เรียนรู้พุทธมหายาน : บทความของ นพ. อำพล (1)


พื้นความรู้เกี่ยวกับไต้หวัน

เรียนรู้พุทธมหายาน : บทความของ นพ. อำพล (1)

ในการเตรียมตัวไปดูงานมูลนิธิฉือจี้ที่ไต้หวัน ผมได้รับบทความของ นพ. อำพล จินดาวัฒนะ ให้มาอ่านเตรียมตัวไว้ก่อน    จึงนำมาเผยแพร่ต่อ    มีทั้งหมด ๕ ตอน

จิตอาสา  พลังสร้างโลก (1)
รู้จักไต้หวัน
โดย นพ.อำพล  จินดาวัฒนะ

เกริ่นนำ
          เมื่อราวเดือนกันยายน 2548 อาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม เล่าให้ผมฟังคร่าว ๆ ว่าท่านได้ไปดูงานของมูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน ท่านพบเรื่องราวอันงดงามของที่นั่น มูลนิธิดำเนินงานมาได้ 40 ปีแล้ว ใช้หลักทางพุทธศาสนาเป็นธงนำทาง มีกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายที่ล้วนทำเพื่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสังคมสงเคราะห์ การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข และวัฒนธรรม โดยเน้นการสร้างเสริมจิตอาสาเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้เกิดแก่ผู้อื่น ปัจจุบันมีสมาชิกร่วมบริจาคสนับสนุนกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง 5-6 ล้านคนทั่วโลก มีอาสาสมัครทำงานแบบต่อเนื่องกว่าสองแสนคน มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ทันสมัยหลายแห่งในไต้หวัน มีธนาคารไขกระดูกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีสถานีโทรทัศน์น้ำดีเป็นของตนเองเผยแพร่สัญญานภาพไปทั่วโลก มีโรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยม จนถึงมีมหาวิทยาลัยผลิตแพทย์และบุคลากรสาขาอื่น และมีกิจกรรมเพื่อสังคมด้านอื่นอีกมาก โดยทุกเรื่องที่ทำ ล้วนเน้นความสำคัญต่อมิติทางมนุษย์และจิตวิญญาณอย่างเด่นชัดและเป็นรูปธรรม
          ผมฟังแล้วรู้สึกประทับใจอย่างมาก แล้วในที่สุดก็เหมือนเป็นบุญวาสนา เมื่อศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ได้กรุณาชวนผมเดินทางไปศึกษาดูงานที่ไต้หวัน ร่วมกับคณะกว่า 40 คน ที่มีผู้นำหน่วยงานของรัฐ ผู้นำชุมชนและอาสาสมัครที่ทำงานในชุมชน ไปดูงานระหว่างทั้งวันที่ 23 – 27 พฤศจิกายน 2548 เมื่อไปดูไปรู้ไปเรียนจากของจริง ก็ยิ่งทำให้ซาบซึ้งและประทับใจเป็นทวีคูณ จึงตั้งใจว่าจะเก็บสิ่งที่ได้เรียนรู้มาถ่ายทอดให้เพื่อนคนไทยที่สนใจได้มีโอกาสร่วมเรียนรู้ ผมจึงเขียนบทความเล่าเรื่องนี้ขึ้น เพื่อตอบแทนพระคุณแก่ทุกท่านที่เกี่ยวข้องที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ประสบการณ์อันมีค่าสูงในครั้งนี้
          การเดินทางไปดูงาน มีอาสาสมัครชุดเสื้อสีน้ำเงินกางเกงสีขาว และชุดสีน้ำเงินของมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย 6 ท่าน เดินทางไปดูแลพวกเราตลอดการเดินทาง  คือ  คุณสุชน แซ่เฮง, คุณสุทธิพันธุ์ เล็กวิจิตรธาดา (แคนดี้), คุณบังอร แซ่เฉิน, คุณลัดดา แซ่หลิว, คุณวิวัฒน์ แซ่เตียง และน้องหญิง แซ่อึ้ง ทั้ง 6 ท่าน ดูแลช่วยเหลือพวกเราเหมือนเป็นญาติสนิท (แม้จะเพิ่งรู้จักกันเป็นครั้งแรก) ทั้งเรื่องการวางแผนการดูงาน การจัดการ การประสานงาน การเป็นล่าม การให้ข้อมูล การบริการสารพัด ทุกท่านตั้งใจบริการพวกเราอย่างสุภาพ อ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่รู้เหน็ดเหนื่อย
          ทั้ง 6 ท่านเดินทางไป-กลับ กินอยู่หลับนอนโดยอาศัยค่าใช้จ่ายที่แต่ละคนออกกันเอง อันเป็นเอกลักษณ์ของอาสาสมัครฉือจี้ที่มีใจใฝ่บริการผู้อื่น ไม่เบียดเบียนใคร ๆ และไม่เบียดเบียนโลก สมกับที่ฝรั่งขนานนามพวกเขาว่า “นาง (นาย) ฟ้า สีนำเงิน” (Blue Angle)
          เพียงเริ่มต้นเท่านี้ ก็สร้างความประทับใจให้แก่พวกเราอย่างสุด ๆ แล้วครับ

 

ไต้หวันรีวิว
          เมื่อเอ่ยถึงไต้หวัน แต่ละคนคงคิดถึงเรื่องที่แตกต่างกัน บางคนอาจคิดถึงประเทศที่ สส.ในสภาชอบตบตีกันจนเป็นข่าวไปทั่วโลกอยู่บ่อย ๆ บางคนอาจคิดถึงประเทศที่มีแรงงานไทยไปรับจ้างทำงานเป็นแสนและเคยมีเหตุการณ์คนงานไทยก่อจลาจลจุดไฟเผาที่พักเพราะถูกกดขี่ข่มเหงจนเหลือทน บางคนอาจคิดถึงนักธุรกิจไต้หวันที่เข้ามาลงทุนทำธุรกิจมากมายในประเทศไทยของเรา ผู้ที่มีอายุมากหน่อยอาจคิดถึงจีนขาวที่อพยพหนีคอมมิวนิสต์จีนแผ่นดินใหญ่ไปตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นที่หมู่เกาะฟอร์โมซาและประกาศตนเป็นสาธารณรัฐจีนเมื่อราว 50 ปีก่อน บางคนอาจคิดถึงประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือพุทธนิกายมหายานที่เน้นการปฏิบัติธรรมด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นตามหลักความเมตตากรุณาของพระโพธิสัตว์ ฯลฯ
          ไต้หวันประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ 78 เกาะ มีเกาะไต้หวันเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด มีเนื้อที่ 35,980 ตารางกิโลเมตร เล็กกว่าประเทศไทยประมาณ 14 เท่า แต่มีประชากร 1 ใน 3 ของไทย (22 ล้านคนเมื่อปี 2547) ความยาวจากเหนือจรดไต้ 400 กม. ราว ๆ ตอนเหนือของเชียงใหม่ถึงพิษณุโลก กว้าง 150 กม. ราวๆ ชายแดนแม่ฮ่องสอนถึงเชียงใหม่ เมื่อเทียบกับประชากรที่มีอยู่จึงถือได้ว่าไต้หวันเป็นประเทศที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น มิหนำซ้ำพื้นที่ราวร้อยละ 75 เต็มไปด้วยเทือกเขา และมีปัญหาภัยธรรมชาติทั้งแผ่นดินไหวเสมอๆ และไต้ฝุ่นหนัก ๆ ปีละหลายลูก
          ถ้าจะว่าไปแล้ว จีนไต้หวันมีประวัติศาสตร์ชาติที่ชัดเจนก็ราว 50 ปีเศษมานี้เอง ตั้งแต่สมัยพรรคก๊กมินตั๋งแพ้ภัยคอมมิวนิสต์จีนจึงอพยพคนจีนราว 2 ล้านคนข้ามมาสมทบอยู่กับคนท้องถิ่นเดิมที่นั่น แต่เวลาเพียงครึ่งศตวรรษ ปรากฏว่าจีนไต้หวันถีบตัวก้าวกระโดดจากประเทศที่เต็มไปด้วยคนยากคนจนมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว คนจนหมดไป ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยแคบลงมาก (จาก 15 เท่า ในปี พ.ศ. 2496 เหลือแค่ 4 เท่าในปี พ.ศ. 2513) กลายเป็นประเทศแนวหน้าในเอเชียถัดจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

สรุปประวัติศาสตร์ไต้หวันโดยย่อ
พ.ศ.
ประวัติศาสตร์
2167
ดัทช์ยึดครอง
2169
สเปนมาแย่งไปครอง
2184
ดัทช์ยึดกลับมาครอง
2203
ราชวงศ์หมิงและแมนจูมายึด ผนวกเป็นส่วนของมณฑลผูเจี้ยน
2438
ญี่ปุ่นยืดไปจากจีน
2455
ดร. ซุนยัด-เซ็น สถาปนา สาธารณรัฐจีน หลังล้มราชวงศ์ชิงได้สำเร็จ
2480
จีนเปิดศึกใหญ่กับญี่ปุ่น
2488
สงครามต่อต้านญี่ปุ่นนาน 8 ปี ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเรืองอำนาจ จีนแผ่นดินใหญ่มีสิทธิเหนือหมู่เกาะไต้หวัน
2492
พรรคก๊กมินตั๋งของ ดร.ซุนยัดเซ็น พ่ายแพ้จีนคอมมิวนิสต์ จึงอพยพกันมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ไต้หวัน (อพยพคนมาจากจีนใหญ่ 2 ล้านคน มีคนอาศัยอยู่ก่อนแล้วราว 18 กลุ่ม ประมาณ 12 ล้านคน)
2514
จีนไต้หวันเสียสมาชิกภายในสหประชาชาติ
2521
สหประชาชาติรับรองจีนเดียว คือจีนแผ่นดินใหญ่
2522
เจียง ไคเช็ค ประธานาธิบดีคนแรกถึงแก่กรรม เจียง จิ้ง กว๊ะ ลูกชายขึ้นปกครองแทน
2539
หลี่ เต็งฮวย ได้เป็นประธานาธิบดีจากเลือกตั้งคนแรก (หลังยกเลิกกฎอัยการศึก และมีรัฐธรรมนูญใช้)
2543
เฉิน สุ่ย เปียน ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 (ได้เป็นโครงการเลือกตั้งคนที่ 2, ปี พ.ศ. 2547 ได้รับเลือกเป็นสมัยที่ 2)

          มีการวิเคราะห์กันว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนไต้หวันพัฒนาประเทศได้อย่างก้าวหน้ามากในช่วงเวลาค่อนข้างสั้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันบีบคั้นทำให้คนไต้หวันและรัฐบาลไต้หวันต้องถีบตัวทะยานไปข้างหน้าอย่างไม่ชักช้า นั่นก็คือ
1.      ภัยจากธรรมชาติ  เนื่องจากหมู่เกาะไต้หวันตั้งอยู่ในแนวภูเขาไฟ จึงเกิดปรากฎการณ์แผ่นดินไหวอยู่เสมอๆ ทั้งใหญ่และเล็ก ล่าสุดปี 2542 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตอนใต้ของเกาะ มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน บาดเจ็บอีกหลายพันคน นอกจากนี้ไต้หวันยังต้องเผชิญกับไต้ฝุ่นทุกปี ๆ ละหลาย ๆ ลูก ยังความเสียหายให้แก่ชาวไต้หวันมาโดยตลอด
2.      ภัยคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่จ้องจะรวมจีนไต้หวันให้เป็นจีนเดียวมาโดยตลอด ตั้งแต่พรรคก๊ก มิน ตั๋ง อพยพมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นใหม่ ๆ จนถึงปัจจุบัน
ด้วยภัยคุกคามข้างต้น มีผลทำให้ชาวจีนไต้หวันต้องเพิ่มความขมีขมันขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ ถีบตัวสร้างชาติให้เจริญก้าวหน้าเพื่อเอาชนะภาวะคุกคามทั้งหลายอย่างไม่ย่อท้อ ไม่สิ้นหวังและไม่ยอมจำนนต่อปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่ตรงหน้าแบบที่เรียกว่า “สู้ยิบตา” ก็ว่าได้
สิ่งเหล่านี้ได้บีบคั้นให้คนไต้หวันถ่ายทอดจิตวิญญาณจากรุ่นสู่รุ่นลงไปว่า หากยังมีลมหายใจ ยังพอทำงานได้ จะต้องมีความขยันขันแข็งทำงานแข่งกับเวลา สะสมทรัพย์สมบัติให้ครอบครัว เผื่อไว้ผจญกับภัยพิบัติที่จะมาเมื่อไหร่ก็ได้ คนไต้หวันจึงมีลักษณะขมีขมัน กระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าไม่เช่นนั้น ก็จะถูกภัยธรรมชาติคัดสรร เช่น ฝังทั้งเป็น หรือกวาดไปกับสายน้ำท่วมลงทะเลมหาสมุทรไปทุกปี เหลือไว้แต่ทายาทคนไต้หวันที่มีคุณภาพ รู้จักการปรับปรุงตัวอยู่ตลอดเวลา จึงจะก้าวทันความเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติบนโลกใบนี้ได้
แม้ว่าใต้ฝุ่นจะนำภัยพิบัติมาให้ไต้หวัน แต่หากไม่มีไต้ฝุ่น ไต้หวันในฤดูแล้ง ก็จะขาดแคลนน้ำใช้ ไต้ฝุ่นจึงเป็นชะตากรรมที่ชาวไต้หวันจำต้องเผชิญหน้าทุกปีด้วยความขมขื่น และไต้ฝุ่นยังมีจุดดีที่สำคัญมากคือ แรงลมพายุของใต้ฝุ่นจะช่วยขจัดมลพิษสารเคมีในท้องฟ้าให้ไต้หวันทุกปีอีกด้วย” (จากหนังสือ คุณลักษณะและกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของประเทศไต้หวัน โดยพระเดิมแท้ ชาวหินฟ้า)
ส่วนปัจจัยด้านบวกอื่น ๆ ที่มีส่วนทำให้จีนไต้หวันเจริญก้าวหน้าก็มีหลายประการ ได้แก่ การที่คนไต้หวันที่อพยพลี้ภัยคอมมิวนิสต์มาจากแผ่นดินใหญ่ราว 2 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นระดับนำ ระดับมันสมอง มีการศึกษาระดับดี จบการศึกษามาจากต่างประเทศจำนวนไม่น้อย มีจิตวิญญาณเลือดนักสู้ นักเผชิญภัย และมีบุคลิกของชาวจีนที่ขยันขันแข็ง ใฝ่เรียนรู้ หนักเอาเบาสู้เป็นพื้นอยู่แล้ว ประกอบกับมีวัฒนธรรมที่เป็นผลมาจากพุทธศาสนานิกายมหายานที่สร้างให้คนจีนไต้หวันมีความนอบน้อมถ่อมตน มีจิตใจใฝ่บริการผู้อื่น ชอบช่วยเหลือผู้อื่นและช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ทอดทิ้งกัน เหล่านี้จึงกลายเป็นจุดแข็งของคนไต้หวันไป (แต่คนไต้หวันที่มีลักษณะตรงข้ามนี้ก็มีเหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากผู้ประกอบธุรกิจชาวไต้หวันที่มีทั้งพ่อพระและนักกดขี่ฉวยโอกาส)
ในช่วง 50 ปีเศษมานี้ จีนไต้หวันพัฒนาโดยมุ่งปฏิรูปเรื่องสำคัญ ๆ สรุปได้ 4 เรื่อง คือ
1.      ปฏิรูปที่ดิน
2.      ปฏิรูปทางการเมือง
3.      ปฏิรูปเศรษฐกิจ
4.      ปฏิรูปการศึกษา สังคมและวัฒนธรรม

 

1.      การปฏิรูปที่ดิน  ในช่วงบุกเบิกของรัฐบาลเจียงไคเช็คซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการ ได้ทำการเรียกศรัทธาและความเชื่อมั่นจากประชาชนโดยเร่งดำเนินโครงการจัดสรรและปฏิรูปที่ดินเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ สามารถทำสำเร็จในเวลาเพียง 4-5 ปี ทำให้เกิดความเป็นธรรมในฐานการผลิตและที่อยู่อาศัยของผู้คนไต้หวันมาจนถึงทุกวันนี้
2.      การปฏิรูปทางการเมือง แม้รัฐบาลเจียงไคเช็คเป็นรัฐบาลเผด็จการ แต่ก็รู้ดีว่าจุดอ่อนสำคัญของรัฐบาลส่วนใหญ่คือปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น เขาจึงพยายามปิดจุดอ่อนเหล่านี้เพื่อสร้างการยอมรับแก่ประชาชนทั้งที่อพยพมาด้วยกันและคนส่วนใหญ่ (12 ล้านคน) ที่อาศัยอยู่ในไต้หวันมาก่อนแล้ว ในขณะเดียวกันก็เตรียมการสู่การปกครองระบบประชาธิปไตย ซึ่งในที่สุดก็ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ทำให้ไต้หวันเป็นประเทศประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด มีระบบ 5 อำนาจคือ หนึ่งสภานิติบัญญัติ สองสภาตุลาการ สามสภาบริหาร สี่สภาตรวจสอบและคัดเลือกบุคลากรของรัฐ และห้าสภาควบคุมสูงสุด (โดยทั่วไปประเทศตะวันตกจะใช้ระบบ 3 อำนาจ) มีการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองสูง เพราะต้องการมีส่วนในการกำหนดแนวทางของชาติ ของสังคมและของชีวิตพวกเขาเองเพื่อต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ อย่างทรนง
3. การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ  ไต้หวันประสบความสำเร็จสูงมากในการปฏิรูปเศรษฐกิจ จนบางคนเรียกว่าเป็น “เศรษฐกิจมหัศจรรย์”
     เนื่องจากไต้หวันมีพื้นที่น้อย แถมยังใช้ในการเกษตรได้ไม่ถึง 1 ใน 3 รัฐบาลจึงหาแนวทางสร้างเศรษฐกิจแนวอื่น ประกอบกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกายื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทั้งเงินทุน วิทยาการ และเทคโนโลยี จึงเกิดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 10 โครงการ ในช่วงปี ค.ศ. 2506 – 2516 เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น โครงการโครงข่ายทางด่วนเหนือจรดใต้ เส้นทางรถไฟ รถไฟฟ้า ท่าเรือที่ทันสมัย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสมัยใหม่ ถ่ายโอนเทคโนโลยีชั้นสูงเข้าประเทศโดยร่วมทุนกับอุตสาหกรรมต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และซื้อลิขสิทธิ์หรือแบบพิมพ์เขียวสำหรับเทคโนโลยีมาใช้และพัฒนาต่อยอดเป็นของตนเอง มีการตั้งอุทยานเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้พัฒนาการอาชีพของคนไต้หวันเปลี่ยนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ (ดูตาราง)
                  

อาชีพ
2493 (%)
2530 (%)
2547 (%)
งานเกษตร
27.4
4.9
1.7
งานบริการ
46.0
52.2
68.8
งานโรงงาน
26.6
42.9
29.5

                   มีผลทำให้ผลผลิตมวลรวมประชาชาติเติบโตถึง 700 % ในช่วงปี พ.ศ. 2495 – 2521 นอกจากนี้ยังพบว่า การกระจายรายได้มีความเป็นธรรมค่อนข้างสูง ช่องว่างระหว่างคนมีคนจนห่างกันไม่มาก ปัจจุบันถือได้ว่าไต้หวันเป็นประเทศที่ไม่มีคนยากจน (รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี 13,200 เหรียญสหรัฐ ในปี 2543 (จาก 140 เหรียญสหรัฐในปี 2492)
                   ช่วงที่ผมไปอยู่ไต้หวัน 4-5 วัน ไม่เห็นขอทาน เด็กขายพวงมาลัย หรือคนจรจัดเลย


4. การปฏิรูปการศึกษา สังคมและวัฒนธรรม 

ไต้หวันเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้วยมองว่า “ความรู้คือพลังอำนาจ” จึงมีการส่งเสริมการศึกษาทั้งในประเทศและการส่งนักศึกษาไปเรียนต่างประเทศ มีผลทำให้คนไต้หวันมีระดับการศึกษาค่อนข้างดี ประกอบกับเป็นคนที่มีนิสัยชอบการค้าขายอยู่เป็นทุนเดิม จึงทำให้คนไต้หวันเป็นผู้ประกอบการ มีธุรกิจของตนเองกันมาก และกำลังเดินทางออกไปทำธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก (ประมาณว่ามีนักธุรกิจไต้หวันและครอบครัวเดินทางมาทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทยราว 150,000 คน)
                   ในแง่ของสังคมไต้หวันให้ความสำคัญกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมความเป็นระเบียบเรียบร้อย วินัยของผู้คนเพื่อสร้างความสงบสุขมากขึ้นตามลำดับ หลังจากที่ในช่วงพัฒนาเศรษฐกิจช่วงต้น ๆ ก็มีผลทำให้สังคมเสื่อมโทรมลงเช่นกัน ได้แก่ เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ทางน้ำ ปัญหาขยะ ฯลฯ แต่รัฐบาลได้จัดระเบียบ กำหนดกฎเกณฑ์ กติกา วิธีการ แล้วดำเนินการอย่างเข้มงวดเอาจริงเอาจัง ทำให้ปัจจุบันปัญหาสังคมลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด วันนี้ไต้หวันเป็นประเทศสะอาด ผู้คนมีระเบียบวินัย รักษากฎจราจรเข้มงวด อาชญากรรมความรุนแรงน้อย เดินทางไปไหนๆ จะเห็นตำรวจน้อยมาก แต่เขามีระบบเทคโนโลยีคอยตรวจจับถ้าใครทำผิดกฎหมายก็จะได้รับโทษอย่างเข้มงวดไม่เลือกปฏิบัติ
                   อย่างเรื่องการกำจัดขยะเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างระเบียบให้สังคมก็มีการพัฒนาการอย่างน่าสนใจ
“ก่อนหน้านี้ หากผู้คนต้องการทิ้งขยะ ก็จะเอาออกมากองสุมไว้ที่ข้างถนน ทำให้ดูสกปรกและส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง แต่นับจากมีนโยบายปราศจากขยะบนพื้น ออกมาในปี พ.ศ. 2540 ผู้คนต้องรอทิ้งขยะตามเวลาที่รถขยะจะไปจัดเก็บ วิธีการนี้ ลดความสะดวกสบายลงบ้าง แต่ก็ทำให้บ้านเมืองสะอาดขึ้น
                   ในระยะ 4-5 ปีมานี้ ไต้หวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทเปได้เพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการจัดการขยะอีกหลายเรื่องเช่น         
1.      กำหนดวัน – เวลา และประเภทขยะที่สามารถทิ้งได้ฟรี โดยไม่ต้องจ่ายค่าเก็บขยะแก่รัฐ ซึ่งชาวบ้านจะต้องเตรียมนำถุงขยะมารอทิ้งตามจุดที่ทางการระบุไว้เป็นจุด ๆ ในเขตเมือง ห้ามทิ้งไว้หน้าบ้าน เป็นการให้ประชาชนรู้สำนึกถึงภาระของการเก็บขยะและรอทิ้ง จะได้เกิดการควบคุมการซื้อหาข้าวของมาเพิ่มเป็นขยะไปในตัว ในขณะเดียวกันก็มีการกำหนดวันเวลาและประเภทขยะที่เก็บ เช่น บางวันเก็บเฉพาะขยะกระดาษ บางวันเก็บเฉพาะขยะพลาสติก โฟม และแก้ว เป็นต้น ปัจจุบันนี้ เมื่อประชาชนได้ยินเสียงดนตรีเหมือนรถขายไอติมวอลล์ของบ้านเรา ทุกคนจะรู้ทันทีว่ารถขยะกำลังมา ก็มีหน้าที่หิ้วถุงขยะออกไปส่งให้คนเก็บขยะโดยมิชักช้า
2. หากใครไม่สะดวกที่จะแยกประเภทขยะมาทิ้งตามวันเวลาข้างต้น ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม โดยให้ประชาชนซื้อถุงพลาสติกใส่ขยะรวมได้ทุกชนิด (ขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก ราคาต่างกันไป) แล้วทิ้งได้ทุกวัน แต่ก็ต้องมารอทิ้งพร้อมกับคนอื่น ตามวันเวลาที่จุดนัดพบเช่นกัน
ระบบการทิ้งขยะที่เห็นในกรุงไทเป เป็นภาพที่ประทับใจมาก เพราะเป็นกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในด้านความสามัคคีที่รัฐร่วมกับประชาชน เป็นเครื่องบอกวุฒิภาวะทางสังคมไต้หวันได้ว่า สมรรถภาพและการศึกษาของประชาชนเริ่มให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต โดยไม่เพียงสนใจแค่ปัญหาปากท้องอย่างในอดีตแล้ว และเป็นความยุติธรรมที่ใครใช้มาก ก็ต้องจ่ายมาก ถือเป็นภาพการปรับตัวของคนไต้หวันรุ่นใหม่ ที่รักจะก้าวหน้า ก็ยินดีที่จะช่วยกันดูแลสิ่งรอบตัวไปด้วย ไม่ใช่โยนภาระให้กับภาครัฐฝ่ายเดียว นับเป็นค่าวัดระดับคุณธรรมของสังคมไต้หวันได้ดีอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและพิทักษ์สิ่งแวดล้อมไปในตัว” (พระเดิมแท้ ชาวหินฟ้า)
ในด้านวัฒนธรรม นับว่าไต้หวันมีทุนทางวัฒนธรรมสูงมาก สะสมมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่สมัยที่อพยพมา และยังคงรักษาไว้อย่างต่อเนื่อง
ชาวไต้หวันยังมีความเชื่อถือในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และทำพิธีกรรมทางศาสนาตามประเพณีดั้งเดิมของชาวจีนตลอดมา มีการจุดธูปบูชาเช่นสรวงเทพเจ้าที่เคารพ นับถือดวงวิญญาณบรรพบุรุษตามธรรมเนียมจีนอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นภาพตรงข้ามกับความเจริญรุดหน้าของบ้านเมืองและความก้าวหน้าทางธุรกิจการค้าของไต้หวัน
          ชาวไต้หวันส่วนใหญ่ก็เหมือนคนจีนทั่วโลกที่ปลูกฝังอุปนิสัยให้เป็นคนมีวาจาสุภาพ สุขุม รอบครอบ มีอารมณ์สุนทรีย์ รู้จักการรับมือกับปัญหาในชีวิตประจำวัน มีปรัชญาชีวิต คติโบราณและศาสนธรรมแฝงอยู่ในความนึกคิด มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีนิสัยใฝ่บริการ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น
          ชาวไต้หวัน 93 % นับถือพุทธ(นิกายมหายาน) ขงจื้อและเต๋า 4.5 % นับถือ คริสต์ 2.5 % นับถือศาสนาอื่น
          ที่น่าสนใจคือรัฐธรรมนูญไต้หวันให้เสรีภาพแก่ประชาชนเลือกนับถือศาสนา ลัทธิ หรือความเชื่อได้อย่างอิสรเสรี ทำให้เกิดการพัฒนาการขององค์กรและขบวนการทางศาสนาอย่างไม่ขาดสาย มีการวิจัยพบว่าปัจจุบันมีศาสนานิกายต่าง ๆ และความเชื่อต่าง ๆ ในไต้หวันกว่า 200 ความเชื่อ และพบว่า องค์กรทางศาสนาเหล่านี้เองได้กลายเป็นกลุ่มมหาอำนาจด้านจิตใจของคนไต้หวันอย่างสำคัญ ดังนั้นแม้ไต้หวันจะพัฒนาไปทางอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก แต่สังคมไต้หวันก็ยังผูกโยงด้านจิตวิญญาณและชีวิตอยู่กับศาสนธรรมอย่างเหนียวแน่น ซึ่งนับเป็นจุดเด่นที่สำคัญของไต้หวัน
          จุดเด่นตรงนี้จึงทำให้ศูนย์คุณธรรมเกิดความสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้ จึงได้ส่งคณะไปศึกษาดูงาน และผมก็ได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในคณะดูงานนั้น เมื่อได้ดูแล้วก็ให้รู้สึกประทับใจอย่างยิ่ง จนต้องกลับมาเขียนเล่าสู่กันอ่านอยู่นี่ โดยฉบับนี้เป็นการปูพื้น ตั้งแต่ฉบับหน้าเป็นต้นไป จะเขียนถึงเรื่องของมูลนิธิพุทธฉือจี้โดยตรง โปรดติดตามต่อไปครับ
          (ยังมีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 20883เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2006 20:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 ผมได้แวะไปโรงพยาบาลเทพาร่วมกับทีมอาจารย์มงคล ณ สงขลา  ตอนต้นเดือน  พอดีคุณหมอสุวัฒน์  เพิ่งกลับมาจากไต้หวัน  ได้เล่าประสบการณ์ให้ฟัง  ผมได้มาเล่าให้ทีมงานฟังก็มีความสนใจและอยากจะให้มีการรับรู้และแลกเปลี่ยนกันในวงกว้าง  จึงทาบทามคุณหมอสุวัฒน์  คุณหมอสุภัทร  มาคุยให้ฟัง  โดยคุณหมอจะเชิญ คุณหมออำพล มาด้วย   จะจัดในวันที่ 15 มิถุนายน 2549 ที่ คณะแพทยศาสตร์สงขลานครินทร์  ห้อง M 103 ช่วงบ่าย 13.30-15.30น และถ้ามีผู้สนใจมากอาจย้ายไปห้องประชุมใหญ่ ใช้ชื่อว่า  จิตสาธารณะ  สานศรัทธา  สร้างสังคม   สำหรับเอกสารประชาสัมพันธ์ในพื้นที่คงออกมาสัปดาห์หน้า  คุณหมอสุวัฒน์  รอ ยืนยันจากคุณหมออำพลครับ

   นพ. อมร  รอดคล้าย

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  สาขาเขตพื้นที่(สงขลา)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท