พุทธจริยธรรมเกี่ยวกับการแก้ปัญหา


พุทธจริยธรรมเกี่ยวกับการแก้ปัญหา

พุทธจริยธรรมเกี่ยวกับการแก้ปัญหา

ปัญหาหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์โดยทั่วไป มักเกิดขึ้นมาจากความทะยานอยาก หรือความพอใจอยากได้จนเกินประมาณ คือ อยากได้ในกามคุณเพื่อนสนองความความต้องการทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ความอยากที่จะมีอยู่คงอยู่ตลอดไป และความอยากที่จะพ้นจากสภาพที่ไม่พึงปรารถนา อยากทำลายหรือดับสูญ รวมความแล้วได้แก่ตัณหา ๓ คือ กามตัณหาภวตัณหา วิภวตัณหา (องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๗๗/๓๙๘)

วิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ นั้น ต้องรู้ถึงสาเหตุของปัญหาและแก้ไขตามสาเหตุอย่างถูกต้อง และวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ การแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ อันเป็นพื้นฐานเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อยากถูกต้อง เพราะในชีวิตประจำวันของมนุษย์เรานั้นต้องมีการตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา นั่นคือต้องมีการเผชิญกับปัญหาต่างๆ และต้องตัดสินใจเสมอ และอริยสัจ นี้ก็เป็นหลักธรรมที่ทำให้ผู้เข้าถึงสามารถเป็นผู้ประเสริฐได้

๑. อริยสัจจ์ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงของพระอริยเจ้า

๑.๑ ทุกข์ หมายถึงความไม่สบายกายไม่สบายใจ เป็นสภาพที่ทนได้ยาก เป็นสภาวะบีบคั้น ขัดแย้งขัดข้อง มีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ในตัวเอง ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ ซึ่งเป็นสภาวะปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือสภาพปัญหาอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตแก่ผู้ที่ยึดมั่นด้วยอำนาจอุปาทาน ทั้งนี้เพราะปัจจัยต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นสิ่งที่มีสภาพเป็นไตรลักษณ์ คือสภาวะที่ไม่มีความยั่งยืน มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่สามารถยึดถือเป็นแก่นสารได้

๑.๒ สมุทัย เหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ อันได้แก่ ตัณหา ๓ ประการอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือ (๑) กามตัณหา ความทะยานอยากในกามคุณ ที่เป็นสิ่งสนองความต้องการทางประสาทสัมผัสทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (๒) ภวตัณหา ความทะยานอยากในภาวะที่ตนกำลังเป็นอยู่นี้ตลอดไป หรือความอยากที่จะไปสู่ภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งที่คิดได้ (๓) วิภวตัณหา ความทะยานอยากในเราที่พ้นไปเสียจากภาวะอยากจะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่พอใจจากสิ่งที่ตนกำลังได้รับ หรือไม่อยากพบภาวะที่ตนไม่ชอบใจในอนาคต แต่เนื่องจากความเป็นไปในโลกนี้มิได้เป็นไปตามความอยาก แต่เป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์ จึงทำให้ประสบกับความทุกข์

๑.๓ นิโรธ ความดับทุกข์ ภาวะที่ตัณหาดันสิ้นไป ภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำจัดอวิชชา และสำรอกตัณหาได้แล้ว ปราศจากความดิ้นรนทางใจเพื่อแสวงหาความเป็นอิสระจากทุกข์ทั้งปวง คงเหลือแต่ความปรุงแต่งทางกายตามสภาพธรรมชาติ

๑.๔ มรรค ข้อปฏิบัติที่ให้ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าสู่ภาวะนิโรธ คือความดับทุกข์ ได้แก่การปฏิบัติตาม มรรคมีองค์ ๘(อภิ.วิ. ๓๕/๑๔๔/๙๓)
อริยสัจ ๔ ประการนี้ เป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งได้แก่ ทุกข์ แล้วพิจารณาหาเหตุของทุกข์เพื่อแก้ปัญหา คือ สมุทัย เมื่อหาสาเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว ต้องหาวิธีแก้ทุกข์ หรือหาวิธีการเพื่อให้พ้นจากสภาพไม่พึงประสงค์ด้วยวิธีการต่าง ๆ คือนิโรธ แล้วจึงปฏิบัติตามแนวทางเพื่อให้ดับทุกข์คือ นิโรธคามินีปฏิปทา อันได้แก่การดำเนินทางตามแนว มรรคมีองค์ ๘ หรือทางสายกลาง

๒. สัปปุริสธรรม คือ ธรรมของสัตบุรุษ ๗ ประการ คือ

๒.๑ ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้จักธรรม หมายถึง รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎธรรมชาติแห่งสรรพสิ่ง หรือรู้เหตุ รู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น รู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้ทำชั่ว อะไรเป็นหลักเกณฑ์แห่งความดี เป็นต้น

๒.๒ อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักอรรถ หมายถึง รู้ความหมาย รู้จุดมุ่งหมายหรือจุดประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ เช่น รู้หลักธรรมหรือภาษิตนั้นๆ มีความหมายอย่างไร มีความมุ่งหมายอะไร เมื่อปฏิบัติตามแล้วจะเกิดผลดีหรือผลเสียอย่างไร เป็นต้น

๒.๓ อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน คือรู้จักตนเองโดยฐานะ ภาวะ เพศ วัย ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรมอื่นๆ มีศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา เป็นต้น แล้วประพฤติตนให้เหมาะสมแก่ภาวะของตน และเมื่อรู้ว่า บกพร่องในเรื่องใด ก็ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

๒.๔ มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รักประมาณ คือ รู้จักความพอดี ความพอเหมาะสม ในการดำรงชีวิต เช่น การรู้จักประมาณในบริโภคอาหาร การรู้จักประมาณในการใช้จ่ายทรัพย์ที่หามาได้ รู้จักประมาณในการทำงานเป็นต้น

๒.๕ กาลัญญุตา ความเป็นผู้รูจักกาล คือรู้จักเวลาว่า เวลาไหนควร ไม่ควรทำอะไร การงานใด จะต้องใช้เวลาเท่าไร แล้วทำให้ตรงต่อเวลา ให้เป็นเวลา

๒.๖ ปุริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบริษัท คือรู้จักชุมชนและสังคม รู้กริยาที่จะพึงประพฤติ แล้วประพฤติตนให้เหมาสมต่อชุมชนและสังคมนั้นๆ

๒.๗ ปุคคลปโรรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบบุคคล คือ รู้จักบุคคลที่ยิ่งหย่อนกว่ากัน รู้ความแตกต่างแห่งบุคคลนั้นๆ ว่า ใคร ผู้ใด มีอัธยาศัย หรือไม่ดี มีค่ำนิยมอย่างไร เป็นต้น (องฺ.สตฺตก.๒๓/๖๕/๙๑)

๓. สันโดษ คือ ความยินดี ความพอใจ ความรู้จักเพียงพอด้วยปัจจัย ๔ ที่ตนหามาได้ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรโดยชอบธรรม เพราะมนุษย์โดยทั่วไปจะเกิดความพึงพอใจในแสวงหา ในการบริโภคอย่างมาก เพราะฉะนั้น ความพอใจดังกล่าวนี้ ไม่ใช่หลักการตัดสินอรรถประโยชน์ ถ้าความพอใจไม่ได้มากับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ก็อาจจะเป็นตัวการในการทำลายอรรถประโยชน์ได้ เช่น ทำให้หลงมัวเมา เสียคุณภาพชีวิต เป็นต้น ๔ ประการ คือ

๓.๑ ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามที่ได้ คือได้สิ่งใดมา หรือเพียรหาสิ่งใดมาได้ และสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ตนปรารถนา ไม่ว่าจะหยาบหรือประณีตเพียงใด ก็ยินดีพอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายในสิ่งที่ตนไม่ได้ ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนได้หรือเกินไปกว่าที่ตนพึงได้โดยถูกต้อง ไม่เพ่งอยากได้ของที่คนอื่นไม่ได้ให้

๓.๒ ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง คือยินดีแต่พอกำลังร่างกายสุขภาพและวิสัยแห่งการใช้สอยของตน ไม่อยากได้เกินกำลัง หรือเมื่อได้มาแล้วไม่สามารถจะใช้กับกำลังร่างกายหรือสุขภาพได้ ก็ไม่หวงแหน ย่อมจะสละให้กับผู้อื่นได้

๓.๓ ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร คือ ยินดีตามที่เหมาะสมกับตน อันสมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางการดำเนินชีวิต และจุดมุ่งหมายการบำเพ็ญกิจของตน (ม.อ.๒/๑๘๘; องฺ.อ.๑/๘๑)

 

พุทธจริยธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเพื่อการดำรงชีวิตที่ดี

มนุษย์จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น จะต้องมีหลักจริยธรรมในการครองชีวิตในปัจจุบัน ในพุทธจริยธรรม ได้สอนหลักเพื่อการดำรงชีวิตที่ดี ประเสริฐ ดี งาม และสงบไว้มาก ดังนั้น ผู้วิจัยจะกล่าวเฉพาะที่มีปรากฏอยู่ในบทเพลงเท่านั้น

๑. มงคล ๓๘ ประการ หมายถึงหลักการดำเนินชีวิต หลักความประพฤติ ๓๘ ประการ เพื่อก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้วางหลักไว้ เริ่มตั้งแต่การดำเนินชีวิตขั้นต้น จนถึงขั้นสูงสุด คือ ตั้งแต่โลกิยธรรม จนถึงโลกุตรธรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เริ่มจากการดำเนินชีวิตจากสิ่งง่ายๆ ไปสู่สิ่งที่ยากที่สุด ครอบคลุมหลักจริยธรรม ในการดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานให้เกิดคุณธรรมตั้งแต่เบื้องตนจนถึงขั้นสูงสุด คือ จิตที่ปราศจากกิเลส มีดังนี้

(๑) ไม่คบคนพาล (๒) คบบัณฑิต (๓) บูชาผู้ควรบูชา (๔) อยู่ในประเทศอันสมควร (๕) เคยทำบุญไว้ในชาติก่อน (๖) ตั้งตนไว้ชอบ (๗) สดับตรับฟังมาก (๘) การรู้ศิลปะ (๙) ศึกษาวินัยดี (๑๐) วาจาเป็นสุภาษิต (๑๑) บำรุงบิดามารดา (๑๒) สงเคราะห์บุตร (๑๓) สงเคราะห์ภรรยาโดยสมควร (๑๔) การงานไม่อากูล (๑๕) ให้ทาน (๑๖) ประพฤติธรรม (๑๗) สงเคราะห์ญาติ (๑๘) การงานไม่มีโทษ (๑๙) การงดเว้นจากบาป (๒๐) สำรวมจากการดื่มน้ำเมา (๒๑) ความไม่ประมาทในธรรม (๒๒) ความเคารพ (๒๓) ความอ่อนน้อมถ่อมตน (๒๔) ความสันโดษ (๒๕) ความกตัญญู (๒๖) การฟังธรรมตาลกาล (๒๗) ความอดทน (๒๘) ความเป็นคนว่านอนสอนง่าย (๒๙) การไดเห็นสมณะ (๓๐)การสนทนาธรรมตามกาล (๓๑) มีตบ ความเพียร (๓๒) ประพฤติพรหมจรรย์ (๓๓) เห็นอริยสัจ ๔ (๓๔) การทำแจ้งซึ่งพระนิพพาน (๓๕) จิตไม่หวั่นไหวในกิเลส (๓๖) จิตไม่เศร้าโศก (๓๗) จิตปราศจากธุลีไร้กิเลส (๓๘)จิตเกษม ปราศจากอกุศลมูล (ขุ.ธ. ๒๕/๖/๓)

มงคลชีวิต ๓๘ ประการ เป็นหลักจริยธรรมสำหรับการดำรงชีวิตเพื่อการดำเนินชีวิตให้ประสบความเจริญก้าวหน้า ซึ่งค่านิยมด้านต่าง ๆ ในมงคล ๓๘ ประการ ได้แก่ เรื่อง ทาน ศีล ความกตัญญู ความมีวินัย เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างบุคคลต่างๆ ที่ดำเนินไปด้วยความถูกต้อง จัดว่าเป็นหลักจริยธรรมที่จำเป็นและสำคัญมากที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติจะได้มีกำลังในการปฏิบัติตามมงคลชีวิตจากระดับต้น จนถึงระดับสูง

๒. การทำบุญถวายทาน เป็นหลักการดำเนินชีวิตของคนไทยอีกประการหนึ่ง เป็นการสละออกซึ่งความตระหนี่ และเป็นหลักจริยธรรมเบื้องต้นของการดำเนินชีวิต เช่น การตักบาตร เลี้ยงพระ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในการทำบุญให้ทานนั้น เจตนาถือว่า เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ให้จะต้องมีเจตนาทั้ง ๓ กาล คือ ก่อนให้ทาน ขณะให้ทาน และหลังให้ทาน ดังพุทธพจน์ว่า
ทายากก่อนแต่จะให้ย่อมเป็นผู้มีใจดี กำลังให้ทานอยู่ก็ยังมีจิตใจผ่องใส ครั้นให้แล้ว ก็ย่อมปลาบปลื้มจิต นี้เป็นความสมบูรณ์ของทายก (องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๐๘/๓๐๖)

ส่วนวัตถุที่ควรให้ทานนั้น มี ๑๐ ประการ คือ ทานวัตถุเหล่านี้คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม ของลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องตามประทีป (องฺ.สฺตฺตก. ๒๓/๔๙/๕๔)

ชาวไทยนิยมทำบุญไม่ว่าจะปรารภเหตุใด ๆ ก็ให้เข้ากับหลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการ คือ (๑) ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ (๒) สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีล และ (๓) ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือ ฝึกอบรมจิตใจ โดยหลักการทั้ง ๓ ประการนี้ การทำบุญซึ่งเป็นหลักบำเพ็ญความดีและทำในกรณีต่างๆ กันตามเหตุผลที่ปรารภจึงเกิดพิธีกรรมขึ้นหลายประการ

กล่าวโดยสรุป คือ การพัฒนาชีวิตและการแก้ปัญหาชีวิตตามหลักของพุทธจริยธรรม เป็นหลักการปฏิบัติตนเพื่อการดำรงที่ดี และการอยู่ร่วมกันด้วยดีของสังคม พุทธจริยธรรมที่ควรนำมาใช้ ได้แก่การปฏิบัติตนตามพุทธโอวาท ๓ คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำแต่ความดี และการทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว ซึ่งมีพื้นฐานมาจากพุทธจริยธรรม ๓ ระดับ คือ
          ๑. พุทธจริยธรรมขั้นพื้นฐาน ได้แก่เบญจศีล และเบญจธรรม
          ๒. พุทธจริยธรรมขั้นกลาง ได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐
          ๓. พุทธจริยธรรมขั้นสูง ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘

 

พุทธจริยธรรมกลุ่มสัจการแห่งตน

พุทธจริยธรรมในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ช่วยให้มนุษย์ได้มองเห็นตนเองอย่างมีหลักเกณฑ์ และทำให้มีความเคารพต่อตนเองและผู้อื่น สามารถปฏิบัติตนต่อเหตุการณ์ที่ได้พบและต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ตามความเหมาะสม เช่น มีความซื่อสัตย์ ความเสียสละ เป็นต้น พุทธจริยธรรมในกลุ่มนี้ ได้แก่

๑. คารวธรรม หมายถึง ความเคารพ การถือเป็นสิ่งสำคัญใส่ใจและปฏิบัติตนด้วยความเอื้อเฟื้อ หรือโดยหนักแน่นจริงจัง การมองเห็นคุณค่าและความสำคัญแล้วปฏิบัติตนต่อบุคคล หรือสิ่งนั้นโดยถูกต้อง ด้วยความจริงใจ ลักษณะของความเคารพมีดังนี้ ๑) ความสุภาพอ่อนโยน หมายถึงการแสดงออกซึ่งกิริยาวาจาสุภาพอ่อนโยนต่อบุคคลทั่วไป ๒) ความอ่อนน้อม หมายถึงการไม่ทำตัวให้แข็งกระด้าง ไม่ประพฤติผิดในสิ่งที่หยาบคายต่อบุคคลอื่น ๆ ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ ๓) ความเชื่อฟัง หมายถึงการไม่ดื้อรั้น รับฟังด้วยเหตุผล ยอมรับปฏิบัติตามด้วยความจริงใจและเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง ๔) ความรู้จักสถานที่ หมายถึงรู้จักวางตัวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับกาลเวลา คือเลือกประพฤติตัวได้อย่างพอเหมาะพอควรทั้งต่อบุคคลและสถานที่ มี ๖ ประการ คือ (องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๐๓/๓๐๐)

๑.๑ พุทธคารวตา ความเคารพในพระพุทธเจ้า หรือบางแห่งเรียกว่า "สัตถุคารวตา" ข้อนี้นับเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่จะต้องแสดงออกด้วยความเคารพอย่างจริงจังและด้วยศรัทธา เพราะถ้าขาดความศรัทธาแล้ว คุณธรรมข้ออื่น ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปนานแล้ว แต่สัญลักษณ์หรือสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงพระพุทธองค์ยังปรากฏอยู่ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ สังเวชนียสถานทั้ง ๔ และพระพุทธรูป เป็นต้น

๑.๒ ธัมมคารวตา ความเคารพในพระธรรม อันหมายถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ทั้งที่เป็นส่วนพระธรรม และพระวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงและบัญญัติไว้แล้ว รวมทั้งการเคารพต่อคัมภีร์พระธรรมวินัย โดยไม่แสดงอาการดูหมิ่น

๑.๓ สังฆคารวตา ความเคารพในพระสงฆ์ทั้งที่เป็นพระอริยสงฆ์ และสมมติสงฆ์ โดยแสดงความเคารพดังนี้ คือ ไม่แสดงกริยาวาจารที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม ไม่ปลอมแปลงเป็นเพศพระสงฆ์ และหมั่นเข้าไปหาท่านเพื่อสนทนาธรรม และฟังธรรมะจากท่านบ่อยๆ

๑.๔ สิกขาคารวตา ความเคารพในสิกขา หมายถึง ความเคารพต่อการศึกษาเล่าเรียน ในที่นี้ หมายถึง ความเคารพในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อให้เกิดความตั้งมั่น และให้เกิดปัญญา คือความรู้ในกองสังขารทั้ง ๕ อันจะเป็นแนวทางให้บรรลุถึงพระนิพพานได้

๑.๕ อัปปมาทคารวตา ความเคารพในความไม่ประมาท หมายถึง เคารพในความเพียรพยายามเพื่อละอกุศลทุจริต และประพฤติปฏิบัติในกุศลสุจริต หรือเคารพในการพยายามเพื่อละความชั่ว และประกอบคุณงามความดีอยู่เสมอ หรือ หมายถึงการแสดงเคารพในการประกอบกิจการงานทุกอย่างทั้งโดยส่วนและส่วนตนด้วยสติสัมปชัญญะ

๑.๖ ปฏิสันถารคารวตา ความเคารพในการปฏิสันถาร หมายถึง ความเคารพในการต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยอัธยาศัยไม่ตรีที่ดีต่อกัน อันแสดงออกถึงความมีน้ำใจ ความโอบอ้อมอารีต่อกัน ซึ่งการปฏิสันถาร มี ๒ ประการคือ ๑) อามิสปฏิสันถาร คือ การต้อนรับด้วยอามิสสิ่งของ ๒) ธัมมปฏิสันถาร คือการต้อนรับด้วยการกล่าวธรรม หรือสนทนาปราศรัยด้วยธรรมะ

๒. ฆราวาสธรรม คือ ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน หรือคฤหัสถ์ เป็นธรรมที่จะนำความสุข และเป็นสามัคคีธรรม ช่วยให้บุคคลในตระกูลมีความสมานสามัคคี ทำให้ชีวิตในการมีความสุข ความสงบ อันสมควรแก่ฆราวาสวิสัย มี ๔ ประการ คือ (สํ.ส. ๑๕/๘๔๕/๒๕๘)

๒.๑ สัจจะ ความซื่อสัตย์ต่อกัน ความจริงใจ ความซื่อตรง เป็นพุทธจริยธรรมที่สำคัญในการคบหากับทุกชนชั้นจนถึงผู้อยู่ครองเรือนเดียวกัน เช่น สามี ภรรยา บิดามารดากับบุตร เป็นต้น

๒.๒ ทมะ ความข่มใจ การฝึกฝน เป็นข้อปฏิบัติเพื่อไม่ให้ตนเองตกไปอยู่ในอำนาจกิเลส หรือถูกอารมณ์ต่าง ๆ ครอบงำจิตใจ ให้มีสติระวังทวารภายนอก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และทวารภายใน คือ ใจ เมื่อถูก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มาปรากฏในทวารภายนอกก็ดี อย่าให้อารมณ์เหล่านี้ครอบงำได้ ให้รู้จักควบคุมและแก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา

๒.๓ ขันติ ความอดทน ตั้งมั่นในการทำหน้าการงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ทนทาน ไม่หวั่นไหว มั่นใจในจุดหมาย ไม่ท้อถอย อดกลั้นต่ออารมณ์อันเกิดจากอำนาจโทสะ

๒.๔ จาคะ การให้ปันสิ่งของของตน เสียสละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตนได้ ใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการของผู้อื่น พร้อมที่จะร่วมมือ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่คับแคบเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัวเอง พร้อมกันนั้น นอกจากนี้ จาคะ ยังหมายถึงการสละกิเลสอีกด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 206488เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2008 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 05:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท