’การศึกษา’ กับ ’ความคิดสร้างสรรค์’


2 เรื่องที่สัมพันธ์กัน

 

ในห้วงการปลี่ยนแปลงโลกด้านการศึกษาที่อยู่ในกระแสความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ที่รวดเร็วในระนาบของโลกาภิวัตน์เต็มรูปแบบขณะนี้ สถาบันอุดมศึกษาคือศูนย์กลางทางปัญญาของสังคมทั้งศาสตร์และศิลป์ มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่สร้างคนรุ่นใหม่เพื่อออกไปเป็นผู้นำของสังคม
         
หากยอมรับความเป็นจริงในแง่นี้ก็จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยมีความสำคัญอย่างมาก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่สลับซับซ้อน บทบาทของมหาวิทยาลัยวันนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในฐานะที่เป็นหลักค้ำการดำรงอยู่หรือการอยู่รอดของผู้คนในสังคม แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าเรื่องความคิดของคนมีลักษณะที่แตกต่างกัน แต่คนที่มีปัญญาก็สามารถฝึกความคิดให้ดีได้
          จิตหรือความคิดก็คือ การที่คนคนหนึ่งพยายามใช้พลังทางสมองนำเอาข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ต่างๆที่มีอยู่มาจัดวางอย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งศักยภาพอันมหัศจรรย์นี้ถือว่ามีความสำคัญต่อการสร้างสรรค์ระบบการศึกษาและการมีส่วนผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยก้าวไปสู่ความเป็นสถาบันชั้นนำสำหรับคนรุ่นใหม่ และตอบสนองการพัฒนาชาติบ้านเมืองได้
         

 คำถามคือ ความคิดสร้างสรรค์คืออะไร?
          ความหมายในที่นี้คือ การค้นพบวิธีการใหม่และดีขึ้นในการทำสิ่งต่างๆเพื่อให้ได้สิ่งตอบแทนที่เป็น ความสำเร็จทุกประเภท ไม่ว่าจะที่บ้าน ที่ทำงาน หรือชุมชน เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพการทำงานและพัฒนาสมองก่อน โดยสมองมี 2 ซีกคือ สมองซีกซ้ายทำหน้าที่ในการตัดสินใจ ใช้เหตุผล และสมองซีกขวาทำหน้าที่ในการสร้างสรรค์
          แม้สมองจะทำงานต่างกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วจะทำงานเชื่อมโยงไปพร้อมๆกันในแทบทุกกิจกรรมทางการคิดสลับกันไปมา เช่น การอ่านหนังสือ สมองซีกซ้ายจะทำความเข้าใจโครงสร้างประโยคและไวยากรณ์ ขณะที่สมองซีกขวาจะทำความเข้าใจกับท่วงทำนองของการดำเนินเรื่อง อารมณ์ที่ผูกไว้ในงานเขียนนั้นๆ
          ดังนั้น หากจะนิยามให้แคบลง ความคิดสร้างสรรค์จึงควรมี 3 ส่วนคือ 1.การเป็นสิ่งใหม่ คือต้องคิดแหวกวงล้อมความคิดเดิมที่ไม่เคยมีใครคิดได้มาก่อน แต่ไม่ใช่ลอกเลียน 2.ความคิดที่สามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งต้องเกิดจากการสร้างสรรค์ที่ลึกซึ้งและสูงกว่าจินตนาการที่เพ้อฝัน และ 3.ต้องมีความเหมาะสม คือเป็นความคิดที่มีเหตุผลและมีคุณค่าภายใต้การยอมรับโดยทั่วไป
          วารสาร Journal of Creative Behavior ซึ่งตีพิมพ์ปี ค.ศ. 1988 รายงานผลการวิจัยของ Rosenman, M.F. ที่สรุปว่าความรู้ที่สะสมเป็นระยะเวลานานจะมีความสำคัญต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์ เพราะเข้าใจธรรมชาติของปัญหาได้กว้างและลึกซึ้งกว่าคนที่ขาดฐานข้อมูลที่รองรับ และช่วยกระตุ้นให้มีการคิดต่อยอดจากการได้รับความรู้เพิ่มเติม
          ในทางตรงกันข้าม ความรู้ก็อาจเป็นตัวขวางความคิดสร้างสรรค์ได้หากยึดติดความรู้ที่มีอยู่มากเกินไปจนเป็นอุปสรรคให้ขาดความยืดหยุ่นในการที่จะคิดออกนอกกรอบหรือมุมมองใหม่ๆ อย่างสำนวนที่ว่า ความรู้เป็นเหมือนดาบสองคมเพราะความรู้ส่งผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์ทั้งแง่บวกและแง่ลบ หากใช้ในทางที่ดีก็ได้ประโยชน์มาก ใช้ในทางที่ไม่ดีก็ก่อให้เกิดทุกข์
          รูปแบบความคิดของแต่ละคนจึงมีผลต่อการรับรู้และบุคลิกภาพ ขณะเดียวกันก็สามารถนำไปประยุกต์สติปัญญาและความรู้เพื่อนำไปแก้ปัญหา
คนสองคนอาจมีระดับสติปัญญาเท่าเทียมกัน แต่อาจต่างกันที่รูปแบบการคิด
          ที่ผ่านมาเรามักจะพบงานวิจัยหลายชิ้นที่อธิบายว่ารูปแบบการคิดของบางคนช่วยส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่รูปแบบการคิดของบางคนขัดขวางการคิดสร้างสรรค์ เช่น ความสมดุลในการคิดแบบมุมกว้างกับการคิดแบบมุมแคบ คือการคิดในมุมแคบเป็นการคิดที่ลงในรายละเอียดของปัญหา ส่วนการคิดในมุมกว้างเป็นการคิดในระดับทั่วไปของปัญหา ซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์จะต้องมองในภาพกว้างหรือมุมกว้างก่อน จากนั้นจึงพิจารณาในรายละเอียดปลีกย่อย เพื่อให้ได้ความคิดสร้างสรรค์ที่สมบูรณ์ที่สุด
          ท่ามกลางแนวโน้มของระบบโลกที่กำลังเป็นทางสองแพร่งที่เราต้องถามหาทางเลือกระหว่างความสดใสกับความมืดมน ความรู้คู่คุณธรรมหรือความรู้ไปทางคุณธรรมไปทาง ในการสร้างฐานความคิดในทางการศึกษาแก่คนรุ่นใหม่จึงต้องให้มีความคิดที่สร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่ดีงาม ตามปรัชญาที่ว่า การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติเพื่อให้ได้นักศึกษาที่ดี และมี สติปัญญาที่เชี่ยวชาญ เบิกบานด้วยคุณธรรม

ที่มา : กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--โลกวันนี้

หมายเลขบันทึก: 205420เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2008 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท