ภาพของนายกทักษิณ ขับมอเตอร์ไซด์หน้าตาแช่มช้อย ฉวัดเฉวียน ตามถนนชนบทของอำเภออาจสามารถ พร้อมกับมิคสิกวีดีโอจากโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ปรากฏต่อสาธารณชน เรียลลิตี้โชว์ที่เริ่มขึ้นอย่างมีรสชาติ เสมือนเป็นเกมของชีวิตภายใต้พื้นที่และเวลาของคนจน ที่นายกลงไปสัมผัสแบบใกล้ชิด ภาพของคนที่นั่น ภาพของวิถีชีวิตที่เห็น มีคำถามหลายๆคำถามผุดขึ้นมา ทำให้อยากรู้เหมือนกันว่า มีอะไรเกิดขึ้นที่ อาจสามารถ
“ไปอาจสามารถดีกว่า”
รวบรวมเวลาว่างได้เกือบสัปดาห์
ตัดสินใจแบกเป้เดินทางเพื่อจะไปค้นหาคำตอบที่คาใจให้กับตัวเอง
ออกเดินทางจากแม่ฮ่องสอน
ในเช้ามืด กลางฤดูหนาวที่เหน็บหนาว ถึงขั้วหัวใจ
ครูหนึ่ง
(ครูสายยันตร์
ประเสริฐสังข์)คุณครูบนดอยเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวอาจสามารถ
ขับรถมารับหลังจากที่เคยนัดแนะกันไว้ โยนเป้ขึ้นรถแล้ว
พวกเราออกเดินทาง ครูหนึ่งบอกว่า วันนี้ต้องเดินทางทั้งวัน
กว่าจะถึงร้อยเอ็ดน่าจะประมาณ สองทุ่มของวันนี้
...การเดินทางที่ยาวนาน
รถของเรามุ่งหน้ามีจุดเป้าหมายที่อีสาน ผ่านจังหวัดต่างๆหลายๆจังหวัด
เพลิดเพลินไปกับบรรยากาศที่เปลี่ยนไป ภาพวิถีชีวิตที่แตกต่าง
และสวยงาม ทำให้การเดินทางในครั้งนี้ไม่น่าเบื่อเลย
อุณหภูมิอากาศเริ่มร้อนขึ้นเมื่อถึงเมืองสองแคว พิษณุโลก
เรามุ่งหน้าต่อไปยังเพชรบูรณ์ เห็นไฟป่าลามเลียต้นหญ้าข้างถนน
ชวนให้นึกถึงบรรยากาศในช่วงแล้งที่แม่ฮ่องสอน
ก็คงไม่ต่างจากที่นี่เท่าไรนัก
“บอกว่าอย่าขอหมอลำๆ
ไม่รู้หมอลำเค้าลำแบบไหน....”
เสียงเพลงหมอลำ ดังกระหึ่มรถ บรรยากาศของอีสานเริ่มเข้ามาทดแทนบรรยากาศของภาคเหนือที่เราคุ้นเคย หอมกลิ่นปลาร้า คิดถึงผักขะแยงกลางนา ภาพของวิถีคนอีสานเริ่มผุดขึ้นจากประสบการณ์เดิมจากที่เคยเห็นในภาพยนตร์บ้าง จากอ่านในหนังสือบ้าง เสียงทักทาย พูดคุยภาษาอีสาน เสียงดีเจสถานีวิทยุที่เว้ากันได้อย่างสนุกสนาน ครึกครื้นดีเหลือเกิน การเดินทางครั้งนี้จึงเหมือนการข้ามผ่านพรมแดนของวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายในช่วงเวลาเดียว สิ่งที่สัมผัสรอบตัวจึงเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
มาถึงอาจสามารถอย่างสวัสดิภาพในค่ำคืนของวัน
ตื่นแต่เช้าไม่รีรอที่จะปั่นจักรยานไปชมเมืองอย่างละเอียดทุกมุม
อาจสามารถวันนี้ ดูคึกคัก ผู้คนยิ้มแย้ม โอภาปราศรัยมีมิตรไมตรี
เฉกเช่นอำเภอชนบททั่วไป
อากาศช่วงเช้าสบายๆกับวิถีชีวิตที่ไม่เร่งรีบของคนที่นี่
บ้านไม้เป็นแถวยาวเรียงรายตามถนน ตลาด โรงเรียน
โรงพักและโรงพยาบาลก็แทรกตามมุมของเมือง
พื้นที่ในอำเภอที่ไม่กว้างใหญ่นัก
ใช้เวลาสักครู่ก็ทะลุเกือบทุกด้านของอำเภอ สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่ง
คือ ที่นี่ไม่มีภูเขา ไม่มีดอยเหมือนทางเหนือ
มองไปทางไหนก็เป็นทางราบสุดลูกหูลูกตา
ไม่มีจุดสะท้อนสายตาเหมือนที่บนดอยบ้านเรา
พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นไร่นาที่ทำนาปี อาศัยน้ำฝน
ในฤดูที่เก็บเกี่ยวเสร็จนาก็ถูกทิ้งร้างไว้รอฝน
พะยอมลืมนา
“.......แต่บัดนี้ ทุ่งแล้งเหือดแห้งใจคน
หยาดฝนจากฟ้าเบื้องบน สิ้นขาดหายมิได้ตกเลย นาข้าวเคยเขียว
กลับแห้งเหี่ยวไม่เหมือนก่อนเคย หนุ่มสาวชาวทุ่งเจ้าเอ๋ย
ต้องลงเอยด้วยการจากนา
ไม่มีอีกแล้ว
เสียงเพลงบรรเลงท้องทุ่ง กลิ่นใบข้าวเคยจรุง
มุ่งหมายคือกรุงทิ้งทุ่งท้องนา หนุ่มสาวสดใส เจ้าจากไปลับไกลจากลา
คนแก่ร่ำไห้ ครวญหา
ทิ้งซากน้ำตาทับถมจมทุ่ง....
”
ทุ่งนาที่กว้างสุดสายตา มีต้นพะยอมขึ้นระเกะระกะ
ตามคันนา ด้วยรูปร่าง ความสูงที่ไม่ต่างกันมากนัก ครูหนึ่งบอกว่า
“คนหนุ่มสาวที่นี่เสร็จจากหน้านา
ก็ออกเดินทางไปหางานทำที่กรุงเทพ
อยู่ที่นี่ก็ไม่มีอะไรทำ”
การออกไปทำงานต่างจังหวัดโดยเฉพาะ เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพ เป็นเหมือนทางเลือกไม่กี่ทางเลือกของหนุ่มสาวต่างจังหวัด ไม่เฉพาะที่นี่ ภาพของผู้เฒ่ากับหลานๆ เฝ้าบ้านจึงเป็นภาพที่หาดูได้ไม่ยากนักตามแถบชนบท ภาพของทุ่งนาที่อาจสามารถในวันนี้จึงดูเศร้าสร้อย อ้างว้าง เฝ้ารอการกลับมาของใครหลายคน เสียงครวญเพลง ตัดพ้อ ค่อยๆดังขึ้น สะเทือนทั่วท้องทุ่ง

“วัว”
เป็นสัตว์เศรษฐกิจของผู้คนแถบนี้ ตามรายทางมีวัวหูยาวเต็มไปหมด
ส่วนใหญ่จะเป็นวัวเลือดผสม เป็นวัวเทศรูปร่างใหญ่โต ว่ากันว่า
มีวัวบางตัวราคาสูงเสียจนคาดไม่ถึง
หากเป็นมันเป็นวัวตัวผู้ที่ได้รับรางวัล
วัวตัวนั้นก็จะถูกให้ค่า ให้ราคาที่สูง
ทั้งนี้น้ำเชื้อของวัวตัวผู้ดังกล่าว
จะมีราคาแพงสมกับรางวัลที่มันได้รับ แบ่งขายเป็นซีซี
เพื่อนำไปผสมเทียมต่อไป
จึงไม่แปลกที่ทุกหัวระแหงจะเต็มไปด้วยวัว
ผมได้ตั้งคำถามกับคนที่นี่ว่า
“ทำไมนายกถึงเลือกมาที่นี่”
พี่สาวคนหนึ่งตอบว่า
“ชาวบ้านที่นี่มีหนี้สินครัวเรือนที่สูง
นายกเลยสนในจะมาแก้ไขปัญหา ให้ที่อื่นดูเป็นแบบอย่าง”
(มั้ง) หนี้สินครัวเรือน
จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจของคนที่นี่
หนี้สินที่เกิดขึ้นมีทั้งหนี้กองทุนหมู่บ้าน หนี้ ธกส. หนี้นอกระบบอื่นๆ การวางแผนการใช้เงินที่ผิดพลาดของผู้กู้ วิถีชีวิตแบบทุนนิยมที่รุนแรง ถาโถม ทั้งหมดเป็นพันธนาการของคนชนบททีนี่ วงจรของการเป็นหนี้เริ่มทำให้ชุมชนชะงักการเติบโตของเศรษฐกิจระดับครัวเรือน ทำให้คนจนที่จนอยู่แล้ว ถูกทำให้กลายเป็นคนจนซ้ำซาก “ชีวิตหนี้” เป็นของแถมในกระบวนการพัฒนาแบบรัฐสงเคราะห์ และรัฐบาลประชานิยม (หรือเปล่า)
นอกจากอาชีพทำนาและเลี้ยงสัตว์ที่นี่ก็ไม่มีอาชีพอะไรมารองรับคนในชุมชน
จึงไม่แปลกที่คนหนุ่มสาว ตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า
เพื่อชีวิตของผู้เฒ่าที่อยู่บ้าน
ชีวิตครอบครัวที่อยู่ชนบทได้มีเงินทองพอจับจ่ายในชีวิตประจำวัน
ที่นับวันค่าครองชีพที่สูงขึ้นพร้อมๆกับราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นทุกวัน
“แล้วจะมีทางเลือกได้สักกี่ทาง”

วันนี้วันหยุด
สังเกตที่โรงพยาบาลยังมีผู้มารับบริการกันอย่างหนาตา
คลินิกเอกชนสองสามแห่งในตลาด คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ที่
“ป่วย” มีคำถามเกิดขึ้นอีกว่า
ชาวบ้านเหล่านี้ป่วยเป็นอะไร ถึงได้ไปใช้บริการมากมายถึงขนาดนั้น
ภาพที่เห็นจึงเป็นดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่งว่า ชุมชนมีปัญหาอะไร
และวิกฤตหรือไม่ พ่อใหญ่บุญทัน บอกว่า
“คนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ”
เมื่อได้คำตอบแล้ว ก็มีคำถามต่อ
“แล้วป่วยกันเยอะขนาดนี้เชียวเหรอ”
กระบวนการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพคงเป็นประเด็นที่คนทำงานด้านสร้างและซ่อมสุขภาพ
นำไปคิดกันต่อ
วันนี้ที่อาจสามารถ ช่วงเวลาสั้นๆที่ไปเที่ยว
จึงได้ข้อมูลไม่มากมายนัก แต่สิ่งที่เห็นและได้สัมผัส
พอที่จะทราบได้ว่า ปัญหาที่ชาวชนบทกำลังเผชิญอยู่
ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆเสียแล้ว
มันเหมือนกับการติดเชื้อที่รอคอยที่จะลุกลามและเรื้อรัง
ไม่มีใครที่จะเยียวยาได้เพียงชั่วข้ามคืน
“ฉีดยาเข็มเดียวแล้วหาย”
โดยเฉพาะโรคความจนที่เป็นกันอยู่ทุกหัวระแหง
ดังนั้นกระบวนการที่พ่อใหญ่ทักษิณมา โชว์แก้จน
ที่นี่จึงไม่ต่างอะไรกับการมาตอกย้ำความจนของคนชนบทที่กำลังจะใกล้ขาดใจด้วยโรคร้าย
รักษาไม่หาย แต่อาจจะดื้อยา เพราะการวินิจฉัย
รักษาไม่ตรงกับโรค
วาทกรรมการพัฒนากับวิธีแก้โรคจน
“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นปรัชญา
ที่พระบาทสมเด็กพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทย ได้ให้ข้อคิดแก่นักพัฒนา
จึงเป็นเหมือนแนวทางในการจะตัดสินใจเข้าไปพัฒนาชุมชน ว่าที่ถูกที่ควร
น่าจะเป็นอย่างไร? คำว่า เข้าใจ ก็หมายถึง
เข้าใจในความเป็นชนบท ศึกษาสถานการณ์ และสัมผัสวิถีชีวิต
ต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ มองในมุมของชาวบ้าน
เข้าใจในปัญหาและที่สำคัญมองเห็นพลังของคนท้องถิ่นที่เขามี
ทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหาของชุมชนได้
การวิเคราะห์ชุมชนอย่างเป็นระบบและมีส่วนร่วม
ให้เขาได้ร่วมกันคิดและแก้ไขปัญหาของเขาเอง
โดยมีนักพัฒนาช่วยในการนำเสนอมุมมองใหม่ ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับชุมชน
สุดท้ายให้ชุมชนตัดสินใจที่ร่วมพัฒนาตามกระบวนการที่ตนเองคิดไว้
เมื่อเข้าใจ ก็จะ เข้าถึง
เข้าถึงชาวบ้าน รู้ว่าชาวบ้านคิดอะไร และมีพลัง มีศักยภาพ อย่างไร
ศักยภาพ ในที่นี่ก็หมายถึงศักยภาพในภูมิปัญญา องค์ความท้องถิ่น
การจัดการทรัพยากรที่ชุมชนทำกันมานาน
ระบบความสัมพันธ์สังคมที่ดีงามของชุมชน วัฒนธรรมและความเชื่อ
สิ่งสำคัญประการหนึ่ง เราจะสังเกตว่า
การสร้างความวางใจกัน(Trust)
และการเคารพศักดิ์ศรีของชาวบ้านว่าเขามีความรู้ ไม่ได้”โง่”
นั้นเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นมากในการสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกัน
นัยยะของการฟื้นพลังของคนในท้องถิ่นนี้สำคัญมาก
เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการพัฒนาจากบนสู่ล่างเป็นการพัฒนาจากล่างขึ้นบน
หรืออาจจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า
กระบวนการพัฒนา เป็นเหมือนระเบิดที่ต้องระเบิดออกมาจากข้างใน
ปัญหาของชุมชน เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน หลายมิติ
กระบวนการแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ชุมชนให้อย่างละเอียดและมองปัญหาทุกอย่างเป็นองค์รวม
เมื่อนักพัฒนาคนหนึ่งเข้าไปพยายามแก้ไขปัญหาหนึ่งของชุมชน
แต่มักมีผลกระทบต่อการสร้างปัญหาใหม่ให้ชุมชน
อันเนื่องมาจากแนวทางการแก้ปัญหาอาจไม่สอดคล้องกับฐานพลังของท้องถิ่นหรือไปสร้างให้เกิดผลกระทบทางลบต่อฐานพลังของท้องถิ่น
หรือเปลี่ยนแปลงฐานแห่งพลังนี้จนชาวบ้านรับไม่ได้
ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาชุมชนจึงไม่ได้แก้กันง่ายๆ ใช้เวลาน้อยๆ
เหมือนปัญหาของรัฐบาลวันนี้ที่แก้ไขถึงที่สุดแล้วก็ชิงยุบสภาเพื่อแก้ไขสถานการณ์
หากความจริงปัญหาของชุมชนแก้ไขได้ง่ายๆเพียงแค่ประกาศ
“ยุบสภา” ก็คงไม่ยากเย็นอะไร เมื่อมีปัญหามาก
สถานการณ์ชุมชนเลวร้าย
แก้ไม่ได้ยุบไปเลยดีกว่า
อย่างนั้นก็คงไม่ใช่
การเดินทางไป อาจสามารถ ในครั้งนี้
ไม่เฉพาะจุดมุ่งหมายไปเที่ยว เพราะอยากจะเห็น อยากไปดูด้วยตาแค่นั้น
แต่ด้วยความที่เป็นนักพัฒนาใช้โอกาสที่ได้ไปมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของสังคม
เก็บรายละเอียดบางมุมมองให้เห็นเป็นเป็นบทเรียนของตัวเอง
บทเรียนสำหรับนักพัฒนา ที่จะนำมาปรับใช้กับการทำงาน
ระยะการเดินทางอาจจะเป็นเส้นทางที่ยาวไกลจากเหนือจรดแดนอีสาน
แต่การเดินทางของการพัฒนาชนบทที่มีปัญหาซับซ้อน
จึงเป็นการเดินทางที่ไกล...ไกลยิ่งกว่า
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ใน The ultimate leader
คำสำคัญ (Tags)#การพัฒนาชุมชน#วาทกรรมการพัฒนา
หมายเลขบันทึก: 20752, เขียน: 24 Mar 2006 @ 18:39 (), แก้ไข: 06 Sep 2013 @ 17:18 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 32, อ่าน: คลิก