หมักฟาง สร้างปุ๋ยในดิน ไม่สิ้นเปลืองปุ๋ยเคมี


ฟางข้าว, หมักฟาง, สร้างปุ๋ย

 


ผลการวิจัยจาก จากสถาบันข้าวนานาชาติ IRRI, Manila, Philippines (1987) แจ้งว่า ในฟางข้าวมีปริมาณธาตุอาหารที่หลงเหลือต่อจำนวนฟางข้าวหนึ่งตันดังนี้ ไนโตรเจน (N)  7.6 กิโลกรัม, ฟอสฟอรัส (P2O5) 1.1 กิโลกรัม, โพแทสเซียม  (K2O) 28.4 กิโลกรัม, แมกนีเซียม (Mgo) 2.3 กิโลกรัม, แคลเซียม (Cao) 3.8  กิโลกรัม, กำมะถัน (S) 0.34 กิโลกรัม, เหล็ก (Fe) 150 กรัม,  แมงกานีส (Mn) 310 กรัม, สังกะสี (Z) 20  กรัม, ทองแดง (Cu)  2 กรัม, โบรอน (B)  16 กรัม, ซิลิก้า (Si)  41.9  กิโลกรัม และ คลอรีน (Cl)  55 กิโลกรัม

ผลวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากฟางให้คุ้มค่าเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ โดยจะช่วยทำให้ชาวนาประหยัดต้นทุนลง เพราะตัวเลขของไนโตรเจนที่มีค่าเท่ากับ 7.6 กิโลกรัมต่อฟางหนึ่งตัน มีค่าใกล้เคียงกับปุ๋ย 16-20-0 หนึ่งกระสอบ (ปุ๋ย 16-20-0 มีปริมาณของปุ๋ยไนโตรเจนร้อยละ 16  ดังนั้นถ้าปุ๋ยหนัก 50 กิโลกรัมจะมีเนื้อปุ๋ยไนโตรเจน  8 กิโลกรัมซึ่งใกล้เคียงกับไนโตรเจนที่มีอยู่ในฟางข้าวคือ 7.6 กิโลกรัมต่อฟางหนึ่งตัน) และค่าตัวเลข โพแทสเซียม 28.4 กิโลกรัมนั้น ก็มีค่าใกล้เคียงกับปุ๋ย 0-0-60 หนึ่งกระสอบ กระสอบ (ปุ๋ย 0-0-60 มีปริมาณของปุ๋ยโพแทสเซียมร้อยละ 60  ดังนั้นเช่นกันถ้าปุ๋ยหนัก 50 กิโลกรัมจะมีเนื้อปุ๋ยโพแทสเซียม 30 กิโลกรัมซึ่งใกล้เคียงกับโพแทเซียมที่มีอยู่ในฟางข้าวคือ 28.4 กิโลกรัมต่อฟางหนึ่งตัน)

ดังนั้นถ้าชาวนายังคงเผาฟางต่อไป ก็เปรียบเหมือนดังว่ากำลังทำการเผาเงินทิ้งไปเสียเฉย ๆ ตามราคาของปุ๋ยคือ 16-20-0 หนึ่งกระสอบและราคาของปุ๋ย 0-0-60 อีกหนึ่งกระสอบ ซึ่งราคาของแต่ละกระสอบก็ตกประมาณ 900 – 1,200 บาท คิดเป็นตันก็ประมาณตันละสองหมื่นกว่าบาทเพราะราคาปุ๋ยในช่วงนี้ก็ถือว่าสูงอยู่พอสมควร อันที่จริงแล้วในฟางข้าวยังมีแร่ธาตุอาหารและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมายที่ถูกทำลายไปพร้อมกันกับการเผาฟางด้วย   

ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญกับฟางให้มาก ๆ เพราะจะช่วยลดต้นทุนและประหยัดเงินในการซื้อปุ๋ยลงได้  ชาวนาควรทำการหมักฟางด้วยจุลินทรีย์หน่อกล้วย (มีเอกสารวิธีการผลิตจุลินทรีย์ด้วยตนเองแจกฟรีที่ชมรมฯ) เพื่อช่วยในการย่อยสลายฟางให้เปลี่ยนเป็นปุ๋ยแก่ข้าวให้เร็วยิ่งขึ้นและช่วยสร้างระบบนิเวศน์ในแปลงนาให้สมดุล ช่วยเรียกปุ๋ยฟอสฟอรัสที่ตกค้างอยู่ในดินกลับคืนมาเป็นประโยชน์แก่ข้าวต่อไป

 

มนตรี   บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 208052เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2008 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท