กอดให้ "อิ่มกอด" : บทเรียนจากอดีตที่ถูกปรับแต่งในวันนี้ของชีวิต


ผมเติบโตมาจากครอบครัวที่ไม่คุยชินกับวัฒนธรรมแห่งการ “กอด”

มีหลายคนทักถามอยู่เรื่อย ๆ ว่าผมเอาเวลาที่ไหนอยู่กับลูก ๆ ?
ยอมรับว่า  เป็นคำถามที่เสียดแทงใจผมมาก   และทุกครั้ง  ผมก็รู้สึกสั่นไหวกับคำถามเหล่านี้เป็นยิ่งนัก

ผมมักกลับเข้าบ้านดึก ๆ เพราะมัวแต่สาละวนอยู่กับกิจกรรมของนิสิต  ซ้ำร้ายในวันหยุดสุดสัปดาห์   ก็มักตระเวนไปค่ายกับนิสิตอยู่อย่างไม่ว่างเว้น

ผมไม่ค่อยมีทางเลือกให้เลือกมากนัก  แต่ก็พยายามเต็มที่กับการใช้เวลาอันน้อยนิดให้เป็นเวลาคุณภาพสำหรับพวกเขา

 

 

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว…
ผมทำงานต่อเนื่องและยาวนานมาก  ลูก ๆ  ก็จำต้องวิ่งเล่นอยู่ตามกิจกรรมต่าง ๆ  กว่าจะกลับเข้านอนได้ก็ดึกโข  และเมื่อถึงวันหยุดก็นั่งรถไปไกลแสนไกลกับผม  จนเริ่มเจ็บไข้

 

ผมพาลูกกลับไปฝากพ่อกับแม่ให้ดูแล   ซึ่งพ่อกับแม่พาไปหาหมอให้แน่ใจอีกรอบ  หมอยืนยันว่า  ลูกผมพักผ่อนไม่เพียงพอ  และถ้ามาช้ากว่านี้  เด็กอาจถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อเลยก็ว่าได้

นั่นคือภาพชีวิตที่กรีดลึกเป็นแผลฉกรรจ์ในหัวใจของผม 


และเมื่อเวลาผ่านพ้น  เขาโตและโตขึ้นตามวัยที่ควรจะเป็น  แต่เขาทั้งสองกลับยังต้องมีวิถีชีวิตว่ายวนอยู่กับบรรยากาศเช่นนี้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง  ทั้งการนอนดึกและการเที่ยวท่องไปตามค่ายต่าง ๆ  อย่างตื่นตาตื่นใจ

 

 

ทุกวันนี้  ลูกชายคนโตยังสำทับเสมอว่า  มีค่ายที่ไหนให้พาเขาไปด้วย..
ส่วนเจ้าจุก นักเลงลูกทุ่งนั้น  ไม่พูดพร่ำทำเพลงมากนัก   เพียงแต่สื่อสารด้วยอาการที่รู้ ๆ กันในทำนองว่า   “ไปไหน ไปด้วย”


การเดินทางของผมและลูก ๆ  จึงมักเป็นการเดินทางไปยังหมู่บ้านในชนบท  มากกว่าการเดินทางสู่ตัวเมือง ที่มีตึกรามบ้านช่อง หรือแม้แต่ห้างหรู ๆ  เตะตาเตะใจ  ชวนให้หลงใหลพาตัวและใจเข้าไปเที่ยวท่อง จนตั้งหลักไม่ได้

ดังนั้น  ลูก ๆ จึงไม่ค่อยได้มีโอกาสซื้อของเล่นเหมือนใครอื่น  ไม่ค่อยได้กินไอศกรีม-ไก่ทอดท่ามบรรยากาศในห้องหับอันเย็นฉ่ำ  ตรงกันข้าม  กลับต้องกินไก่ปิ้งตามริมทาง  นั่งปูสื่อและนอนในรถ  หรือแม้แต่นอนและนั่งอยู่ตามร่มไม้  รวมถึงการพักนอนในเต็นท์ประจำครอบครัวที่เราพกพาติดรถไว้ตลอดเวลา

 

 

ด้วยวิถีชีวิตเช่นนี้  ลูก ๆ  จึงมักมีเพื่อนเล่นเป็นกลุ่มผู้ใหญ่เสียส่วนมาก  ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่และนิสิต  โดยเฉพาะเวลาออกไปทำกิจกรรมนั้น  ทั้งผมและเพื่อนชีวิตแทบเบาแรงไปเสียทั้งหมด  เพราะส่วนมาก  สองหนุ่มจะติดสอยห้อยตามพี่ ๆ นิสิตไปราวกับว่าวันนั้น  “พ่อกับแม่ไม่ได้มาด้วย”

 

 

ผมเขียนบันทึกในทำนองนี้อีกครั้ง  เพราะเมื่อไม่กี่วันมานี้   ผมก็เริ่มพบว่าลูก ๆ  ออกอาการเหนื่อยเพลียอย่างเห็นได้ชัด  บางคราวตาเหม่อ ๆ  อิดโรย  ไม่กระฉับกระเฉง  มีน้ำมูกใสๆ ไหลอยู่เป็นระยะ ๆ  ซึ่งทั้งปวงก็มาจากการนอนน้อยกินน้อย  และเหนื่อยกับการเดินทางอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

 

โชคดีที่เมื่อวานเป็นวันที่ผมบังคับให้ตนเองไม่กรีดกรายออกไปไหน  วันทั้งวันขลุกกับพวกเขาอย่างเต็มเหยียด  เล่นหัวเล่นหางกันหลายยก  จากนั้นก็แข่งกันนอนกลางวันอย่างสนุก  ก่อนที่คุณแม่บ้านจะมารับสองหนุ่มไปว่ายน้ำ  และกลับมาล้อมวงกินข้าวร่วมกัน  (หลังจากว่างเว้นไปนานพอสมควร)

 

 

 

  

ทุกวันนี้  ผมกอดลูกบ่อย..   และบ่อยมาก  รวมถึงการไม่เขินอายที่จะกอดและหอมแก้มเขาต่อหน้าสาธารณะ  รวมทั้งเมื่อต้องกลับเข้าบ้านดึกแค่ไหน  ก็ไม่ลืมที่จะเข้าไปสวมกอดเจ้าสองหนุ่ม  พร้อม ๆ กับการพยายามทำให้เขารู้สึกตัวว่า “พ่อกลับมาแล้วนะ”

ผมเติบโตมาจากครอบครัวที่ไม่คุยชินกับวัฒนธรรมแห่งการ “กอด”  ไม่คุ้นเคยกับการบอกรักกันในครอบครัว  บุคลิกของพี่น้องทั้งหมด ซึ่งรวมถึงผมด้วยนั้นก็ออกมาในทำนองห้าวห้วน ..ตรงไปตรงมาอย่างเห็นได้ชัด

และที่สำคัญ  ผมเติบโตในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน .. แต่พ่อกับแม่ก็แสดงให้เห็นว่า  ความยากจนไม่ใช่ตัวชี้วัดความมี “น้ำใจ” ต่อคนรอบข้าง

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้  ผมจึงไม่คุ้ยเคยกับการกอด  ไม่ค่อยได้คุยกับพ่อและแม่อย่างยืดยาวนัก  .. ไม่เคยที่จะแสดงอาการออดอ้อน ฉอเลาะ  .. (ทั้งที่ใจพร่ำเพรียกและโหยหาเป็นที่สุด)

 

 

 

ผมรู้ว่าเรากลับสู่อดีตไม่ได้  (แต่เราก็แก้ไขอดีตได้ด้วยการทำวันนี้ให้ดีกว่าอดีต)


ดังนั้น  ผมจึงไม่เขินอายที่จะโอบกอดและหอมแก้มพวกเขามากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เล่นกับเขาให้มากที่สุด  และเล่นให้สุด ๆ  ด้วยการอุทิศร่างกายเป็นของเล่นสำหรับพวกเขาอย่างเมามัน

ผมพาเขาไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ  เพียงเพื่อให้รู้ว่า  การ “ให้”  ถือเป็นความสุขอันยิ่งใหญ่ของชีวิต  และอยากให้เขาสัมผัสได้กับชีวิตว่า “คนรอบข้าง”  มีความสำคัญกับเรามากแค่ไหน  (ทั้งที่เรารู้จักและไม่รู้จัก)

 

 

 

ทุกวันนี้…
ลูกชายคนโตตื่นขึ้นแล้วมักต้องมานอนเกยทับอยู่บนตัวผม  พร้อมกับปลุกให้ตื่นด้วยการหอมแก้มสองถึงสามครั้ง  หรือไม่ก็ทำเช่นนั้น จนผมลืมตาตื่นขึ้นมาก็ว่าได้

 

ทุกวันนี้…
พวกเขาจะถามเสมอว่า  เสาร์อาทิตย์นี้  จะไปค่ายที่ไหนหรือเปล่า  นอนที่ไหน  มีสมุดค่ายให้วาดรูปหรือไม่ และพี่นิสิตไปกันกี่คน  ...

 

เฉกเช่นกับวันนี้ที่เพื่อนชีวิตต้องไปราชการยาวเหยียดจนถึงวันพุธ  ขณะที่ผมต้องรับบทพ่อบ้านคนเดียวอย่างท้าทาย  ซึ่งวันนี้  ผมก็มีโปรแกรมเดินทางไปค่ายที่ขอนแก่น  และกลับมาเนวิทยากรบรรยายในรอบดึกที่มหาวิทยาลัย –

 

 

ผมไม่รู้ว่าชีวิตช่วงนี้จะออกหัวออกก้อย  แต่ก็ดีใจที่ได้พยายามทำวันนี้ให้แตกต่างจากอดีตของตนเอง -

ผมพยายามกอดและกอดเขาให้มากที่สุด  พูดและพูดกับเขาให้มากพอกับที่ต้องฟังเขา .. เล่นกับเขาให้มากที่สุด  ทั้งที่รู้ดีว่า  สังขารหลังอุบัติเหตุ  ไม่เอื้ออำนวยต่อพันธกิจแห่งการเล่นกับลูก ๆ เท่าที่ควรนัก

 

ผมตั้งใจที่จะกอดเขาให้มากที่สุด  เพื่อให้เขารู้สึกถึงคำว่า  “อิ่มกอด”  อย่างไม่กังขา  โตขึ้นจะได้ไม่รู้สึกโหยหาอ้อมกอดของคนในครอบครัว  และอ้อมกอดอันอิ่มกอดที่ว่านั้น  ก็คงช่วยให้เราและเราใกล้ชิด สนิทใจ  พร้อมที่จะพูดคุยและแสดงความรักแก่กันและกันอย่างไม่เขินอาย

 

ผมกลับสู่อดีตไม่ได้  แต่ก็แก้ไขอดีตด้วยปัจจุบันนี่แหละ  และโชคดีเหลือเกินที่ลูก ๆ  กลายมาเป็นสะพานแห่งความรักที่ทอดตัวเชื่อมโยงระหว่างผมกับ “บ้าน”  ซึ่งมีพ่อ แม่และพี่ ๆ  กลับมาสัมผัสรักกันได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  ถึงแม้เราจะยังไม่โอบกอดกันเหมือนครอบครัวอื่น  หากแต่หัวใจของเราก็เป็น “หนึ่งเดียว”  ของกันและกันอย่างไม่ต้องสงสัย


 

 

หมายเลขบันทึก: 204532เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2008 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

การทำงานและการเลี้ยงลูก คือ การปฏิบัติธรรม

เวลามากน้อยไม่สำคัญ แต่เวลาอันน้อยนิดที่อยู่ด้วยกัน ไปทำงานแล้วลูกไปกับเราได้ เป็นการสอนและเรียนรู้จากธรรมชาติ ดีกว่านั่งด้วยกันที่บ้านค่ะ

ชีวิตการงานกับชีวิตครอบครัว สำคัญมากพอกันครับ ผมก็เลือกใช้วิธีการคล้ายกับอาจารย์ครับคือ ไปลงสนามเมื่อไร พาได้ก็จะพาไป ช่วงแรกๆ ไปนิเทศนักศึกษายังพาไปด้วยเลยครับ

สวัสดีค่ะพี่นัส

มาร่วมสวมกอดเจ้าเด็กน้องสองคน และขอหอมแก้มเด็กน้อยสองคนด้วยนะคะ เมื่อใดที่เห็นเจ้าตัวน้อยสองคนก็อดไม่ได้ต้องกอดและหอมแก้มทุกครั้งไป แก้มยุ้ยขนาดนั้นก็หมั่นเคี้ยวซิคะ

มีคำพูดบางคำของน้องดินพูดกับนุ้ยว่า หอมแต่แก้มน้องแดนนั่นแหละ นุ้ยสะอึกเลยค่ะ แล้วนุ้ยก็หันมาหอมแก้มน้องดินด้วย น้องดินยิ้มเลยค่ะ หลังจากนั้นเป็นต้นมาถ้าเจอเค้าทั้งสองต้องหอมเค้าเหมือนกัน อิอิอิ  น้องดินค่อนข้างจะโตเป็นหนุ่มแล้ว ไม่ค่อยเล่นเด็กๆเหมือนน้อง บางครั้งเราเลยไม่ค่อยหยอกล้อเค้าเท่าไหร่ เค้าเลยน้อยใจมั้งคะ อิอิอิ

ตกลงวันจันทร์นี้พี่นัสพาเด็กๆไปอุดรด้วยเลยใช่ไหมคะ

 

สวัสดีค่ะ

  • มาอ่านเรื่องดีๆ ตรงนี้แล้วทำให้ย้ำชัดเจนเรื่องครอบครัวมีความสำคัญมาก แต่ครอบครัวพี่แม้จะอบอุ่น พื้นฐานก็พอจะเรียกว่าดี แต่เราไม่เคยคิดถึงเรื่องกอดเลยค่ะ เราไม่ค่อยจะได้สัมผัสหรือใช้คำว่า กอด เพื่อแสดงความรู้สึกอบอุ่น เข้าใจ เห็นใจแก่กันเลย ทำให้พี่ก็รู้สึกว่า แปลกดีนะ ทำไมต้องกอดล่ะ...
  • แต่ทุกวันนี้กับลูกสาวพี่ มีโอกาสพี่ก็โอบแขนล้อมตัวเธอบ้างให้รู้ว่ารัก ทนุถนอม ห่วงใย และอยากให้ Take Care ตัวเองมากๆ โดยไม่ต้องพูดอะไรค่ะ (ของพี่เด็กวัยรุ่นโตแล้ว ทำบ่อยก็แสดงท่าว่ารำคาญนะคะ)
  • แต่น้องดิน น้องแดน น่ารัก มาทีไรพี่หลงเสน่ห์ทุกครั้งเลยค่ะ

น่ารักจัง คิดถึงนะค่ะ ทั้ง 2 คนเลย

แวะมาเที่ยวนครพนม จะพาไปชิมอาหารเวียตนาม

บันทึกนี้นอกเหนือจากเห็นครอบครัวที่อบอุ่นของอาจารย์แล้ว

ผมเห็นอีกแง่มุมหนึ่งคือ...."ตัวย่างที่ดีนั้น ดีกว่าคำสอนในตำราหลายร้อยพันเท่า" อาจารย์ทำตัวอย่างที่ดีให้ลุกอย่างแท้จริง และอีกปะการหนึ่งผมคิดว่าอาจารย์สอนลูกชายทั้งสองให้เขา จับปลาด้วยมือของเขาเอง

ข้อคิดเห็นของผมผิดถูกอย่างไรช่วยชี้นะด้วยนะครับ

ขอบคุมากครับอาจารย์

หนูติดตามอ่านบล๊อคของคุณพนัส มาตลอด

รู้สึกชอบวิธีคิด และ สิ่งสำคัญคือ หนูชื่นชมในการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน บุตรของคุณพนัส

ไม่รู้สิ อ่านแล้วอบอุ่นนะค่ะ

หนูเชื่อว่า น้องดิน และ น้องแดน ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคตแน่นอนค่ะ

ขอเป็นกำลังใจ ให้กับคุณพนัสในการทำงานนะค่ะ

เป็นครอบครัวตัวอย่างจริงๆ ครับบอส

จริงๆ แล้ว น้องดิน น้องแดน ก็น่ารักดีครับผม

มีคำพูดเหมือนกับผู้ใหญ่เลยครับ

ประทับใจน้องๆมากเลยครับ

สวัสดีครับ พี่แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

เพิ่งได้โน้ตบุ๊คกลับมา หลังจากใช้งานไม่ได้มาร่วมเดือน.

วันนี้พาสองหนุ่มไปร่วมทอดเทียนแบบเรียบง่ายกับ "กลุ่มไหล"  กลับมาถึงสารคามในราวสองทุ่ม  จากนั้นก็ต้องเร่งไปบรรยาย เพิ่งกลับเข้ามาตอนสี่ทุ่มครึ่ง

สองสามวันนี้แม่บ้านไม่อยู่  เลยต้องรับภาระพ่อบ้านจำเป็นอย่างหนัก  แต่ก็ดีครับ  ทำให้เรารู้ว่าตัวเอง ทำได้มากกว่าที่คิดในเรื่องการบ้านการเรือน...

....

ขอบคุณครับ

บอกได้คำเดียวว่า "น่ารัก" มากครับ

วันที่ น้องแดนโทรศัพท์ไปคุยลุงเอกนั้น กำลังอยู่ที่ นราธิวาส และต้องขอโทษหลานด้วย ที่เว้าอีสานไม่เป็น

สวัสดีค่ะ

....ดูภาพประกอบเรื่อง....อิ่มเอม....อย่างไรก็ไม่เคยเบื่อเลยค่ะ....

 

สวัสดีครับพี่นัส

อิ่มกอด

สิ่งที่ผมแอบอิจฉาครอบครัวพี่คือเจ้าตัวน้อย(ดิน=แดน)รู้สึกดีมากครับที่ได้เห็นทุกครั้ง

 

ผมเองก็น่า...น่าจะเร็วๆนี้ครับพี่

สงสารลูก ๆ เช่นกัน  แต่ก็คิดว่าลูก ๆ ก็คงเข้าใจพ่อกับแม่ที่มีภาระหน้าที่ต้องทำเพื่อลูกในวันข้างหน้า

ลูกก็เป็นกำลังใจในการทำงาน   ถึงแม้ทำแล้วไม่มีคนเห็นแต่อย่างน้อยลูกเราก็เห็น  แค่นี้ก็สุขใจ

สวัสดียามบ่ายค่ะ อ.แผ่นดิน

แวะมาทักทายค่ะ

แอบมาชื่นชมความน่ารักของหลานๆ น่ะค่ะ  อ.แผ่นดิน

น้องๆ สบายดีนะคะ....

แล้วก็เลยร่วมแสดงความยินดี.....ที่เจ้าตัวเล็กมาเป็นสะพานเชื่อมอดีตและอนาคต  จึงทำให้ปัจจุบันนี้เป็นปัจจุบันที่เปี่ยมสุข

ต้องขอบคุณเค้านะคะที่มาเติมเต็มความรู้สึกแห่งการขาด,มาเติมเต็มในสิ่งที่ไม่ค่อยได้รับมาก่อนนี้(ทั้งที่ใจโหยหา)  ยินดีด้วยจริงๆ

จะว่าไปยังมีอีกหลายครอบครัวมังคะอาจารย์ที่เข้าใกล้ประเด็นนี้เช่นกัน  เพียงแต่ว่าครอบครัวเหล่านั้นจะมีโอกาสได้พบเจอเรื่องดีๆ มาถึงจุดที่เกิดขึ้นในตอนนี้เฉกเช่นเดียวกับอาจารย์และครอบครัวได้ในตอนไหนเท่านั้นเอง

ดิฉันเองก็เริ่มเห็นความสำคัญของการกอดด้วยเช่นกันค่ะ  ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็คงโหยหามันด้วยเช่นกันเมื่อในอดีต  และก็เลยมาเริ่มกันใหม่ที่รุ่นหลานๆ เนี่ยเหมือนกันล่ะค่ะ  เดี๋ยวนี้เลยคุ้นชินกับการกอดกันมากขึ้น  เลยเผื่อมาสู่เพื่อนๆ และผู้คนที่สนิทสนนมด้วยอย่างสนิทใจ

ยินดีด้วยค่ะอาจารย์

ชอบภาพนี้ของสองหนุ่มผู้แตกต่างกันด้วยวัยจังค่ะ...น่ารักจัง

เป็นครอบครัวที่มีความอบอุ่นมากนะครับ

เด็ก ๆ ได้ไปร่วมกิจกรรมกับพี่ ๆ ทำให้มีความสุข

และเรียนรู้ความเป็นของชีวิตและสังคม

วันข้างหน้าเขาจะมีความรักและเข้าใจสิ่งที่เขาได้รับรู้เมื่อวัยเด็ก

ขอให้มีความสุขครับ

ครอบครัวน่ารักมากเลยค่ะ..

การที่ให้เด็กอยู่กับธรรมชาติ..ดีต่อสุขภาพกายและใจค่ะ..

ด้วยความระลึกถึงเสมอค่ะ..^^

เมื่อวานได้กอดพ่อครูบา น้องอึ่ง จากม.ช.น้องเม้งจากเยอรมัน ที่หาดใหญ่ พร้อมกัลยาณมิตรจากกระบี่ อ้อ!เกือบลืมท่านอัยการชาวเกาะและลุงเอกด้วย พบตัวเป็น ๆหมดเลย อ่านบันทึกพ่อครูและท่านอัยการได้ค่ะ

ขณะที่กำลังเขียนบันทึก นักศึกษา ม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่เดินประท้วงรัฐบาลไปรอบมหาวิทยาลัยอยู่ค่ะน้องแผ่นดิน

เห็นแล้วอิจฉาครับ ...ต้องรีบสร้างครอบครัวซะแล้ว 555+ อิอิ

พี่พนัสครับ...ตารางการอบรมทำบ้านดินให้คนไร้บ้านในเดือนนี้ คือ 27-28 ตรงกับเสาร์อาทิตย์พอดี พี่ว่าไงผมก็ว่าตามครับ

สวัสดีครับ อ. จารุวัจน์

ตอนนี้  พอถึงวันหยุด  ลูก ๆ จะถามเสมอว่า "มีค่ายที่ไหนหรือเปล่า.."

คล้ายกับว่า วิถีเหล่านี้  กลายมาเป็นส่วนหนึ่งสำหรับเขาไปแล้ว. ก็ได้แต่หวังว่า  วิถีเช่นนี้  จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีสำหรับเขาสืบไป

 

สวัสดีครับ.. นุ้ยcsmsu

ก่อนอื่นต้องขอบคุณที่ช่วยเป็นพี่เลี้ยงที่แสนดีเสมอมา...

กรณีน้องดินนั้น ต้องยอมรับว่า แกเป็นคนละเอียดอ่อนมาก  และกำลังต้องข้อสังเกตเสมอว่า  ทำไมน้องถึงได้รับอภิสิทธิ์กว่าตัวเอง ...

พี่เองก็พยายามวสังเกตพฤติกรรมของเขา  แต่เวลาที่อยู่กับพี่ โดยที่คุฯแม่เขาไปราชการนั้น สองหนุ่มนี้  ก็ไม่ค่อยดื้อนะ ... น้องดิน กลับทำหน้าที่พี่ชายได้อย่างน่าชื่นชม

 

สวัสดีครับ... ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี

ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมจึงเคอะเขินกับการกอดและบอกรักกับพ่อและแม่  แต่ครอบครัวของเราก็เป็นเช่นนี้มานานมาก .. แต่ยังดีที่มีหลายช่องทางแสดงออกและสื่อสารถึงน้ำใสใจจริงนั้นได้ตลอดเวลา

ผมเชื่อในอานุภาพของการกอด... ทุกวันนี้ จึงพยายามโอบกอดลูกให้มากที่สุด  และหวังว่า  เมื่อเขาโตขึ้น เขาก็จะไม่เคอะเขินเหมือนที่ผมเคยประสบมา

ทุกอย่างไม่สายสำหรับการเริ่มต้น

แต่เรื่องนี้... ผมกำลังขับเคี่ยวกับตัวเองอย่างหนักหน่วง...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณน้อง กัลยา

เป็นยังไงบ้านครับ  นักศึกษาดื้อหรือเปล่า

ค่ายฝายแม้ว ลุล่วงไปด้วยดี มั๊ย

มีนาคมนี้ มีค่ายของ มมส หลายสิบค่าย  จะส่งข่าวไปบอกนะครับ เผื่อบางที นักศึกษา ม.นครพนม สนใจเข้าร่วมด้วย...

 

สวัสดีครับ   ครูข้างถนน / ขุนเขา ฯ

อันดับแรกของการเลี้ยงลูกนั้น  ผมตั้งใจไว้ว่าจะไม่ให้หลุดพ้นไปจากเรื่องราวอันเป็นรากเหง้า หรือพื้นเพของเขาเอง นั่นคือ การมาจากท้องไร่ท้องนาของบรรพบุรุษ  เมื่อมีโอกาส จึงแวะเวียนพาเขาไปสัมผัสอยู่เนืองๆ  รวมถึงวิถีชีวิตอื่นๆ ของชาวบ้าน  โดยเฉพาะในเทศกาลงานบุญของชุมชนด้วยเช่นกัน 

อีกอย่างที่ผมไม่ละวางไปจากแนวคิดเลยก็คือ  การปล่อยให้เขาได้ทำอะไรด้วยตัวเองเสมอ  โดยการพาตัวของเขาเองลงไปสัมผัสเรื่องนั้นๆ ด้วยตนเอง  ทั้งโดยผิวเผินและฝึงลึกเท่าที่โอกาสจะอำนวยให้

แนวคิดนี้  เป็นแนวคิดสอนจับปลาด้วยมือ.. ไม่ใช่ผมทำหน้าที่หาปลามาให้เขากินฝ่ายเดียว โดยไม่เปิดพื้นที่ให้เขาเรียนรู้ที่จะจับปลาด้วยตนเอง

...

ขอบคุณครับ

 

พี่พนัสคะ

อ่านบันทึกนี้แล้วต้องขอบอกว่าขอชื่นชมครอบครัวที่อบอุ่นของพี่พนัสค่ะ สิ่งที่คุณพ่อพนัสมอบให้กับลูกทั้ง 2 เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและได้ปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้กับน้อง

ชื่มชมค่ะ ^_^ ยังจำหนังสือทำมือที่น้องๆ ช่วยคุณพ่อทำได้ ยังคงประทับใจอยู่ไม่เคยหายค่ะ

สวัสดีครับ ฟิล์ม มมส

ขอบคุณน้องฟิล์มมากนะครับที่ติดตามบันทึกในบล็อกของพี่เรื่อยมา
ส่วนหนึ่งที่พี่จำเป็นต้องหอบหิ้วพวกเขาไปค่ายต่างๆ ด้วย  ก็เพราะไม่ค่อยมีเวลาว่างเป็นวันหยุด  อีกทั้งก็คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ลูกๆ จได้เรียนรู้วิถีของชาวบ้านและมีจิตอาสาที่ดี  เห็นภาพที่ดีของพี่ๆ นิสิตในการบริการต่อสังคม  รวมถึงเห็นน้ำใจอันงดงามของชาวบ้านด้วยเช่นกัน

ขอบคุณอีกครั้ง นะครับ

 

สวัสดีครับ  สาดตาจาน

เป็ยยังไงบ้าง, ฝึกงานกลับมาแล้ว ได้อะไรติดตัวกลับมาบ้าง  และขอบคุณนะครับสำหรับคำชื่นชมเหล่านี้

เป็นครอบครัวตัวอย่างจริงๆ ครับบอส

จริงๆ แล้ว น้องดิน น้องแดน ก็น่ารักดีครับผม

มีคำพูดเหมือนกับผู้ใหญ่เลยครับ

...

พฤติกรรมหลายๆ อย่าง เกิดจากการได้อยู่ในสังคมของกลุ่มผู้ใหญ่ทั้งนั้นเลย   ไปอยุ่ที่กาฬสินธุ์  ก็ออกงานบุญงานศพกับปู่ย่าไม่ว่างเว้น  พออยู่กับมหาวิทยาลัย  ก็มีพี่นิสิตเป็นเพื่อนเล่น  มุมมองชีวิตบางเรื่อง และคำบางคำที่เขาพูดออกมา จึงเกิดจาการได้รับรู้รับฟังมาจากวิถีของผู้ใหญ่ทั้งนั้นเลยแหละ

ขอบคุณครับท่าน,

สวัสดีครับ.. จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ตอนนี้สองหนุ่มอยู่ในอ้อมกอดบ้านเกิดที่กาฬสินธุ์ ซึ่งผมกำลังจะไปรับกลับมหาสารคาม
ผมเรียกว่าบ้านเกิดของพวกเขา  เพราะอยากให้เขารู้สึกว่า  ผืนแผ่นดินเหล่านั้น คือที่ให้กำเนิดเขาจริงๆ..

สวัสดีครับ หญ้าบัว

สบายดีใช่ไหมครับ...
บ้าน-เป็นทุกอย่างของชีวิต
บ้านเป็นอ้อมกอดที่ทรงพลังสำหรับผม  ..

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท