พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค


ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

          อลังการแห่งสายน้ำ พระราชพิธีเสด็จดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดย ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค  ตอนที่ 1

          เอกลักษณ์ของชาติ เอกราชทางดินแดนและมรดกทางวัฒนธรรมแห่งปัญญาของสยามประเทศ ใช้เวลาบ่มเพาะมานานหลายร้อยปี จากการดำเนินพระราโชบายอันชาญฉลาดของพระมหากษัตริย์ไทย ตลอดจนจากภูมิปัญญาของบรรพชนอันควรค่าแก่การเทิดทูนบูชาและจารึกไว้ในจิตสำนึกของอนุชนรุ่นหลัง

          ตั้งแต่โบราณกาล ชาวไทยผูกพันชิดใกล้กับสายน้ำมาโดยตลอด การทำนาปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงชีพต้องอาศัยน้ำ สร้างบ้านแปงเมืองก็ต้องอยู่ใกล้แม่น้ำ ไปมาหาสู่กันก็อาศัยสายน้ำนำพา เรือกลายเป็นวิถีชีวิตของชนชาติไทยตั้งแต่สามัญชนจนถึงพระมหากษัตริย์ จากเรือขุดเรียบง่ายที่ใชัเป็นพาหนะพัฒนาเป็นเรือที่ใช้ในการรบ ปรับปรุงแต่งเสริมเป็นเรือพระราชพิธีอย่างงดงามวิจิตร จึงเกิดเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ยังคงสืบทอดมาจนปัจจุบัน

          ภาพเรือสุพรรณหงส์ที่งดงามตระการตาคล้อยเคลื่อนอย่างช้า ๆ นำหมู่เรือหลายสิบลำที่กระจายตัวทั่วลำน้ำ ระยิบ ระยับ สีทองทา สีแดงแห่งแพรพรรณ เสียงเคาะกรับ ขับลำนำเสนาะก้องกังวานทั้งคุ้งน้ำ พายขยับเนิบช้าน่าดู เป็นจังหวะจะโคน จะเป็นภาพที่ตราตรึงใจทั้งคนไทยคนต่างชาติที่มีโอกาสได้ดู หลายคนซาบซึ้งในความขลังอลังการของระบอบพิธี อีกหลายคนตระการตา กับความซับซ้อนงดงามของลำเรือแต่ละลำที่ประดับประดาด้วยแก้วกระจก ลายสลัก ทั้งรูปสัตว์ และอีกหลายคนแซร่ซร้องตื่นเต้นในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมอันยาวนานของชาติไทย ที่พัฒนาสถาพรมาได้ยาวนาน

          ขณะเดียวกันอีกหลายคนนั่งอยู่ในเรือใจระทึก มือจับพายกระชับมั่น กล้ามเนื้อเขม็งตึง กระทำอย่างที่เคยปฏิบัติอยู่ทุกวัน เป็นเวลา 120 วัน หรือหกเดือนเต็ม กลางแดดเปรี้ยง ก่อนจะถึงวันนี้ อีกหลายคนนั่งชมรายละเอียดของหมวกที่เคยจับเย็บ เสื้อที่เคยซ่อมชุน ที่ขณะนี้ประดับประดาอยู่บนกายของผู้ที่อยู่ในเรือ ทั้งฝีพายและผู้บังคับเรือ ทั้งสัปคับ ม่าน ลายวิจิตร อีกหลายคนเฝ้าดูเงียบ ๆ อย่างภูมิใจ นึกถึงวันคืนที่นั่งขัดตะกอน อุดรูรั่ว ซ่อมแซมทาสี เรือแต่ละลำก่อนจะทำพิธียกลงในน้ำ บางคนก็ไม่จำต้องรอคอยฟังกาพย์ที่ร้องเป็นทำนองเสนาะที่แต่งขึ้นเพื่อขบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนี้ เพราะคำแต่คำ บทแต่ละบท บาทแต่ละบาท ล้วนจารึกในความรับรู้ของเขา กว่าจะกรองกลั่นเรียงร้อยออกมาเป็นทำนองคล้องจองเพื่อขับกล่อมเรือและถวายพระพร และบางคนก็เฝ้าถนอนรักษาเสียง เพียรฝึกซ้อมท่วงทำนอง เพื่อวันนี้วันเดียวที่จะได้ทำหน้าที่สะกดคนฟัง ด้วยมนต์เสน่ห์แห่งท่วงทำนองกาพย์แห่เรือของไทย...

          นอกเหนือจากเรือที่เป็นมรดกล้ำค่าแล้ว คนเหล่านี้ต่างหากคือผู้ที่สืบสานเอกลักษณ์ของชาติอย่างแท้จริง ด้วยแรงกาย ด้วยหยาดเหงื่อ ด้วยความรู้วิชาที่ถ่ายทอดกันมา จากยุคสู่ยุค         

หมายเลขบันทึก: 208050เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2008 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขยันจริงเลย
  • มีภาพสวยๆของพระราชพิธีนี้ด้วย
  • ได้มาจากเจ้าทองหยอด ช่างภาพที่ไดัรับเลือกให้เป็นคนถ่ายอย่างเป็นทางการ อิ อิ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท