เมื่อทำงานกับเพื่อนนอกคณะเศรษฐศาสตร์ เพื่อนสรุปว่า เราไม่เชื่อเรื่องจัดการความรู้
เมื่ออยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ เราจะถูกมองว่าอ่อนแอในการใช้เครื่องมือเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะคณิตศาสตร์ เพื่อนที่คณะฯจึงออกจะแปลกใจที่รู้ว่าเราสอนวิชาคณิตเศรษฐศาสตร์ นอกจากสอนเศรษฐกิจชุมชน
เรื่องของเรื่องคือ เพื่อนทั้งสองฝ่ายเข้าใจเราผิด แท้จริงแล้ว เราไม่เคยปฏิเสธ “เครื่องมือ” ใดๆ ไม่ว่า เป็นการจัดการความรู้ หรือ การใช้คณิตศาสตร์ แต่มันขึ้นอยู่กับว่า เรากำลังจะทำอะไร และควร “เลือกใช้” เครืองมือใด มากกว่า ใครก็ตามที่ “เชื่อ” หรือ “ยึดติด” ในเครื่องมือหนึ่งโดยปฏิเสธที่จะเรียนรู้เครื่องมืออื่นๆ จึงไม่ค่อยจะฉลาดนัก
แต่โดยธรรมชาติ คนเรามีขีดจำกัดในการเรียนรู้ แต่ละคนจึงมีเครื่องมือเฉพาะตัว เพราะฉะนั้น ทางออกที่ดีที่สุด คือ ทำงานร่วมกันหลายคนที่มีมุมมองและมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือต่างกัน
เราจึงไม่ค่อยสบายใจที่การประชุมครั้งล่าสุดในการช่วยเพื่อนทำแผนงานวิจัยชิ้นใหม่ ซึ่งประกอบด้วย ฝ่ายนโยบายชาติ เกษตร สิ่งแวดล้อม เมื่อให้ผู้ประสานงานแต่ละฝ่ายหาต่างคนต่างหานักวิจัยมาเอง กลับพบว่า ทุกฝ่ายต่างเชิญนักเศรษฐศาสตร์เข้ามาร่วมทีม ทั้งเศรษฐศาสตร์นโยบายมหภาค เศรษฐศาสตร์เกษตร และเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ...ไม่สบายใจเพราะ พวกเราน่าจะหาคนที่มีมุมมองและเครื่องมือที่แตกต่างมาร่วมทีมมากกว่านี้ ....
จุดแข็งของเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ คือ การชั่งน้ำหนัก “คุณ” และ “โทษ” เพื่อหาจุดที่เหมาะสม (optimization) และหา “ทางเลือก” ที่ดีกว่า (เศรษฐศาสตร์ใช้คำว่า “ประโยชน์” และ “ต้นทุน” ซึ่งเศรษฐศาสตร์มองกว้าง แต่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าเศรษฐศาสตร์คิดแต่เรื่องมูลค่าที่เป็นเงิน) อีกประการหนึ่ง คือ เศรษฐศาสตร์มองว่าสิ่งต่างๆมักจะมีแรงผลักให้เสียสมดุล แต่ “โดยปกติ” แล้ว ก็จะมีกลไกปรับระบบให้เข้าสู่สมดุล (equilibrium) ได้ โดยอาจเป็นสมดุลที่จุดเดิมหรือที่จุดใหม่
ความสำคัญกลับมาอยู่ที่การบอกว่า อะไรคือ “คุณ” อะไรคือ “โทษ” ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับ ค่านิยม ความเชื่อของคนในสังคม ผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ประสบการณ์ที่ผ่านมา เป็นต้น ตรงนี้เองที่ทำให้เราคิดว่า นักเศรษฐศาสตร์จำเป็นต้องทำงานกับศาสตร์อื่น อย่างเช่น นักมานุษยวิทยา นักสังคมวิทยา นักการเกษตร นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ส่วนเรื่องการจัดการความรู้ เราเคยทำงานทำนองนี้เมื่อเกือบสิบปีก่อนกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน แต่ตอนนั้นไม่เรียกว่า การจัดการความรู้ พบว่า กลุ่ม best practices จะมีจุดแข็งใน 3-4 เรื่อง ไม่ได้เข้มแข็งไปเสียทุกเรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกลุ่มอื่นๆจึงช่วยได้มาก
แต่สิ่งที่พบเพิ่มเติม ก็คือ บางเรื่อง พรมแดนแห่งความรู้ของชาวบ้านทุกกลุ่มรวมกันแล้วก็ยังคงอยู่ในระดับหนึ่ง แก้ปัญหาไม่ได้ทุกเรื่อง การจะทะลุพรมแดนนั้นออกไปต้องอาศัยการวิจัยที่ผสมผสานความรู้ท้องถิ่น “การจัดระบบข้อมูลใหม่” และการวิเคราะห์ทางวิชาการ เป็น input ผสมกับความเป็นเลิศในจินตนาการและมุมมองที่แหลมคมของปราชญ์ชาวบ้าน จึงจะสามารถขยับพรมแดนแห่งความรู้ หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้ (เราเพิ่งรู้จากพี่สาวที่สอนวิทยาการจัดการที่ มอ.ว่า เมื่อประมาณสิบปีก่อน พี่สาวเคยไปเป็นวิทยากรให้กลุ่มครูชบเกี่ยวกับเรื่องระบบบัญชี การจัดการ อะไรทำนองนี้)
การมีกรอบคิด มีเครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ทำให้มี “หลัก” มี “วิธี” แต่ก็ใช่ว่าจะใช้ได้ดีที่สุดในทุกเรื่อง
สวัสดีค่ะ
ขอบคุณค่ะ สบายดีนะคะ
ขอบคุณอาจารย์มากครับ
การติดกรอบ ติดเครื่องมือ ทำให้เราหลงประเด็น อีกทั้งทำให้การเข้าถึงข้อมูลแค่ในระดับที่เป็นเปลือก
ทำงานชุมชนต้องไร้กระบวนท่า...เป็นธรรมชาติ
เราถึงจะเห็นเสน่ห์ของงาพัฒนาชุมชน
สวัสดีค่ะครูอ้อย
วิ่่งเข้าวิ่งออกในกรอบนอกกรอบสลับกันก็ดีค่ะ เป็นการเคลื่อนไหวแบบรักษา "ดุลยภาพ" แบบหนึ่งค่ะ
รักษาสุขภาพด้วยนะคะ
สวัสดีค่ะคุณจตุพร
ใครๆลงมาทำงานชุมชนต่างก็หลงเสน่ห์จริงๆค่ะ น่าคิดว่าเสน่ห์นั้นมาจากไหน คงจะจริงว่าเป็นเพราะความเป็นธรรมชาติ ไม่ติดกรอบ
ทำงานกับชาวบ้านแล้วมีพลัง เพราะชาวบ้านเองมีพลังค่ะ
ขอบคุณค่ะ
สวัสดีคะ อาจารย์ปัทมาวดี
"การได้รู้จัก พูดคุย และร่วมงาน กับ คนอื่น ที่เรียน คิด ทำงาน ต่างจากเรา ถือเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยมที่สุด"
เครื่องมือถือเป็นแนว บริบทต่างหากคือของจริง
ขอบคุณมากคะอาจารย์
---^.^---
คุณพิมพ์ดีด
บริบทสำคัญมากค่ะ นี่คือจุดอ่อนของคนที่อยู่ห่างไกลบริบทในการพยายามทำความเข้าใจ หาเครื่องมือที่เหมาะสม หรือเสนอข้อคิดเห็น
ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนนะคะ
น้าฝากอดีตแกนนำกลุ่มออมทรัพย์บ้านคีรีวงก็เรียนรู้เรื่องบัญชีจากเจ้าหน้าที่ปวส.บัญชี ผมเห็นว่าหลักวิชาเป็นการนำประสบการณ์มาจัดระบบ จึงเป็นประโยชน์ในการผลิตซ้ำ รามานุจันไม่เคยเรียนคณิตศาสตร์ในระบบ จึงแก้โจทย์แหวกแนวออกไปจากความปราดเปรื่องของตนเอง แต่หลายกรณีก็ทำซ้ำในสิ่งที่คนเรียนในระบบรู้ดีอยู่แล้ว
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงมาจากการฝ่าฝืนหลักปฏิบัติที่เรียกว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่ชัดเจนคือ การค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอสไตน์ ไม่ได้มาจากการสังเกตุ ตั้งสมมุติฐานจากฐานความรู้ และทดสอบสมมุติฐานแต่อย่างใด แต่มาจากการมองเห็นภาพธรรมชาติ(จินตนาการ)มากกว่า
ข้อมูล ความรู้ ล้วนมาจากความคิดที่แปรผันไปเรื่อยไม่มีวันจบสิ้นทั้งการเมือง ค่านิยมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับ"คุณ"และ"โทษ"ซึ่งเป็นของเก่าที่มาจากความทรงจำที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและสงครามในความเป็น"ตัวเรา"และ"ของเรา"ทั้งหลาย
"การเมืองเรื่องชั่วครู่อยู่ไม่นาน สมการสัจจะทรงคงนิรันดร์"
"จินตนาการสำคัญกว่าความรู้"
"มนุษย์ต้องมีจิตสำนึกใหม่อย่างแท้จริง จึงจะก้าวพ้นหายนะภัยจากความรู้ที่มีอยู่"
วันเวลาในเรื่องราวที่เกาะติดมากับอวกาศและกาล4มิติยังคงดำเนินต่อไป
มีความตายที่หวนคิดแล้วเศร้าของชีวิตที่มีจุดหมายที่ปลายทาง แต่ไปได้เพียงครึ่งทาง ก็ล้มคว่ำลง
หากทุกย่างก้าวของชีวิตคือปลายทาง ความเศร้าย่อมบางเบา
และหากชีวิตไม่มีจุดหมายปลายทาง แต่เป็นการเปลี่ยนแปรไปของความสัมพันธ์ทั้งที่ตาเห็นและไม่เห็นตามเหตุปัจจัยที่อิงอาศัยก่อเกิด ความเศร้าก็อาจมลายหายไป
เพราะความเศร้ามาจากความทรงจำในอะไรบางอย่าง?
ไม่มีอะไรแลกเปลี่ยนกับอาจารย์
เข้ามาขีดเขียนทักทายเท่านั้นเองครับ
สวัสดีค่ะอาจารย์ภีม
ถือได้ว่าเป็น "ไม่มีอะไรแลกเปลี่ยน" ที่มี "หลากหลายประเด็นให้แลกเปลี่ยน" หรือ "คิดต่อ" ค่ะ
"ความรู้" ทำให้มีฐานที่มั่น แต่ "จินตนาการ" เป็นแรงผลักความรู้ให้ก้าวออกไปข้างหน้า .... แต่ความรู้ก็อาจเสื่อมถอยถูกทดแทนด้วยความรู้ใหม่ และไม่ใช่จินตนาการทุกๆเรื่องจะใช้การได้เสมอไป
"ชีวิตที่ไม่มีจุดหมายปลายทาง" ในความหมายที่เขียนมา กับ "ชีวิตที่ไร้จุดหมาย" มันมีเส้นแบ่งของความแตกต่างที่บางมาก ...ชวนให้คิดถึงภาพปราชญ์โง่กระเซอะกระเซิงยิ้มร่าได้ทั้งวันของเต๋า...
สุดท้าย.. "ความทรงจำ" ทำให้เกิดบทเรียน ไม่ว่าจะสุขหรือเศร้า ถ้าเข้าใจมัน เราก็คงอยู่กับมันได้ ความทรงจำคงเหมือนนกที่ถูกขังอยู่ในกรง อาจจะมีทั้งร่าเริงและซึมเศร้า ถ้าเรา "เข้าถึง"สัจจธรรมของชีวิตจริงๆ เราก็จะแยกตัวเองออกมาเสมือนเพียงผู้เฝ้าดูนกตัวนั้นอย่างเข้าใจ เลิกสุขและเลิกเศร้าไปกับมัน แต่ว่า..เราจะเข้าถึงสัจจธรรมของชีวิตได้แค่ไหน..
สวัสดีค่ะคุณยอดดอย
ขอบคุณที่ร่วมแลกเปลี่ยนนะคะ
เสน่ห์ของสังคมวิทยามานุษยวิทยาคือ "ต่อตรง" ระหว่าง "คน" (นักวิจัย) กับ "คน" (เป้าหมายการวิจัย) ..ไม่ทราบเข้าใจถูกรึเปล่า
ส่วนเครื่องมือของเศรษฐศาสตร์นั้น เป้าหมายการวิจัยและเครื่องมือการวิจัยถูก "ลดทอน" มาจาก "คน" ด้วยมีข้อหวั่นเกรงของนักวิจัยเศรษฐศาสตร์ที่ต้องการความเป็น "วิทยาศาสตร์" ว่า ในความเป็น "คน" นั้น มี "ความลำเอียง" ในวิธีตั้งคำถาม ในวิธีตอบคำถาม ฯลฯแต่วิธีลดทอนดังกล่าว แม้มีข้อดี แต่ก็ย่อมทำให้เครื่องมือเกิดข้อจำกัด และการศึกษาขาดเสน่ห์ไปพอสมควร...
เศรษฐศาสตร์ทำงานร่วมกับมานุษยวิทยาจึงเป็นเรื่องน่าสนุก เหมือนที่อาจารย์อัมมาร สยามวาลา ชอบคุยกับอาจารย์อคิน รพีพัฒน์
เนื่องจากผมเป็นคนที่ประกอบอาชีพด้านช่าง
เครื่องมือ ในความหมายของผมคือ อะไรก็ได้ ที่ใช้แทนมือตัวเอง
เพื่อทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ ได้ อย่างสดวกสบาย
ตามเป้าหมายที่ต้องการ ตามเวลา ตามคุณภาพ ตามทรัพยากร ที่กำหนด
ดังนั้น เครื่องมือ อย่างหนึ่งเหมาะกับสถานการณ์หนึ่งแต่อาจไม่เหมาะเลยกับสถานการณ์หนึ่ง เช่น ในสายการผลิต รถยนต์ การพ่นสีรถยนต์ ใช้ เครื่องมือพ่นเป็นหุ่นยนต์ แต่ในโรงซ่อมรถ การพ่นสีใช้คนเป็นเครื่องมือพ่น
ไม่รู้เกี่ยวกันไหมนะครับ
แต่ผมรู้อยู่อย่างว่า การกระทำทุกอย่างเราต้องใช้เครื่องมือ
แต่คนที่มีปัญญา (ผู้ชำนาญ) จะรู้ว่าควรใช้เครื่องมืออะไรที่เหมาะสม
สรุปคือ
ผมไม่รังเกียจที่จะใช้เครื่องมือ
แต่รังเกียจคนที่ไม่รู้จักใช้เครื่องมือที่เหมาะสม
และยิ่งรังเกียจคนที่ใช้แต่ปากเป็นเครื่องมือโดยไม่รู้จักทำอะไรให้เกิดมรรคเกิดผล