KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๕๖๘. ต่อยอด KM การพัฒนาเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ ด้านสุขภาพ


 

          วันนี้ขอเขียนเชียร์ลูกเขยเสียหน่อย   ใครอยากทราบว่าทำไมหมอสุเทพ เพชรมาก ผอ. ศูนย์อนามัยที่ ๕ นครราชสีมา จึงเป็นลูกเขยผม ให้มาถามหลังไมค์   แต่ที่มีเรื่องนี้มาลงบันทึกก็เพราะทีม KM ของศูนย์อนามัยที่ ๕ นครราชสีมา เอาเอกสารปึกหนึ่งมอบให้ผมที่อุบล ในงานตลาดนัดการจัดการความรู้กรมอนามัย เมื่อวันที่ ๒ ก.ย. ๕๑    ผมเอาเล่มที่ชื่อ “เรื่องเล่าความสำเร็จ การพัฒนาเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ ด้วยกระบวนการจัดการความรู้”   ก็ปิ๊งว่า น่าจะเขียนบันทึกเสนอแนะวิธีใช้ KM ต่อยอดความรู้ในหนังสือ เล่มนี้อีกหลายๆ รอบ   จะได้ประโยชน์แก่คนในเทศบาลตามในหนังสืออย่างมากมาย   และเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ก็จะได้ผลงานด้วย

          หนังสือเล่มนี้กระทัดรัดดีมาก   มีเรื่องเล่า ๔๑ เรื่อง   ในกลุ่มความสำเร็จของการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ๘ ด้านคือ

 อาหารปลอดภัย : ตลาดสดน่าซื้อ,  Clean Food Good Taste


 การจัดการขยะชุมชน


 การบำบัดน้ำเสียชุมชน และคุณภาพแหล่งน้ำ


 การจัดการเหตุรำคาญ


 ชุมชนเข้มแข็ง


 การส่งเสริมสุขภาพ


 การป้องกันควบคุมโรค


 การพัฒนาสถานบริการ และสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน 

          ที่น่าชื่นชมคือผู้เล่าเรื่องทั้ง ๔๑ คนเป็นเจ้าหน้าที่ของเทศบาลทั้งหมด   แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ตีบทของตัวเองแตก   ทำหน้าที่ “คุณอำนวย”  ไม่ใช่เข้าไปแย่งหน้าที่ “คุณกิจ” ของเจ้าหน้าที่เทศบาล  
ใน ๔๑ เรื่อง มีเรื่องการพัฒนาตลาดสดถึง ๘ เรื่อง    น่าจะต่อยอดด้วย CoP   ชวนเจ้าของเรื่องเล่าทั้ง ๘ มาตั้งวงคุย    ว่าตลาดสดที่น่าซื้อมีลักษณะสำคัญๆ อะไรบ้าง    จัดคุณสมบัติของตลาดน่าซื้อเป็นหมวดๆ สัก ๕ – ๑๐ หมวด   แล้วให้แต่ละคนเล่าว่าตลาดสดในความดูแลของตนมีลักษณะตามแต่ละหมวดอย่างไรบ้าง    ดำเนินการอย่างไรจึงได้ผลเช่นนั้น   แล้วช่วยกันให้คะแนนคุณภาพหมวดนั้นของเทศบาลนั้น จากคะแนน ๑ (ยังไม่ดี), ๒ (พอใช้), ๓ (ค่อนข้างดี), ๔ (ดี) ถึง ๕ ดีเด่น)  ทำจนครบทุกหมวดและทุกเทศบาล (๘ แห่ง)   และในระหว่างเล่าก็มีการซักถามแบบชื่นชมไปด้วยว่าคิดอย่างไรจึงมีวิธีดำเนินการอย่างนั้น จนได้ผลดีถึงขนาดนั้น ฯลฯ    ก็จะสรุปได้เกณฑ์ตลาดสดที่น่าซื้อ   และได้ ลปรร. ลงลึกในเคล็ดลับวิธีดำเนินการ

          ทำอย่างนี้หลายๆ รอบ   รอบละ ๔ – ๖ เดือน   คุณภาพของตลาดสดน่าจะพัฒนาขึ้นมาก   และความรู้ปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เทศบาล ๘ ท่านก็จะพัฒนาขึ้นอย่างมากมาย    “คุณอำนวย” ของศูนย์ก็งัดกลเม็ดเด็ดพรายในการทำหน้าที่คุณอำนวยออกมาใช้   โดยเแพาะอย่างยิ่งด้านการชื่นชมยกย่องผลงาน   และส่งเสริมให้เอาความสำเร็จไป ลปรร. กับเจ้าหน้าที่ของเทศบาลอื่นๆ

          การดำเนินการแนวนี้ใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้อย่างไม่จำกัด   เทคนิคนี้เรียกว่าเทคนิคการใช้ ตารางแห่งอิสรภาพ ซึ่งอ่านได้จากหนังสือ “การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ หน้า ๗๖ – ๗๘, ๑๔๘ – ๑๕๑, และ ๑๘๒ – ๑๘๓

 

วิจารณ์ พานิช
๓ ก.ย. ๕๑

 

 

หมายเลขบันทึก: 208043เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2008 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 12:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ตีบทของตัวเองแตก  
  • ครับเป็นเช่นนั้นระดับหนึ่งแล้ว
  • ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อมยังจะต้องทำงานอีกเยอะในปีต่อไป
  • มันพอมองภาพออกครับว่าจะไปทิศทางไหน
  • ขอบคุณครับ

-ขอบคุณคะสำหรับคำชมและข้อชี้แนะ ในฐานะผู้รับผิดชอบงานเมืองน่าอยู่และผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ รู้สึกดีใจที่อาจารย์ให้ความสำคัญ ข้าพเจ้าจะได้นำความคิดเห็นของอาจารย์ไปขยายผลและพัฒนาการจัดการความรู้ในระดับเทศบาลและอบต.ที่รับผิดชอบของศูนย์ฯเขต5ต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท