บทเรียนจากความจริง กับ ดร.จีระ


เรียนรู้และแลกเปลี่ยนบทเรียนจากความจริง

สวัสดีครับชาว Blog

            วันนี้ผมเปิด Blog บทเรียนจากความจริง กับ ดร.จีระ ซึ่งผมเขียนคอลัมน์ประจำที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า ทุกวันเสาร์ หน้า 5 ในแต่ละสัปดาห์ผมจะวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆที่เกิดขึ้นรอบตัวเราซึ่งจะเป็นบทเรียนจากความจริงที่จะได้นำมาคิด วิเคราะห์กันต่อไป ผมจึงขอนำมา Share กันที่นี่ด้วย และถ้าสนใจบทความย้อนหลังก็สามารถติดตามอ่านได้ที่ www.naewna.com ครับ

จีระ หงส์ลดารมภ์

........................................................................................................................................................................วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2551

เอาใจช่วยนักกีฬาไทยที่ปักกิ่ง

 

            ผมเขียนบทความนี้ช่วงเช้าวันศุกร์ซึ่งอีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะมีพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่ง สื่อต่าง ๆ ทางวิทยุโทรทัศน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศประโคมข่าวกัน รายการวิทยุ Human Talk ทาง F.M. 96.5 MHz. ซึ่งผมจัดร่วมกับคุณจีรวัฒน์ ตั้งบวรพิเชษฐ ก็จะเน้นเรื่องโอลิมปิก พยายามนำเสนอแง่มุมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์

olympic2008

 โอลิมปิก 2008 ที่ประเทศจีน

            คอลัมน์ "เรียนรู้จากกีฬา" ของผมที่สยามกีฬารายวัน (ทุกวันพุธ) และรายการ คิดเป็น..ก้าวเป็น กับ ดร.จีระ ทาง True Visions ช่อง 8 (TNN2) (ทุกวันพุธ เวลา 9.30 - 10.30 น. และ เวลา 22.00 - 23.00 น.) ก็คงเพิ่มมีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับโอลิมปิกด้วย

 

            ข่าวแรกที่น่าสนใจเกี่ยวกับโอลิมปิก คือ การเตรียมพิธีเปิด ดูเหมือนว่าประเทศจีนต้องการให้โลกรู้ว่า "ประเทศจีนและชาวจีน คือ ใคร และสำคัญอย่างไร?" จึงวางแผนการจัดโดยเน้นกีฬาคู่ไปกับทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Capital) ซึ่งผมพูดอยู่เสมอว่าในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ละประเทศจะต้องมีจุดที่เน้นมูลค่าหรือคุณค่าทางวัฒนธรรม และแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ เพราะได้รู้ Heritage หรือรากเหง้าของตัวเอง

 

            จีนเชิญผู้นำจากโลกมาร่วมงานพิธีเปิดมากมาย ประธานาธิบดีบุชและภรรยาก็จะไปร่วมด้วย ในอดีตไม่เคยมีประธานาธิบดีของอเมริกาไปร่วมพิธีเปิดโอลิมปิกนอกประเทศเลย จึงน่าสนใจว่าบุชมีเป้าหมายอะไร?

 

            ไทยเราก็มีผู้ใหญ่ไปร่วมงานกันอย่างคับคั่งสมเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ ก็เสด็จไปร่วมในพิธี นายกฯ สมัคร อดีตนายกฯ ทักษิณ ก็ไปร่วมด้วย

 

            สิ่งที่รัฐบาลจีนยังวิตกมาก คือ เรื่องการต่อต้าน ประท้วง และการก่อการร้าย ซึ่งเป็นจังหวะที่เกิดการคิดแบบสวนทาง (Paradox) ในอีกมุมหนึ่งจีนต้องการจะบอกว่า "ฉันพร้อมเป็นผู้นำของโลกในทุก ๆ เรื่อง" แต่อีกกลุ่มที่ไม่ชอบก็อ้างสาเหตุหลายข้อเพื่อไม่ให้จีนประสบความสำเร็จในระดับโลก เช่น

 * ทิเบต

 * กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเป็นชนกลุ่มน้อยในจีน

 * คนในโลกที่เน้นสิทธิมนุษยชน (Human rights)

            การจัดโอลิมปิกครั้งนี้จึงมีความเสี่ยงมาก ถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงจะดังไปทั่วโลก ซึ่งจะทำให้จีนเสียหน้า จึงต้องบริหารและป้องกันความเสี่ยงกันแบบที่สุด ก็คงต้องดูกันต่อไป ไม่มีใครทายได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

 

            สำหรับชาวไทย มี 2 ประเด็นที่ควรจะพิจารณา คือ

            * โอกาสที่ไทยจะจัดโอลิมปิกในอนาคตนั้นมีหรือไม่? ในเอเชีย ประเทศชั้นนำอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น และจีนก็ได้จัดไปแล้ว ไทยจะได้ขึ้นชั้นผู้นำเอเชียและได้จัดหรือเปล่าก็ต้องคิดให้ดี อีก 8 ปีข้างหน้าก็หมดหวังเพราะปี 2012 คือ London แม้ว่า ปี 2016 ยังไม่รู้ว่าใครจะได้จัดแต่ก็ไม่มีประเทศไทยอยู่ใน List และปี 2020 ก็คงไม่ง่ายนัก อย่างไรก็ดี ผมก็ยังมีความหวัง รัฐบาลไทยเก่งระยะสั้น ไม่เก่งการวางแผนระยะยาว หลาย ๆ เรื่องจึงขาดการฉกฉวยโอกาสที่เหมาะสม

 

* อีกเรื่องหนึ่งก็คือ นักกีฬาไทยพร้อมที่จะได้กี่เหรียญ เหรียญทองเท่าไหร่ ผลเท่ากับครั้งที่แล้วหรือไม่ ได้มากกว่าหรือน้อยกว่า ผมคิดว่าหากคนไทยไม่คาดหวังสูงนักก็จะดี เพราะว่าแต่ละประเทศเตรียมตัวมาดี อย่างเช่น มวยสากลเราก็หวังว่าจะได้เหรียญทอง แต่คู่แข่งก็มากมายและเตรียมพร้อมมาอย่างดี ยกน้ำหนักและเทควันโดก็คงพอจะหวังได้ แต่อย่างที่สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ ทรงให้กำลังใจนักกีฬา "ทำให้ดีที่สุด" และผมก็ขอส่งกำลังใจให้นักกีฬาทุกคน

 

            ท่านสามารถอ่านบทความย้อนหลังได้ทางเว็บไซต์ของแนวหน้าได้อีกทาง คือ www.naewna.com เป็นประโยชน์มากเพราะเว็บของแนวหน้าอ่านง่าย

 

            บทความของผมซึ่งใช้ประกอบการสอนหนังสือด้วย นักศึกษาหลายคนที่ได้อ่านบอกว่าได้ประโยชน์มากเพราะเป็นความรู้ที่สดและตรงประเด็น อย่างเรื่องผู้นำ 8 ประการของ Nelson Mandela ได้นำมาให้กลุ่มข้าราชการ C 5 - 6 วิเคราะห์ ทุกคนบอกว่าได้ความรู้เป็นประโยชน์มาก ผมได้แปลบทความนี้เป็นภาษาอังกฤษเกือบทุกอาทิตย์ ส่งไปตามสถานทูตต่าง ๆ ซึ่งผมทำงานในนามมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ ซึ่งได้ประโยชน์ต่อชาวต่างประเทศที่สนใจข้อเขียนของผมอีกกลุ่มหนึ่ง

 

            แต่มีอีก 1 วิธี คือ จะขึ้น Blog ใหม่ ๆ ทุกอาทิตย์ ชื่อ บทเรียนจากความจริง กับ ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ จะให้สมาชิกที่อ่าน Blog ของผมได้มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์เพิ่มเติมด้วย

 

            ท่านผู้อ่านถ้า มี Feedback ที่ดี เราก็จะตอบใน Blog หรือนำเสนอในบทความซึ่งได้ทำสำเร็จเหมือน Blog "เรียนรู้จากกีฬา" บทความในแนวหน้ามีผู้อ่านประจำอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้สร้างชุมชนการเรียนรู้ทาง Blog และยังไม่ได้ Interact กันอย่างเป็นรูปธรรม ก็ขอเชิญท่านผู้อ่านที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นกับเราได้

 

            เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมภูมิใจมากที่ครูใหญ่โรงเรียนประถมฯ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์มาว่าเป็นลูกศิษย์ของผมทาง Blog มานาน ปรึกษาว่าจะประยุกต์ใช้ทฤษฎี 4 L's หรือ 8K's ในการทำงานของเขาได้อย่างไร? ผมก็ได้อธิบายไป ผมอยากให้ Blog มีประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปมากขึ้น ผมต้องการออกไปหา "Outreach"คนไทยในมุมกว้าง และถ้ารู้ว่ามีคนไทยจำนวนมากได้รับประโยชน์ ผมจะมีความสุขมาก

 

            ตอนนี้ระบบที่กำลังมาแรงก็คือ ระบบ Blog Buddy ซึ่งผมคิดว่าผมทำสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ใครที่เป็นลูกศิษย์ผมโดยตรงต้องกระจายข้อมูลไปให้แก่เพื่อน ๆ นอกวงการให้ได้

 

            ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ โครงการปริญญาเอกหลักสูตรการจัดการนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผมขอให้ทำคล้าย ๆ Branding แนวคิดของผม เรื่องการสร้างความรู้และวิธีการเรียนไปให้แก่นักเรียนปริญญาตรีในคณะต่าง ๆ ในมุมกว้าง เช่น วิธีการเรียนในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ถ้าไม่กระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมคิดและสนใจ ประเทศก็จะมีแต่ทุนมนุษย์ที่ขาดทุนทางปัญญา แล้วสังคมในอนาคตจะอยู่อย่างไร? เพื่อนผมเป็นนักธุรกิจอินเดียบอกว่า คนไทย ถ้าคิดก็คือแค่ตัวเองหรือว่าฉันได้อะไร คิดอิจฉาคนอื่น แต่คนอินเดียคิดไกลและคิดเป็นยุทธศาสตร์

 

            ผมคิดว่าอย่าว่าแต่อินเดียเลย แม้แต่คนเขมรก็คิดลึกกว่าเรา เขาวางแผนเรื่องเขาพระวิหาร เขามียุทธศาสตร์ที่เหนือกว่าไทยครับ

 

            สุดท้าย ขอขอบคุณคุณอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และคุณจันทร์ธิดา มีเดช เลขานุการกรมฯ ที่มอบหมายให้ผมและทีมงานจัดหลักสูตร Talent Capital Development ให้แก่ข้าราชการรุ่นใหม่ที่อายุไม่เกิน 40 ปี ผมภูมิใจมากเพราะได้ปลูกฝังผู้นำตั้งแต่รุ่นเด็ก ๆ

1234

บรรยากาศพิธีเปิดหลักสูตรพัฒนาทุนทางความรู้ ทักษะ และทัศนคติของบุคลากรในสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) (Talented Capital Development Program) ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทั้งคุณจันทร์สุดา มีเดช เลขานุการกรมฯ และคณะผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 50 คน ณ ห้องประชุมศรีปลั่ง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2551

จีระ หงส์ลดารมภ์

e-mail: [email protected]

www.chiraacademy.com

หมายเลขบันทึก: 201223เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2008 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

บทความตีพิมพ์ที่แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2551

Medevev สอบไม่ผ่าน

 

Blog ของผม บทเรียนจากความจริง ดร.จีระ  กับแนวหน้า เริ่มเปิดตัวไปครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ขอขอบคุณท่านผู้อ่านที่เริ่มให้ความสนใจ สร้างชุมชน Blog ของผมขึ้นมาอีก 1 เรื่อง   ถ้าย้อนกลับไปกว่า 5-10 ปี จะเห็นผลงานของผมทุกอาทิตย์และนำมาใช้ประโยชน์ได้  ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม ที่ผมเขียนมี rating 55 คน และในจำนวนนี้ มี 3 ท่านได้ส่ง ข้อความมา  ผมก็เลยจะสรุปให้ดูว่าคุณ PC  คุณศุภกรณ์ และคุณอานนท์ พูดว่าอย่างไร

คุณ PC เขียนว่า:

ผมเพิ่งดูพิธีเปิดโอลิมปิกจบไปในไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา   อลังการและได้เห็นทุนทางวัฒนธรรมของประเทศจีนชัดเจนมาก    น่าหนักใจแทนประเทศถัด ๆ ไปที่จัดโอลิมปิก   คงจะถูกเปรียบเทียบกับโอลิมปิกปีนี้มากมาย เพราะจีนทำได้สมบูรณ์มาก

คุณศุภกรณ์ เขียนว่า:

 กว่าที่ผมจะมาร่วมแสดงความคิดเห็น   ประเทศไทยก็ได้เหรียญทองแรกแล้ว จากกีฬายกน้ำหนัก

ดีใจด้วยจริงๆ ที่ประเทศเรายังมีคนเก่งๆรุ่นใหม่อยู่เรื่อยๆ   เป็นเพราะเขาหมั่นพัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จทั้งแก่ตนเองและประเทศชาติ ยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า คนเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดจริงๆครับ

คุณอานนท์ เขียนว่า:

ผมมีโอกาสแวะเข้ามาเยี่ยมชม Blog บทเรียนจากความจริงกับ ดร.จีระเป็นครั้งแรก ผ่านทาง Blog แห่งนี้ โดยปกติผมจะได้รับ เป็นเอกสารเพื่ออ่านในห้องเรียนปริญญาเอกอยู่แล้ว ซึ่งดร.จีระเป็นอาจารย์ที่ผมเคารพ และอดที่จะชื่นชมในความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ หรือจะเรียกว่าทุนมนุษย์ในตัวของท่านอาจารย์มิได้ ผมขอส่งกำลังใจให้อาจารย์ดร.จีระ ในการสร้างสรรค์ข้อมูลความรู้ใหม่ๆ สดๆ ให้เป็นแหล่งชุมชนเรียนรู้ออนไลน์ ที่มีการแชร์ความรู้ ความคิด ความเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปสู่สังคมฐานความรู้ หรือสังคมแห่งการเรียนรู้ครับ

ผมหวังว่า  rating ของผมในอาทิตย์หน้า คงจะสูงกว่าอาทิตย์แรก เราจะต้องดู feedback ของท่านผู้อ่านด้วย ความจริง Web ของแนวหน้า ก็มีคนอ่านมากอยู่แล้ว

อ่านจากข้อความของคุณ PC  เน้นทุนทางวัฒนธรรม  ต้องขอชมเชยที่สนใจทุนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันออก ที่ไปมีอิทธิพลต่อตะวันตกมากขึ้น คุณ PC ครับ ผ่านไป 5-6 วันที่โอลิมปิก ยังไม่มีอะไรน่าวิตกแบบตูมตามนะครับ คงต้องดูกันต่อไป คุณPC ช่วยเชิญเพื่อน ๆ ที่สนใจ โดยเฉพาะครูที่ใช้ Internet เป็น เข้ามาร่วมด้วยจะดี  เด็กจะได้มีความรู้ที่กว้าง  คุณศุภกรณ์ก็แสดงความยินดีกับเหรียญทองยกน้ำหนักของคุณ เก๋ ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล   ด้วย ถ้าไทยไม่ได้เหรียญทองเหรียญแรกเร็ว คนไทยคงเซ็งพอควร นี่ก็รอลุ้นว่า ทองที่สองจะเป็นเหรียญอะไร ผมคิดว่ามวยครับ อย่างน้อย ส่ง 8 รุ่น  ได้สัก 2 เหรียญทองก็คงจะดีใจกันมาก

คุณอานนท์ ลูกศิษย์ผม ขนาดยังไม่ได้ส่งข้อมูลมามาก ก็ยังแอบมีคำคม ๆ เช่น ข้อมูลที่สด และทันสมัย และชุมชน online (ชอบ) ครับ ผมคงต้องอดทน เพราะกว่าจะให้ฐานลูกค้า เรากว้างขึ้น และสำคัญ เข้ามาดูกันมาก ผมต้องการ feedback ครับ

ความจริงต้องขอขอบคุณ แนวหน้า ที่ยืนหยัดกับผมมาตลอด จนเกิดชุมชนทาง Internet

สัปดาห์นี้ยังมีบรรยากาศของกีฬาโอลิมปิกเข้มข้นมากขึ้นดูเหมือนว่าจีนคอยคุมสถานการณ์ได้ดี และความมุ่งมั่นที่จะชนะที่หนึ่งเหรียญทอง น่าจะเป็นไปได้เพราะขณะที่ผมเขียนอยู่ก็นำอเมริกาอยู่หลายเหรียญทอง เขาทุ่มเทมาก

แต่อาทิตย์นี้ถ้าไม่พูดเรื่องการเมืองคงไม่ได้ เรื่องใหญ่ที่สุด ก็คือ เรื่องครอบครัวคุณทักษิณไปอยู่กันที่อังกฤษยังมีควันหลงสร้างภาพออกมาว่าสบายดีไม่วิตกอะไร  แถมยังมีแถลงการณ์ส่วนตัวถึงคนไทย

เหตุการณ์การเมืองหลังทักษิณไปอังกฤษ ยังไม่นิ่งหรอกครับ  เพราะไม่ว่าคุณทักษิณจะพูดให้พวกเราฟังกี่ครั้งว่าไม่ยุ่งการเมืองแล้ว แต่จริง ๆ ยังมีส่วนร่วม และมีความสำคัญอยู่ตลอด  โดยเฉพาะที่ท่านเขียนว่า  วันนี้ยังไม่ใช่วันของผม  วันหนึ่งผมจะกลับมา ผู้สนับสนุนผมอดทนหน่อย  ซึ่งก็แสดงว่าการถอยครั้งนี้เป็นการถอยเพื่อตั้งหลัก และถอยเพื่อความอยู่รอดระยะสั้น  ซึ่งนี่แหละ ถ้าคนไทยเข้าใจก็คือ ตัวตนที่แท้จริงของคุณทักษิณ  ซึ่งไม่ว่าจะมีความบอบช้ำอย่างไรก็คงสู้ต่อเพราะท่านผ่านโลกความเจ็บปวดมาก เพียงแต่พลังที่ยิ่งใหญ่ของท่านไม่ได้สู้เพื่อประชาชนส่วนใหญ่อย่างจริงใจ แต่สู้เพื่อความยิ่งใหญ่ของครอบครัว และพวกพ้องมากว่า  การเมืองก็ต้องดูกันต่อไป

บทเรียนครั้งนี้สอนให้คนไทยต้องคิดเป็น วิเคราะห์เป็นและเรียนรู้ และติดตามดูประเทศของเราจะไปทางไหน

ผลกระทบต่อการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร   คงไม่มีใครทายได้ แต่แน่ ๆ ก็คือ โผทหารที่จะคลอดก็คงทำให้นายกสมัคร และผู้นำ 3 เหล่าทัพ จัดได้สะดวก ขึ้น

อีกมุมหนึ่งที่พูดกันมาก ก็คือ หลังจากงบประมาณผ่านสภาไปแล้ว มีแนวโน้มว่า จะมีการล้างไพ่กันใหม่  อาจจะดูว่าจะจับขั้วใหม่กันอย่างไร

แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ดูเหมือนว่า บารมีคุณสมัครดูดีขึ้น ประสบการณ์ทางการเมืองที่สะสมไว้นาน ทำให้ท่านแก้เกมส์การเมืองแบบไทยได้ดีกว่าพรรคประชาธิปัตย์พอควร เช่น การเน้นการเฉลิมฉลองจากวันแม่ไปสู่วันพ่อ 100 กว่าวัน ก็มีกิจกรรมเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ซึ่งจะทำให้คนไทยมีความสามัคคีมากขึ้นและดูจะช่วยการเมืองสงบอย่างดี

ต่อไปก็จะพูดถึงผู้นำระดับนานาชาติที่ผมเฝ้ามอง ซึ่งผมมักจะให้นักศึกษาปริญญาเอกของผม วิเคราะห์ผู้นำระหว่าง Medevev กับ Putin เสมอ การที่รัสเซียบุกขยี้จอร์เจียแบบมันมือครั้งนี้ ต้องยอมรับว่า Putin  ยังคุมอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ เพราะตามปกติ ประธานาธิบดีควรจัดการเรื่องนโยบายระหว่างประเทศ แต่คราวนี้ดูเหมือน Putin จัดการเองในฐานะนายกรัฐมนตรี  เลยสรุปว่า Medevev ยังสอบไม่ผ่านครั้งแรก ยังไม่ได้แสดงเป็นผู้นำที่เน้นสันติภาพ หรือการประนีประนอม ปล่อยให้ Putin ว่าไปคนเดียว เลยให้สอบตกสำหรับการแก้ปัญหาจอร์เจียเพราะประเทศจอร์เจีย เป็นประเทศที่ฝักใฝ่ตะวันตก แต่พรมแดนติดรัสเซีย ทำให้ Putin โกรธแค้นเป็นพิเศษ

คล้าย ๆ ว่าถ้ารัสเซีย ไปให้ท้ายกับรัฐฮาวาย (Hawaii) ตีท้ายครัวอเมริกัน อเมริกันก็คงไม่ยอม

            สุดท้าย ขอเน้น 3 แนวคิดที่เชื่อมกันเพื่อนำไปปฏิบัติสำหรับภาครัฐ  ภาคเอกชน ภาครัฐวิสาหกิจ ก็คือ

1.      ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)

2.      นวัตกรรม (Innovation)

3.      จิตวิญญาณผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)

 

            เรื่อง Creativity กับ Innovation  ผมพูดหลายครั้งแล้ว สำคัญ แต่ต้องมีภาวะผู้ประกอบการด้วย และวันนี้  รู้ว่า 2 แนวคิด ยังไม่พอ จะต้องเสริมด้วย จิตวิญญาณผู้ประกอบการด้วย คืออะไร มีทฤษฎีเป็นพัน ๆ แนวที่เถียงกัน ผมเลยเลือกประสบการณ์ของเพื่อนผมที่ผมรู้จัก เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาให้ผมแปลหนังสือเขาเล่มแรก ชื่อว่าผู้ประกอบการ เขียนโดยคุณ Bill Heinecke ผมลองเลือกแค่ 10 ข้อที่ Bill พูดไว้  เขานำมาทำเลย แล้วสำเร็จในธุรกิจของเขาอย่างมาก ผู้อ่านลองไปทำดูว่าเหมาะสมที่จะนำไปปฏิบัติหรือไม่

-          เห็นช่องว่าง และถมให้เต็ม

-          ทำอะไรต้องทำการบ้านให้ครบถ้วน อย่าทำธุรกิจด้วยอารมณ์

-          สนุกกับงานที่ทำ อย่าทำแบบเครียด และอย่าบ้าแต่กำไร กำไร

-          ทำงานฉลาดต้องใช้สมองคนอื่นช่วย

-          เป้าหมายให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตัวเอง หรือองค์กร

-          ไปให้ถึงขอบฟ้าให้ได้ คือทะเยอทะยาน คิดไกล คิดใหญ่

-          มีภาวะผู้นำ

-          อดทน บริหารความล้มเหลวให้มาเป็นบทเรียน

-          พร้อมจะเปลี่ยนแปลง (Change)

-          สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

หวังว่าผู้อ่านคงจะเอา 3 แนว Creativity, Innovation และภาวะผู้ประกอบการณ์ ไปสร้างให้เกิดประโยชน์ แล้วนำไปทำ พบกันใหม่อาทิตย์หน้าครับ

medevev

                               Medevev ,Russian President

putin

                                 Vladimir Putin

จีระ หงส์ลดารมภ์

 

E-mail : [email protected]

Website : www.chiraacademy.com

Blog : www.gotoknow.org/blog/chiraacademy

www.gotoknow.org/blog/chirakm

ถ้าผมเป็นนักเรียนเก่าโยธินบูรณะผมไม่ยอมเด็ดขาด

 

            ขอบคุณทุกท่านที่กรุณาติดตาม บทเรียนจากความจริง ใน Blog ของผมที่ www.gotoknow.org/blog/chiraacademy และ www.gotoknow.org/blog/chirakm

นอกจาก website ของแนวหน้าแล้ว ผมหวังว่า Blog คงจะเป็นประโยชน์ อ่านเฉย ๆ ไม่พอต้องส่งความคิดเห็นมาด้วย เพราะสังคมการเรียนรู้ที่ดีต้องเรียน 2 ทางไม่ใช่ทางเดียว

            มีข่าวที่น่าปลื้มปิติก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นที่รักของเราได้ทรงมีพระราชดำรัสต่อคณะผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย นำโดย ดร.ธาริษา วัฒนเกส เรื่อง บทบาทของธนาคารชาติ เน้น:

§       รักษาวินัยทางการเงิน อย่าใช้เกินตัว (เศรษฐกิจพอเพียง)

§       รักษาความเป็นอิสระไว้ในนานที่สุด

            ผมจำได้ว่าสมัยพ่อผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ อย่าว่าแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มาแทรกแซงงานของธนาคารชาติ แม้แต่นายกรัฐมนตรี ชื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยังให้อาจารย์ป๋วยดูแลอย่างมีอิสระ และมีความแข็งแกร่ง และมรดกทางความคิดดังกล่าวมีส่วนช่วยให้การเงินและการคลังของประเทศสามารถอยู่รอดในระยะยาว สร้างทุนทางความยั่งยืน หมายความว่าสิ่งที่อาจารย์ป๋วยได้สร้างไว้มิได้ทำลายความน่าเชื่อถือของคนต่อธนาคารชาติในระยะยาว แต่ในทางตรงกันข้ามกับสร้างความเป็นอิสระไว้ และเป็นที่พึงของประชาชน

            ที่น่าสนใจ ก็คือ รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการคลังพยายามที่จะเข้ามามีบทบาททางนโยบายการเงินเหนือธนาคารชาติ ซึ่งจะเกิดอันตรายเพราะรัฐบาลยุคปัจจุบันมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ มองโครงการใหญ่ ๆ มาเพื่อสร้างคะแนนนิยมอยู่เสมอ จึงเป็นที่วิตกของคนไทยที่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ดีอย่างน้อย 2 เรื่อง

§       การบริหารและดูแลกองทุนสำรองซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวนมาก ประมาณกว่า 103.1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ  ยุครัฐบาลนายกฯ ทักษิณ และรัฐบาลปัจจุบันฉลาดในนโยบายต่าง ๆ เพราะมีความสามารถในการบริหารนอกกรอบ เล่นแร่แปรธาตุเสมอ อะไรที่เป็นทรัพยากรของชาติ ก็นำการเมืองมาใช้ ประโยชน์โดยมากก็จะเน้นโครงการใหญ่ ๆ (Mega Project) เพื่อประชานิยม

                  มีหลายคนบอกผมว่าการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบันมีความมุ่งมั่นที่จะตั้ง      คณะกรรมการธนาคารชาติโดยไม่ฟังเสียงใคร ก็อาจจะเป็นยุทธวิธีแรกที่จะเข้าไปมีส่วนบริหาร        กองทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งต้องดูกันต่อไป

§       ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นห่วง คือ นโยบายการขยายตัวของการใช้จ่ายเกินตัว โดยเฉพาะทำงบประมาณแผ่นดินขาดดุล ซึ่งถึงแม้ว่ารายรับจะมากขึ้น แต่การขาดดุลมาก ๆ กว่า 3 แสนล้านบาทแล้ว ก็จะสร้างปัญหาในอนาคตได้ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลจะวิตกคะแนนเสียงของคนทุกระดับแทนที่จะช่วยคนจนอย่างเดียว กลับมาลดภาษีสรรพสามิตช่วยคนชั้นกลางและสูง ทำให้ใช้น้ำมันราคาถูกเกินความจริง ทั้ง ๆ ที่ราคาน้ำมันโลกลดลงมากจาก 147 มาอยู่ประมาณ 115 – 120 ดอลล่าร์ต่อบาเรล ผมไม่ประทับใจวิธีการแบบนี้ เพราะทำให้นิสัยคนไทยเคยชินกับการใช้ของถูกและไม่ประหยัดทรัพยากร  

            แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติและผู้บริหารก็คงจะต้องปรับคุณภาพของทุนมนุษย์ของธนาคารชาติซึ่งเป็นนักเรียนทุนมากมาย และผมพูดไว้ว่าระดับรองผู้ว่าฯ เกือบทุกคนเป็นลูกศิษย์ของผมที่ธรรมศาสตร์ การพัฒนาทุนมนุษย์ก็คือ

§       Core Competency (สมรรถนะหลักหรือแก่น) เรื่องการเงิน เศรษฐศาสตร์ ซึ่งจะต้องทำต่อไป

§       แต่ควรจะมองไปถึง Competency เรื่องอื่น ๆ เช่น

§       Functional Competency ซึ่งอาจจะหมายถึงความรู้ และทัศนคติ หรือการปรับ Mindset

§       Organizational Competency คือ สมรรถนะที่จะอยู่ร่วมกับองค์กร เช่น วัฒนธรรมองค์กร การทำงานเป็นทีม หรือการบริหารความขัดแย้งและการเจรจาต่อรอง

§       และสุดท้ายก็คือ ให้ความเข้าใจถึงนโยบายการเงินที่กระทบต่อสังคมระดับรากหญ้าด้วย เพื่อให้พันธมิตรของธนาคารชาติขยายตัวและเกิดพลังที่แท้จริง

      ประเด็นที่สองที่จะพูดวันนี้ คือ เรื่อง การสร้างที่ตั้งแห่งใหม่ของสภาฯ ซึ่งท่านนายกฯ สมัครก็ได้แสดงภาวะผู้นำได้ดี คือ กล้าตัดสินใจ แต่ผมคิดว่าความกล้ากับการกล้าที่มีการตัดสินใจ (Judgment) ที่เป็นที่ยอมรับของสังคมจะไม่เหมือนกัน

      และยิ่งไปกว่านั้น ยังย้ายโรงเรียนโยธินบูรณะออกไป ถึงแม้ว่าจะบอกว่ามีเงินให้สร้างใหม่แล้วไม่พอใจอีกหรือ?

nn23.8.08_1

 

            

กลุ่มนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะยืนถือป้ายประท้วงหน้ากระทรวงศึกษาธิการไม่ยอมให้รัฐบาลใช้สถานที่ของทางโรงเรียนก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ (ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ Bangkok Post)

 

             ท่านผู้อ่านลองคิดดูนะครับ โรงเรียนเก่าของใคร ๆ ก็รัก ผมแปลกใจที่ไม่มีนักเรียนเก่าของโยธินบูรณะกล้าออกมาพูดบ้าง ลองนึกเล่น ๆ ว่า หากมาย้ายโรงเรียนเทพศิรินทร์ของผม เรื่องใหญ่แน่นอน หรือลองคิดเล่น ๆ ว่า คุณสมัครจะย้ายเซนต์คาเบรียลของท่านหรือไปแตะสวนกุหลาบดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม  คงต้องให้กำลังใจน้อง ๆ โยธินฯ ต่อไปว่า ต้องรักษาและหวงโรงเรียนเก่าของเราไว้ ให้มากที่สุด

            ก่อนจบ ผมมีหนังสือดีมาให้พิจารณา

nn23.8.08_2

หนังสือ เรื่อง the new age of Innovation แต่งโดย C.K. Prahalad และ M.S. Krishn

 

§       เรื่องแรก คือ ผมได้รับหนังสือดี ๆ จาก Mc Graw-Hill เสมอ เพื่อมาแนะนำให้แฟนรายการโทรทัศน์ หนังสือเล่มล่าสุด เขียนโดย C.K. Prahalad เกี่ยวกับ Innovation หนังสือเล่มนี้เป็นการวิจัยในตะวันตก แต่ก็มีประโยชน์ต่อคนไทยในหลาย ๆ เรื่อง เช่น

 

                                   ทฤษฎี  N=1, R=G

หมายความว่า Ideas ใหม่ ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากองค์กรภายในเท่านั้นแต่เกิดมาจากลูกค้า และไม่ใช่หลาย ๆ ลูกค้า เช่น อาจจะมีลูกค้า 1 คนเท่านั้นที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้า การบริการ หรือการดูแลลูกค้า การบริหารจัดการ  ต้องเป็นสิ่งที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ องค์กรต้องนำมาปฏิบัติ และทำงานคู่กัน  พันธมิตรกัน แต่ Prahalad เรียกว่า Co-Creator คือ คู่คิด ด้วยระบบ Buddy ที่ผมทำอยู่

และอีกแนวหนึ่งก็คือ R=G สิ่งเหล่านี้ดีสำหรับคนไทย G อาจจะถูกมองว่า ระดับระหว่างประเทศ แต่สำหรับผม G คือ ทรัพยากรที่อยู่นอกองค์กรของเรา และเราควรจะนำมาใช้  และอาจจะเชื่อมโยงกับต่างประเทศ Prahalad บอกว่า ทำได้ ในระดับต่างประเทศ เพราะเรามี IT ที่เชื่อมโยงโลกได้ แต่ข้อเท็จจริงก็คือ คนไทยส่วนมากจะมอง  Inword  looking คือมองข้างใน แต่ไม่ชอบมองข้างนอก เพราะอ่านหนังสือน้อย ขาด Networking ครับ

 

จีระ หงส์ลดารมภ์

สวัสดีครับ อาจารย์

ความจริงผมเคยรู้จักกับอาจารย์มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 สมัยที่ผมทำงานอยู่ บงล.มหาธนกิจ จำกัด ซึ่งคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นเจ้าของ

ดีใจที่ได้มาพบกับอาจารย์ที่นี่อีก เพราะจะได้อ่านข้อเขียนที่ดีๆมีสาระ เป็นการเพิ่มพูนความรู้ของตนเองขึ้นไปอีก

จะคอยติดตามผลงานเขียนของอาจารย์ที่นี่ตลอดไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท