jaja
นางสาว จารุวรรณ อ้น บุญชลาลัย

การละเล่นพื้นเมืองภาคใต้


บางครั้งคนท้องถิ่นเองก็ไม่รู้ว่านี่คือการละเล่นพื้นเมืองของเรา

การละเล่นพื้นเมืองภาคใต้
การละเล่นพื้นเมืองภาคใต้ เป็นเรื่องของความบันเทิงรื่นเริงที่จัดขึ้นโดยเน้นผู้ชมเป็นหลัก มีผู้แสดงหรือคณะผู้แสดงเป็นผู้ให้ความบันเทิง ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตน และมีความบริสุทธิ์ในการแสดงออกตามภาวะแห่งการดำรงชีวิต การละเล่นพื้นเมืองภาคใต้มีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินอันเป็นการผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อย ตรากตรำจากการทำงาน เช่น การเล่นหนังตะลุง หรือโนรา การละเล่นบางอย่างเกิดขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลอง หรือเพื่อแสดงความยินดีในดอกาสที่บุคคลหรือสังคมประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น การรำโนราคล้องหงส์ในการโกนจุก หรือการแสดงซัมเป็งเพื่อรับขวัญแขกบ้านแขกเมือง นอกจากนี้มีการละเล่นหลายอย่างเกิดขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาหรือเกี่ยวกับการบุญการกุศล เช่น การเล่นเพลงเรือ เพลงแห่นาค และมีการละเล่นบางอย่างเกิดขึ้นเพื่อเป็นการบวงสรวงผีสางเทวดา เช่น กาหลอ และโต๊ะครึม

ได้มีผู้จัดกลุ่มของการละเล่นพื้นเมืองของภาคใต้โดยถือเอาแนวพื้นที่เป็นตัวแบ่ง ซึ่งสามารถจัดกลุ่มของการละเล่นพื้นเมืองของภาคใต้ได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มที่ 1 คือแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และในเขตบางอำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ นาทวี สะเดา และบางส่วนของอำเภอหาดใหญ่และอำเภอเมืองสงขลา การละเล่นพื้นเมืองในกลุ่มนี้ ได้แก่ มะโย่ง ซีละ ซัมเป็ง ลอแก วอแยยาวอ เป็นต้น


กลุ่มที่ 2 คือแถบจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง บางท้องถิ่นของจังหวัดตรัง และบางท้องถิ่นในเขตจังหวัดสงขลา (บริเวณรอบลุ่มทะเลสาบ) คือ เขตอำเภอระโนด สทิงพระ และรัตภูมิ การละเล่นพื้นเมืองในกลุ่มนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง เช่น หนังตะลุง โนรา เพลงบอก และมีการละเล่นที่ได้รับช่วงมาจากกลุ่มที่ 1 บ้าง แต่ได้มาสร้างรูปแบบเฉพาะตนขึ้นใหม่ เช่น กาหลอ โต๊ะครึม


กลุ่มที่ 3 คือแถบจังหวัดทางฝั่งทะเลตะวันตก ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา และจังหวัดตรังบางท้องที่ การละเล่นพื้นเมืองกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากชาวเล ส่วนหนึ่งรับมาจากมาเลเซีย ที่เด่นๆ เช่น รองแง็ง (ประเภทมีบทร้องประกอบการรำ) ลิเกป่าหรือลิเกรำมะนา แม้แต่หนังตะลุง ก็จะมีลักษณะต่างไปจากกลุ่มอื่นๆ กล่าวคือ คณะหนังตะลุงที่เป็นคนในท้องถิ่นแท้ๆ จะนิยมเล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์ มีขนบนิยมของหนังใหญ่เข้าไปประสม รูปหนังไม่พัฒนาไปมากเหมือนอย่างหนังตะลุงฝั่งตะวันออก


กลุ่มที่ 4 คือแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร และระนอง การละเล่นพื้นเมืองของกลุ่มนี้ได้แก่ หนังตะลุง โนรา เพลงบอก นอกจากนนี้ยังมีความนิยมในการเล่นเพลงสูงมาก เช่น เพลงเรือ เพลงนา และมีการละเล่นที่มีรูปแบบพิเศษ เช่นโนราหอย โนราโกลน เป็นต้น

เพลงบอก

เพลงบอกเป็นเพลงพื้นเมืองที่นิยมเล่นแพร่หลายที่สุดในสมัยก่อน เมื่อถึงหน้าสงกรานต์ยังไม่มีปฏิทินบอกสงกรานต์แพร่หลายอย่างปัจจุบัน จะมีแม่เพลงนำรายละเอียดเกี่ยวกับสงกรานต์ออกป่าวประกาศแก่ชาวบ้าน โดยร้องเป็นเพลงพื้นบ้านและมีลูกคู่รับเป็นทำนองเฉพาะ จึงมีชื่อเรียกว่าเพลงบอก
กลอนเพลงบอกดัดแปลงมาจากเพลงพื้นบ้านโบราณชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเพลงเห่ หรือเพลงฉะ บ้าง ก็เรียกเพลงแปดบท เพลงชนิดนี้จะมีแม่เพลงว่าเป็นแบบกลอนด้น ครั้งละ 2 วรรค แล้วลูกคู่รับดะ กลอนแปดบทเฟื่องฟูอยู่ทางนครศรีธรรมราชประมาณ 150-200 ปี ที่แล้ว และมีการดัดแปลงมาตามลำดับ จนถึงรัชกาลที่ 5 พระรัตนธัชมุณี เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช ได้จัดระเบียบกฎเกณฑ์กลอนเพลงบอกขึ้นใหม่ โดยจะมีการรับของลูกคู่และอาจแทรกวลีหรือถ้อยคำระหว่างกลอนที่แม่เพลงกำลังว่าอยู่ เพื่อให้ลีลากลอนครึกครื้นสนุกสนาน และช่วยแก้ปัญหาการติดกลอนของแม่เพลงได้ วิธีการนี้ของลูกคู่เรียกว่า "ทอยเพลงบอก"
เพลงบอกคณะหนึ่งๆ ประกอบด้วยแม่เพลง 1 คน ลูกคู่ 2-3 คน ทุกคนแต่งกายธรรมดา คนตรีใช่ฉิ่งตีกกับจังหวะ 1 คู่ ในปัจจุบันนอกจากมีการว่าเพลงบอก เพื่อบอกข่าวสงกรานต์แล้ว ยังนำไปเล่นในโอกาสอื่นๆ เช่นบอกข่าวประชาสัมพันธ์งานบุญงานกุศล เพลงบอกร้องบวงสรวงในพิธีกรรมต่างๆ เพลงบอกร้องชา เป็นต้น

ลิเกป่า

ลิเกป่า หรือลิเกบก บางพื้นที่เรียกว่าลิเกรำมะนา หรืออาจเรียกว่า แขกแดง เป็นการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ที่นิยมนำมาเล่นกันแพร่หลายมาแต่โบราณ โดยเฉพาะในหมู่คนไทยแถบฝั่งตะวันตกในเขตพื้นที่ จังหวัดตรัง กระบี่และพังงา
การแสดงลิเกป่ามีขนบนิยมที่ตายตัว เริ่มด้วยการลงโรงหรือโหมโรง เป็นการบรรเลงดนตรีล้วนๆ เพื่อเรียกคนดู จากนั้นจึงเป็นการว่าดอก คือผู้แสดงจะผลัดกันร้องและรับไปทีละคนรอบๆ วง แล้วจึงมาเริ่มบทไหว้ครู เพื่อเป็นการคารวะครูและสิ่งศักดิ์สิทธ์ ถ้าเป็นธรรมเนียมแต่โบราณเสร็จจากการไหว้ครูจะเป็นการบอกชุด แต่ปัจจุบันจะข้ามมาถึงการออกแขกแดง แล้วมาถึงการบอกเรื่อง ซึ่งนิยมใช้ตัวตลกเป็นตัวบอกกล่าวผู้ชมถึงเรื่องราวที่ลิเกป่าจะแสดงต่อไป
ขั้นตอนการแสดงลิเกป่า ที่ผู้ชมให้ความนิยมมากที่สุดก็น่าจะเป็นการออกแขกแดง โดยกล่าวถึงแขกแดงได้มาชักชวนยาหยีภรรยาสาวไทยไปอยู่เมืองกัลกัตตา มีการลาพ่อแม่ ขนข้าวของลงเรือ แขกแดงร้องชมปลา ชมปู ชมเกาะแก่งต่างๆ จนเรือถึงเมือง การแสดงตอนนี้มีทั้งบทร้องและท่าเต้นที่ตลกสนุกสนานเป็นที่ติดอกติดใจของผู้ชม จึงทำให้หลายท้องถิ่นเรียกการแสดงลิเกป่า ว่า แขกแดง
สำหรับเรื่องราวที่นำมาใช้ในการแสดงลิเกป่านั้น นิยมนำเอาวรรณคดีเก่าๆ ประเภทจักรๆ วงศ์ๆ มาแสดง เช่น จันทรโครพ ลักษณวงศ์ สุวรรณวงศ์ เป็นต้น ลักษณะของการแสดงเป็นทำนองเดียวกับละคร คือมีบทบรรยายบทร้องและเจรจาประกอบกัน

สิละ

สิละหรือซีละ เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวอย่างหนึ่งของไทยมุสลิมที่ใช้ศิลปะของการเคลื่อนไหวร่างกาย และอาศัยแขนขาเพื่อป้องกันตัว
การแต่งกายของนักสิละเน้นที่ความสวยงามเป็นสำคัญ มีผ้าโพกศรีษะ สวมเสื้อคอกลมหรือคอตั้ง นุ่งกางเกงขายาว สวมทับด้วยผ้าโสร่งลายสวยงามที่เรียกว่าซอเกต คาดสะเอวด้วยผ้าลือปักหรือคาดเข็มขัดทับโสร่งให้กระชับ แล้วเหน็บกริซตามแบบฉบับของนักสู้ไทยมุสลิม
การ่อสู้แบบสิละมีการทำสังเวียนเป็นเวที เริ่มด้วยการไหว้ครูกล่าวขอพรเป็นภาษาอาหรับ จากนั้นคู่ต่อสู้จะทำความเคารพกันที่เรียกว่าสาลามัต คือสัมผัสมือกันแล้วมาแตะที่หน้าผาก จากนั้นเริ่มวาดลลวดลายร่ายรำตามศิลปะสิละ บางครั้งนักสู้ต่างกระทืบเท้าให่เกิดเสียงหรือเอาฝ่ามือตีที่ต้นขาของตนเพื่อให้กิดเสียงข่มขวัญคู่ต่อสู้ และเมื่อร่ายรำเป็นการลองเชิงกันพอสมควรแล้วทั้งคู่จะหาทางพิชิตคู่ต่อสู้โดยการหาจังหวะใช้ฝ่ามือฟาดหรือใช้เท้าดันร่างกายของฝ่ายตรงกันข้าม จังหวะการประชิดตัวนั้นจะห้ำหั่นกันอย่างหนักโดยใช้มือพัดใส่คู่ต่อสู้
ในระหว่างที่มีการต่อสู้จะมีการประโคมดนตรี เครื่องดนตรีประกอบด้วยกลองยาว 1 ใบ กลองเล็ก 1 ใบ ฆ้อง 1 คู่ และปี่ยาว 1 เลา ยิ่งการต่อสู้มีความเข้มข้นขึ้นเท่าใด ดนตรีจะยิ่งโหมจังหวะกระชั้นสร้างความระทึกใจให้กับคนดูยิ่งขึ้น
การตัดสินแพ้ชนะ จะดูที่ว่าสามารถทำให้คู่ต่อสู้ล้มลงได้ หรือในบางครั้งอาจต้องอาศัยการตัดสินจากการปรบมือของผู้ชมรอบสนามว่าปรบมือให้ฝ่ายใดมากกว่าก็ถือว่าฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะ

หมายเลขบันทึก: 202522เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2008 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอชื่นชมให้กำลังใจครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่เผยแพร่องค์ความรู้รากเง่าของชุมชนคนปักษ์ใต้

อยากทราบว่ามีวัฒนธรรมพื้นใดที่เกี่ยวกับดนตรี ทียังไม่มีคนทำวิจัย

หากทราบช่วยเขียนบอกให้หน่อยนะคะ

ดีใจจังที่มีคุณครูรุ่นนี้สนใจและให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่อง.บ้านบ้าน ขอให้กำลังใจ ค้น เขียน ต่อไป เพื่อการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นใต้เรา...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท