ลาวดวงเดือน


เห็นเดือนแรมเริศร้างเวหา......

 

 

     โอ้ละหนอดวงเดือนเอย

พี่มาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง

 

โอ้ดึกแล้วหนอพี่ขอลาแล้ว

อกพี่เป็นห่วงรักเจ้าดวงเดือนเอย

 

ขอลาแล้วเจ้าแก้วโกสุม

พี่นี้รักเจ้าหนอขวัญตาเรียม

 

จะหาไหนมาเทียมโอ้เจ้าดวงเดือนเอย

จะหาไหนมาเทียมโอ้เจ้าดวงเดือนเอย

 

หอมกลิ่นเกสรเกสรดอกไม้

หอมกลิ่นคล้ายคล้ายเจ้าสูของเรียมเอย (ซ้ำ)

 

หอมกลิ่นกรุ่นครันหอมนั้นยังบ่เลย

เนื้อหอมทรามเชยเอยเราละเหนอ

 

โอ้ละหนอนวลตาเอย

พี่นี้รักแสนรักดังดวงใจ

 

โอ้เป็นกรรมต้องจำจากไป

อกพี่อาลัยเจ้าดวงเดือนเอย

 

เห็นเดือนแรมเริศร้างเวหา

เฝ้าแต่เบิ่งดูฟ้า(ละหนอ)เห็นมืดมน

 

พี่ทนทุกข์ทุกข์ทนโอ้เจ้าดวงเดือนเอย

พี่ทนทุกข์ทุกข์ทนโอ้เจ้าดวงเดือนเอย

 

เสียงไก่ขันขานเสียงหวานเจื้อยแจ้ว

หวานสุดแล้วหวานแจ้วเจื้อยเอย (ซ้ำ)

 

ถึงจะหวานเสนาะหวานเพราะกระไรเลย

บ่แม้นทรามเชยเราละเหนอ (ซ้ำ)

 

 

 

                      

เพลงนี้คงเป็นเพลงโปรดของใครหลาย ๆ คน
ขนาดสาวมั่น เจ้าแม่ไอที อย่างคุณน้องซูซานยังโปรด
มาเติมคำ Digital divide เพราะ
เป็นเพลงคลาสสิคไทยหนึ่ง
เป็นเพลงแห่งประวัติศาสตร์ราชนิกูลท่านหนึ่ง
เป็นเพลงที่"สอน"เราได้ แปรเปลี่ยนความไม่สมหวังเป็นเพลง รักนิรันดร์กาล
ไม่รักเพลงนี้ได้ หรือ คะคุณ ๆ

**โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย...  ที่มาของเพลงนี้น่าประทับใจก็เพราะว่า มันเป็นเรื่องราวของความรักที่ไม่สมหวังของราชนิกูลพระองค์หนึ่งที่ชื่อว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดมหลานตาของพระยามหินทรศักดิ์ธำรง(เพ็ญ เพ็งกุล) ชื่อหลังนี้ใครเรียนละครไทยมาคงจะต้องคุ้นอยู่บ้าง เพราะท่านเป็นหนึ่งในคนทำละครที่เก่งและดังมากๆ เมื่อครั้งปลายรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5
                  ธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงนั้น ได้ถูกถวายตัวเพื่อรับใช้ฝ่ายใน ซึ่งก็คือเจ้าจอมมารดามรกฏในรัชกาลที่ 5 มีพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ คือพระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี และพระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์
                  สำหรับพระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ นั้นถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษ และเมื่อกลับมาเมืองไทยได้รับราชการ พระองค์ท่านก็กลายเป็นกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม โดยรับราชการในกระทรวงเกษตราธิการ และคนหลายคนรู้จักดีว่าท่านเป็นคนแต่งเพลงลาวดวงเดือนอันลือลั่น
                     
แต่ความรักอันเป็นต้นทางของลาวดวงเดือนนั้นมาเมื่อท่านอายุเพียง 21 ปีเท่านั้นครับ ในช่วงเวลาดังกล่าว พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒน์พงค์ เพิ่งจบการศึกษาจากอังกฤษมาหมาดๆ ได้มีโอกาสไปเที่ยงเมืองแสนงามอย่างเชียงใหม่ เพื่อศึกษาภูมิประเทศและประวัติศาสตร์ของมณฑลฝ่ายเหนือ เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมในการพัฒนาประเทศสยามต่อไป

                      แต่ไม่ใช่เพียงแค่ประวัติศาสตร์เท่านั้นซิครับที่องค์ชายได้เรียนรู้ เพราะที่นั่นมีเจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่ สาวหวานที่แคล่วคล่องว่องไว ธิดาคนที่สองของเจ้าราชสัมพันธวงศ์ กับ เจ้าหญิงคำย่น ณ ลำพูน ซึ่งทำให้พระองค์เจ้าชายประสบพักตร์ครั้งแรกท่านก็หลงรัก

                  แต่อาจจะเป็นเพราะฝ่ายพระองค์เจ้าชายฯ เองก็มีคู่หมั้นคู่หมายอยู่แล้ว หรือ มีคนที่อยู่ที่สายที่จะต้องแต่งงานเพื่อหน้าที่โดยผู้ใหญ่จัดหาให้ทำนองนั้น การปฏิเสธดังกล่าวจากฝ่ายหญิงก็เลยทำให้ความรักของทั้งคู่กลายเป็นหมัน คือจบกันไปเลย เพราะอีกสองปีต่อมาพระองค์เจ้าชายฯ ก็ได้เสกสมรสกับธิดาผู้มีชื่อเสียงไป ต่อมาไม่นาน พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงค์ ก็ได้รับพระสุพรรณบัฏเลื่อนขึ้นทรงกรม เป็น กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม
                  แต่ว่ากันว่ารักของท่านนั้นแม้ในความจริงจะมีกำแพง แต่ในโลกของความคะนึงหานั้นท่านยังไม่เคยลืมใบหน้าและความสุขเมื่อครั้งอยู่เมืองเหนือเลย ผลก็คือ ท่านต้องระบายออกมาเป็นการเขียนเป็นเนื้อและทำนองเพลง ลาวดำเนินเกวียน เพื่อเป็นเครื่องคลายเศร้าและย้ำแน่นถึงความรักที่ท่านมีต่อเจ้าหญิงชมชื่นนะครับ
                  เขาเชื่อว่าพระองค์ท่านแต่งเพลงนี้ขณะอยู่บนเกวียนระหว่างเดินทางไปตรวจราชการที่ภาคอิสาน แถวๆ จังหวัดสุรินทร์ ถึงใช้ชื่อว่าลาวดำเนินเกวียนมาก่อน แต่บังเอิญเพลงนี้ไพเราะมาก แล้วก็เริ่มต้นเนื้อร้องด้วยประโยคว่า โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย ...แถมยังมีคำว่าดวงเดือนอีกหลายต่อหลายท่อน คนก็เลยเอาคำว่าดวงเดือนมาเรียกเป็นชื่อเพลงเสียเลย
                    
  แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ลาวดำเนินเกวียน กับ ลาวดวงเดือนนั้นเป็นเพลงเดียวกัน
                  อีกอย่างก็คือ เมื่อพูดถึงลาวในเพลงนี้ขอให้นึกว่าเป็นคนเหนือ มิใช่คนอิสานนะครับ แม้ท่านจะเขียนเพลงนี้แถวๆ สุรินทร์ก็ตามที
                  เพลงนี้ไพเราะสุดยอดทีเดียว โดยเฉพาะถ้าได้คนลูกคอดีๆร้องแล้วละก็จะเศร้าอย่างบอกไม่ถูกทีเดียว

                  แต่เรื่องโรแมนติกกว่านั้นเกิดหลังจากเพลงๆ นี้ดังไปแล้ว เพราะเมื่อพระองค์ชายท่านทรงเสกสมรสแล้ว ทางฝ่ายเจ้าหญิงชมชื่นก็ถูกจับให้แต่งงานกับเจ้าเหนือพระองค์หนึ่งที่ลำพูนเหมือนกัน เรื่องนี้ออกจะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดของพระองค์ท่านทั้งสอง เพราะอายุน้อยมากทั้งคู่ แต่กลับถูกม่านประเพณีเล่นงาน ว่ากันว่าท่านชายหาทางมุงานเพื่อให้ลืมเรื่องในใจนี้ไป การมุงานจนเกินกำลังกายนี้เองทำให้พระองค์ชายเจ็บป่วยบ่อยๆ จนกระทั่งวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 พระองค์ก็จากโลกนี้ไปโดยมีพระชันษาเพียงแค่ 28 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ
                 และเมื่อข่าวการสิ้นชีพของท่านชายไปถึงภาคเหนือก็ทำเอาเจ้าหญิงชมชื่นเกิดอาการซึมเศร้าทันที เนื่องจากทรงมีอารมณ์อ่อนไหวละเอียดอ่อนมากๆ เช่นกันว่าความรักในใจขององค์หญิงก็ไม่เคยจางในหัวใจของท่าน หนึ่งปีให้หลังองค์หญิงชมชื่นก็สิ้นชีพลงเช่นกันโดยมี ชันษา 23 ปีเท่านั้นเองครับ**

รีบไปนิดลืมบอกว่า ข้อมูลประกอบเพลงนำมาจาก   www.banramthai.com/html/fon_laodoangdoen

ต้องขอบพระคุณอย่างสูง ค่ะ

ส่วนลิ้งค์ เพลงจาก สนุกดอทคอม ค่ะ

เพลงนี้ (ลิ้งค์เวอร์ชั่นพี่ฟอร์ดร้องค่ะ) เป็นเพลงที่คุณพ่อขายาว ร้องกล่อมลูก ตั้งแต่ในท้อง ปัจจุบันยังเป็นเพลงกล่อม..เราทั้งสามคน ก่อนนอนทุกคืนค่ะ

หมายเลขบันทึก: 206482เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2008 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2015 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ทั้งประวัติของเพลงและความหมายของเนื้อเพลงโดนใจมาตั้งแต่ได้เรียนรู้ ได้รับฟังจากคุณครูท่านสอนเมื่อตอนเป็นนักเรียน (วัยรุ่น) ประทับใจจนถึงทุกวันนี้ ฟังเพลงเมื่อไรก็ซาบซึ้งใจ มีความสุขทุกครั้ง...ขอบคุณที่นำมาสะกิดเตือนความทรงจำดี ๆ ท่ามกลางสายฝนปรอย ๆ ได้บรรยากาศดีมาก (ลพบุรีฝนกำลังรินเม็ดค่ะ)

P  ปัจจุบันยังเป็นเพลงกล่อม..เราทั้งสามคน ก่อนนอนทุกคืนค่ะ

วันไหนเดินทางไปนอนที่อื่น เช่นไปเที่ยวยังต้องหยิบแผ่นนี้ไปด้วยค่ะ

เพลงนี้คงเป็นเพลงโปรดของใครหลาย ๆ คน
ขนาดสาวมั่น เจ้าแม่ไอที อย่างคุณน้องซูซานยังโปรด
มาเติมคำ Digital divide เพราะ
เป็นเพลงคลาสสิคไทยหนึ่ง
เป็นเพลงแห่งประวัติศาสตร์ราชนิกูลท่านหนึ่ง
เป็นเพลงที่"สอน"เราได้ แปรเปลี่ยนความไม่สมหวังเป็นเพลง รักนิรันดร์กาล
ไม่รักเพลงนี้ได้ หรือ คะคุณ ๆ

อ่านบันทึกแล้ว เหมือนได้นั่งฟังเพลง ลาวดวงเดือน เพราะๆเย็นๆมาพร้อมกันเลยครับ :)

P

 จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร  พี่มีเนื้อร้อง คำร้องฝ่ายหญิงร้องด้วยนะคะ

เคยเรียนร้องเพลงนี้

และ แน่นอน..สีไวโอลินเพลงนี้ได้ค่ะ

โด เรมี ซอล โด....

มาขอบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เราเองว่า

เขียนกาพย์ห่อโคลงไว้บทหนึ่ง และแนะนำทีมงานให้เปิดเพลงบรรเลงนี้คลอไปด้วยระหว่างการอ่านกลอนทำนองเสนาะ

 

คิดถึงเพลงนี้เป็นเพลงแรก

ได้ยินว่าผู้ร่วมงานชอบ กาพย์ห่อโคลง ที่มีนักอ่านมืออาชีพอ่าน มาก ๆ

 

ยังไม่รู้เลยว่า เขาใช้เพลงนี้จริง ๆ หรือเปล่า

ถ้าใช่จะไปตามล่า วิดีทััศน์มา ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท