... และในคัมภีร์ยังระบุว่า ช่องกุญแจ หรือ ช่องลูกดาล ในภาษาไทยนั้น บาลีมีใช้อยู่ ๒ ศัพท์ คือ...

  • กุญจิกาวิวระ
  • ตาฬจฺฉิคคฬะ
หมายเลขบันทึก: 210574เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2008 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท