ความอัจฉริยะของสมอง


ความอัจฉริยะของสมอง

แต่มนุษย์ตัวเล็ก ๆ กลับสามารถก้าวไปสำรวจจักรวาลอันยิ่งใหญ่ได้ด้วยความสามารถอันน่ามหัศจรรย์ของส่วนประกอบที่สำคัญในร่างกายมนุษย์นั่นก็คือ สมอง สิ่งที่ชักนำให้มนุษย์ก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดนานัปการเพื่อไปสำรวจทั้งโลกและจักรวาล

                สมอง จึงเปรียบเสมือนจุดกำเนิดของสรรพสิ่ง เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความคิด จินตนาการ ที่นำไปสู่การสรรสร้างสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีและวิทยาการล้ำสมัยต่าง ๆ อีกทั้งเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้ในการควบคุมความเป็นไปของทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว

                ถึงแม้มนุษย์จะมีความสงสัยและศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ รอบตัว แต่หน้าที่ ระบบความสัมพันธ์ หรือปัจจัยต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมอง อันเป็นจุดกำเนิดสำคัญซึ่งเป็นที่มาของความคิด จินตนาการ การสร้างสรรค์ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายต่างพยายามศึกษาและเชื่อมโยงระบบ กลไก การทำงานต่าง ๆ ของสมอง และยิ่งศึกษาลงลึกถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของสมอง ก็ยิ่งพบความสลับซับซ้อนอันน่าอัศจรรย์ใจ




หน้าที่สมอง

                การวิจัยหน้าที่ของสมองพบความรู้อย่างเป็นทางการในขณะนี้ ว่ามีการชี้ให้เห็นความสามารถและระบบการทำงานที่แปลกประหลาดสมองมากมาย เนื่องจากสมองทำหน้าที่ตั้งแต่ รับข้อมูล ประมวลผลข้อมูลและคิดตอบสนองต่อข้อมูลนั้น ๆ นอกจากหน้าที่ในส่วนของข้อมูลต่าง ๆ แล้ว สมองยังทำหน้าที่ควบคุมการหลั่งสารบางอย่างที่ทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจของเราด้วย 

                ดังนั้นสมองจึงสามารถคิดค้นหาคำตอบสำหรับคำถามที่ซับซ้อนได้ และทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการการเคลื่อนไหวพฤติกรรม และรักษาสมดุลภายในร่างกาย (homeostasis) อาทิ การควบคุมการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต สมดุลของเหลวในร่างกาย และอุณหภูมิ เป็นต้น นอกจากนี้สมองยังมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ (cognition) อารมณ์ ความจำ การเรียนรู้การเคลื่อนไหว (motor learning) และความสามารถอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ด้วย

 



พัฒนาการของสมอง

                พัฒนาการทางสมองของมนุษย์สำหรับหน้าที่ในการใช้เหตุผลเชิงนามธรรมนั้นมี 3 ส่วนและแต่ละส่วนมีระดับของการวิวัฒนาการแตกต่างกัน
 ส่วนแรกเป็นส่วนที่ได้วิวัฒนาการขั้นแรกสุด และตั้งอยู่บริเวณก้านสมองซึ่งเป็นส่วนของสัตว์เลื้อยคลานที่ทำหน้าที่ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างฉับพลันตามสัญชาตญาณและควบคุมหน้าที่พื้นฐานในการดำเนินชีวิต แต่ไม่ส่งเสริมความคิดและจินตนาการ
สมองส่วนต่อมานั้นพัฒนาขึ้นมาจากส่วนของสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของสมองส่วนหน้า บางครั้งเรียกสมองชั้นในนั่นคือ ส่วนลิมปิก (limpic) ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์   สมองส่วนสุดท้ายเป็นส่วนที่ห่อหุ้มสมองส่วนลิมปิกอยู่ภายนอก คือ ส่วนของ นีโอคอร์เทกซ์ (neo-cortex) ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เหตุผล

สมองกับการจดจำ

                ในการศึกษากลไกการจดจำของสมอง นักวิทยาศาสตร์ได้เพียรพยายามศึกษาลักษณะของการจัดเก็บข้อมูลในสมองว่ามีการกระจายข้อมูลไปอยู่ในส่วนต่าง ๆ หรือเก็บไว้ในที่เฉพาะของสมองอย่างไร สำหรับในการจดจำนั้นก็มีทั้งการจดจำในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งความสามารถในการจดจำนี้ขึ้นอยู่กับสมอง 2 ส่วนที่สำคัญได้แก่ ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ที่มีขนาดเล็กราวเม็ดถั่ว และมีน้ำหนักเพียง 4 กรัมเท่านั้น กับ อะมิกดาลา (amygdala) ที่มีลักษณะคล้ายอัลมอนด์ สมองส่วนนี้ตั้งอยู่ในลิมปิก

                 ตามปกติ ฮิปโปแคมปัส จะทำหน้าที่ในการย้ายข้อมูลในสมอง จากส่วนที่เป็นข้อมูลในการย้ายข้อมูลในสมอง จากส่วนที่เป็นข้อมูลระยะสั้นไปสู่ข้อมูลระยะยาว และของอะมิกดาลาจะทำหน้าที่ย้ายข้อมูลทางอารมณ์ ซึ่งหากสมองทั้ง 2 ส่วนนี้สามารถทำงานพร้อมกันได้ข้อมูลจากหน่วยความจำ ระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อคนเราได้เรียนรู้สิ่งใดในเวลาที่เขาสนุก เขาก็สามารถเรียนรู้ สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


ความสามารถของสมองซีกต่าง ๆ

                 เนด เฮอร์มานน์ (Ned Hermann) ได้แบ่งสมองส่วนของลิมปิก และ นีโอคอร์เทกซ์ออกเป็นซีกซ้ายและขวาที่มีหน้าที่แตกต่างกันได้แก่ ลิมปิกซีกซ้าย ลิมปิกซีกขวา นีโอคอร์เทกซ์ซีกซ้ายและนีโอคอร์เทกซ์ซีกขวา
                บุคคลที่มีสมองส่วนใดทำงานเด่นเป็นพิเศษ ก็จะมีพฤติกรรมค่อนไปทางด้านนั้น กล่าวคือ ถ้าสมองในส่วนของลิมปิกซีกซ้ายเด่น เขาก็จะพอใจกับบรรยากาศการเรียนรู้ที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมาก หากสมองในส่วนของลิมปิกซีกขวาเด่น เขาก็จะเรียนรู้ได้ดีเมื่อมีการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ในห้องหากสมองในส่วนของนีโอคอร์เทกซ์ซีกซ้ายเด่นเขาก็จะเหมาะกับการเรียนรู้ทางเนื้อหาทฤษฎีและการใช้ความคิดวิเคราะห์ และหากนีโอคอร์เทกซ์ซีกขวาเด่น ควรที่เขาเรียนรู้โดยการสัมผัสจริง

 



ทุกคนมีแววฉลาด

 ความฉลาด ดังที่ทราบกันแล้วว่าความฉลาดของคนนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ประเภทได้แก่

 ความฉลาดทางด้านภาษา (linguistic intelligence)
 ความฉลาดทางด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (logical-mathematical intelligence)
 ความฉลาดทางด้านมิติสัมพันธ์ (spatial intelligence)
 ความฉลาดทางด้านการเคลื่อนไหว (bodily intelligence)
 ความฉลาดทางด้านดนตรี (musical intelligence)
 ความฉลาดในการเข้าใจตัวเอง (intrapersonal relation intelligence)
 ความฉลาดทางด้านมนุษยสัมพันธ์ (interpersonal relation intelligence)

 ซึ่งความฉลาดทั้ง 7ด้านนี้มนุษย์สามารถพัฒนาไปพร้อม ๆกันได้ ไม่ใช่เพียงความฉลาดเฉพาะเพียงด้านเดียว เพราะความฉลาดแต่ล้านเกี่ยวข้องและทำงานร่วมกัน และความสำเร็จที่สำคัญ ๆ นั้นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของความฉลาดในหลาย ๆ ด้าน

รู้จักสมองอัจฉริยะ

                 การสำรวจสมองของอัลเบิร์ด ไอน์สไตน์ อัจฉริยะคนสำคัญของโลก ได้พบว่าภายในสมองมีเซลล์เนื้อเยื่อที่มากกว่าของบุคคลทั่วไป ประมาณ 2 เท่า และบริเวณส่วนล่างของสมองด้านข้าง (inferior parietal region) จะมีขนาดใหญ่กว่าของคนปกติธรรมดาถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสมองส่วนนี้เป็นสมองที่มีหน้าที่ให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์
                
                 นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่า ร่องสมองของไอน์สไตน์ได้หายไปบางส่วน โดยสมองของคนทั่งไปจะมีร่องสมองจากส่วนหน้า ต่อเนื่องไปยังสมองส่วนหลังซึ่งร่องที่หายไป  บางส่วนนี้อาจเป็นกุญแจสำคัญที่แสดงความเป็นอัจฉริยะของไอน์สไตน์ก็ได้   เนื่องจากมันทำให้เส้นประสาทและเซลล์สมองบริเวณนั้น สามารถเชื่อมโยงเข้าหากันและทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น ผลของการศึกษาวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า อัจฉริยภาพของนักฟิสิกส์ทฤษฎีผู้ยิ่งใหญ่ของโลกผู้นี้ มีมาตั้งแต่เกิด

พัฒนาสมองให้เป็นอัจฉริยะ

                 สำหรับมนุษย์ทั่วไปกิจกรรมบางประเภทสามารถเพิ่มจำนวนของเซลล์เนื้อเยื่อของโครงประสาทได้ และทำให้คนนั้นมีความคิดที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นต้องเป็นกิจกรรมที่เกิดจาการผสมผสานการใช้ทักษะต่าง ๆ อาทิ การจินตนาการ อำนาจแห่งจินตนาการเป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์ และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพจะบังเกิดเมื่อมนุษย์มีสมองที่พร้อมบริบูรณ์ อีกทั้งมีประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ซึ่งจะกลายเป็นพื้นฐานการจินตนาการ ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์งานที่เป็นจริงและนำไปสู่การปรับปรุงแนวคิดให้กำเนิดความคิดใหม่ ๆ หรือทฤษฎีใหม่ ๆ ที่ไม่มีผู้ใดทำได้ ซึ่งโลกปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ และโลกต้องการอัจฉริยะในทางสร้างสรรค์อย่างยิ่ง

                 สิ่งที่มนุษย์ได้ศึกษาในปัจจุบันเป็นเพียงความรู้แค่ส่วนหนึ่งของสมองเท่านั้น ซึ่งความเร้นลับระหว่างความสัมพันธ์ของสมองมนุษย์กับความรู้สึกนึกคิดอีกมากมายก็ยังไม่ปรากฏหรือถูกค้นพบ นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาต่อไปเกี่ยวกับความสามารถอันแท้จริงของมนุษย์ โดยเฉพาะสมองของเหล่าอัจฉริยะทั้งหลายอันจะเป็นที่มาของการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ๆ

ที่มา : http://www.vcharkarn.com

หมายเลขบันทึก: 209417เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2008 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท