เตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้ง


หน้าแล้ง ฤดูแล้ง

 

เมื่อหมดฤดูฝน ก็จะย่างเข้าสู่ฤดูหนาว เมื่อผ่านพ้นฤดูหนาว ก็จะเข้าสู่ฤดูร้อน ในระหว่างฤดูหนาวและฤดูร้อนนี้เอง ถ้าความชื้นในอากาศมีน้อยและปริมาณน้ำฝนในในแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ ของประเทศเรา มีการเก็บสะสมน้ำไว้ไม่มากพอก็จะทำให้น้ำในดินและที่ผิวดินจะถูกแสงแดดทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นและค่อย ๆ ระเหยกลายเป็นไอลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ลดน้อยลงไป จนเป็นสาเหตุทำให้เกษตรกรอาจจะขาดแหล่งน้ำในการนำมาใช้ในการผลิตพืชผลทางการเกษตร ต้นไม้ใบหญ้าก็จะดูเหลือง แห้ง เหี่ยวเฉา ไม่เขียวขจีเหมือนดังแต่ก่อน ทำให้มนุษย์เรามีความรู้สึกไม่เย็นกาย สบายตา เหมือนในช่วงฤดูฝน ต้นไม้ใหญ่ ๆ ที่มีอายุหลายสิบปีก็จะยังคงพอมีรากที่ใหญ่ ยาว และลึก สามารถที่จะหาแหล่งน้ำใต้ดินได้นำมาประทังชีวิตได้อย่างพอเพียง แต่ถ้าเป็นต้นเล็กๆ ก็อาจจะมีสภาพขาดน้ำ ใบแห้งเหี่ยว ผลผลิตร่วงหล่น และถ้าปล่อยให้ขาดน้ำนานๆ เข้า ก็อาจจะทำให้ถึงแก่ความตายได้เช่นกัน สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชผักไม้ผลไว้แล้ว ในช่วงนี้ก็จะต้องเตรียมพร้อมและวางแผนไว้อย่างดี มิฉะนั้นก็จะทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายได้ แต่ถ้ามีการเตรียมพร้อมรับมืออย่างดีแล้วก็จะทำให้ปัญหาทั้งหลายเปลี่ยนจากหนักกลายเป็นเบาลงได้ การเตรียมการในระยะยาวควรขุดสระน้ำประจำไร่นาไว้ ประมาณ 30 % ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อให้มีพื้นที่ไว้สำหรับกักเก็บน้ำในหน้าฝนไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งอย่างเพียงพอ หรืออาจจะปลูกพืชที่มีความสามารถในการทนแล้งได้นาน ๆ สำหรับพื้นที่ทีห่างไกลแหล่งชลประทาน บางท่านอาจจะใช้ สารอุ้มน้ำ โพลิเมอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับและอุ้มน้ำไว้ได้มากถึง 200 เท่าของน้ำหนักตัว คือถ้าใช้ โพลิเมอร์ 1 กิโลกรัม แล้วนำมาแช่น้ำในถัง 200 ลิตร ทิ้งไว้ประมาณ 5 – 6 ชั่วโมง หรือถ้าไม่รีบร้อนมากนักก็อาจจะแช่ไว้สักหนึ่งคืน แล้วเจ้าโพลิเมอร์เขาก็จะดูดน้ำเข้าไปแล้วพองตัวออกมาได้จนเต็มถังขนาด 200 ลิตร คือเขาสามารถที่จะพองและขยายตัวเองขึ้นมาได้ถึง 200 เท่า ทำให้สามารถที่จะนำไปใช้ในการปลูกไม้ป่า ไม้ยืนต้นทั้งหลายได้เป็นอย่างดี โดยสารอุ้มน้ำโพลิเมอร์สามารถที่จะช่วยทำให้มีโอกาสในการสูญเสียต้นกล้าน้อยลงไปมากถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อต้นพันธุ์มาซ่อมใหม่ได้มากในยุคที่ปุ๋ย ยา แพง ในกรณีที่ปลูกพืชไว้แล้ว ก็สามารถที่จะใช้โพลิเมอร์ที่พองตัวเต็มที่แล้วนำมาใส่ไว้ใต้ทรงพุ่มด้านใดด้านหนึ่งได้ โดยการขุดหลุมกว้าง และยาวขึ้นอยู่กับขนาดของลำต้นเช่นถ้าต้นไม้ใหญ่ก็ขุดหลุมให้กว้างและลึกหน่อย โดยอาจจะสังเกตพฤติกรรมการใช้น้ำของพืชเป็นองค์ประกอบด้วย โดยในที่นี้จะสมมติว่าต้นที่มีทรงพุ่มและสูงประมาณ 5-6 เมตร เราก็อาจจะขุดหลุมไว้ใต้ทรงพุ่มด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ต้องขุดรอบทรงพุ่มนะครับเดี๋ยวจะไปทำลายรากที่หาอาหารเสียหมด ให้ขุดเพียงจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น อาจจะประมาณ 50 x 50 x 50 ก็ได้ แล้วนำโพลิเมอร์ที่พองตัวแล้วใส่ลงไป แล้วนำดินและเศษไม้ใบหญ้ากลบทับ เพื่อบรรเทาความร้อนจากแสงแดดที่จะเข้ามาแผดเผาทำให้น้ำจากโพลิเมอร์สูญเสียไปเร็วว่าปรกติ วิธีการดังนี้สามารถที่จะทำให้พืชสามารถที่จะมีน้ำไว้ใช้และมีอายุยืนยาวออกไปได้นานนับเดือน หรืออาจจะหลาย ๆ เดือนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิในท้องถิ่นนั้นด้วย แต่จะต้องทำการสังเกตโพลิเมอร์ที่อยู่ในหลุมนั้นว่าจะถูกพืชดูดน้ำขึ้นไปใช้มากน้อยเพียงใด ถ้าดินยุบลงไปจนถึงก้นหลุมก็แสดงว่าพืชนำน้ำไปใช้จนเกือบจะหมด ดังนั้นก็ให้รีบทำการเติมน้ำเข้าไปแทนที่จึงทำให้เราประหยัดทั้งเวลาและแรงงานในการรดน้ำลงไปค่อนข้างมาก และที่สำคัญคือต้นไม้ของเราจะสามารถที่จะอยู่รอดได้จนพ้นฤดูแล้งนั้น ๆ

 

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro

.com

หมายเลขบันทึก: 205418เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2008 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท