ไปเพิ่มพูนความรู้-ประสบการณ์หลักสูตรนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับกลาง( 4 )


ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับสินค้าเกษตรที่ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค ณ.บริษัทสวิฟท์ จำกัด

ไปศึกษาดูงานที่บริษัทสวิฟท์จำกัด ตั้งอยู่อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2551

 

 

ก่อนอื่นผมจะขออนุญาตเล่าเรื่องที่ทางคณะนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับกลางรุ่นที่ 38 ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับสินค้าเกษตรที่ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค ณ.บริษัทสวิฟท์ จำกัด  โดยคุณไพชยนต์ เอื้อทวีกุล ประธานบริหารบริษัท เป็นผู้เล่าให้ฟังว่า

  

            บริษัท สวิฟท์ จำกัด เป็นบริษัทส่งออกพืชผัก และผลไม้สดเริ่มต้นการทำธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตรแบบซื้อมาขายไป แต่ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพของผลผลิต จึงต้องเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจ โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับเกษตรกรด้วยการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับกลุ่มเกษตรกรในลักษณะ Contract farmingต่อมาในปี 2535 ได้ร่วมลงทุนกับ Exotic Farm Produce (United Kingdom) ในชื่อของ Exotic Farm Produce (Thailand) Co., Ltd. มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ปัจจุบันมีโรงงานคัดบรรจุในจังหวัดนครปฐม เชียงใหม่ และเพชรบูรณ์ โดยมีการบริหารจัดการภายใต้มาตรฐาน HACCP และ EUREPGAP สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน มะม่วง มังคุด ขิง มะนาว มีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ อังกฤษ ประเทศในตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

       บริษัทดำเนินธุรกิจโดยใช้นโยบายการบริหารแบบ Win-Win ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัท พนักงาน และเกษตรกร ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีหัวหน้า ลูกน้อง แต่ใช้ระบบการทำงานเป็น Teamwork ปัจจุบันบริหารงานโดยคุณไพชยนต์ เอื้อทวีกุล

 

 

        การบริหารงานบุคลากรของ บริษัท สวิฟท์ จำกัด ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเจ้านายและลูกน้อง ในแต่ละขั้นตอนจะให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน  พนักงานของสวิฟท์จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษมากว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น การดูด้านสุขภาพ การประกันชีวิต การลาหยุดงาน การรับ-ส่ง  รวมไปถึงการให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยแก่พนักงาน

           การรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรผู้ปลูกด้วยการประกันราคา โดยทำการซื้อขายแบบ Contract ระยะยาวกับเกษตรกร ซึ่งมีการเข้มงวดในคุณภาพและมาตรฐานการผลิต โดยให้การช่วยเหลือ แนะนำขั้นตอนการผลิตให้ได้มาตรฐานตาม GAP  และการผลิตตามแบบเกษตรอินทรีย์  รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนในการผลิตแก่เกษตรด้วย  เกษตรกรผู้ปลูก  พนักงาน และ suppliers ทั้งหมดของบริษัทจะได้รับการจ่ายเงินตรงตามเวลาและเต็มจำนวนทุกครั้งไป

  

การสร้างเครือข่าย

 

           บริษัทสร้างเครือข่ายโดยการรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เพื่อปลูกพืชผักผลไม้ที่มีคุณภาพดีและมีความปลอดภัยในการบริโภค โดยมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในราคาที่เป็นธรรมและให้ผลตอบแทนสูง หากกลุ่มเกษตรกรแจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมเป็นเครือข่าย จะมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทออกสำรวจตรวจสอบพื้นที่ โดยตรวจประวัติการใช้ที่ดิน การวิเคราะห์ความเสี่ยงของการปนเปื้อนในดิน น้ำ และแปลงปลูกข้างเคียง ตลอดจนกำหนดระบบการปลูกและการปฏิบัติในไร่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยในการบริโภค 3 ระบบ ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกใช้ระบบใดระบบหนึ่ง คือ

                   1.  ระบบที่ยังใช้สารเคมีเกษตรและปุ๋ยสังเคราะห์ ในกรอบของ EUREP GAP

                   2.  ระบบที่ไม่ใช้สารเคมีเกษตรและปุ๋ยสังเคราะห์

                   3.  ระบบอินทรีย์มาตรฐานที่มีการรับรอง

 

        โรงงานคัดบรรจุตั้งอยู่ในอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี รองรับผลผลิตของเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายในภาคเหนือตอนบน 3 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 4 จังหวัด ภาคกลาง 4 จังหวัด และภาคใต้ 4 จังหวัด รวม 20 จังหวัด

         การรับซื้อผลผลิตกระทำโดยเปิดเผย มีจุดรับซื้อตั้งอยู่ในพื้นที่ปลูกของกลุ่มเกษตรกร ทำการคัดเกรด ชั่งน้ำหนัก โดยตรวจสอบเครื่องชั่งทุกครั้งก่อนชั่งน้ำหนัก และติดป้ายชื่อเกษตรกรและหมายเลขแปลงปลูกตามระบบการตรวจสอบย้อนกลับของบริษัท

 

 

ประโยชน์ที่ได้รับและแนวทางการนำไปปรับใช้ในองค์กร

                    1. รูปแบบการบริหารงานของบริษัท สวิฟท์ จำกัด เน้นการมีส่วนร่วม และการผลึกกำลังจากทุกส่วน ทำให้เกิดจิตสำนึกในการเป็นเจ้าของร่วมกัน มีความทุ่มเทในหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ

                    2. การรับซื้อผลผลิตในลักษณะ Contract Farming จากเกษตรกร  โดยการแสดงความโปร่งใสให้เกษตรกรเห็นตั้งแต่การคัดเกรดต่อหน้าเกษตรกร  การชำระเงินเข้าบัญชีตรงตามเวลาและเต็มจำนวน จะก่อให้เกิดความไว้วางในซึ่งกันและกัน  เป็นรูปแบบที่น่าจะส่งเสริมในหลายๆผลผลิต

3. การเปลี่ยนแปลงความเชื่อโดยการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากการใช้สารเคมีเป็นการผลิตแบบอินทรีย์สามารถทำได้และทำให้มูลค่าผลผลิตเพิ่มขึ้น

                   4.  การสร้างความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบร่วมกันและความสามัคคีแก่สมาชิกทุกปีโดยใช้สมาชิกกลุ่มตรวจสอบและควบคุมระบบการผลิตกันเอง  เพื่อมิให้มีการใช้สารเคมีเกิดขึ้น

                   5.  ในการผลิตจะต้องมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงก่อน

                   6.   การสร้างจิตสำนึกในการเป็นเจ้าของร่วมกัน

 

 

     นับว่าเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ ต่อการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ที่มีกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน  คณะนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับกลาง รุ่นที่38 ขอขอบคุณ คุณไพชยนต์ เอื้อทวีกุล ไว้ณ.โอกาสนี้ครับ

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 209418เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2008 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอบคุณท่านอาจารย์ประจักษ์
  • ที่ได้มาแวะ ลปรร.กัน
  • เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะหน่อไม้ฝรั่ง มีคุณค่าทางอาหารสูงครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท