กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต : แนวคิดอุดมการณ์รากฐาน


กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต : แนวคิดอุดมการณ์รากฐาน

 โดย ศ.ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน

 

 

แนวความคิด ปรัชญา  กระบวนการ หลักการและวิธีการพัฒนาชุมชน 

                         ผมออกจากกรมฯ ไปตั้งแต่ปี 2534  ถึงแม้ว่าจะออกจากกรมฯไปเป็นผู้ว่าฯเสีย 11 ปี เป็นประธาน  กกต. อีก 4 ปี  เป็นที่ปรึกษา กกต.อีก 5 ปี เป็นที่ปรึกษานายกฯอีก 5 ปี  ก็อยากนำเรียนว่า  งานพัฒนาชุมชน ถ้าเราเข้าใจจริงๆ งานที่ทำการพัฒนามนุษย์ ไม่มีงานใดที่มีคุณภาพ  มีคุณค่า และมีเกียรติ ศักดิ์ศรีเท่างานพัฒนาชุมชน ก็เพราะสอนให้คนรู้จักพึ่งตนเอง ในเรื่องของวัฒนธรรมค่านิยมของเรา ใครพึ่งตนเองได้ถือว่ายอด

                         งานพัฒนาชุมชนเราจึงเป็นงานที่สอนให้เขาพึ่งพาตัวเองได้ในที่สุด โดยประการแรกนั้น  คือการให้ความรู้แก่ประชาชน  ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Education For Development   ให้การศึกษาเพื่อการพัฒนา งานพัฒนาชุมชนนั้นเป็นงานพัฒนาคนให้คนสามารถดำเนินกิจกรรมตัวเองได้ ร่วมดำเนินงานซึ่งกันและกันได้ และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในที่สุด และพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ในที่สุดเหมือนกัน

                          การศึกษาเพื่อการพัฒนานั้น  ในที่สุดแล้วเราสามารถรู้คล้ายคลึงกัน เรามีความตั้งใจคล้ายคลึงกัน ผมไม่ถนัดเรื่องนี้ คุณถนัดคุณทำที ใครถนัดตรงไหนทำตรงนั้น แต่ท้ายที่สุดเป็นผลงานของเรา  เขาจึงบอกว่าการศึกษาเพื่อการพัฒนานั้น ทำให้คนเกิดความตระหนัก   เรามาดูว่าบ้านเรามีปัญหาอะไรบ้าง แต่ผมมีสุภาษิตที่จะสอนพวกเราว่า อันมังกรต่างถิ่นหรือจะสู้งูดินในถิ่นได้  ความหมายว่า อย่าอวดเก่ง ณ สถานที่ต่างๆ ความเก่งต่างกัน ทั้งนี้เพราะความเคยชินต่อสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ เราเป็นนักพัฒนา เข้าหมู่บ้านอย่าไปอวดรู้กับผู้ใหญ่บ้าน อาจตกม้าตาย เพราะผู้ใหญ่บ้านเป็นงูดินในถิ่น 

                          การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่าไปดูถูกใครเขา ต้องเรียนรู้จากเขาเสียก่อน เป็นเพื่อนกับเขา แล้วในที่สุดนานๆ เข้างูดินก็จะเห็นว่ามังกรเป็นพี่เลี้ยงได้ ไว้ใจขี่หลังมังกรได้เพราะมังกรมีพลังมากกว่าก็สบาย ก็อย่าไปอวดรู้กับชาวบ้าน  ถ้าเราไปดูงานพัฒนาชุมชนเก่าๆ  ก็จะเห็นว่าพวกเราเข้าไปในหมู่บ้าน พักอาศัยกับชาวบ้าน กินอยู่หลับนอนอยู่ที่หมู่บ้าน ทำงานกับชาวบ้าน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คิดร่วมกับชาวบ้าน กระบวนการตรงนี้เราสามารถไปถึงหมู่บ้านได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีในตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน เพราะเราสามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน เราสามารถเป็นคนที่เขานับถือเรา ทั้งผู้นำชุมชน ผู้นำประชาชนและประชาชนทั้งหมด  ตรงนี้ก็สรุปคร่าวๆว่า แนวความคิด ปรัชญา  กระบวนการ หลักการและวิธีการพัฒนาชุมชน  งานพัฒนาชุมชนนั้น เป้าหมายสุดท้ายคือ ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ใช่อยู่ดีกินดีนะครับ      แต่อยู่ดีมีสุข    

 

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเมื่อวันเริ่มก่อตั้ง

                         บ้านเราอยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์ อะไรก็เทคโนโลยีก็สตางค์ทั้งนั้น ยิ่งไฮเทคก็ยิ่งจ่ายสูงเท่านั้น ยิ่งใช้แล้วพี่น้องได้อะไร ที่กลับคืนมากำไรหรือขาดทุน  ถ้าเอากำไรด้านวัตถุ กำไรด้านจิตใจ โก้ก็กำไรอย่างหนึ่ง มีความสุข มีความเพลิดเพลิน แต่เราต้องกำหนดว่ากำไรอะไรที่ทำให้ชีวิต สมาชิกครอบครัว หมู่บ้านของเราอยู่ยั้งยืนยง สุขอะไร ที่ทำให้ส่วนรวมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่นักพัฒนาชุมชน หน้าที่ของประชาชนที่ต้องเรียนรู้  เรานักพัฒนาชุมชน อยู่ในบรรยากาศที่น่าอึดอัด

                          ที่พูดเรื่องไฮเทค เพราะเป็นเหตุให้มีการตั้ง กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ขึ้นมา เมื่อปี 2516 ผมเป็นข้าราชการมหาดไทยคนแรกที่ไปเรียนปริญญาเอกกลับมา มีคำสั่งให้ไปอยู่เขต 4 อุดรธานี สักปีกว่า อยู่มาเข้าปีที่สอง  ปี 2517  รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาชนบทเน้นส่งเสริมการเกษตรเป็นหลัก โดยนำเทคโนโลยีการเกษตรมาใช้ในการพัฒนาการเกษตร แล้วมอบงานให้ทำ ส่วนหนึ่งเป็นงานของกระทรวงมหาดไทย เพราะว่ากรมการปกครองนั้นมีกฎหมายกำหนดไว้ว่ามีหน้าที่ส่งเสริมการอาชีพ รวมถึงเทศบาล และตำบล  ตำบลก็เรา  เพราะฉะนั้นการส่งเสริมอาชีพการเกษตร พช.ต้องทำด้วย เขาก็โยนให้ พช.ทำ ท่านพัฒน์ อธิบดีฯ ก็มีโทรเลขไปถึงเขต 4 ที่ผมอยู่ บอกว่า ให้นายยุวัฒน์พิจารณาว่าจะสามารถหาทุนที่ไหนหรือเงินทุนอะไรมาใช้ในการพัฒนาการเกษตรในความรับผิดชอบของกรมฯ ในฐานะที่เป็นดอกเตอร์คนแรกของกระทรวงมหาดไทย  ผมว่าไปก็ไป  ไปหาท่านอธิบดีฯ ท่านว่าจะหาเงินที่ไหนจากชาวบ้านนะแหละ ให้ชาวบ้านมีส่วนสมทบตามหลักการพัฒนาชุมชนเรา แต่จะต้องเป็นเงินก้อนหนึ่งชัดเจน ไม่ใช่รัฐครึ่งหนึ่งชาวบ้านครึ่งหนึ่ง   มันต้องมีกองทุนก้อนหนึ่งเหมือนธนาคารก็ได้ ยกเว้นห้ามกู้เหมือนหลักสหกรณ์ ห้ามนำวิธีของเครดิตยูเนี่ยนมาใช้เพราะเป็นของคอมมิวนิสต์ ท่านว่าห้ามนำมาใช้  ผมก็ครับ กลับมาที่กองผมบอกหัวหน้ากองว่าผมฟังอย่างเดียวขอคิดก่อน แต่ว่าหลักที่ท่านอธิบดีฯห้ามผมใช้หมดเลย ก็หลักสากล  คนจนๆ รวมตัวกันหลายคนก็เป็นสหกรณ์ เครดิตยูเนี่ยน ดูตามฐานะ คนรวยออมมาก คนจนออมน้อย อยู่บนหลักของความเมตตาปราณีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

                          มีหลักหนึ่งที่ผมเรียนมาทางเศรษฐศาสตร์ เพราะผมเรียนทางด้านส่งเสริมการเกษตรและเศรษฐศาสตร์การเกษตร มันมีกองทุนหนึ่งเรียก “Production Credit”  คือ เงินทุนเพื่อการผลิต เขาจะใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรม อันนี้หมายความว่าในกลุ่มคนที่เขามีความรู้ มีเงิน เขารวมหุ้นกันตั้งโรงงานผลิตโดยมีหลักเกณฑ์แน่นอน ว่าทำอะไร ถ้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานขายถูก ได้มาตรฐานขายแพง   ผมอ่านดูเมื่อในที่สุดสหกรณ์ก็ไม่ให้ผมใช้ เครดิตยูเนี่ยนก็ไม่ให้ใช้ ผมก็จับมารวมกัน รวมไปรวมมา ตั้งเป็น กลุ่มออมทรัพย์ ออมไปทำไม ออมไปผลิต เอาแนวคิด Production Credit ใส่ลงไป บวกปรัชญาของสังคมไทยว่าคนไทยมีเงินไว้ทำงานแปลกๆ เช่น เก็บเงินไว้บวชลูกชาย แต่งลูกสาว ก็เลยบวกจิตวิทยาสังคม ว่าเงินมีแล้ว เอาไปผลิตนะ อย่าเอาไปกินไปใช้ในงานสิ้นเปลืองนะ แล้วเขียนเป็นเนื้อหาตามเล่มสีเหลืองที่พิมพ์ให้ในวันนี้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2517

                         คนที่เป็นเกษตรกรในชนบท  น้ำก็ท่วม ฝนก็แล้ง  แมลงลง ขายไม่ได้ราคา ไม่มีใครบอก เสี่ยงตายเองหมด นั่นแหละครับปัจจัยตัวแรกคือผลผลิตต่ำ  ต่ำทั้งราคาผลผลิต ทั้งปริมาณต่อไร่ คุณภาพต่ำด้วย ยิ่งสังคมโลกาภิวัตน์พูดถึงคุณภาพ   ตัวที่สอง รายได้ก็ต่ำด้วย ยุคโลกาภิวัตน์บวกกับการบริหารของรัฐบาลที่แย่ก็ทำให้เกษตรกรจ่ายมากขึ้น ต้นทุนการผลิตสูง

                           อย่างมาเดี๋ยวนี้เมื่อทางบ้านเมืองเราจะดำเนินการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนทุกด้านโดยใช้ไฮเทค ที่มันจะต้องอาศัยรากฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คำว่า Scienctific Technology แปลว่าวิทยาการ ความชำนิชำนาญตรงนี้ต้องใช้สตางค์ทั้งสิ้น  เมื่อคนจน จะเอาที่ไหนมาหาเทคโนโลยี  ในการบริหารพัฒนาบ้านเมือง ก็มีวิธีคิดหลายอย่าง คิดอย่างนายทุนก็ได้ ตั้งธนาคาร สถาบันการเงินต่างๆ  สมัยทักษิณมี อี เยอะแยะ อย่างเครดิตยูเนี่ยน ก็ใช่  นั่นเป็นการพัฒนาทุนอย่างหนึ่ง แต่คนได้ประโยชน์คือ นายทุน อย่างคนจนที่ขาดความรู้ หากอยากรวยแล้วกล้าเป็นหนี้ บางครั้งก็ไม่สามารถสำเร็จได้ เพราะขาดความชำนิชำนาญ เพราะฉะนั้นในวิชาของการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม เขาบอกว่า Capital Power อำนาจทางเงินทุน ที่ดิน หลักทรัพย์ทั้งหลาย ปัญญาด้วย มีหมด  ข้อสอง อำนาจรัฐ  ผมมีตำแหน่งทางการเมือง ผมทำได้หมด  มีคนให้ทุนมาสนับสนุน แต่ชาวบ้านธรรมดา เป็นอย่างไร ทุนก็ไม่มี อำนาจก็ไม่มี ตรงนี้คือปัญหาของคนจน เพราะฉะนั้นการไปตั้งกองทุนล้านบาทคือฆ่าตัวตายหมดผมแนะนำว่าสมัยผมเป็นอธิบดีฯ ผมตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นกองทุนของคนในหมู่บ้าน  กับ ทุนของกลุ่ม  เมื่อปี 2517 ตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ออมเงินได้ 50,000 บาท เราบอกจัดเงินอุดหนุนเข้าไปอีก 50,000 บาท นำไปส่งเสริมอาชีพจะเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ก็ว่าไป เงินอุดหนุน ตามกฎหมายงบประมาณให้ฟรีนะครับ  แต่ว่ากรมการพัฒนาชุมชนโดยแนวความคิดผมบอกว่าไปคุยกับสมาชิกเขา อันนี้ทุนของกลุ่มนะ เรามีอยู่แล้ว 50,000 บาท กรมการพัฒนาชุมชนให้อีก 50,000 บาท ให้ตกลงร่วมกัน ประโยชน์ตนก็ต้องรักษา ประโยชน์รัฐก็ต้องรักษา   ถ้าสมาชิกยืมเงินไปก็ต้องรู้ว่าเดือนหนึ่งจะคืนได้เท่าไร เพราะเพื่อนรออยู่ ให้มีสัจจะเพื่อช่วยเหลือเพื่อน ทำได้จริงก็เวียนได้จนครบสมาชิกทุกคน  อย่างเงิน กสช.สมัยก่อน เน้นการพัฒนาวัตถุ สร้างสระน้ำ บ่อน้ำ ทำสำหรับการพัฒนาเฉยๆ  Work For the People  เอาไปเลย เอาไปเลย ไม่ได้ทำแบบพัฒนาชุมชน

                           แต่ของเรา จัดมานั้นเข้าชาวบ้านหมด เพราะทุนของเขา เงินของเขา ไม่ต้องไปสร้างกรรมการกองทุน นั่นคือ แนวคิดของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ชาวบ้านมองเท่าไร กรมฯจ่ายเท่านั้น ให้มันถูกต้องตามหลักของงบอุดหนุนต้องมีโครงการเสนอมาขอ ก็ทำมาเรื่อยๆ จากเงินพวกนี้ เราก็มีกิจกรรม เพราะชาวบ้านเริ่มมีทุนแล้ว สัจจะทำให้เกิดทุน  ผมไปทำครั้งแรกที่ขัวมุง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เมื่อ 8 สิงหาคม 2517  คุยกับผู้ว่าแล้วก็คุยกับชาวบ้าน ยังถูกคาดโทษว่าถ้าคุยไม่ดีย้ายไปแม่ฮ่องสอนโน่น พอตอนเย็นห้าโมงเย็นชี้แจงชาวบ้านเสร็จ ผู้ว่าฯเรียกประชุมกับหัวหน้ากอง ถามคุณอารีย์ ว่าคุณยุวัฒน์นี้อยู่กรมฯนานหรือยัง ท่านอารีย์ วงศ์อารยะ บอกว่าอยู่ตั้งแต่ยังไม่ตั้งกรมฯ ผู้ว่าบอกว่า เรอะ     ก็รอดตายไป แล้วก็เติบโตมาเรื่อย

                            ตรงนี้แหละ สัจจะก่อให้เกิดทุน เชื่อไหม อย่างเช่นไหว้พระที เก็บสิบบาท ไหว้ทุกวัน ก็สิบบาททุกวัน วันไหนลืมก็หายไปสิบบาท เพราะฉะนั้นสัจจะก่อให้เกิดทุน สอง ทนอดหน่อยก่อให้เกิดทุน เคยกินเหล้า ลองลดลงก็เกิดทุน สามอดทนก่อให้เกิดทุน เชื่อไหม ก็ทนออมไปสักสามปี  อย่าไปคิดถึงจนรวย คิดว่าเรามีสัจจะต่อตนเองไหม ทนอด มีเงินออมมากขึ้น อดทนออมนานๆ ก็มีเงินออมมากขึ้น เสร็จแล้วชวนเพื่อนมาอดทนอย่างเรา  เราคนเดียวหนึ่งเดือนออมสามสิบ ชวนเพื่อนมาเป็นสองคนมีหกสิบ ชวนเพื่อนหนึ่งร้อยคนมีเท่าไร นั่นแหละครับเงินออมก็เกิด คือ กลุ่มออมทรัพย์ฯ เงินก็ไม่ไปไหน มีสัจจะต่อเพื่อน ว่ากู้ไปแล้วจะคืนกลุ่มได้เท่าไร  คิดถึงเพื่อนว่าเขารออยู่ ถึงกลุ่มจะมีเกณฑ์ไว้ แต่ก็อาจจะคืนได้มากกว่า เพราะมีน้ำใจต่อเพื่อนที่รออยู่  สัจจะ จริยธรรม คุณธรรม ต่อเพื่อน

                           เพราะฉะนั้นกลุ่มออมทรัพย์ฯที่มีเงิน สิ่งที่ต้องทำคือ ผลิต  เงินของกลุ่มฯที่สมาชิกต้องการยืมหรือกู้ไป ต้องเป็นโครงการเงินกู้ นำไปผลิต เพื่อประกอบอาชีพ จะไปทอผ้า หรือทำผลิตภัณฑ์ชุมชน เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่  เงินกู้ประเภทนี้เป็นหน้าที่ของกรรมการส่งเสริม คอยดูแล ว่าเพื่อนเรามากู้เงินสามพันบาทเลี้ยงไก่พันตัว ต้องดูก่อนครับว่าเหมาะสมกันไหม  รวมถึงพัฒนากรไปเชิญปศุสัตว์มาด้วย มาพิจารณาดู ถ้าดูแล้ว ไม่คุ้มก็ต้องบอกเขาว่าต้องลดจำนวนที่เลี้ยง หรือเพิ่มเงินที่ต้องการกู้ว่ามีเงินของกลุ่มเพียงพอไหม ก็ให้กู้เพิ่มอย่างเช่น ให้กู้ห้าพันทั้งที่ขอสามพัน ความขยัน ฉลาดของคนกู้ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

                           ที่เสนอมาว่าควรมีกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯ เพียงคณะเดียว คนเสนอผิด ผิดหลักพัฒนาชุมชนด้วย  ต้องแบ่งงานกันทำ แยกความชำนาญ ใครเก่งคนเดียวได้บ้าง เขาให้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กรรมการเป็นกลุ่ม นั่นหมายความว่า ต้องการสร้างคนให้เก่งคนละอย่าง แบ่งอำนาจเป็นกลุ่มๆ  แบ่งการทำงานเป็นกลุ่มๆ   แล้วทั้งหลายกลุ่มก็ออกมาเป็นกรรมการบริหารเพียงหนึ่งเดียว มีประธานใหญ่ตัดสินใจเด็ดขาด  เช่น ถามว่า ว่าไง กรรมการเงินกู้บอกเขาเสนอขอกู้สามพันครับ แล้วทำไมเป็นห้าพันละ  ก็บอกว่ากรรมการส่งเสริมพิจารณาแล้วครับว่า กลุ่มเรามีเงิน  เงินมี เอาไปเลย  ก็หมายความว่า กรรมการที่รับผิดชอบร่วมกัน รู้เขารู้เรา เงินมี ก็ให้   ต่อไปกรรมการตรวจสอบ คุณมั่นใจนะ ไปตรวจสอบคนนี้นะ ว่าได้เงินห้าพันบาทไปแล้วไม่ใช่ไปซื้อมือถือ มันเกิดความมั่นใจภายใต้การตัดสินใจร่วมกัน  ดังนั้น อย่าไปตั้งกรรมการชุดเดียวจะขาดโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ขาดการเรียนรู้เฉพาะด้าน ขาดการตัดสินใจร่วมกัน  นั่นเป็นปรัชญาสุดท้ายของ พช.  สุดท้ายแล้ว ทุกคนตัดสินใจร่วมกัน รับผิดชอบร่วมกัน

 

ทำไม่ต้องชื่อ ศูนย์สาธิตการตลาด

                           นี่คือเรื่องของเงินกู้ อีกเรื่องหนึ่งคือ ศูนย์สาธิตการตลาด ตรงนี้แหละครับหลายๆแห่งหลักการดำเนินงานมันผิด แนวคิดให้ไว้มีไว้ว่า เมื่อกลุ่มดำเนินงานไปแล้วงานอย่างแรกคือ ให้เงินไปลงทุนประกอบอาชีพ งานผลิต งานอาชีพ อันที่สอง เอาเงินไปตั้งร้านค้า เงินกลุ่มนั่นหละ ก็กรรมการบริหารนั้นหละเป็นคนตัดสินใจ ว่าเวลานี้สตางค์เราหลังจากให้เพื่อนฝูงกู้ยืมไปแล้วก็ยังมีอยู่ ถ้าจะเอามาตั้งร้านค้า อะไรที่สมาชิกเรา ชาวบ้านเราจำเป็นต้องซื้อในตลาด ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไกล  กรรมการนี่แหละ ก็ไปซื้อ สบู่ น้ำตาล กะปิ น้ำปลา เข้ามาขายในร้านเรา เอาเงินเรานี่หละ  แต่กิจกรรมร้านค้านี่ต้องมีกรรมการ มีบัญชี ก็เป็นว่าศูนย์สาธิตฯยืมเงินกลุ่ม ไม่ต้องคิดดอกเบี้ย จะคืนก็คืนไปเท่าเดิม เพราะเป็นกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ซื้อสินค้ามาขาย ขายเสร็จก็คืนทุนไป เริ่มมีกำไรก็หมุนเองได้  แล้วถ้าไม่พอ ใครที่มีฐานะดีส่งเงินสัจจะสะสมพิเศษ ไม่กู้นะ ไม่ยืมนะ ก็ทำให้เงินกลุ่มออมทรัพย์ฯ สูงขึ้น เดิมเดือนละร้อย สิบสองเดือนพันสอง เงินสัจจะพิเศษด้วยก็กลายเป็นสองพันสี่ ก็คือยอดเงินสัจจะสะสมของท่านสำหรับเอาไปคิดตอนสิ้นปี ไม่ใช่เงินลงหุ้นนะ เงินสัจจะพิเศษ ฉะนั้นถ้าเป็นสัจจะสะสมคุณจะได้พันสอง พอเพิ่มสัจจะพิเศษคุณมีสองพันสี่ เอาไปทำไม เอาไปเปิดร้านค้านั่นไง รายได้ ผลกำไรจากร้านค้า แบ่งกันหมดทุกคนนั่นแหละ คุณมีเงินออมน้อย ก็ได้แบ่งน้อย คุณออมมากก็ได้แบ่งมาก  แต่ที่ผ่านๆมาหลายแห่งทำนะ ไม่ได้เรียกสัจจะพิเศษ เรียก หุ้น ๆ  แต่ชื่อศูนย์สาธิตการตลาด เงินทำไมแบ่งกันไม่ครบคนถือหุ้น ก็หุ้นฉันถืออยู่ล่ะ ศูนย์สาธิตการตลาดกลุ่มออมทรัพย์นี้ แต่พอแบ่งปันผลประโยชน์ ฉันไม่ได้ เอาชื่อฉันไปด้วยนะ ตรงนี้ผิด ทุกคนต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน เขามีเงินออมน้อยเขาก็ได้น้อย เขามีเงินออมมากเขาก็ได้มาก เพราะฉะนั้นฝากด้วยนะครับว่า ไม่ใช่เอาเงินสมาชิกมาลงหุ้น บางแห่งแย่กว่านั้น เอาคนข้างนอกมาลงหุ้นด้วย ทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ศูนย์สาธิตการตลาดนั้น สมาชิกทุกคนของกลุ่มออมทรัพย์ฯ เป็นเจ้าของ ผลประโยชน์จากกลุ่มออมทรัพย์ฯ จากร้านค้า แบ่งกันไปตามคนเข้าหุ้น เราต้องการความเป็นเจ้าของร่วมกัน เงินที่สมทบเข้ามา ไม่ใช่หุ้น ถือเป็นเงินสัจจะสะสมพิเศษ นะครับ

                           แล้วทำไมจึงชื่อว่า ศูนย์สาธิตการตลาด   ไปดูประมวลกฎหมายรัษฎากรนะ เมื่อก่อนเป็นกฎหมายภาษีนะ เขาบอกว่ากิจกรรมใดที่ประชาชนดำเนินการในลักษณะสาธิต  ทดลอง  ให้ยกเว้นการเก็บภาษี ชั่วระยะหนึ่ง จนกว่าการดำเนินนั้น จะเข้าที่เข้าทาง และมีกำไร จึงจะเสียภาษี  พวกเรานักพัฒนา เน้นการสอนให้คนมีความรู้ ก็หาเรื่องนี้แหละมาสอน  สอนให้รู้ด้วยว่านี่สาธิตนะ อย่าน้อยใจว่า ผมทำไม่เป็นนะครับ ไม่ต้อง  ก็กรมฯ จะสาธิตนะ ก็ทดลอง ก็สอนไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว  มีคนบอกว่าจะต้องทำรูปบัญชีใหม่ ทำไงครับ สมัยก่อนปี 2517 คนก็ ป.4  ป.4  ป.4  ก็ชาวบ้านแกความรู้น้อย ทำบัญชีอย่างไหน ก็จำง่ายๆ ก็พอ มันจึงมีหลักการหลายๆ เช่น ทำไมสมุดสัจจะสะสมทรัพย์ จึงมี ส่ง กับ ไม่ส่ง ถ้ามีการทำบัญชีแบบนาย ก.20 บาท นางสาว ข. 7 บาท  คนป.4 เขียนผิดเขียนถูก รวมผิดรวมถูก เจ๊ง….. ทีนี้มาใช้แบบขีด ส่ง ไม่ส่ง ขีดทีหนึ่งรู้เลยขีดทีสี่สิบบาท ขีดทีสามสิบบาท ดังนั้น เห็นด้วยว่า บัญชีต้องมีระบบที่ดีและชัดเจนกว่านี้นั้น ไม่เถียง แต่ว่าให้ทำทีละสเต็ป ทีละสเต็ปไปก่อน ถ้าขืนเอาสมุดบัญชีอย่างร้านค้าเดี๋ยวนี้ จะยุ่งยากสำหรับชาวบ้าน เพราะฉะนั้นสาธิตทดลอง นั้นอย่ากลัว ฝึกไปก่อน เดี๋ยวจะสอน ผมตั้งเป้าไว้ว่าให้เจ้าหน้าที่การเงิน อำเภอ จังหวัดนะแหละ ให้ช่วยดู แต่ว่าไม่ค่อยไปกัน  สำหรับกลุ่ม เก่งแล้วจึงค่อยปรับสมุดบัญชี  อย่างน้อยก็ไม่ต้องเสียภาษีโดยไม่ผิดกฎหมายต่อเมื่อเราร่ำรวยพอสมควรก็ย้อนกลับมา นักพัฒนาไม่สอนให้ผิดกฎหมาย นักพัฒนาไม่ได้สอนให้เอาเปรียบสังคม ประเทศชาติ ตราบเมื่อเรามั่งมีพอ เพราะฉะนั้นเมื่อค้าขายมีกำไรก็จ่ายภาษีไป 

 

โครงการธนาคารข้าวและยุ้งฉาง

                           อันต่อไปครับ เมื่อปี 2519 จากที่น้ำท่าสมบูรณ์ ปีนั้นเจ้ากรรม ฝนแล้งทั้งประเทศ ชาวนาไม่มีข้าวกิน ต้องเข้าคิวซื้อข้าวสารกิน ให้ผมนักพัฒนาไปยืนเข้าคิวซื้อข้าวสาร คิดว่านี่หรือประเทศไทยต้องได้ซื้อข้าวสาร ในหลวงรับสั่งให้ตั้งธนาคารข้าว ทุกกระทรวงทบวงกรม ก็น้อมรับตั้งธนาคารข้าว คนที่รับผิดชอบหลักคือกรมส่งเสริมการเกษตร  มหาดไทยรับดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านทุกตารางนิ้ว ก็ต้องทำด้วย  มหาดไทยสมัยนั้น ก็มีงบประมาณส่วนหนึ่ง  พช.ก็บอกว่าตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตก็พอมีสตางค์อยู่ส่วนหนึ่ง เราก็มาตั้งกิจกรรมธนาคารข้าว เอาเงินที่จัดสรรนั้นมาให้เราตั้ง ไปซื้อข้าวสารมา ก็ยืมเงินออมทรัพย์นั้น ไปซื้อข้าวสารมา เอามาใส่ไว้ในธนาคารข้าว แล้วก็ดำเนินการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเชื่อมโยงกับธนาคารข้าวก็กำหนดกฎเกณฑ์ คนที่มีสิทธิ์มาขอข้าวกินจากเรา เป็นใครก็ได้ เพราะสนองพระบรมราโชวาทของในหลวง ต้องแผ่เมตตากว้าง แต่เราก็ทำแบบ พช. คือ  หนึ่ง คนจนจริงๆ กินฟรี  ผู้ใหญ่บ้านรับรองมา ให้ฟรีไม่ต้องคืน ถึงให้กู้ก็ไม่มีคืนให้  ถ้าคนไม่จนจริงๆ ก็ไม่ได้ให้ฟรี คนนี้ยืม คนนี้พอมีอยู่บ้างก็ใช้คืนบางส่วน คนรวยหน่อยก็มีดอกเบี้ยบ้าง เช่น หนึ่งถังคืนถังสองลิตร นั่นคือหลักการ พช. เพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อนฐานะดีกว่าก็ช่วยเพื่อน  กำนันก็รับรองผู้ใหญ่บ้าน เป็นทอดๆ กันไป

                             พวกเราภูมิใจครับว่า ในหลวงรับสั่งว่า พช.นี่ ทำธนาคารข้าวได้แจ๋วจริงๆ ไม่มีทะเลาะกัน กรมฯอื่นเขาให้กำนันใหญ่คนเดียว ผู้ใหญ่บ้านใหญ่คนเดียวก็ให้พวกพ้องตัวเองหมด ของเราไม่มี มีกรรมการตรวจสอบซ้ำ   เราสามารถหาข้าวเปลือกก็ได้ ข้าวสารก็ได้ เราใช้หลักวัฒนธรรมประเพณี  ถึงฤดูเก็บเกี่ยว เรียก พาข้าว  มีพระนำเราขอพาข้าว  ตอนนี้ข้าวสารหมด เราก็ได้ข้าวสารมาจากการพาข้าว พระเดินนำหน้า ลูกบ้านหาบข้าวตามมาใส่ฉาง ก็ได้ข้าวเปลือกมา ไปสีเอง    ตรงนี้ละครับที่ในหลวงรับสั่งว่า พช.เขามีวิธีทำ  แล้วข้าวเปลือกเราทำพันธุ์ข้าวได้ด้วย พอถึงฤดูทำนาก็แจกพันธุ์ข้าว เราทำครบวงจร ข้าวสารมีเอาไปกิน ถึงฤดูทำนาเอาไปทำพันธุ์ข้าว   แต่ตอนนี้ก็ไม่ค่อยได้ทำแล้ว

                           จากธนาคารข้าว มาปี 2522 ข้าวราคาตกต่ำ รัฐบาลบอกว่าจะต้องมีการประกันราคาข้าว จะมีการจำนำข้าว ตอนนั้นผมอยู่ที่กองวิจัยประเมินผล ผมก็เสนอไปว่า ไม่ต้องจำนำ ไม่ต้องประกัน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมีสตางค์  สมาชิกคนใครบ้างที่จะขายข้าว ก็ประชุมผู้นำกลุ่มออมทรัพย์ฯทั่วประเทศ          ใช้หลักการ 3 อย่าง

                                      1. ซื้อขาด

                                      2. ขายฝาก

                                      3. ฝากขาย

                            เกิดไปเกี่ยวกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผมก็ว่า หนึ่ง ข้าพเจ้าซื้อขาด ไม่ได้ขายขาด ไม่เข้ากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พี่ใหญ่เรามีข้าวแต่จน เราซื้อขาดซะ ขณะนี้เกวียนละสามพัน ผมขายเลยสามพัน เอามาเลย ข้าวใส่ฉางเอาสามพันไป จบ  กรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ฯ รับผิดชอบ สามเดือนให้หลังมัน 2,500 บาท ก็ขาดทุน ถ้า 3,500 ก็กำไร คนขายไม่เกี่ยวแล้ว ซื้อขาดแล้วกลุ่มกำไร   รายที่สองมีข้าวหนึ่งเกวียน ขายฝาก แต่จนต้องการใช้เงิน ข้าวเกวียนละสามพัน ผมขอเอาเงินไปหนึ่งพัน กลุ่มเราก็รับข้าวไว้ จ่ายไปหนึ่งพัน  อีกคนมาเอาไปเลยครับผมไม่คิดสักบาท ฝากขาย  เก็บไว้สามเดือน ข้าวต่อเกวียนสามพันห้า พี่ใหญ่ก็อดอีกห้า

หมายเลขบันทึก: 205472เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2008 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นข้อมุลที่เยี่ยมมากขอบคุณมากครับพรุ่งน้ผมสอบสัมภาษณ์ ขอให้ผ่านเถอะ ... สาธุ ....

Thanks for the blog loaded with so many information. Stopping by your blog helped me to get what I was looking for.

 

regards
grill parts

If you want to buy a house, you will have to receive the <a href="http://bestfinance-blog.com">loan</a>. Furthermore, my brother usually utilizes a consolidation loan, which is really firm.

เรื่องนี้ และอย่างนี้ ควรมีในห้องสมุดหมู่บ้าน ตำบล หรือ อบต.ศูนย์ กศน

มันบอกพื้นเพ ความดี ความภาคภูมิใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท